รูปแบบของศูนย์สื่อการเรียนการสอน


รูปแบบของศูนย์สื่อการเรียนการสอน

รูปแบบของศูนย์สื่อการเรียนการสอน


ปรัชญนันท์ นิลสุข      
วารสารวิทยบริการ      
ปีที่ 9   ฉบับที่ 3      
ก.ย. - ธ.ค. 41      

ศูนย์สื่อการเรียนการสอนคืออะไร

             การดำเนินการและการจัดตั้งศูนย์สื่อการเรียนในสอนในสถานศึกษาของประเทศไทย      ส่วนมากจะดำเนินการเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนที่สมบูรณ์ มีศูนย์สื่อการเรียนการสอนเพื่อให้บริการครูและนักเรียน โดยไม่ได้คำนึงว่าบทบาทของศูนย์สื่อการสอนที่แท้จริงคืออะไร เมอร์ริล  และดรอบ (Merrill and Drob, 1977)    ได้ให้ความหมายของศูนย์สื่อการสอนว่า  เป็นองค์กรที่ทำกิจกรรมที่ประกอบด้วยผู้นำ,   คณะทำงาน   และสถานที่เก็บอุปกรณ์ หนึ่งในส่วนนั้นมีพื้นที่ในการผลิต การจัดหา การนำเสนอของวัสดุการสอน การจัดหาเพื่อพัฒนา และการวางแผนให้บริการซึ่งสัมพันธ์กับหลักสูตร   และการสอนปรัชญาพื้นฐานของการจัดองค์การและการจัดการของศูนย์สื่อการเรียนการสอนคือ  ประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดเพื่อการเรียนรู้   สามารถควบคุมประสิทธิภาพให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงค่าใช้จ่าย  การให้บริการ  การให้คำปรึกษาอย่างมืออาชีพบนกระบวนการที่ได้มาตรฐาน  เป็นองค์กรที่เป็นศูนย์กลางและจัดการระบบควบคุมทั้งหมดเพื่อการเรียนรู้ (Wang, 1994)  อาจจะกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ศูนย์สื่อการเรียนการสอนเป็นส่วนหนึ่งของการจัดองค์กรเพื่อการเรียนรู้ (Learning Organization) เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อันมีที่มาประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 4 ประการคือ ห้องสมุด การให้บริการสื่อ ช่องว่างของการเรียนแบบเดิม  และการพัฒนาการเรียนการสอน  ศูนย์สื่อการสอนในแนวคิดเดิมจึงเป็นการนำห้องสมุดอันเป็นแหล่งความรู้ โดยนำสื่อเข้ามาช่วยเพื่อลดช่องว่างของการศึกษาที่มีอยู่เดิมเป็นการช่วยพัฒนาการเรียนการสอน (Peterson, 1974)

             ทำไมนักการศึกษาจำนวนมากเห็นว่าควรมีศูนย์สื่อการสอนในสถานศึกษาศูนย์สื่อการสอนช่วยพัฒนาการจัดการศึกษาได้อย่างไร  กลับไม่ใช่ประเด็นที่สนใจของโรงเรียนมากกว่าไปศูนย์สื่อการสอนต้องมีอะไรและใครดูแลศูนย์นั้น    แม้ว่าการกำหนดให้ศูนย์สื่อการสอนต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ต้องคอยดูแลซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน   แต่โดยเนื้อแท้ของการจัดตั้งศูนย์สื่อการเรียนการสอน  (Learning Resource Center)   ควรต้องคำนึงถึงหัวใจหลักคือ   ความเป็นแหล่งที่รวมของการได้มาซึ่งความรู้ที่ผู้เรียนต้องการ เป็นศูนย์ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  (Students Center)  เรียนรู้ผ่านสื่อ (Media) และทรัพยากรต่าง ๆ (Resource) ที่ได้จัดเอาไว้ให้

             ศูนย์สื่อการเรียนการสอนไม่ใช่สิ่งใหม่    มีการจัดตั้งขึ้นอย่างมากมายในสถาบันการศึกษาทุกระดับ   ในหลายแห่งก็จะเรียกว่าศูนย์วิทยบริการทางการศึกษา อันมีพัฒนาการมาจากแนวคิดของกลุ่มนักบรรณารักษ์ศาสตร์ ซึ่งมีพื้นฐานจากการให้บริการสิ่งพิมพ์ในห้องสมุด  จนถึงบริการด้านสื่อการศึกษาอื่น ๆ จนถึงบริการการฝึกอบรม ส่วนศูนย์เทคโนโลยีการศึกษามีพัฒนาการมาจากศูนย์โสตทัศนศึกษาซึ่งให้บริการสื่อที่ไม่ใช่สิ่งพิมพ์ การบริการผลิตสื่อหรือเครื่องมือต่าง ๆ     ศูนย์วิทยบริการและศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเหมือนกันในเรื่องการบริการ    แต่จะแตกต่างกันในด้านการผลิตซึ่งศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาจะมีหน่วยงานผลิต  เช่น   สื่อโสตทัศน์   สื่อวิทยุกระจายเสียง   สื่อวิทยุโทรทัศน์  ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษายังรับผิดชอบการเรียนการสอน จนถึงการคอมพิวเตอร์ช่วยสอนอีกด้วย (นิพนธ์ ศุขปรีดี, 2536 : 221-231)    ดังนั้นศูนย์สื่อการเรียนการสอนจึงเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามการจัดแบ่งของหน่วยงานความสำคัญของแต่ละศูนย์   และหน้าที่เฉพาะที่ได้รับมอบหมายลักษณะของศูนย์สื่อการเรียนการสอนจึงแตกต่างกันไป   และน่าจะแยกได้ออกเป็นแบบต่าง ๆ ได้แก่
             1. ศูนย์สื่อเพื่อการผลิตและเผยแพร่ (Production and Distribution)  เป็นศูนย์ที่ทำหน้าที่ในการผลิตสื่อการสอนในรูปแบบต่าง ๆ  เช่น การผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์   การผลิตวีดิทัศน์เพื่อการศึกษา  การผลิตสื่อการสอนในรายวิชาต่าง ๆ การจัดผลิตสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  ชุดการสอน จัดอบรมการผลิตสื่อและจำหน่ายสื่อให้กับผู้สนใจ
             2. ศูนย์สื่อเพื่อให้บริการและสนับสนุนการเรียนการสอน  (Service and Support)  เป็นศูนย์ที่ให้บริการสื่อการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งอุปกรณ์การสอน  การให้คำปรึกษา  และข้อแนะนำในการใช้สื่อเป็นศูนย์ที่มีการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เครือข่ายมีการเชื่อมโยงระหว่างศูนย์   สื่อให้บริการยืม และสนับสนุนการเรียนการสอน และเป็นศูนย์ที่ทุกคนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้
             3. ศูนย์สื่อครบวงจรเป็นศูนย์ที่รวมรูปแบบของศูนย์สื่อเพื่อผลิตและบริการเข้าไว้ในรูปแบบเดียวกัน เป็นศูนย์ที่มีการจัดพื้นที่ในการผลิตและให้บริการสื่อทุกประเภท ติดตั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้บริการกับผู้ใช้ มีการฝึกอบรมบุคลากรทางการศึกษา จัดอบรมการผลิตสื่อและเผยแพร่นวัตกรรม ให้ยืมอุปกรณ์การศึกษาและจัดจำหน่วยสื่อการสอนที่ศูนย์ผลิตขึ้น
             4. ศูนย์สื่อเฉพาะทาง เป็นศูนย์ที่ดำเนินการเฉพาะตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานใด  หน่วยงานหนึ่งเป็นพิเศษอาจเป็นเพียงศูนย์สื่อเพื่อการผลิต ศูนย์สื่อเพื่อการบริการ หรือศูนย์สื่อที่ครบวงจรก็ได้ แต่จะทำงานเพื่อประโยชน์เฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ

             เนื่องจากศูนย์สื่อการเรียนการสอน  มักจะทำหน้าที่ทั้งในการผลิตและการบริการมีตั้งแต่ระดับปฐมวัย  ประถมศึกษา  มัธยมศึกษา  อาชีวศึกษา อุดมศึกษา การศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาพิเศษ ลักษณะของศูนย์จึงย่อมมีความแตกต่างกัน   ศูนย์สื่อการสอนบางแห่งก็จะเป็นศูนย์ที่ทำหน้าที่ในการผลิตโดยเฉพาะหรือมีงานเกี่ยวกับการผลิตเป็นหลัก โดยดำเนินการผลิตอย่างเต็มรูปแบบก็ควรแยกศูนย์ในลักษณะนี้ออกเป็นศูนย์เอกเทศ   มีการจัดการและการบริหารที่เป็นของตนเองให้ศูนย์สามารถดำเนินการผลิตรายการโทรทัศน์ วีดิทัศน์ รายการวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อกราฟิกหรือคอมพิวเตอร์ช่วยสอนได้อย่างอิสระ มีการจัดอบรมการผลิตสื่อประเภทต่าง ๆ เผยแพร่สื่อที่ศูนย์ผลิตให้คำปรึกษา และแนะนำกับครูอาจารย์ผู้สอนในวิชาต่าง ๆ ได้  ศูนย์ลักษณะนี้อย่างเช่น  สำนักเทคโนโลยีทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง  หรือมหาวิทยาสุโขทัยธรรมาธิราช  หรือศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ของกรมการศึกษานอกโรงเรียน

             แต่ถ้าศูนย์สื่อมีลักษณะในการให้บริการสื่อสิ่งพิมพ์     เอกสารการสอนชุดวิชาให้บริการโสตทัศนูปกรณ์ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์  ระบบอินเตอร์เน็ต มีระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ให้บริการโสตทัศนูปกรณ์ต่าง ๆ  ไม่ว่าเครื่องเล่นวีดิโอเทป  เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ  เครื่องฉายสไลด์ เทปเสียงหรือคอมพิวเตอรช่วยสอน มีห้องให้ชมวีดิทัศน์ติดตั้งระบบดาวเทียม เคเบิ้ลทีวีมีห้องประชุมย่อย มีผู้คอยให้คำปรึกษาแนะนำการใช้สื่อและอบรมวิธีการใช้ ก็อาจจัดให้ศูนย์ลักษณะนี้เป็นศูนย์บริการเฉพาะหรือรวมอยู่ในห้องสมุด ศูนย์ลักษณะนี้ก็จะเรียกว่าเป็นศูนย์วิทยบริการ หรือศูนย์โสตทัศนศึกษา   เช่น ศูนย์โสตทัศนศึกษากลางของ สถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา หรือศูนย์ระดับโรงเรียนแต่น่าสนใจอย่างศูนย์รัตนบรรณาคาร ของโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี

             ส่วนศูนย์สื่อการสอนที่มีลักษณะเป็นศูนย์ครบวงจร เป็นศูนย์ที่พยายามจะให้มีหรือให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะภายในสถานศึกษาระดับต่าง ๆ ที่พยา-ยามจัดพื้นที่ศูนย์ของตนในการให้บริการอย่างครบวงจรในขณะที่จัดพื้นที่บางส่วนเพื่อการผลิตไปด้วย     ศูนย์สื่อในลักษณะนี้จะมีอยู่มากกว่าแบบอื่น ๆ แต่จะมีสัดส่วนในการให้ผลิตหรือการให้บริการไม่เท่ากัน    ไม่สามารถกำหนดเฉพาะตายตัวลงไปได้    เช่นเดียวกับศูนย์สื่อการสอนเฉพาะทางที่มีการกำหนดบทบาทเฉพาะอย่างชัดเจน เช่น ศูนย์พัฒนาสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่ทำหน้าที่ผลิตสื่อการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์  และเผยแพร่สื่อด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ   หรือสำนักพัฒนาเทคนิคศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่มุ่งเน้นการผลิตสื่อการสอนเฉพาะทางด้านช่างอุตสาหกรรมและอาชีวศึกษา หรือฝ่ายเวชนิทัศน์ของโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ผลิตสื่อและให้บริการสื่อเฉพาะทางการแพทย์

             ส่วนในระดับสถาบัน วิทยาลัยหรือโรงเรียนก็จะมีระดับของศูนย์สื่อการเรียนการสอนที่แตกต่างไป มีการเรียกชื่อแตกต่างกันไปเช่น

                          ศูนย์โสตทัศนศึกษา (Audio-Visual Education Center)
                          ศูนย์โสตทัศน์ (Audio-Visual Center)
                          ศูนย์โสตทัศนูปกรณ์ (Audio-Visual Equipment Center)
                          ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational Technology Center)
                          ศูนย์เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา (Educational Communication and Technology Center)
                          ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา (Educational Technology and Innovation Center)
                          ศูนย์สื่อ (Media Center)
                          ศูนย์สื่อการสอน (Instructional Media Center)
                          ศูนย์สื่อการศึกษา (Educational Media Center)
                          ศูนย์บริภัณฑ์สื่อ (Media Resource Center)
                          ศูนย์บริภัณฑ์เพื่อการศึกษา (Educational Resource Center)
                          ศูนย์สื่อการเรียนการสอน (Learning Resource Center)
                          ศูนย์วิทยบริการ (Academic Resources Center)
                          ศูนย์บริการสื่อการสอน (Media Service Center)

ศูนย์สื่อการสอนในห้องสมุดโรงเรียน

             การจัดตั้งศูนย์สื่อการสอนในระดับโรงเรียนจะพบว่า  ศูนย์สื่อการสอนจะถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุดโรงเรียน    เนื่องจากความต้องการคนดูแลและสื่อที่อยู่ในศูนย์เองก็มีทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์และเครื่องมืออุปกรณ์ที่ไม่ใช่สิ่งพิมพ์ (Printing and Non-printing)  การรวมกันไว้เป็นส่วนเดียวกันก็เป็นสิ่งที่จัดร่วมกันได้อย่างเหมาะสมในสหรัฐอเมริกา   สมาคมบรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียนอเมริกัน  (American Association of School Librarians : AASL) และสมาคมเทคโนโลยีและสื่อการการศึกษา  (Association for Educational Communications and Technology : AECT)   มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและได้ให้คำแนะนำลักษณะประการสำคัญที่ศูนย์สื่อในระดับโรงเรียนจะต้องมี  และต้องพัฒนาขึ้นเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์และความมุ่งหมายของศูนย์สื่อ (AASL and AECT, 1988 : 24)

             ข้อเสนอแนะในการจัดศูนย์สื่อการสอนเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายนั่นคือ   การจัดศูนย์สื่อในห้องสมุดต้องมีส่วนร่วม    และบทบาทในกิจกรรมการเรียนการสอน รวมทั้งเข้าไปมีส่วนสำคัญของการจัดหลักสูตรให้บริการตามเป้าหมายและจุดประสงค์ของโรงเรียนโดยนำข้อมูลและสร้างความคิด  เพื่อให้โรงเรียนชุมชน  ครูใหญ ่ นักเทคโนโลยีการศึกษา ครูและนักเรียนต้องทำงานร่วมกัน  เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากระบวนการในศูนย์สื่อได้รับการสนับสนุนเต็มที่ โดยศูนย์สื่อการสอนจะเป็นทั้งแหล่งความรู้ทั่วไปและแหล่งเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน โดยมีพื้นที่เพียงพอให้บริการอย่างสะดวกสบาย เชิญชวนให้เข้าไปใช้

 

             สมิธ และไพก์ (Smith and Pike, 1991) ได้เสนอรูปแบบองค์ประกอบของการนำศูนย์สื่อการสอนเข้าไปมีส่วนร่วมในหลักสูตร  โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ส่วนคือ

             1. ส่วนบริการข้อมูล (Information Services) เป็นส่วนที่คำนึงถึงการพัฒนาและการจัดการ ข้อมูลให้เพียงพอกับการให้บริการภายใต้ข้อจำกัดของศูนย์ การให้บริการต้องให้เหมาะสมและมีนโยบายที่ยืดหยุ่นในการใช้ คำนึงถึงครูอาจารย์ นักเรียน และประชาชนในชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่
             2. ส่วนการสอน (Instruction) ต้องมีการเรียนการสอนและฝึกอบรมให้กับนักเรียนทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ   การให้บริการของศูนย์สื่อการสอนต้องเน้นการสอนที่เกี่ยวข้องกับทักษะและการอบรมให้ทันกับเทคโนโลยี  ต้องจัดรูปแบบของศูนย์สื่อในมีลักษณะที่เป็นแหล่งให้การศึกษาได้ตลอดเวลาที่ต้องการ
             3. ส่วนพัฒนาการเรียนการสอน (Instructional Development)  เป็นส่วนที่ต้องใช้นักเทคโนโลยีการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม  ในการพัฒนาหลักสูตร และการประเมินเพื่อช่วยครูในการวางแผนการสอน และการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตร  โดยนำเข้าไปจัดระบบภายในศูนย์ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์และเป้าหมายของหลักสูตรมีการประเมินผลโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านหลักสูตรและเทคโนโลยี ในการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการเรียนการสอน
             4. ส่วนจัดการเรียนการสอน (Management) เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการบริหารการดำเนินงานของศูนย์เช่น การจัดสรรงบประมาณ  และทีมงานเพื่อประสิทธิภาพของศูนย์ รวมถึงสภาพการจัดองค์กรทั้งที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์และสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งพิมพ์  โดยมีการพัฒนากระบวนการภายใต้ความเป็นโรงเรียนของชุมชน

             รูปแบบการจัดศูนย์สื่อการเรียนการสอนของสมิธและไพก์   เน้นที่การมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคมโดยรอบของโรงเรียน  เป็นการจัดศูนย์สื่อเพื่อให้เกิดประโยชน์ไม่เฉพาะกับครูอาจารย์และนักเรียนในโรงเรียนเท่านั้นแต่จะมุ่งให้เกิดประโยชน์กับชุมชน ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการจัดและเป็นเจ้าของศูนย์     อันจะทำให้เกิดความร่วมมือ  เกิดความเป็นเจ้าของร่วมกันของทั้งโรงเรียนและชุมชนเป็นศูนย์       เพื่อการเรียนรู้ที่คุ้มค่าไม่ได้ใช้ประโยชน์เฉพาะโรงเรียน แต่เอื้อประโยชน์ถึงชุมชนอันเป็นลักษณะในการจัดการศึกษาที่กระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม เป็นเป้าหมายหนึ่งของการจัดการศึกษาในประเทศไทยที่มุ่งหวังให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา    และจะเป็นการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในชุมชนมากขึ้น (รุ่ง แก้วแดง, 2540)

แนวคิดของศูนย์สื่อการสอนประเภทต่าง ๆ

             การจัดตั้งหรือดำเนินการของศูนย์สื่อการสอนจึงขึ้นอยู่กับว่า หน่วยงานต้องการอะไรจากศูนย์สื่อการเรียนการสอนมากกว่าจะคำนึงว่าผู้เรียนจะได้อะไรจากศูนย์สื่อการเรียนการสอน    เพราะศูนย์สื่อมีการแบ่งออกได้เป็นหลายลักษณะจึงจำเป็นที่รูปแบบของศูนย์สื่อย่อมแตกต่างกันไปไม่สามารถกำหนดรูปแบบของศูนย์ให้เหมือนกันได้  เช่น  แนวคิดในยุคแรก ๆ ที่มีการรวมศูนย์สื่อการสอนกับห้องสมุดเข้าด้วยกันในทางปฏิบัติ  (Douglas, 1975) ซึ่งก็มีรูปแบบที่แตกต่างไปจากการเป็นศูนย์สื่อโดยเฉพาะ โดยมีการแบ่งฝ่ายดังรูปที่ 3


             ในขณะที่รูปแบบการจัดการศูนย์สื่อการสอนของหน่วยงานต่าง ๆ   ในประเทศไทยก็แตกต่างกันไปตามบทบาทหน้าที่ของ   เช่น   โครงสร้างของศูนย์เทคโนโลยีการศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ ก็มีรูปแบบที่เฉพาะของตนเอง


 

             โครงสร้างของศูนย์เทคโนโลยีการศึกษา  กรมการศึกษานอกโรงเรียน  มีลักษณะที่เป็นศูนย์สื่อการสอนครบวงจร   เน้นการผลิตและให้บริการในระดับกว้างไปยังประชาชน  โดยมีสื่อสำคัญคือวิทยุโรงเรียน โทรทัศน์เพื่อการศึกษา  โดยมีฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษา  ฝ่ายช่างเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยงานวิชาการเทคนิค งานควบคุมเสียงและออกอากาศ งานเทคนิคโทรทัศน์และงานซ่อมบำรุง  ส่วนฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์ก็จะมีงานผลิตโสตทัศนวัสดุ   งานบริการสื่อทางการศึกษา งานผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และงานบริการทางศิลปกรรม   ซึ่งทั้งสามฝ่ายช่วยสนับสนุนงานด้านการผลิตรายการวิทยุโรงเรียนและโทรทัศน์   เพื่อการศึกษามากกว่าการให้บริการสื่อการสอนกับกลุ่มผู้เรียนและยังมีศูนย์ดาวเทียม     เพื่อการศึกษาอีกหน่วยหนึ่งที่ทำหน้าที่ผลิตรายการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไทยคม

             ส่วนรูปแบบของศูนย์สื่อการสอนเฉพาะทาง   ตามแนวทางการจัดศูนย์วิทยบริการทางการแพทย์ก็จะมีลักษณะที่แตกต่างไปจากศูนย์สื่อในแบบอื่น ๆ   ตามความเหมาะสมของสถาบันซึ่งแบ่งการดำเนินงานภายในศูนย์ออกได้เป็น 8 งาน    ได้แก่  ห้องสมุด  โสตทัศนูปกรณ์  เทคโนโลยีสารสนเทศ  ประชาสัมพันธ์ ฝึกอบรม พิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์ ศึกษาด้วยตนเองและสถิติวิจัย ดังแสดงในรูปที่ 5 (นัยนา นุรารักษ์, 2539)  ซึ่งอาจจะรวมห้องสมุดและการศึกษาด้วยตนเองเข้าด้วยกัน  รวมพิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์กับโสตทัศนูปกรณ์   ฝึกอบรมกับประชาสัมพันธ์   สถิติและวิจัยกับเทคโนโลยีสารสนเทศก็ได้


 

คอมพิวเตอร์คือหัวใจของศูนย์สื่อการสอนในอนาคต

             หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของศูนย์สื่อการสอนก็คือ  การเข้ามาของคอมพิวเตอร์   โดยการทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Resources Center) ได้ถูกนำมาใช้ในหน่วยงานทางการศึกษาโดยเฉพาะภายในศูนย์ข้อมูลและศูนย์สื่อการสอนของห้องสมุด   เพราะเข้ามาเป็นที่เก็บข้อมูลและเป็นแหล่งบริการการเรียนรู้ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่กับการศึกษา   สามารถนำไปใช้กับงานราชการ  โรงเรียน  เพราะศูนย์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้โปรแกรมรายการต่าง ๆ สมบูรณ์ ศูนย์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จะกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีในห้องสมุดเพื่อทำให้ขั้นตอนที่เคยยุ่งยากสะดวก และการบริการค้นข้อมูลก็จะดีเยี่ยมด้วยศูนย์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เต็มรูปแบบ ไม่ต่างอะไรกับโสตทัศนูปกรณ์หรือแผนกไมโครฟิล์มที่เป็นมุมหนึ่งของห้องสมุด  ศูนย์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้ผู้บริการสะดวกและเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของห้องสมุดต่อไป  (Dickinson, 1994 : 1)  ศูนย์สื่อการสอนในอนาคตทุกแห่งต้องพัฒนามาใช้คอมพิวเตอร์เป็นหลักในการจัดสภาพแวดล้อมภายในศูนย์       ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ต่อเชื่อมโยงระหว่างศูนย์สื่อการสอนต่างสถาบันและระหว่างศูนย์สื่อการสอนกับบ้านของผู้ใช้  โดยมี CD-ROM เป็นฐานข้อมูลที่ผู้เข้าใช้บริการศูนย์สื่อการสอน  ต้องเข้ามาใช้เพื่อการสืบค้นหาความรู้ได้ตลอดเวลาจะกลายเป็นหัวใจสำคัญของศูนย์สื่อในอนาคต  เพียงแต่ว่าต้องฝึกให้ผู้ใช้ได้รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร  ต้องใช้อย่างไร ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่หนึ่งของศูนย์สื่อการสอนและนักเทคโนโลยีการศึกษาที่จะเข้าไปมีบทบาทในการออกแบบ     และวางระบบการใช้ให้สัมพันธ์กับการเรียนการสอน (Craver, 1995)

             ความเจริญก้าวหน้า   ความทันสมัย   คุณภาพและประสิทธิภาพของศูนย์สื่อการสอนจะมีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องชี้วัด    ปริมาณการใช้บริการของเครื่องคอมพิวเตอร์ภายในศูนย์สื่อจะสูงมากกว่าสื่อทุกตัวที่มีอยู่ภายในศูนย์   การพัฒนาระบบเครือข่ายเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ทั้งในรูปแบบปัจจุบันที่ต่อเชื่อมระบบอินเตอร์เน็ต       หรือการเชื่อมโยงด้วยเส้นใยแสง ล้วนแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของศูนย์สื่อที่จะต้องอาศัยคอมพิวเตอร์เข้ามาเป็นหัวใจในเกือบทุกเรื่องโดยที่ไม่ต้องใช้คน     เมื่อความก้าวหน้าทางคอมพิวเตอร์สูงขึ้นมากขึ้นเท่าไร      ความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงของศูนย์สื่อการสอนก็เปลี่ยนแปลงมากขึ้นเท่านั้น   และไปถึงความรู้และเทคโนโลยีทุกอย่างจะต่อเชื่อมโยงถึงกันกลายเป็นศูนย์สื่อการสอนที่ไร้พรมแดนไปในที่สุด     โดยมีสถานศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ  เชื่อมต่อกันจากทั่วประเทศ  (ถนอมพร เลาจรัสแสง, 2541)     ซึ่งการเชื่อมโยงโครงข่ายคอมพิวเตอร์มีลักษณะที่จะเป็นศูนย์สื่อการสอนในอนาคต ต่อไปก็จะมีการพัฒนาการสอนขึ้นบนอินเทอร์เน็ตและทำกิจกรรม เพื่อการเรียนรู้ได้ภายในระบบเครือข่ายศูนย์สื่อการสอนทั้งระบบนี้

สรุป

             แม้ว่าศูนย์สื่อการสอนในปัจจุบันจะอยู่ในสภาพที่เป็นส่วนหนึ่งของงานทางวิชาการ         เป็นแหล่งบริการเครื่องมืออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความ-สะดวกในการสอนให้กับครูอาจารย์มากกว่าที่จะเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ต้องการแสวงหา  ภายใต้แนวคิดที่ว่าผู้เรียนคือศูนย์กลางการเรียนดังนั้นถ้าไม่ปรับเปลี่ยนศูนย์สื่อการสอนให้มีสภาพเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้เพื่อเอื้อให้กับผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าอย่างอิสระ โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่ว่าคอมพิวเตอร์ ระบบโทรคมนาคมหรือเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ แล้วเราจะปรับเปลี่ยนวิธีการทางการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ได้คิดและได้ทำด้วยตนเองให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

 

หมายเลขบันทึก: 207345เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2008 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท