ยุทธศาสตร์การศึกษาใหม่


ยุทธศาสตร์การศึกษาใหม่

ยุทธศาสตร์การศึกษาใหม่ ทำได้จริง หรืออ้างอิงแค่ความฝัน

----------------------------------------------------

ดร.อำรุง จันทวานิช เลขาธิการสภาการศึกษา ได้เปิดเผยถึง การที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้มีการยกร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษา : ระเบียบวาระแห่งชาติ (พ.ศ.2551-2555) จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีนั้น เรามาลองดูกันสิว่า 6 ยุทธศาสตร์นั้น มีเรื่องเกี่ยวกับอะไรกันบ้าง และแนวโน้มความเป็นไปได้นั้นมีมากน้อยเพียงใด 

1.  การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยให้เด็กปฐมวัยทุกคนต้อง เตรียมความพร้อมอย่างน้อย 1 ปี ก่อนเข้าเรียน ป.1 และส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ

ปัจจุบันนี้ โรงเรียนอนุบาลทั้งที่เป็นของภาครัฐและเอกชนได้เกิดขึ้นมาอย่างมากมาย ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการให้เด็กเข้าเรียนในระดับก่อนวัยเรียน เพราะจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการและทักษะการเรียนรู้ที่ดีกว่า ซึ่งเมื่อเด็กก้าวขึ้นไปเรียนในระดับชั้นประถม ก็จะทำให้เด็กสามารถพัฒนาตัวเองได้ไวและเหมาะสมกว่าเด็กในระดับเดียวกันที่ไม่ได้ซึมซับประสบการณ์ในระดับนี้

แต่ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีโรงเรียนในระดับชั้นอนุบาลอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ สิ่งที่ต้องคำนึงอย่างยิ่งในเรื่องของการจัดการเรียนรู้ในระดับชั้นอนุบาลก็คือ คุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งถ้าเทียบกันระหว่างโรงเรียนอนุบาลที่เป็นของรัฐกับของเอกชนแล้ว ทางเอกชนนั้นจะดูภาษีดีกว่า ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า จึงทำให้สามารถพัฒนาและตอบสนองได้ดีกว่าด้วย แต่ก็ใช่ว่าการศึกษาที่ทางภาครัฐจัดให้นั้นจะไม่เหมาะสม เพราะในปัจจุบันทางภาครัฐได้มีการพัฒนาในเรื่องของคุณภาพการสอนและในเรื่องของการดูแลเอาใจใส่ รวมถึงความปลอดภัยต่าง ๆ ด้วยในระดับหนึ่ง ซึ่งการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนนั้น นับว่าทางฝ่ายผู้วางยุทธศาสตร์ มองเห็นถึงรากเหง้าของการพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริง ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะวางรูปแบบการพัฒนาอย่างไรให้เหมาะสม เพราะถึงจะมาถูกทางแล้ว แต่ถ้าไม่ร่วมกันเดินหน้า ก็ไม่มีทางถึงจุดหมายแห่งคุณภาพของเยาวชนแน่นอน

ส่วนในเรื่องของการส่งเสริมการอ่านนั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่ดี น่าที่จะสามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสม ซึ่ง การที่จะทำให้หนังสือเป็นจุดสนใจของเด็กนั้น อาจต้องศึกษาเกี่ยวกับความพึงพอใจของเด็กและวัยรุ่นเสียก่อน จึงจะหาแนวทางในการส่งเสริมได้อย่างเหมาะสม มากกว่าที่จะส่งเสริมการอ่านด้วยความคิดของตัวเอง 

2.  การพัฒนาคุณภาพครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา โดยขอคืนอัตราเกษียณและเกษียณก่อนกำหนด พร้อมวงเงินให้แก่กระทรวงศึกษาธิการในอัตราเต็มร้อย ในเวลา 5 ปี ยกเลิกระบบลูกจ้างและจัดให้มีระบบคัดสรรครูที่มีคุณภาพเพื่อรับบรรจุเป็นข้าราชการครู กำหนดภาระงานครูให้ชัดเจน

ยุทธศาสตร์ในเรื่องของคุณภาพของครูนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ยากยิ่งในการดำเนินการ เพราะยังไม่มีแผนของการคัดสรรครูที่เหมาะสมและชัดเจน ประจวบกับครูในระบบเดิมก็ยังขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องวางรากฐานทางวิชาชีพให้เหมาะสมต่อไป

การขอคืนอัตราเกษียณและการเกษียณก่อนกำหนดที่ได้ให้ไปแล้วกลับคืน หรือการยกเลิกระบบลูกจ้าง อาจเป็นเรื่องที่ยากและอาจจะก่อปัญหาขึ้นในแง่ของการปฏิบัติ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาระหว่างครูและบุคลากรทางการศึกษากับทางฝ่ายของรัฐก็เป็นได้ ถึงแม้ว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ในระยะเวลา 5 ปี อาจจะน้อยเกินไปในการแก้ปัญหาที่ละเอียดอ่อนนี้ จึงต้องให้ความสำคัญกับทุก ๆ ฝ่ายในการดำเนินการ 

3.  การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา โดยกำหนดเป้าหมายสัดส่วนนักเรียน นักศึกษา : คอมพิวเตอร์ ในทุกระดับ/ประเภทการศึกษา     

              เทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษา เริ่มที่จะเข้ามามีบทบาทในระบบการศึกษาของไทยมากขึ้น เพราะด้วยระดับของการพัฒนาทางเทคโนโลยีของไทยมีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้เยาวชนสามารถเข้าถึงสื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ง่าย
แต่สิ่งสำคัญ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการศึกษาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งครูผู้ชำนาญการที่สามารถใช้อุปกรณ์ รวมไปถึงเทคนิคทางการศึกษาต่าง ๆ ได้อย่างมีคุณภาพและเหมาะสม ซึ่งประเทศไทยยังขาดบุคลากรทางการศึกษาที่มีความสามารถอยู่เป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นที่จะต้องมีแนวทางในการรองรับตรงส่วนนี้ด้วย
นอกจากนี้ ถ้ากล่าวถึงเรื่องของเทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษา หลายท่านอาจนึกถึงแต่คอมพิวเตอร์ แทนที่เราจะส่งเสริมในเรื่องคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว เราควรที่จะส่งเสริมในเรื่องของเทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษาชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น อุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ในเรื่องของการเกษตร หรือทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ รวมไปถึงแนวเทคนิคการเรียนการสอนที่ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ อันจะเป็นสิ่งที่เข้าถึงตัวของเด็กและเยาวชนหลากหลายกลุ่มมากกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ตอบสนองความต้องการของเด็กในบางกลุ่มเท่านั้น 

4.   การจัดระบบการศึกษาที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา โดยส่งเสริมสถานศึกษาพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายใน และเชื่อมโยงกับการประเมินคุณภาพภายนอก ปรับระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ให้เชื่อมโยงกับการเรียนการสอน จัดระบบคูปองเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้ด้อยโอกาส ทั้งมียุทธศาสตร์การพัฒนาโดยยึดพื้นที่โดยเฉพาะการศึกษาใน3จังหวัดชายแดนภาคใต้ และโรงเรียนชายแดน

ในเรื่องของการประกันคุณภาพของสถานศึกษา ส่วนตัวแล้วมองว่าเป็นเรื่องควรต้องปรับปรุง เพื่อที่จะทำอย่างไรให้ผลลัพธ์ที่ดีของแต่ละสถานศึกษาคงอยู่ต่อไป แม้ว่าจะผ่านพ้นช่วงของการประเมินแล้ว ซึ่งปัจจุบันนี้การประเมินนั้นสร้างความตื่นตัวให้สถานศึกษาแต่ละสถานศึกษา แต่ก็นำมาซึ่งความพยายามเพื่อให้การประเมินออกไปในรูปแบบที่ดี จนบางครั้งก็ลืมไปว่าภาระหน้าที่ของสถานศึกษานั้นคืออะไร ซึ่งผลลัพธ์ของสถานศึกษาที่แท้จริงนั้นคงจะมาจากการดำเนินงานตามปกติวิสัยมากกว่าที่จะเป็นสิ่งที่ถูกจัดสรรขึ้น

และในระบบของการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ก็อาจเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนอย่างมากในการปรับเปลี่ยน เพราะภาพลักษณ์ของการปรับเปลี่ยนเดิมที่เป็นปัญหายังคงมีอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการคัดค้าน อันนำมาซึ่งปัญหาในการขัดแย้งกันก็เป็นได้

รวมไปถึงเรื่องของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการคาบเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและการปกครอง จึงทำให้เป็นเรื่องยากในการพัฒนาเช่นกัน การเมืองการปกครองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่บางครั้งนโยบายบางอย่างก็เป็นการไปขัดวิถีชีวิตท้องถิ่น ในปรัชญาการศึกษานั้นควรให้ความสำคัญกับท้องถิ่นด้วยในการเรียนรู้ ซึ่งอาจจะกลายเป็นเรื่องที่ขัดกันระหว่างปรัชญาการศึกษากับนโยบายการเมือง 

5.   การสร้างความเข้มแข็งของสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพ โดยกระจายอำนาจทุกด้านให้สถานศึกษา และส่งเสริมสถานศึกษาที่มีความพร้อมให้พัฒนาเป็นองค์การมหาชน

ทุกวันนี้โรงเรียนหลายแห่งได้ถูกโอนไปอยู่ในส่วนขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งในแง่ดีนั้น คือส่งผลทำให้โรงเรียนกับชุมชนมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น และชุมชนกลายเป็นผู้นำสำคัญในการกำหนดแนวทางการศึกษา โดยมีแผนจากภาครัฐเป็นแกนหลัก ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่รัฐจะเป็นผู้จัดสรรให้เพียงฝ่ายเดียว แต่ในอีกแง่หนึ่ง การที่มีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหลายแห่งขาดเสถียรภาพในการปกครองและมีปัญหากันภายใน ทำให้การพัฒนาสถานศึกษาหลายแห่งหยุดชะงัก และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาผู้เรียนอย่างที่ควรจะเป็นได้

และตอนนี้ นโยบายของการผลักดันโรงเรียนออกนอกระบบก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาอย่างละเอียดและรอบคอบ โดยยกเอาเรื่องของการผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เพื่อลองพิจารณาว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร

การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามาร่วมจัดการศึกษา โดยตั้งเป้าว่า ภายในปี 2555 จะต้องทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาหลักระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสูงขึ้น โดยมีคะแนนจากการทดสอบระดับชาติสูงกว่าร้อยละ 55

การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษานั้น นับว่าเป็นเรื่องดี ที่น่าจะมีความเป็นไปได้ ซึ่งปัจจุบันหลายภาคส่วนก็เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการจัดการศึกษา ในรูปแบบของการจัดกิจกรรม และการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน อาจเรียกได้ว่า เป็นการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งไม่แน่ว่าการร่วมมือในจุดนี้อาจนำมาสู่การศึกษาทั้งในและนอกระบบก็เป็นได้

ส่วนในเรื่องของผลคะแนนนั้นอาจเป็นสิ่งที่วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้ แต่ก็ใช่ว่าจะวัดคุณภาพของการศึกษาและการให้การศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนได้ จึงควรที่จะส่งเสริมให้มีการวิจัยทางการศึกษา และพัฒนารูปแบบการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผลลัพธ์ทางการศึกษายังคงอยู่อย่างมีศักยภาพ

ในยุทธ์ศาสตร์การศึกษาทั้งหมดนี้ หลายข้อก็เป็นสิ่งที่น่าจะปฏิบัติ ส่วนอีกหลายข้อก็เป็นเรื่องยาก ที่ท้าทายการดำเนินงานภายใต้รัฐบาลชุดใหม่นี้ว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาการศึกษา ให้เป็นไปตามความคาดหวังในยุทธศาสตร์นี้ได้หรือไม่ ซึ่งก็หวังว่า มันจะเป็นไปได้ตามแบบที่มันควรจะเป็น

อ้างอิง  ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ http://www.thairath.com/news.php?section=education&content=75750

หมายเลขบันทึก: 206167เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2008 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท