มหกรรม KM เบาหวาน ครั้งที่ 2 _(1)


ได้เรียนรู้ ฝึกปฏิบัติคิดและเขียน “แผนที่ผลลัพท์” (OM) อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในแบบที่มีการประยุกต์ให้เป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น

เมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมการประชุมวิชาการมหกรรมการจัดการความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ครั้งที่ 2 ที่มี theme ของงานครั้งนี้ว่า ความรู้ปฏิบัติ ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก ณ ศูนย์การประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หน่วยงานหลักที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุม คือ เครือข่ายการจัดการความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งมี ดร.วัลลา ตันตโยทัย เป็นแม่งาน

 

ผู้เขียนไปร่วมการประชุมครั้งนี้ใน 2 บทบาท คือ ไปในฐานะ ผู้สังเกตการณ์ และในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็น พี่เลี้ยง ช่วยดูแลอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมกลุ่มย่อยของผู้เข้าร่วมประชุมด้วย

 

ในบทบาทของ ผู้สังเกตการณ์ นั้น สืบเนื่องมาจากผู้เขียนทำหน้าที่เป็น พี่เลี้ยง ให้กับ ศูนย์จัดการความรู้ ของสำนักโรคไม่ติดต่อ และกำลังเตรียมจัด KM Workshop ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ระหว่างนี้ก็หมกมุ่นอยู่กับการคิดออกแบบว่าจะจัดให้มีเนื้อหา กิจกรรม เทคนิควิธีการอะไรบ้างที่จะสามารถนำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันใน workshop ครั้งนี้ ให้เป็นประโยชน์ต่อการนำกลับไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานของสำนักฯได้อย่างเหมาะสมที่สุด และเมื่อผู้เขียนได้อ่าน blog ของ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ที่แนะนำการทำ Strategic KM ด้วย OM (อ่านที่นี่) ซึ่งจุดประกายความสนใจให้กับผู้เขียน และได้ปรารภกับ คุณนภินทร (สคส.) ที่ร่วมปรึกษาหารือกันมาตลอดว่า อยากให้เนื้อหาและกิจกรรมของ workshop ออกมาในแนวนี้ คุณนภินทร จึงถือโอกาสในวันนี้ชวนมาร่วมสังเกตการณ์เพื่อจะได้รู้จักเครื่องมือ OM มากขึ้น เผื่อจะได้ idea ไปออกแบบ KM Workshop ที่ผู้เขียนกำลังเตรียมการอยู่ ผู้เขียนจึงตกลงรับคำเชิญชวน โดยมีความคาดหวังว่าจะได้เรียนรู้เรื่อง OM ที่มีการประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทของไทยแล้วอย่างเข้าใจกระจ่างชัดมากขึ้น พอที่จะนำกลับไปใช้ในการปฏิบัติงานในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ได้

 

หัวข้อการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ คือ แผนที่ผลลัพท์กับการจัดการความรู้ (Outcome Mapping & Knowledge Management) วิทยากรหลักบนเวที คือ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด รูปแบบการประชุมเป็นการบรรยายสลับกับการฝึกปฏิบัติตามแบบฝึกหัดที่วิทยากรเตรียมมาให้ ผู้เขียนเองก็ได้ฝึกปฏิบัติไปด้วยพร้อมๆ กับคอยสอดส่องดูแลผู้เข้าร่วมประชุมในโซนที่รับผิดชอบไปด้วย ทำให้รู้สึกว่าเวลาในช่วงของการประชุมวันนี้ผ่านไปอย่างรวดเร็วโดยไม่เปิดโอกาสให้ความง่วงเหงาหาวนอนได้แวะมาทักทายเลยซักนิดเดียว

 

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติของวันนี้ ผู้เขียนรู้สึกว่าตนเองบรรลุความคาดหวังที่ตั้งไว้ก่อนเข้าร่วมประชุม ได้เรียนรู้ ฝึกปฏิบัติคิดและเขียน แผนที่ผลลัพท์ (OM) อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในแบบที่มีการประยุกต์ให้เป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น เพราะเมื่อเปรียบเทียบจากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาเรื่อง OM ด้วยตนเองมาก่อนหน้านี้จากหนังสือ แผนที่ผลลัพท์: การสร้างการเรียนรู้และการสะท้อนกลับในงานพัฒนา ที่แปลและเรียบเรียงโดย โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตอนนั้นก็รู้สึกว่า OM เป็นเครื่องมือที่ดีในการเสริมศักยภาพการดำเนินงานในระดับแผนงาน/โครงการได้อย่างครบวงจรตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังเสร็จสิ้นการดำเนินงาน แต่ก็มีความรู้สึกด้วยว่ามันยังมีความสลับซับซ้อนด้วยขั้นตอนและแบบฟอร์มต่างๆ ที่ต้องกรอกข้อมูลมากมายอีกทั้งยังแยกส่วนกันอยู่ แต่เมื่อได้มาเรียนรู้ใน version ของ ดร.ประพนธ์ รู้สึกว่ามันง่ายขึ้น ขั้นตอนต่างๆ ลดน้อยลง เห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของแต่ละขั้นตอนมากขึ้น รวมทั้งประเด็นบางอย่างที่เราเคยอ่านจากหนังสือแล้วยังไม่เข้าใจก็ได้รับความกระจ่างชัดในวันนี้ทั้งจากการฟังบรรยายและการได้ฝึกปฏิบัติ ระหว่างที่เรียนรู้ผู้เขียนก็ได้ความคิดที่กระจ่างชัดขึ้น และวางเค้าโครงคร่าวๆ สำหรับนำกลับไปออกแบบเนื้อหา/กิจกรรมใน KM Workshop ที่คิดว่าน่าจะเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทการดำเนินงานของสำนักฯ ได้มากขึ้น

 

ปลาทูแม่กลอง

4 กันยายน 2551

คำสำคัญ (Tags): #km เบาหวาน
หมายเลขบันทึก: 205954เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2008 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท