ความสัมพันธ์ภูมิปัญญาไทย-ญี่ปุ่น


พระไตรปิฎกสากล

บันทึกวิดีทัศน์สัมภาษณ์ศาสตราจารย์อากางิ

Emeritus Professor Osamu AKAGI
University of Tokyo of Foreing Studies, Japan

เรื่อง

พระไตรปิฎกสากล :
ความสัมพันธ์ภูมิปัญญาไทย-ญี่ปุ่น

 

1. ความประทับใจ
เมื่อได้เห็นพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน (World Tipiṭaka Edition in Roman Script) ครั้งแรก ผมรู้สึกแปลกใจและประทับใจมาก ประการแรกประทับใจที่เห็นชาวไทยจัดพิมพ์พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นสมบัติอันมีค่าของมนุษยชาติขึ้นได้เป็นผลสำเร็จอย่างงดงาม เมื่อได้เห็นพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน จึงรู้สึกแปลกใจหรือจะเรียกว่าประทับใจก็ได้ โครงการนี้มีคนมากมายร่วมมือกัน โดยไม่ได้ใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือหน่วยงานราชการแต่ประการใด

โครงการพระไตรปิฎกสากลเป็นงานที่เอกชนช่วยกันทำจริงๆ ทำให้รู้สึกประทับใจมาก งานนี้กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ซึ่งเป็นองค์กรกุศลเอกชน เป็นผู้นำในการดำเนินโครงการและมีบุคคลในวงการ การศึกษาและหน่วนงานเอกชนอื่นๆ ให้ความร่วมมือ ซึ่งสำหรับผมคิดว่าเป็นผลงานที่น่าชื่นชมมากของชาวไทย

การจัดพิมพ์และเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมันครั้งนี้มีประวัติและที่มาย้อนหลังไปประมาณ 120 ปี ในสมัยนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดพิมพ์พระไตรปิฎกอักษรสยามขึ้น (King of Siam Tipiṭaka) และพระราชทานไปยัง 30 ประเทศ ซึ่งภูมิหลังทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ ทำให้มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันขี้น ในครั้งนี้เป็นการตามรอยพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ผมรู้สึกแปลกใจคือสมัย ร.5 เป็นสมัยที่ประเทศต่างๆ ในยุโรปเข้ามาล่าอาณานิคมในเอเชีย

ผมคิดว่าการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดพิมพ์พระไตรปิฎกอักษรสยามและพระราชทานไปยังประเทศต่าง ๆ มากมายทั้งในยุโรปและเอเชียรวมทั้งญี่ปุ่น อาจไม่ได้มีนัยสำคัญในเชิงศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่หากมีนัยสำคัญในเชิงกุศโลบายทางการทูตด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาจทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงประกาศแก่ทั่วโลกว่า ประเทศสยามซึ่งเป็นประเทศในเอเชียมีเทคโนโลยีทางการพิมพ์ระดับสูง เป็นประเทศที่มีความสามารถในการพิมพ์หนังสือและมีอารยธรรม และหลังจากที่พระราชทานพระไตรปิฎกอักษรสยามแล้ว ก็ได้เสด็จประภาสยุโรป

ผมคิดว่าการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันในครั้งนี้ก็คงจะไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อแสดงให้สังคมโลกได้รับรู้ความสามารถของชาวไทย และประกาศว่าชาวไทยอยากให้โลกมีสันติภาพ

2. พระราชวงศ์ไทยกับญี่ปุ่นและโครงการพระไตรปิฎกในสมเด็จกรมหลวงฯ
สัมพันธไมตรีระหว่างญี่ปุ่นและไทยอย่างเป็นทางการเริ่มมีมาเมื่อ 120 ปีที่แล้ว ซึ่งผมคิดว่าความสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างประเทศสองประเทศคงจะไม่มีที่อื่นอีกมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียคงมีเฉพาะญี่ปุ่นกับไทยเท่านั้น

โดยทั่วไปคงมีสาเหตุหลายประการที่ทำให้สัมพันธไมตรีระหว่างประเทศยืนยาวเช่นนี้ แต่สำหรับไทยและญี่ปุ่นคงเป็นเพราะไทยมีสถาบันกษัตริย์และญี่ปุ่นมีสถาบันจักรพรรดิ ซึ่งทั้งสองพระราชวงศ์ทรงมีการติดต่อกันมายาวนานอย่างใกล้ชิด ครั้งนี้ทราบว่ากองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ มีโครงการจะทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อถวายพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันแด่สมเด็จพระจักรพรรดิ ซึ่งผมคิดว่าเป็นโครงการที่ดีมาก

เมื่อประมาณ 120 ปีที่แล้ว พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระไตรปิฎกอักษรสยามให้แก่สถาบันต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น และคราวนี้การที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า จุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ถวายพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันแด่สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นจะเท่ากับการพระราชทานพระไตรปิฎกแก่ประชาชนชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศ ผมถือว่าพระไตรปิฎกนี้เป็นของขวัญที่มีค่ามากและเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีและยั่งยืนของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย

3. พระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันในเชิงวิชาการ
พระไตรปิฎกเดิมบันทึกเป็นภาษาบาฬี (ปาฬิ) ซึ่งภาษาบาฬีนี้เป็นสมบัติส่วนรวมของเอเชีย ผมคิดว่าพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นโดยใช้ต้นฉบับซึ่งสังคายนาระดับนานาชาติที่ประเทศเมียนมาร์ เมื่อปี 2500 มีนัยสำคัญในเชิงวิชาการเป็นอย่างยิ่ง นักวิชาการที่ทำงานวิจัยค้นคว้า โดยทางด้านภาษาศาสตร์ ศาสนา และประวัติศาสตร์คงจะให้ความสนใจในพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันนี้ในฐานะผลงานวิจัยที่ยิ่งใหญ่ชิ้นหนึ่ง และเป็นสมบัติอันมีค่า เพราะจะเปิดทางให้มีการค้นคว้าวิจัยอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป ไม่ใช่เฉพาะการศึกษาทางด้านศาสนาแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

4. อนาคตของพระไตรปิฎกสากล
ผมได้เห็นผลงานของโครงการพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันแล้ว ได้รู้ว่านอกจากที่ตีพิมพ์เป็นเล่มแล้ว ยังมีการจัดทำเป็นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (World Tipiṭaka Database) สามารถนำไปอ้างอิงในระบบดิจิตอล (e-Tipiṭaka Quotation WebService → www.tipitakastudies.net ) ได้อย่างสะดวกและง่ายดาย ว่าแต่ละข้อความมาจากส่วนใดคัมภีร์ (Tipiṭaka Reference Number) นอกจากนั้นยังระบุความแตกต่างของการพิมพ์ระหว่างพระไตรปิฎกฉบับอักษรต่างๆ ของแต่ละชาติด้วย (Variant Readings) จึงมีคุณค่าทางวิชาการเป็นอย่างมากและแสดงให้เห็นถึงระดับความสามารถอันสูงยิ่งในการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาบูรณาการ และสร้างเป็นฐานข้อมูลที่มีประโยชน์ ซึ่งใครๆ ก็สามารถนำไปใช้ได้

เทคโนโลยีธัมมะ
เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในโครงการนี้ ผมได้ทราบว่ามีการใช้เทคโนโลยีของชาติต่างๆ เช่นในส่วนการพิมพ์ โครงการพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันได้ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลการพิมพ์ความเร็วสูงของญี่ปุ่น ซึ่งเท่ากับว่าเป็นความร่วมมือของชาติต่างๆ ซึ่งมาทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสันติภาพของโลก เปรียบเสมือนทูตสันธวไมตรี และการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่จัดทำขึ้นและนำเสนอสู่สังคมโลกเช่นนี้ นับว่ามีความหมายมาก

พระไตรปิฎกคืออะไร ?
พระไตรปิฎก คือ พระพุทธพจน์ ได้แก่สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้เมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งเรามักคิดว่าอยู่ในรูปแบบของสิ่งตีพิมพ์ เป็นหนังสือเล่มๆ แต่ความจริงคือ พระสาวกได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธองค์และจดจำเป็นเสียง(ปาฬิ) ไว้และได้มีการถ่ายทอดสืบต่อกันมา ซึ่งความทรงจำที่เป็นเสียง(ปาฬิ)นั้น เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าก็จะลืม สิ่งที่คนหนึ่งจำได้กับสิ่งที่อีกคนหนึ่งจำได้อาจเริ่มผิดเพี้ยนไป จึงต้องมีการสังคายนา (Saṅgāyanā) ด้วยการออกเสียงสังวัธยายพร้อมๆ กัน และถ้าพบความแตกต่างก็จะช่วยกันแก้ไขให้ถูกต้อง เรียกว่าการสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งเคยจัดขึ้นหลายครั้ง

การสังคายนาพระไตรปิฎกที่ประเทศเมียนมาร์ในปี พ.ศ. 2500 เป็นการสังคายนาระดับนานาชาติครั้งล่าสุด (The Great International Tipiṭaka Council) มีพระสงฆ์เถรวาทจากทั่วโลก (2500 รูป) มาประชุมกันถึง 2 ปี ผมทราบว่าพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน ได้นำต้นฉบับนั้นมาตรวจทานใหม่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นพระไตรปิฎกฉบับอักษรโรมันที่สมบูรณ์และเป็นสากลอย่างแท้จริง

ความเป็นสากลและสมบูรณ์ของพระไตรปิฎกฉบับอักษรโรมัน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเป็นภาษาธัมมะ ที่เรียกกันว่า ภาษาบาฬี (หรือ ปาฬิ) ซึ่งเป็นเสียงไม่มีตัวอักษร ภายหลังจึงได้มีการนำไปเขียนเป็นตัวอักษรของชาติต่างๆ (script) ทำให้เกิดมีพระไตรปิฎกปาฬิอักษรต่างๆ และจำเป็นต้องทำการสังคายนาหลายครั้ง ทุกวันนี้ก็ยังมีพระไตรปิฎกปาฬิที่ใช้ภาษาต่างๆ หลากหลาย ซึ่งถ้าใช้ภาษาของชาติใดชาติหนึ่ง เช่น ภาษาไทย หรือ ภาษาพม่า หรืออักษรของชาติต่างๆ มาจัดพิมพ์ปาฬิ ก็จะทำให้ขาดความเป็นสากล เพราะฉะนั้นการนำอักษรโรมัน (Roman Alphabet) มาใช้ในการตีพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิครั้งนี้จึงนับว่าเหมาะสมที่สุด เพราะอักษรโรมันมีความเป็นสากล

ผมทราบว่าพระไตรปิฎกซึ่งสังคายนานานาชาติที่ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งควรจะมีความสมบูรณ์ที่สุดนั้น เมื่อมาตรวจทานก็พบว่ามีความแตกต่างของการพิมพ์อยู่หลายหมื่นแห่ง ได้ยินว่ามีทั้งหมดถึงสี่หมื่นแห่ง ต้องใช้เวลาตรวจทานและแก้ไขอยู่นานมาก ต้องถือว่าเป็นผลงานที่ใช้ความพยายามเป็นอย่างยิ่ง ที่บอกว่าทำอยู่ถึง 6 ปี นั้น ผมคิดว่ายังทำได้เร็วมาก นับเป็นผลงานแห่งความพยายามของทีมงาน ทุกๆ คนจริงๆ

หมายเลขบันทึก: 207202เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2008 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท