การศึกษากับการเสริมสร้างความซื่อสัตย์สุจริต


การศึกษากับการเสริมสร้างความซื่อสัตย์สุจริต

การศึกษากับการเสริมสร้างความซื่อสัตย์สุจริต

                                        

                    คณะกรรมการ ปปป. ที่มีชื่อเต็มว่า "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบในวงราชการ" ได้แต่งตั้งให้ผมเป็นประธานคณะอนุกรรมการชุดหนึ่ง ชื่อว่า  " คณะอนุกรรมการการเสริมสร้างทัศนคติ ค่านิยม ในความซื่อสัตย์สุจริต"  เมื่อตอนได้รับทาบทามผมตั้งท่าจะปฏิเสธเรียนท่านเลขาธิการฯ ประสิทธิ์ ซึ่งเป็นคนคุ้นเคยกันอยู่ว่าให้หาคนอื่นดีกว่าเพราะผมอยู่ในวงการศึกษา คนวงการนี้ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเท่าไร ท่านเลขาธิการประสิทธิ์ก็บอกว่าที่อยากให้ทำหน้าที่นี้มิใช่เป็นเพราะมีปัญหานี้มากในวงการศึกษาอย่างที่ผมเข้าใจน่ะถูกแล้ว แต่การจะปลูกฝังค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตต้องอาศัยการศึกษาเป็นสำคัญคือ จะให้ข้าราชการและประชาชนทั่วไปยึดมั่นค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เขาเหล่านั้นก็พึงได้รับการศึกษาอบรมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตแต่เยาว์วัย   และต้องปลูกและฝังให้ลึกเข้าไปในจิตใจ ไม่ใช่สักแต่ว่าสอนกันเพียงผิวเผินรู้ว่าความซื่อสัตย์สุจริตคืออะไร     แต่ไม่ได้ยึดถือปฏิบัติอย่างจริงจังในการดำรงชีวิต ก็จะไม่เกิดประโยชน์ และเป็นอันตรายแก่บ้านเมืองด้วย  ผมยอมรับในเหตุผลที่กล่าวมา จึงรับทำหน้าที่ดังกล่าว แล้วก็มานั่งพิจารณาว่า การศึกษาจะมีบทบาทในการเสริมสร้างค่านิยมและทัศนคติเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตได้อย่างไรบ้าง

1. ทำไมต้องมาพูดกันเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต

2. เราจะเริ่มปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตเมื่อไร

3. การปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตเป็นหน้าที่ของใคร

4. การเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริต

5. กิจกรรมเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกความซื่อสัตย์สุจริต</FONT< a>

6. บทส่งท้าย

 

 

 

 

1. ทำไมต้องมาพูดกันเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต

 

                    ผมถามคำถามนี้แก่ตัวเองจริง ๆ ในภาพลักษณ์หนึ่งพบว่าประเทศไทยของเราเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนเป็นที่อิจฉาของหลายประเทศในโลกนี้ด้วยซ้ำไป    ในรอบ35 ปี ที่ผ่านมา  เศรษฐกิจไทยขยายตัวไปถึง 32 เท่า  คนไทยโดยเฉลี่ยมีรายได้สูงถึงปีละประมาณ 70,000 บาทต่อคน คนไทยมีการอยู่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านมากมาย บ้านเมืองเจริญอย่างรวดเร็ว เรามีตึกระฟ้าตึกสูง ๆ ผู้คนมีรถยนต์ใช้มากจนมีปัญหารถติดเป็นอันดับแรก ๆ ของโลก มีผู้พยากรณ์ว่า อีกราว ๆ 40 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีความมั่นคงเป็นอันดับที่ 18 ของโลก แต่ในอีกภาพลักษณ์หนึ่งพบว่าประเทศไทยมีปัญหาอาชญากรรมเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งบ่งบอกว่ามีธุรกิจนอกกฎหมายที่ใหญ่โตมูลค่านับหมื่นนับแสนล้านอยู่หลายอย่าง     เช่น   การพนัน   โสเภณี    ยาเสพติด สินค้าเถื่อน  น้ำมันเถื่อน  เป็นต้น      ถ้าประเทศไทยไม่มีธุรกิจนอกกฎหมายใหญ่โตเช่นนี้ ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้ารวดเร็ว และก้าวไกลกว่านี้อีกมาก การมีธุรกิจนอกกฎหมายมากนำมาสู่อาชญากรรมที่เกิดขึ้นมากตามมาด้วย      และเหตุที่มีธุรกิจนอกกฎหมายมาก เป็นเพราะความไม่ซื่อสัตย์สุจริตของข้าราชการ   นักการเมือง   พ่อค้า     และประชาชนที่เห็นแก่ได้นั่นเอง

                    กล่าวได้ว่า ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นต้นตอ    และรากเหง้าของปัญหาหลาย ๆ อย่างถ้าคนของเราเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต   ปัญหาหลายอย่างจะไม่เกิด หรือเกิดก็ไม่มาก ถ้าข้าราชการซื่อสัตย์ไม่ทุจริตคอรัปชั่น   ก็จะไม่มีช่องทางให้คนอื่นอาศัยประโยชน์  

                    ถ้านักการเมืองซื่อสัตย์  เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจก็จะเกิดผลดีกับประเทศชาติและประชาชน ถ้า พ่อค้านักธุรกิจ  ซื่อสัตย์ไม่ติดสินบาทคาดสินบน ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น ก็ไม่ทำให้คนอื่นพะวักพะวงเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ก็จะช่วยเฝ้าระวังไม่ให้เกิดคนกระทำผิดขึ้นด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องคิดปลูกฝังค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตให้กับคนไทยทุกคน คนไทยทั้งชาติ  ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่  ผู้หญิงหรือผู้ชาย  คนรวยหรือคนคน ไม่ว่าเป็นประชาชนหรือข้าราชการ เพื่อให้ เป็นพื้นฐานความเจริญรุ่งเรืองของชาติ ไม่ใช่เพียงข้าราชการเท่านั้นที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต คนไทยทุกคนต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตด้วย

                2. เราจะเริ่มปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตเมื่อไร

                                         โบราณกล่าวว่าไม้อ่อนดัดง่าย  ไม้แก่ดัดยาก   เปรียบดังคนก็เช่นเดียวกันการจะปลูกฝังทัศนคติ  ความเชื่อ  ค่านิยม  หรือลักษณะนิสัยใด ๆ ก็ตาม  ต้องเริ่มปลูกฝังแต่ยังเยาว์วัย ปลูกฝังทีละน้อยให้สะสมไปเรื่อย ๆ เมื่อโตขึ้นก็ต้องปลูกฝังต่อไป แม้เป็นผู้ใหญ่ก็ต้องมีการปลูกฝังไปจนตลอดชีวิต  แต่ลักษณะ  และวิธีการปลูกฝัง  จะต้องแตกต่างกันไปตามวัยและวุฒิภาวะของแต่ละคน ที่แตกต่างกัน

                                         คงไม่เป็นการกล่าวไกลเกินความจริงไปว่า การปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตต้องสร้างตั้งแต่แรกเกิด ลักษณะนิสัยความซื่อสัตย์สุจริตจะเริ่มต่อตัวขึ้นจากความรักความอบอุ่นที่พ่อแม่  ญาติพี่น้องใกล้ชิดได้แสดงออกและให้แก่เด็ก    เด็กก็จะแสดงความรัก  ความเชื่อถือไว้วางใจตอบสนองเช่นเดียวกัน และเด็กจะเชื่อ และเอาอย่างทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งคนที่ตัวเองรักและไว้ใจทำให้ดูหรือแสดงให้เห็น พ่อแม่จึงเป็นต้นแบบที่สำคัญในวัยเด็ก

                                         เมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียนเด็กถือครูเหมือนพ่อแม่ที่สอง เด็กเคารพและไว้ใจเชื่อในสิ่งที่ครูสอนและสิ่งที่ครูทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ไม่ว่าจะตั้งใจทำหรือไม่ก็ตาม เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากครู และจาการสั่งสอน อบรมบ่มนิสัยของครู ครูจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างลักษณะนิสัยเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ไม่น้อยกว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง

                                         เด็กอยู่ในโรงเรียนมิได้ศึกษาเอาอย่างเฉพาะจากครูประจำชั้นของตนเท่านั้น เด็กได้รู้ได้เห็นได้เรียนรู้จากครูอื่น ๆ    ที่เกี่ยวข้องกับเด็กทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นเดียวกัน เด็กไม่ได้เรียนรู้จากครูเฉพาะในห้องเรียนในเวลาที่ครูเข้าสอน        แต่เด็กเรียนรู้จากครูในพฤติกรรมของครูที่แสดงออกในโอกาสต่าง ๆ ด้วยการปลูกฝังค่านิยมและทัศนคติเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต จึงเป็นบทบาทของครูทุกคนในโรงเรียน และทุกคนมีบทบาทหน้าที่ในเรื่องนี้ ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย

                                         ผู้บริหารเป็นทั้งครูและเป็นต้นแบบที่เด็กจะดูแบบอย่างเป็นพิเศษ     และยังเป็นต้นแบบให้กับครู เป็นผู้ดูแลครูอื่น ๆ ให้เป็นต้นแบบที่เหมาะสมด้วย ผู้บริหารจึงเป็นต้นแบบและมีบทบาทที่สำคัญมากที่สุดในโรงเรียนในการปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต

                                         เพื่อนนักเรียนก็เป็นตัวอย่างที่สำคัญ เด็กมักเอาอย่างเพื่อน ทำแบบเพื่อนเพื่อเอาใจเพื่อน ถ้าเด็กมีเพื่อนดีก็มักทำดีตามด้วย การแก้เด็กไม่ดีจึงทำได้โดยการให้คบเพื่อนที่ดี  เรื่องนี้แม่ผมสอนเสมอ ๆ ว่าให้เลือกคบแต่เพื่อนดี  เพื่อนเกเรให้หลีกให้ห่าง  บางทีก็ทำไม่ได้  แต่การคบเพื่อนเกเรในขณะที่รู้ตัวก็จะช่วยฉุดรั้งไม่ให้เพื่อนทำชั่วได้  เป็นสิ่งที่ดีเสียอีก การสร้างทัศนคติและค่านิยมที่ดี  จึงไม่สามารถแยกสร้างเป็นรายบุคคลได้  ต้องสร้างให้เกิดขึ้นกับทุก ๆ คนพร้อมกันเด็กจะได้ดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

                                         เด็กเรียนรู้และสร้างลักษณะนิสัยหลายอย่างจากสังคมรอบตัวเด็ก คือจากผู้ใหญ่ในชุมชน จากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว จากข้อมูลข่าวสารที่เด็กได้รับ  ไม่ว่าจากวิทยุ  โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือจากคำเล่าลือต่าง ๆ  ผู้ใหญ่ในสังคมที่มีคนยกย่องนับถือมาก ๆ   เด็กจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ    บางทีเขาอาจจะเชื่อว่าทุกอย่างที่ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติเป็นของดีหมด ดังนั้น ถ้าเด็กยกย่องนับถือถูกคนก็เป็นการดี     แต่ถ้าไปยกย่องนับถือคนที่ขาดความซื่อสัตย์สุจริตก็จะเป็นอันตรายมาก

                                         เมื่อออกสู่โลกของการงานอาชีพ     คนก็เรียนรู้และปรับลักษณะนิสัยตามสภาวะแวดล้อม ถ้าเข้าสู่สังคมอาชีพที่ดีก็จะเป็นศรีกับตัวเขา ถ้าเขาเข้าสู่อาชีพที่มีคนไม่ซื่อสัตย์สุจริตปนอยู่มาก ก็จะเป็นอันตรายต่อตัวเขา  จริงอยู่เขาได้เรียนรู้   และน่าจะมีลักษณะนิสัยที่ดีติดตัวเป็นเกราะกำบังได้บ้าง แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดีก็อาจดึงดูดให้เสียได้ และถ้าทำมาหากินกับคนที่มีธุรกิจผิดกฎหมายก็ยิ่งเป็นอันตรายร้ายแรงยิ่งขึ้น  การสร้าง  ปลูกฝังทัศนคติค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำในสถานประกอบการ   ในสถานที่ทำงานด้วยเช่นเดียวกัน                               

3. การปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตเป็นหน้าที่ของใคร

                                         คนทุกคนทุกเพศ  ทุกวัย  ทุกอาชีพ   จำเป็นต้องมีค่านิยมและทัศนคติเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตและต้องดำเนินชีวิตโดยมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐาน ดังนั้น การปลูกฝังเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตจึงต้องเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายในสังคมที่จะต้องช่วยกัน    จะยกภาระให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้  ทุกคนต้องมีสำนึกและปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและมีหน้าที่ดูแลช่วยเหลือสร้างจิตสำนึก     ให้คนอื่นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตด้วย
องค์กรหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญคือ

                                         1)  ครอบครัว  พ่อแม่  ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง   ต้องช่วยกันดูแลสร้างและปลูกฝังจิตสำนึกนี้ด้วยการแนะนำ สั่งสอน ทำตัวอย่างที่ดีให้กับคนในครอบครัวของตน ตัวอย่างนิทานเรื่อง "สอนลูกให้เป็นโจร" เป็นอุทาหรณ์เตือนใจที่ดี เรื่องนี้เล่าว่า มีพ่อแม่คู่หนึ่งเลี้ยงลูกด้วยความรักจึงตามใจลูกทุกอย่าง ลูกอยากได้อะไรหาให้ลูก ถ้าผิดก็ไม่ตักเตือน ลูกไปหยิบฉวยของผู้อื่นก็ไม่ว่าไม่กล่าวจนเด็กเกิดเป็นนิสัยชอบลักขโมยของผู้อื่น จากของเล็กน้อย ก็เป็นของมีค่ามากขึ้นจนกระทั่งเมื่อโตขึ้นก็เป็นโจรลักของคนอื่น    วันหนึ่งไปปล้นทรัพย์ฆ่าเจ้าทรัพย์ตายถูกเจ้าหน้าที่จับได้ จะต้องถูกลงโทษถึงประหารชีวิต พ่อแม่ได้ข่าวก็เสียใจ ขอพบลูก เมื่อลูกได้พบพ่อแม่ก็ต่อว่าว่าเป็นเพราะพ่อแม่เลี้ยงดูเขาไม่ดี  ไม่เคยแนะนำสั่งสอนห้ามปรามเมื่อเขาทำผิดเขาจึงกลายเป็นนักโทษประหาร เช่นนี้

                                         2)  โรงเรียนและสถานศึกษา เป็นสถาบันสำคัญที่ทำหน้าที่ให้การศึกษาอบรมบ่มนิสัย คือ ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง การสร้างนิสัย การประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง หัวใจสำคัญของการศึกษา คือ การทำให้คนเป็นคนดีเป็นคนที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นทั้งต่อสังคมที่ตนอยู่อาศัยและต่อประเทศชาติจนถึงมนุษยชาติในที่สุด  การสร้างลักษณะนิสัยความซื่อสัตย์สุจริต  จึงเป็นเรื่องสำคัญที่โรงเรียนและสถานศึกษาจะต้องให้การเอาใจใส่ดูแลไม่น้อยกว่าการทำให้ผู้เรียนมีความรู้ และมีลักษณะอื่น ๆ ที่พึงประสงค์ การปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตก็เหมือนกับการปลูกฝังคุณลักษณะอื่น ๆ คือต้องทำให้ผู้เรียนเกิดศรัทธา  เชื่อว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีที่ทุกคนพึงประพฤติปฏิบัติ    และต้องให้ผู้เรียนปฏิบัติเป็นกิจนิสัยควบคู่กับการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และได้เห็นตัวอย่างของจริงที่ถูกต้องด้วย   การสร้างนิสัยความซื่อสัตย์สุจริตให้กับเด็กเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่องเป็นเวลานาน  ตลอดเวลาที่เด็กได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในโรงเรียน เพื่อให้กระบวนการศึกษาเล่าเรียนเป็นไปอย่างเหมาะสม    ทุกฝ่ายในโรงเรียนจะช่วยกันรับผิดชอบตั้งแต่ผู้บริหารซึ่งต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ คอยกำกับ ดูแลติดตามอย่างใกล้ชิดกระบวนการเรียนก็ต้องถูกต้องเหมาะสมกับวัยและพื้นฐานของเด็ก ครูที่สอนทุกคนทุกวิชาก็ต้องถือเป็นหน้าที่คอยดูแลเอาใจใส่          กิจกรรมทุกอย่างที่จัดก็ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้องเหมาะสมและส่งเสริมให้เกิดความซื่อสัตย์สุจริตไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเพื่อความรู้ ความบันเทิง   หรือการกีฬาก็ตาม

                                         3)  สถาบันสังคมต่าง ๆ   ก็ต้องมีบทบาทส่งเสริมสนับสนุนการสร้างลักษณะนิสัย ความซื่อสัตย์สุจริต วัดและองค์กรทางศาสนาต่าง ๆ    จะมีส่วนช่วยได้มากในการอบรม สร้างความเชื่อ ความศรัทธาให้เกิดขึ้น สื่อมวลชนต่าง ๆ ก็มีส่วนให้ความรู้ ความตระหนักความสำนึกในความสำคัญของความซื่อสัตย์สุจริตได้มากถ้ามีการยกตัวอย่างคนทำความดีให้ปรากฏเสมอ ๆ ก็จะทำให้สังคมเชื่อมั่นในความดีงานนั้น ๆ ได้มากขึ้น ที่สำคัญคือ   จะต้องไม่เผลอยกย่องคนไม่ซื่อสัตย์สุจริตให้คนทั่วไปเห็น  เพราะจะทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าเป็นปกติวิสัยที่คนทั่วไปพึงประพฤติปฏิบัติได้ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย    เรามักจะได้ยินได้ฟังอยู่เสมอที่บางครั้งสังคมยกย่องเชิดชูคนที่มีฐานะดี บริจาคเพื่อสังคมมาก ๆ     แต่เคยมีประวัติชื่อเสียงในทางไม่ดีมาก่อนการทำเช่นนี้เป็นอันตรายต่อสังคมรวมมาก ทำให้เยาวชนเห็นว่า  ความร่ำรวยมีความสำคัญมากกว่าการเป็นคนดีของสังคม

4. การเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริต

                                         แม้ว่าการปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตจะเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายก็ตาม ผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งคงเป็นของโรงเรียนและสถานศึกษา ซึ่งมีหน้าที่หลักคือ การพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความเจริญงอกงามในทุก ๆ ด้านอย่างมีดุลยภาพ คือ ต้องให้เด็กได้พัฒนาทั้งทางด้านจิตใจ   ปัญญา ร่างกาย และทางสังคม ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นคุณลักษณะทางจิตใจ  ประการหนึ่งที่พึงปลูกฝังพัฒนาให้เกิดกับเด็กทุกคน     แต่การพัฒนาคุณลักษณะด้านความซื่อสัตย์สุจริตก็ต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาทางด้านปัญญา   คือ ความรู้ความเข้าใจและการพัฒนาทางร่างกายและสังคมด้วยเช่นเดียวกัน

                                         การเรียนการสอนก็คือ กระบวนการกระตุ้นเพื่อให้เกิดการพัฒนานั่นเองเป็นกระบวนการที่ทำให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็น และได้เรียนรู้ ได้ปฏิบัติจนเกิดความเข้าใจ เกิดความเชื่อ ความศรัทธา และยึดถือสิ่งนี้เป็นแนวดำเนินชีวิตตลอดจนมีการศึกษาและพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ ความศรัทธานั้นชัดเจนยิ่ง ๆ  ขึ้นไปอีกในอนาคต  เพื่อให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการพัฒนานิสัยเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต   ตามนัยที่กล่าวมานี้      กระบวนการจัดการเรียนการสอนจึงน่าจะมีลักษณะดังนี้

                                         1)  การกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตโรงเรียนสามารถทำได้ด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น นำข่าวเหตุการณ์ประจำวันที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต  หรือเอาเรื่องของคนในชุมชนที่คนยกย่องนับถือในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต มาเล่าให้นักเรียนฟัง ในเด็กเล็ก ๆ อาจต้องเล่าเป็นนิทาน ในเด็กโตขึ้นก็เล่าเรื่องจริง และมีรายละเอียดได้มากขึ้น

                                         2)  การยกย่องสรรเสริญผู้ที่ทำความดีต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่แสดงออกซึ่งความซื่อสัตย์สุจริต ควรยกย่องนักเรียนของตนเอง คนในสังคมรอบ ๆ โรงเรียนหรือคนอื่นๆ ตามข่าว เหตุการณ์ที่ปรากฏ

                                         3)  การให้นักเรียนศึกษา ค้นคว้า หาบุคคลตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าผู้นั้นเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณสมบัติที่ดีงามอื่นๆ นักเรียนควรจะได้ศึกษาโดยการไปพูดคุยกับคนในชุมชน เพื่อหาคนที่ชุมชนยกย่องนับถือ และศึกษาจากหนังสือ เอกสารต่างๆ ควรให้นักเรียนได้ให้เหตุผลในการที่เขาเลือกบุคคลนั้นมาเป็นตัวอย่างด้วย

                                         4)  การให้นักเรียนช่วยกันจัดนิทรรศการแสดงประวัติชีวิต และพฤติกรรมของผู้ที่นักเรียนหรือสังคม หรือองค์กรต่างๆ ยกย่องว่าเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต เป็นระยะ ๆ

                                         5)  โรงเรียนประกาศยกย่องนักเรียนหรือครู    หรือบุคคลในสังคมที่มีพฤติกรรม ความซื่อสัตย์สุจริตให้ปรากฏแก่นักเรียนโดยทั่วไปทุกครั้งที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น

                                        

หมายเลขบันทึก: 206395เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2008 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท