ทฤษฎีจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนสำเร็จรูป


รวบรวมมาจากผลงานวิชาการ ใช้ประกอบการเลื่อนวิทยฐานะ

ทฤษฎีจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนสำเร็จรูป

                   การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อให้มีประสิทธิภาพจนสามารถบรรลุตามจุดประสงค์ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สิ่งสำคัญที่ครูควรคำนึงถึงคือ หลักจิตวิทยาที่จะนำมาใช้ในการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนสำเร็จรูปหลายทฤษฎี เช่น ทฤษฎีของธอร์นไตด์ ทฤษฎีเกี่ยวกับการสอนของบรูเนอร์ และทฤษฎีเกี่ยวกับการสอนของกาเย่ ซึ่ง ภพ เลาหไพบูลย์ (2537, หน้า 63-85) และ พวงทอง มีมั่งคั่ง (2537, หน้า 43-52) กล่าวไว้พอสรุปได้ดังนี้

                   ธอร์นไดด์ เป็นนักจิตวิทยาและนักศึกษา ได้ให้กำเนิดทฤษฎีการเรียนรู้ที่เน้นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง เรียกทฤษฎีนี้ว่า ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยง (connectionism theory) โดยเชื่อว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการที่มนุษย์หรือสัตว์ ได้เลือกเอาปฏิกิริยาตอบสนองที่ถูกต้องมาเชื่อมต่อเข้ากับสิ่งเร้าอย่างเหมาะสม โดยอาศัยกฎการเรียนรู้ 3 กฎ (อารี พันธ์มณี, 2534, หน้า 212-216)

                   1. กฎแห่งความพร้อม (law of readiness) หมายถึง สภาพความพร้อมความมีวุฒิภาวะของผู้เรียนทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งพื้นฐานประสบการณ์เดิมที่จะเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่ ตลอดจนความสนใจ ความเข้าใจ ต่อสิ่งที่จะเรียน ถ้าผู้เรียนมีความพร้อมก็จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้

                   2. กฎแห่งการฝึกหัด (law of  exercise) หมายถึง การที่ผู้เรียนได้ฝึกหัดหรือกระทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ เป็นการเน้นความมั่นระหว่างการเชื่อมโยง

                   3. การตอบสนอง เมื่อนักเรียนเกิดการเรียนรู้สิ่งใดแล้วนำไปใช้อยู่เป็นประจำ ก็จะทำให้ความรู้คงอยู่คงทนถาวรและไม่ลืม

 

                  

 

การนำทฤษฏีการสอนของบรูเนอร์มาใช้กับบทเรียนสำเร็จรูป

                   บรูเนอร์เสนอว่าการที่จะนำเนื้อหาใดมาสอนควรพิจารณาดูว่าขณะนี้นักเรียนมีพัฒนาการในระดับใด เพื่อปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับความสามารถของเด็ก หรือรับรู้ได้โดยวิธีการที่เหมาะสมกับเด็กวัยนั้น โดยมีหลักการสำคัญดังนี้

1.     เนื้อหาวิชาควรแบ่งเป็นส่วนย่อย ๆ จัดลำดับให้เหมาะสมกับผู้เรียน

2.     สอนโดยคำนึงถึงความพร้อมและแรงจูงใจของผู้เรียน

3.    การเสนอกิจกรรมที่ให้เกิดการเรียนรู้แบ่งเป็น 3 ขั้น คือ ขั้นลงมือปฏิบัติจริง ขั้นเรียนรู้จากรูปแบบและใช้จินตนาการ ขั้นการใช้สัญลักษณ์และตัวเลขในการแทนคำ

4.    วิธีสอนที่จะให้ผู้เรียนมีความรู้คงทนและถ่ายโยงการเรียนรู้ได้ คือ วิธีสอนแบบค้นพบด้วยตนเอง

5.     การจัดกิจกรรมและประสบการณ์การเรียนต้องให้ท้าทายความคิดและการกระทำ

6.     การเรียนรู้ กระบวนการสำคัญมากกว่าการเรียนรู้เนื้อหา

 

กาเย่ (Gagne, 1970, pp. 250-253 อ้างถึงใน ภพ เลาหไพบูลย์, 2537, หน้า 63-85) เสนอหลักการเรียนรู้ 8 ขั้น ดังนี้

1.    การเรียนรู้โดยสัญญาณ (signal  leaming) เป็นการเรียนรู้ชนิดที่ง่ายที่สุดและเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

2.    การเรียนรู้แบบตอบสนองต่อสิ่งเร้า (stimulus – response learning) เป็นการเรียนรู้โดยอาศัยการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับปฏิกิริยาตอบสนอง ผู้เรียนสามารถควบคุมพฤติกรรมได้ เช่น การให้รางวัลหรือการชมเชย เพื่อให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมา

3.    การเรียนแบบลูกโซ่ (chaining) เป็นการเรียนรู้โดยอาศัยการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับปฏิกิริยาตอบสนองติดต่อกันเป็นลูกโซ่ วิธีการนี้เกิดขึ้นโดยการใช้พฤติกรรมในขั้นที่ 2 อย่างน้อย 2 พฤติกรรมขึ้นไปมาประกอบกันเป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำการเคลื่อนไหว การฝึกทักษะต่าง ๆ ที่ไม่ใช่การพูด เช่น การฝึกให้เด็กติดกระดุมเสื้อ

4.    การเรียนรู้โดยใช้ภาษาอย่างต่อเนื่อง (verbal associatior) เป็นการเรียนรู้ที่ต้องใช้ภาษาพูดประกอบการใช้พฤติกรรมขั้นที่ 3 เช่น เรียกชื่อสิ่งของพร้อมทั้งบอกสีของสิ่งของนั้นได้ เช่น ใบไม้สีเขียว

5.    การเรียนรู้โดยการจำแนก (diserimination learning) เป็นการเรียนรู้ที่เด็กสามารถจำแนกสิ่งของหรือวัตถุออกจากกันตามความแตกต่างหรือความเหมือน เช่น การจำแนกอาหารเป็นพวกผัก ผลไม้ หรือบอกความแตกต่างระหว่างแมวกับสุนัขได้

6.    การเรียนรู้มโนทัศน์ (concept learning) การเรียนรู้ขั้นนี้ต้องมีความรู้ในขั้นที่ 5         มาก่อน หรือความแตกต่างของสิ่งนั้น ๆ เช่น มโนทัศน์ของสี ขนาด รูปร่าง

7.    การเรียนรู้หลักการ  (priaciple learning) เป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการรวมหรือเชื่อมมโนทัศน์ตั้งแต่  2 มโนทัศน์เข้าด้วยกันแล้วตั้งเป็นกฎหรือหลักการ เช่น น้ำเดือดทีอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสที่ความดันปกติ และหลักการนี้นำไปใช้อ้างอิงได้

8.    การเรียนรู้แบบแก้ปัญหา (problem solving) การเรียนรู้ขั้นนี้จะต้องอาศัยการเรียนรู้ขั้นที่ 1-7 โดยสามารถใช้ความรู้เหล่านั้นแก้ปัญหาได้ในสถานการณ์หนึ่ง ๆ เช่น การที่เด็กใช้ไม้เขี่ยของเมื่อของอยู่ใต้ตู้และไม่สามารถเอื้อมถึง การเรียนรู้ขั้นนี้เป็นขั้นสูงสุด

 

การสร้างบทเรียนสำเร็จรูป

                   คำว่า บทเรียนสำเร็จรูปหรือบทเรียนโปรแกรมที่ใช้ในวงการศึกษาขณะนี้มีความทำนองเดียวกับคำภาษาต่างประเทศหลายคำด้วยกัน เช่น program instruction, auto instruction, automated instruction, auto- instruction programming , self-teaching, self instruction program

 

ความหมายของบทเรียนสำเร็จรูป

                   มีผู้ให้ความหมายของบทเรียนสำเร็จรูป ดังนี้

                   ธีระชัย ปูรณโชติ (2532,หน้า 6) ได้ให้ความหมายว่า การสอนที่มีการจัดระบบการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้เรียนตามความสามารถของตนเอง ด้วยการลงมือประกอบกิจกรรมอย่างกระฉับกระเฉงตามลำดับชั้นที่ละน้อย ๆ มีโอกาสได้รับข้อติชมทันที ก้าวหน้าไปตามความสามารถและความสะดวกของแต่ละคน

                   เปรื่อง กุมุท (2519, หน้า 1) ได้ให้คำนิยามคือ ลำดับประสบการณ์ที่วางไว้สำหรับผู้เรียนไปสู่ความสามารถ โดยอาศัยหลักความสัมพันธ์ของสิ่งเร้ากับการสนองตอบซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ

                   ร่วมศักดิ์ แก้วปลั่ง และบุญเหลือ ทองเอี่ยม (2524, หน้า 463) ได้กล่าว คือ การสอนโดยใช้บทเรียนที่จัดทำขึ้น โดยอาศัยหลักจิตวิทยาให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจในการเรียนรู้โดยการเสนอความรู้ให้ผู้เรียนเป็นขั้น ๆ ในแต่ละขั้นจะมีคำถามให้ผู้เรียนตออบ พร้อมทั้งบอกให้ทราบว่า คำตอบของผู้เรียนนั้นถูกหรือผิด แต่ละลำดับขั้น เรียกว่า กรอบ (fram)

                   บุญชม ศรีสะอาด (2537, หน้า 76) ให้ความหมายว่า เป็นสื่อการเรียนการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียนเรียนด้วยตนเอง จะเร็วหรือช้าตามความสามารถของแต่ละบุคคล โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นตามความสามารถของแต่ละบุคคล โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นหลาย ๆ กรอบ (frames ) แต่ละกรอบจะมีเนื้อหาที่เรียบเรียงไว้ มุ่งให้เกิดการเรียนรู้ตามลำดับ โดยมีส่วนที่ผู้เรียนจะต้องตอบสนองด้วยการเขียนคำตอบ ซึ่งอยู่ในรูปเติมคำในช่องว่างเลือกตอบ ฯลฯ และมีส่วนที่เป็นเฉลยคำตอบที่ถูกต้อง ซึ่งอาจอยู่ข้างหน้ากรอบนั้นหรือกรอบถัดไป หรืออยู่ที่ส่วนอื่นของบทเรียนก็ได้

                   ประหยัด จิระวรพงศ์ (2529, หน้า 244) ได้ให้ความหมายไว้ว่า บทเรียนสำเร็จรูป หมายถึง บทเรียนที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนเรียนเป็นลำดับขั้นที่ละน้อย ๆ โดยการตอบปัญหาและการตรวจคำตอบด้วยตนเอง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความสามารถของตน

                   สนั่น มีขันหมาก (2538, หน้า 459) ได้ให้ความหมายของบทเรียนสำเร็จรูปว่าเป็นสื่อการสอนการเรียนที่ส่งเสริมการเรียนด้วยตนเอง ด้วยความสามารถของแต่ละบุคคล ด้วยบทเรียนที่มีการกำหนดคำสั่งปฏิบัติงานเป็นขั้นตอน

                   ไพโรจน์ เบาใจ (2520, หน้า 1) ได้ให้ความหมายบทเรียนสำเร็จรูปไว้ว่าเป็นสื่อการสอนแบบหนึ่งซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนได้ด้วยตนเอง และเรียนได้เร็วช้าตามความสามารถของแต่ละบุคคล โดยที่ผู้เรียนไม่ต้องเสียเวลาคอยกัน การเรียนนั้นผู้เรียนต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของบทเรียนนั้นอย่างเคร่งครัดและด้วยความซื่อสัตย์

                   อำนวย เดชชัยศรี (2542, หน้า 34) บอกว่าบทเรียนสำเร็จรูป หมายถึง ลำดับประสบการณ์ที่วางไว้สำหรับผู้เรียนไปสู่ความสามารถโดยอาศัยหลักความสัมพันธ์ของสิ่งเร้ากับการตอบสนอง

                   จากความหมายที่หลายท่านได้กล่าวมาข้าต้น พอสรุปได้ว่า บทเรียนสำเร็จ คือ สื่อการเรียนการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองตามความสามารถ และเป็นอิสระในการเรียนซึ่งผู้เรียนสามารถศึกษานอกเวลาเรียนได้ นอกจากนี้ยังเป็นบทเรียนที่ทำให้ผู้เรียนรู้จักความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และปลูกฝังค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์ให้กับตนเองด้วย

หมายเลขบันทึก: 206240เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2008 03:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท