ยุทธศาสตร์เพื่อเสริมความเข้มแข็งในการเอาชนะสงครามทุจริตคอร์รัปชัน


ยุทธศาสตร์เพื่อเสริมความเข้มแข็งในการเอาชนะสงครามทุจริตคอร์รัปชัน
สำหรับประเทศไทย

ในช่วงระยะเวลา ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๔๖ - ๒๕๕๐)

มาตรการที่ ๑ ด้านการสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้อง มีคุณธรรมอันมั่นคง
ในระดับสถาบันการศึกษา

 

Download เอกสาร Ms-word

ก. สถานการณ์

๑. สถานการณ์ทั่วไป

๑.๑ ปัจจัยภายในที่เป็นจุดแข็ง (Strengths) และเป็นจุดอ่อน (Weaknesses) ของสถาบันการศึกษา
มีดังต่อไปนี้

๑.๑.๑ จุดแข็ง (Strengths)

(๑) ความมุ่งหมายและหลักการในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนไทยทั้ง
ความรู้ คุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต ประกอบกับพัฒนาการของหลักสูตรทุกระดับและทุกประเภทให้ความสำคัญ
กับการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ของผู้เรียนควบคู่กับการพัฒนาด้านสติปัญญา เน้นความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองดีของชาติ
หลักสูตรยังเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษา จัดทำสาระหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ของชุมชน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับ
สภาพปัญหาในชุมชน สังคม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจน คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อการเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว
ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

(๒) ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง มีนโยบายไม่ให้มีการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งหรือโยกย้ายโดยเด็ดขาด ซึ่งจะทำให้วง
การศึกษาได้ทั้งคนดีที่มีคุณธรรม จริยธรรม คนเก่ง ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นผู้บริหาร ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้นำ
ทางการศึกษาและสังคม

(๓) หน่วยงาน องค์กร และสถาบันการศึกษาปัจจุบันเห็นความสำคัญ และความจำเป็นที่จะใช้หลักธรรมทางศาสนาที่เน้น
เรื่องการพัฒนาคุณธรรม จริยธรม ให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรพัฒนาบุคลากรทั้งระดับผู้บริหาร ครู คณาจารย์ และบุคลากร
ทางการศึกษาระหว่าง ประจำการ รวมถึงการส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาผู้เรียน ด้านคุณธรรม จริยธรรม ควบคู่กับการพัฒนา
สติปัญญา

(๔) การหลอมรวมหน่วยงานทางการศึกษาทุกระดับภายใต้กระทรวงเดียวกัน ผลักดันให้การทำงานทางการศึกษาเพื่อการ
สร้างคนดี คนเก่งให้กับสังคมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงส่งต่อกันอย่างเป็นระบบในทุกระดับและ
ประเภทการศึกษา

๑.๑.๒ จุดอ่อน

(๑) การประเมินผลการเรียน และการคัดเลือกผู้เข้าเรียนเน้นการประเมินด้านสติปัญญามากกว่าด้านจิตใจ และทักษะ ซึ่ง
ส่งผลกระทบให้การจัดการเรียนรู้ขาดการบูรณาการขาดความสมดุลระหว่างความรู้เพื่อการพัฒนาสติปัญญากับความรู้เพื่อ
การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม และทักษะเฉพาะของผู้เรียน นอกจากนี้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมวินัย คุณธรรม
จริยธรรม การบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น เช่น หลักสูตรนักศึกษาวิชาทหาร ลูกเสือ เนตรนารี ผู้บำเพ็ญประโยชน์ ยุวกาชาด
กีฬาและนันทนาการ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อการปลูกฝังคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน แต่ในทางปฏิบัติ
กลายเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้รับความสำคัญให้นำมาใช้ฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง เนื่องจากไม่มีผลต่อการประเมินผลสัมฤทธิ์ทาง
การเรียนหรือการคัดเลือกเข้าเรียน

(๒) รูปแบบหรือวิธีการที่ใช้ในการกำหนดคุณธรรม จริยธรรมให้แก่เด็กเยาวชน ครู คณาจารย์ ผู้บริหาร และบุคลากร
ทางการศึกษาให้รู้จักใช้หรือนำหลักธรรมทางศาสนามาเป็นแนวทางดำเนินชีวิตประจำวัน ยังขาดความน่าสนใจ
และขาดแรงจูงใจที่จะทำให้สถาบันการศึกษาดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพราะสถาบันการศึกษา ครู คณาจารย์
และผู้บริหารสถาบันการศึกษาที่ได้รับการยกย่อง ชื่นชมของสาธารณชน มักจะเป็นสถาบันการศึกษาที่ประสบผลสำเร็จ
ในการสร้างคนเก่งเป็นหลัก ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ไม่เห็นความสำคัญในการ ปลูกฝังผู้เรียน
ด้านคุณธรรม จริยธรรม

(๓) ครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารสถาบันการศึกษา บางส่วน ไม่อยู่ในครรลองของศีลธรรม
ขาดการเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้เรียน ประกอบกับสถาบัน การศึกษาขาดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการเสริมสร้างคุณธรรม
จริยธรรม ของบุคลากรในสถาบัน การศึกษา ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินงานและขาดนโยบายที่ชัดเจนขึ้นอยู่กับความ
สนใจของ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา ซึ่งผู้บริหารกระทรวงที่รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการพัฒนาคน ต้องหันมา ทบทวน
อย่างจริงจัง

(๔) การนำผู้นำทางศาสนาและภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษา การอบรม
บ่มนิสัยด้านคุณธรรม จริยธรรม มีค่อนข้างน้อย และผู้เรียนบางกลุ่มไม่มีแบบอย่างที่ดีทั้งจากครอบครัวและสถาบันการศึกษา
ทำให้ผู้เรียนเกิดความสับสนระหว่างความรู้ที่ได้รับจากสถาบันการศึกษากับสภาพชีวิตที่เป็นจริงของครอบครัว ชุมชน
และสังคม

๑.๒ ปัจจัยภายนอกที่เป็นโอกาส (Opportunities) และเป็นอุปสรรค (Threats) ต่อการพัฒนา
สถาบันการศึกษา มีดังต่อไปนี้

๑.๒.๑ โอกาส

(๑) รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งที่จะเอาชนะสงครามทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งมีผลให้หน่วยงาน
ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องหันมาให้ความสนใจในการดำเนินงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง การปฏิรูประบบราชการที่ยึดหลัก
ธรรมาภิบาล และระบบการบริหารที่มีการตรวจสอบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ผลักดันให้หน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐ
และภาคประชาสังคม มีหลักการปฏิบัติงานที่ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้มากขึ้น

(๒) พื้นฐานของวัฒนธรรมไทย เอื้อต่อการนำมาเป็นพลังในการพัฒนาสังคมให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะการพัฒนาทาง
ด้านจิตใจ แทนที่จะพัฒนาทางกายภาพเพียงด้านเดียว และศักยภาพของชุมชน เช่น บ้าน วัด โรงเรียน มีพลังมาก
เพียงพอที่จะผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคม ที่น่าอยู่ ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน

(๓) สาธารณชนมีความเข้าใจ และรู้จักการแยกแยะระหว่างความดี และความชั่วมากขึ้น จากการเผยแพร่ผ่านสื่อ
เทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าและนำเสนอได้อย่างรวดเร็ว กว้างขวางทุกพื้นที่ ซึ่งเป็นโอกาสให้ผู้นำทางสังคม
นักการเมือง และนักวิชาการที่มีพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบ ถูกขจัดออกไปเรื่อย ๆ ตามพัฒนาการของสังคมไทย

๑.๒.๒ อุปสรรค

(๑) ระบบการค้าเสรีที่เน้นการแข่งขัน และสังคมที่เน้นการบริโภค มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชน
ของชาติทำให้เกิดค่านิยมที่เอาตัวรอด เอารัดเอาเปรียบต่อผู้ที่ด้อยกว่า และขาดความละอายต่อการประพฤติมิชอบ
ไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลังผู้อื่น

(๒) ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี การสื่อสารและสารสนเทศ ส่งผลให้ การหลั่งไหลของวัฒนธรรมผ่านสื่อทุกรูปแบบ
อย่างรวดเร็ว ขาดการควบคุม คัดสรร ทำให้เด็กและเยาวชนที่มีวิจารณญาณไม่เพียงพอนำมายึดถือเลียนแบบ และมี
วิถีชีวิตที่เสี่ยงต่อการประพฤติมิชอบ ผิดทำนองคลองธรรมและศีลธรรม

(๓) ค่านิยมของสังคมที่ยกย่องให้เกียรติคนรวยมากกว่าคนดี บั่นทอนความรู้สึกในการทำดีของคนในสังคม และเป็น
อุปสรรคต่อการเสริมสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้อง มีคุณธรรมอันมั่นคงแก่ผู้ใหญ่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะคติที่ยึดถือว่าทำดีได้ดี
ทำชั่วได้ชั่ว จะสวนทางกับสภาพจริงของสังคม

(๔) รายการทางสถานีวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการบันเทิง การมอมเมาทางการค้า
มากกว่าการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม และพัฒนา จิตสำนึกที่ถูกต้องของคนในชาติ

(๕) นโยบายการบริหารประเทศขาดความต่อเนื่อง และไม่จริงจังกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศ

๑.๓ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก (SWOT ANALYSIS) ของ
สถาบันการศึกษา เป็นดังนี้

๑.๓.๑ ปัจจัยที่เป็นจุดแข็งของสถาบันการศึกษาในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการของหลักสูตรที่มุ่งเน้นเรื่องความรู้คู่
คุณธรรม ผนวกกับการหลอมรวมหน่วยงานทางการศึกษาอยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกัน เพื่อให้การสร้างคนดี คนเก่ง มีความสุขมีความเชื่อมโยงส่งต่อกันอย่างเป็นระบบในทุกระดับและทุกประเภทการศึกษา และนโยบายที่ไม่ให้มีการวิ่งเต้น
ซื้อขายตำแหน่งหรือโยกย้ายโดยเด็ดขาด ซึ่งทำให้คนเก่ง คนดี มีโอกาสเข้ามาเป็นผู้นำทางการศึกษา เรื่องดังกล่าวข้างต้นได้รับ
ปัจจัยเสริมที่เป็นโอกาสทั้งด้านการปฏิรูประบบราชการที่ยึดหลักธรรมาภิบาล นโยบายรัฐบาลที่จะเอาชนะสงครามทุจริต
คอร์รัปชั่น การรับรู้ของสาธารณชนในการแยกแยะระหว่างความดี ความชั่วทำให้เกิดระบบการตรวจสอบมีมากขึ้น ประกอบ
กับพื้นฐานของวัฒนธรรมไทย ที่สามารถใช้ศักยภาพของ ชุมชน เช่น บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งเป็นพลังที่มีมากเพียงพอ
ปัจจัยดังกล่าวจะผลักดันให้สถาบันการศึกษาต้องทบทวนบทบาทในการเป็นแหล่งให้การศึกษาอบรมทั้งเรื่องคุณธรรม
จริยธรรม เพื่อให้ผู้เรียน ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารสถาบันการศึกษา มีจิตสำนึกที่ถูกต้อง มีคุณธรรม
อันมั่นคง และต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม

๑.๓.๒ สำหรับปัจจัยที่เป็นจุดอ่อนในสถาบันการศึกษา ทั้งเรื่องการจัดการเรียนรู้ รูปแบบ วิธีการประเมินผล และการคัดเลือก
ผู้เข้าเรียนที่เน้นการประเมินด้านสติปัญญามากกว่า ด้านจิตใจและทักษะ รวมทั้งการขาดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินการ
เกี่ยวกับการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ภายในสถาบันการศึกษา ซึ่งมีผลให้สถาบันการศึกษาส่วนมากขาดเป้าหมายและแรงจูงใจ
ในการดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ประกอบกับปัจจัยที่เป็นอุปสรรค ในเรื่องค่านิยมของสังคมที่เน้น
การแข่งขัน ยกย่องคนรวย เน้นการบริโภคและสื่อสิ่งพิมพ์ที่ขาดการควบคุม คัดสรรให้ความสำคัญกับการบันเทิง การมอมเมา
ทางการค้า ปัจจัยดังกล่าว ทำให้เกิดความ สับสนทางความคิดและมีค่านิยมที่ผิดกับเด็ก อย่างไรก็ตามข้ออ่อนด้อยดังกล่าว
จะถูกขจัดไปด้วย จุดแข็งและโอกาสที่เกื้อกูลกันที่กล่าวแล้วในข้อ ๑.๓.๑ โดยเฉพาะความชัดเจนของนโยบายในการเอาชนะ
สงครามทุจริตคอร์รัปชั่น และแนวทางการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒

๒. สถานการณ์เฉพาะ

๒.๑ ปัญหาของสถาบันการศึกษา เกี่ยวกับการสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้อง มีคุณธรรม อันมั่นคง คือ
๒.๑.๑ ภาวะผู้นำของผู้บริหาร/ครู คณาจารย์
๒.๑.๒ การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง และชุมชน
๒.๑.๓ ผู้เรียน
๒.๑.๔ การสื่อสารมวลชน
๒.๑.๕ แนวปฏิบัติในสถาบันการศึกษา

๒.๒ สิ่งที่เป็นต้นเหตุของปัญหา ในแต่ละประเด็นปัญหา คือ
๒.๒.๑ ต้นเหตุของประเด็นปัญหา ในข้อ ๒.๑.๑ คือ
(๑) คุณสมบัติพื้นฐานในการคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารสถาบันการศึกษา
ยังไม่ให้ความสำคัญกับการพิจารณาตรวจสอบด้านคุณธรรม จริยธรรม และพฤติกรรมที่ดีของบุคคล
(๒) วิธีการได้มาซึ่งตำแหน่งของผู้บริหารสถาบันการศึกษายังขาดความโปร่งใส
(๓) ค่านิยมของสังคม ยกย่องเชิดชูเกียรติผู้มีฐานะและ ยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่ก็ตามทำให้คนดีขาด
ขวัญกำลังใจในการประพฤติปฏิบัติดี
(๔) การพัฒนาบุคลากรภายในสถาบันการศึกษาให้ความสำคัญกับการ พัฒนาศักยภาพทางด้านวิชาการมากกว่าการพัฒนา
จิตใจทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรม
(๕) ครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารสถาบันการศึกษา บางส่วนยังขาดจิตสำนึกในวิชาชีพ

๒.๒.๒ ต้นเหตุของประเด็นปัญหา ในข้อ ๒.๑.๒ คือ
(๑) ผู้ปกครองขาดความรับผิดชอบต่อบุตรหลาน ผลักภาระให้สถาบัน การศึกษา
(๒) ผู้ปกครองและผู้นำชุมชนบางส่วนไม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีของบุตรหลานได้
(๓) ความร่วมมือระหว่างบ้าน วัด ชุมชน และสถาบันการศึกษาในการอบรมบ่มนิสัยเด็กยังไม่สอดรับและประสานเชื่อมโยงกัน

๒.๒.๓ ต้นเหตุของประเด็นปัญหาในข้อ ๒.๑.๓ คือ
(๑) ผู้เรียนยังมีวิจารณญาณในการตัดสินระหว่างความดี ความชั่ว ไม่เพียงพอ ทำให้ง่ายต่อการถูกชักจูงใจไปในทางที่ผิด
(๒) ผู้เรียนมีความสับสนในความคิด ความรู้สึก และการปฏิบัติในสภาพชีวิตจริง เพราะสังคมของครอบครัวกับสถาบัน
การศึกษาขาดการประสานความร่วมมือในการอบรมบ่มนิสัยให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

๒.๒.๔ ต้นเหตุของประเด็นปัญหา ในข้อ ๒.๑.๔ คือ
(๑) รายการวิทยุ-โทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญการบันเทิงและการมอมเมาทางการค้ามากกว่า
การเสริมสร้างความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ชมหรือรับฟังรายการ
(๒) ความรู้ผ่านสื่อขาดการควบคุม คัดสรร และความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคสื่อมวลชนขาดความตระหนักในการ
ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมให้แก่เด็กและเยาวชน
(๓) การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อการศึกษาและการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมที่สนุกและง่ายต่อการเรียนรู้ของเด็ก
ยังมีไม่เพียงพอต่อการรณรงค์ให้การดำเนินงานเรื่องดังกล่าว เป็นนโยบายระดับชาติ

๒.๒.๕ ต้นเหตุของประเด็นปัญหา ในข้อ ๒.๑.๕ คือ
(๑) การให้ความดี ความชอบแก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานทุกระดับในองค์กร ทางการศึกษายังเน้นผลประโยชน์ต่าง
ตอบแทนมากกว่าระบบผลงานและความดีของบุคคล
(๒) ผู้บริหารสถาบันการศึกษาบางส่วนยังให้ความสำคัญกับระบบอุปถัมภ์ ที่เกื้อหนุนประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม
(๓) ระเบียบ กลไก แนวปฏิบัติ มีช่องว่างให้บุคคลแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ โดยเฉพาะในระดับผู้บริหาร
(๔) สถาบันการศึกษายังใช้สื่อบุคคล สื่อเทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นเครือข่ายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณธรรม
จริยธรรมภายในสถาบันการศึกษาค่อนข้างน้อย

ข. แนวคิดในการพัฒนาสังคมระดับสถาบันการศึกษา ให้เป็นแหล่งปลูกฝังจิตสำนึก
ที่ถูกต้องและมีคุณธรรมอันมั่นคง ยึดหลักการที่ว่า

๑. สถาบันการศึกษา คือ บ้านหลังที่สองในการให้ความรู้ อบรมบ่มนิสัยแก่เด็กและเยาวชน
๒. ครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารสถาบันการศึกษา เป็นหัวใจแห่งความสำเร็จในการปลูกสร้าง
จิตสำนึกที่ถูกต้อง มีคุณธรรมอันมั่นคง
๓. บ้าน วัด โรงเรียน และสื่อมวลชน เป็นสถาบันหลักทางสังคมที่ต้องเกื้อกูล ซึ่งกันและกันในการสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้อง
มีคุณธรรมอันมั่นคง

ค. วิสัยทัศน์
ในการพัฒนาสังคมระดับสถาบันการศึกษาให้เป็นแหล่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้อง

มีคุณธรรมอันมั่นคง
สถาบันการศึกษายุคใหม่เป็นแหล่งปลูกฝังให้ผู้เรียน ครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารสถาบันการศึกษา
มีจิตสำนึกที่ถูกต้อง ในการละอายเกรงกลัวต่อบาป และรักชาติ บ้านเมือง มีคุณธรรมอันมั่นคง มีความซื่อสัตย์สุจริต และ
เสียสละเพื่อส่วนรวม รวมทั้งเป็นแบบอย่าง ที่ดีของสังคม

ง. เป้าประสงค์ (Goals) หรือ เป้าหมาย (Objectives)
ต้องการให้สถาบันการศึกษาเป็นแหล่งสร้าง จิตสำนึกที่ถูกต้อง มีคุณธรรมอันมั่นคง มีทั้งสิ้น ๓ พันธกิจ คือ
๑. สถาบันการศึกษาทุกแห่งต้องสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้อง มีคุณธรรมอันมั่นคง โดยยึดถือเป็นวาระแห่งชาติ
๒. สถาบันการศึกษาทุกแห่งต้องปลอดจากการทุจริต และประพฤติมิชอบ
๓. ผู้เรียน ครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารสถาบันการศึกษาทุกคน มีจิตสำนึกที่ถูกต้อง มีคุณธรรม
อันมั่นคง

จ. แนวทางการปฏิบัติ

๑. แนวทางปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายที่ ๑ มี ๓ แนวทาง คือ

๑.๑ การกำหนดนโยบายให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งถือเป็นนโยบายที่ต้องปฏิบัติ

วิธีดำเนินการ
๑) ให้สถาบันการศึกษาใช้หลักศาสนธรรม จัดให้มีการฝึกปฏิบัติจิตก่อนเข้าเรียน (ระหว่างเรียน) ๕ - ๑๐ นาที โดยใช้ใน
ทุกวิชาเรียน และนำการฝึกจิตไปใช้ในชีวิตประจำวัน
๒) ให้การจัดประชุมสัมมนา/อบรมครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาและผู้บริหารสถาบันการศึกษาทุกครั้ง ต้องใช้การ
ฝึกปฏิบัติจิตก่อนเริ่มการประชุมสัมมนา/อบรม
๓) ให้สถาบันการศึกษาจัดกระบวนการเรียนและการประเมินผลที่เน้นการพัฒนาผู้เรียนให้มีความซื่อสัตย์สุจริต
๔) ให้สถาบันการศึกษาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเกี่ยวนักศึกษาวิชาทหาร ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด กีฬา และ
นันทนาการอย่างจริงจัง

๑.๒ การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่
๑) สร้างกระแสสังคมด้วยข้อความที่ง่ายต่อการจดจำ และกระตุ้นความรู้สึกให้เด็ก เยาวชน ตระหนักที่จะทำดี รักชาติ
บ้านเมือง โดยใช้สื่อ T.V. วิทยุ สิ่งพิมพ์ เครื่อง A.T.M. ประทับตราไปรษณีย์ Website ของหน่วยงานทางการศึกษา
อินเตอร์เน็ต หอกระจายข่าว และอื่น ๆ
๒) จัดทำคู่มือ แนวปฏิบัติ และกิจกรรมเสนอแนะ รวมทั้งการผลิตสื่อ (เพลง/ละคร/เกมส์/สารคดี) เกี่ยวกับการสร้างจิตสำนึก
ที่ถูกต้อง มีคุณธรรมอันมั่นคงให้สถาบันการศึกษาเลือกดำเนินการตามความเหมาะสม
๓) จัดทำคู่มือ แนวทางการฝึกปฏิบัติจิต ให้สถานศึกษาใช้ในการฝึกอบรมบุคลากรในสถาบันศึกษา
๔) ประสานความร่วมมือกับบุคคล หน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อการรณรงค์และการประชาสัมพันธ์

๑.๓ การรณรงค์
๑) จัดทัวร์คอนเสิร์ตเวทีธรรม "ความดีทำได้ ง่ายกว่าที่คิด"
๒) จัดเดิน Walk Rally "ความดีทำได้ ง่ายกว่าที่คิด"
๓) จัดเวทีความรู้คู่คุณธรรมให้แก่เด็ก เยาวชน ในสถาบันการศึกษาได้แสดงออก
๔) จัดตั้งชมรมพัฒนาจิตระดับสถานศึกษา
๕) จัดให้มีการปฏิญาณตนเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต รักชาติบ้านเมืองของผู้เรียน ครูคณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา
และผู้บริหารเข้าใหม่

๒. แนวทางปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายที่ ๒ มี ๒ แนวทาง คือ

๒.๑ ออกกฎ ระเบียบ
๑) ออกเป็นกฎ ระเบียบให้ใช้ผลการประพฤติ ปฏิบัติเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติ มิชอบผู้เรียน ครู คณาจารย์ บุคลากร
ทางการศึกษา และผู้บริหารสถาบันการศึกษา ให้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินเพื่อเลื่อนระดับปรับตำแหน่งหรือสิทธิ
พิเศษเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น
๒) จัดทำสมุดพกความดีสำหรับผู้เรียนที่มีผลงานดีเด่นด้านความซื่อสัตย์สุจริต และใช้เป็นส่วนหนึ่งของการคัดเลือกให้
เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น

๒.๒ สร้างแบบอย่างและเชิดชูเกียรติ
๑) ตั้งรางวัลพระราชทานแก่สถาบันการศึกษาที่มีผลงานดีเด่นด้านความซื่อสัตย์สุจริต
๒) ยกย่อง เชิดชูเกียรติผู้เรียน ครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารสถาบันการศึกษาที่มีผลงานดีเด่นเกี่ยวกับ
ความซื่อสัตย์สุจริตและเสียสละ
๓) คัดเลือกสถานศึกษาต้นแบบที่ปลอดการทุจริต และประพฤติมิชอบ โดยขึ้นป้าย ยกย่อง เชิดชูเกียรติ
๔) จัดตั้งธนาคารความดี สำหรับครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างคะแนน
สะสมความดีอย่างต่อเนื่อง และเป็นส่วนหนึ่งของการประเมิน คุณภาพสถาบันการศึกษา
๕) จัดให้มีการประกวดคำขวัญ เรียงความ ระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับสถาบันการศึกษา
สำหรับผู้เรียนในแต่ละระดับ/ประเภทการศึกษา เกี่ยวกับเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต การรักชาติบ้านเมืองอย่างถูกต้อง การละอาย
เกรงกลัวต่อบาปและการเสียสละ โดยให้เกียรติบัตรแก่ผู้ชนะเลิศ/รองชนะเลิศ

๓. แนวทางปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายที่ ๓ มี ๑ แนวทาง คือ
๓.๑ สร้างความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมเครือข่ายการทำงาน
๑) อบรมครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาและผู้บริหารสถาบันการศึกษาเพื่อเป็นวิทยากรต้นแบบ ขยายผลการ
ฝึกอบรมเกี่ยวกับการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรมให้แก่บุคลากรในสถาบันการศึกษา
๒) อบรมผู้นำ เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา เพื่อเข้าสู่โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน
๓) จัดค่ายฤดูร้อน ค่ายอาสาสมัครในการบำเพ็ญประโยชน์ของเด็ก เยาวชน
๔) จัดทำชุดการเรียน ชุดฝึกอบรมสำเร็จรูป (Module) ในเรื่องการสร้างจิตสำนึกที่ ถูกต้อง มีคุณธรรมอันมั่นคง
ให้สถาบันการศึกษาใช้ดำเนินการ
๕) สนับสนุนการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน
๖) ส่งเสริม สนับสนุนเครือข่ายการฝึกอบรมเกี่ยวกับเรื่องคุณธรรม จริยธรรมให้แก่สถาบันการศึกษา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2060เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2005 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท