ตุลาการภิวัตร


การละเมิดอำนาจศาล

ตุลาการภิวัตร

การละเมิดอำนาจศาล

 

                จากเหตุการณ์ที่มีผู้นำกล่องขนมบรรจุเงินจำนวน 2 ล้านบาทไปมอบให้เจ้าหน้าที่ของศาลอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แม้สังคมยังคงสงสัยว่าเหตุใดจึงกระทำเช่นนั้น  แต่ศาลได้มีคำสั่งจำคุกผู้นั้นในความผิดฐานละเมิดศาลแล้ว  ประกอบกับความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันที่หลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวหรือวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  รวมถึงบทบาทหน้าที่ของศาลซึ่งบางครั้งด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์  อาจเป็นการละเมิดอำนาจศาลโดยไม่รู้ตัว  เช่น  กรณีที่ศาลปกครองลงโทษนักการเมืองในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล  เนื่องจากนักการเมืองผู้นี้ได้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การใช้ดุลยพินิจของศาล  โดยไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตทางวิชาการ  จึงเป็นการละเมิดอำนาจศาลและไม่ใช่เพียงผู้ที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์เท่านั้นที่มีความผิด  สื่อต่างๆที่นำคำวิพากษ์วิจารณ์ไปเผยแพร่ก็มีความผิดด้วยเช่นกัน

                การพิจารณาคดีของศาลนั้นเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่ายดังนั้นเพื่อให้การพิจารณาคดีของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย  กฎหมายจึงบัญญัติให้ศาลมีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งในและนอกศาล   การละเมิดอำนาจศาลเป็นหลักกฎหมายสากลที่ศาลทุกประเทศทั่วโลกยอมรับ  ทั้งศาลในระบบกฎหมายจารีตประเพณี  เช่น  ประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา  และศาลในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร  เช่น  ฝรั่งเศส หรือเยอรมนี

                ประเทศไทยได้บัญญัติเรื่องการละเมิดอำนาจศาลไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  แบ่งออกเป็น 2 กรณีใหญ่ๆ คือ

                1.  การละเมิดอำนาจศาลโดยฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลที่กำหนดขึ้นเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาลและให้การพิจารณาคดีของศาลเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรมและรวดเร็ว  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 30   โดยข้อกำหนดนี้ใช้บังคับทั้งกับคู่ความและบุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาล  เช่น  ศาลออกข้อกำหนดไม่ให้โจทก์ลุกขึ้นแถลงการณ์ใดๆ ในขณะที่ศาลจดรายงานกระบวนพิจารณาคดีอยู่   แล้วโจทก์ยังฝ่าฝืน (คำพิพากษาศาลฎีกา  2271/2537 ) หรือกล่าวเสียดสีศาลว่าหากให้ศาลพิจารณาคดีต่อไปเกรงว่าศาลจะทำลายเอกสารสำคัญ  ถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล  เป็นการละเมิดอำนาจศาล  (คำพิพากษาศาลฎีกา 1324/2539)

                ข้อกำหนดนี้ยังรวมถึงการห้ามไม่ให้คู่ความดำเนินคดีในทางก่อความรำคาญ  ประวิงเวลาให้ช้าหรือฟุ่มเฟือยเกินควรในส่วนของศาลยุติธรรมได้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องละเมิดอำนาจศาลไว้ในประมวลจริยธรมข้าราชการตุลาการว่า ผู้พิพากษาจักต้องควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  ทั้งจะต้องไม่ให้ผู้ใดประพฤติตนไม่สมควรในศาล  บทบัญญัติว่าด้วยเรื่องละเมิดอำนาจศาลพึงใช้ด้วยความระมัดระวังและไม่ลุแก่โทสะ

                2.  การกระทำที่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลโดยตรง   ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31  กำหนดให้การกระทำดังต่อไปนี้เป็นการละเมิดอำนาจศาล  ซึ่งได้แก่  แสดงหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล  การรู้ว่ามีการส่งคำคู่ความหรือเอกสารมาให้แล้วจงใจหลบหนีหรือหลีกเลี่ยงไม่รับ  การตรวจเอกสารทั้งหมดหรือฉบับใดฉบับหนึ่งซึ่งอยู่ในสำนวนโดยไม่ได้รับอนุญาต  การขัดขืนไม่มาศาลการฝ่าฝืนข้อกำหนดศาลเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในศาลตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น   และการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล  ซึ่งการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลนั้นต้องกระทำในบริเวณศาลหรือโดยมีลักษณะของการกระทำที่ต่อเนื่องเข้ามาถึงบริเวณศาลด้วย

                เช่น  กล่าวอ้างว่าจะเอาเงินไปให้ผู้พิพากษาเพื่อเป็นอามิสสินจ้างในการดำเนินคดีในศาล  แม้จะกระทำนอกบริเวณศาลแต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นมุ่งหมายให้ผลในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาล  ถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล  (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2540)

                การนำยาบ้าไปส่งมอบให้แก่ผู้ต้องหาในศาล  การพกอาวุธปืนเข้ามาในบริเวณศาล  การทะเลาะวิวาทชกต่อยกันหรือใช้รองเท้าทำร้ายคู่ความในบริเวณศาล  การประกันตัวไปแล้วเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย  เหล่านี้ล้วนแต่เป็นการก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในศาลเป็นการละเมิดอำนาจศาลเช่นกัน

                การละเมิดอำนาจศาลของสื่อสิ่งพิมพ์   นอกจากที่กล่าวข้างต้นแล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 32  ยังกำหนดเรื่องละเมิดอำนาจศาลไว้โดยให้ถือว่าเป็นผู้ประพันธ์  บรรณาธิการหรือผู้พิมพ์หนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล  หากมีการฝ่าฝืนคำสั่งศาลที่ห้ามโฆษณาข้อความ หรือความเห็นในเชิงเปิดเผยข้อเท็จจริง  พฤติการณ์อื่นๆ  หรือกระบวนพิจารณาใดๆเกี่ยวกับคดี   หรือมีการกล่าวข้อความ   แสดงข้อความ  หรือแสดงความเห็นในระหว่างการพิจารณาคดีทางหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์  โดยประสงค์ให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชนเหนือศาล  เหนือคู่ความหรือเหนือพยาน  ซึ่งจะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป

                สำหรับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น  ศาลอาจสั่งไล่ผู้นั้นออกนอกบริเวณศาลในระหว่างการพิจารณาหรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด  จำคุกไม่เกิน หกเดือน  หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                หากการละเมิดศาลนั้นเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทศาลด้วยก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องนั้นๆต่อไป 

                ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลสามารถอุทธรณ์ได้ตามกระบวนการทางกฎหมาย  แต่หากการละเมิดอำนาจศาลนั้นเกิดขึ้นที่ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดก็ถึงที่สุดไม่สามารถฎีกาต่อไปได้อีก

                สรุปได้ว่า  ในการพิจารณาคดีนั้นทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลและช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างการพิจารณาคดี  ถ้าทุกฝ่ายปฏิบัติได้ทุกอย่างก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาที่ต้องว่าไปตามข้อเท็จจริง  พยานหลักฐานที่ต่างฝ่ายนำมาเป็นเอกสารข้อมูลสำคัญ  ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คนไทยก็ยังมีความเชื่อและศรัทธาในศาล  อำนาจศาลที่เชื่อว่าบริสุทธิ์ถูกต้องมีความศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริง

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์,    ฉบับวันที่ 8  สิงหาคม 2551    หน้า 4.

หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน.    ฉบับวันที่ 8  สิงหาคม 2551    หน้า 20.

 

หมายเลขบันทึก: 205282เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2008 12:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอเติม "ประชาภิวัฒน์"ครับ ร่วมด้วยอีกแรง ระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนต้อง empower ประชาชนไม่ใช่แค่ให้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่ต้อง empower ผ่านการสร้างระบบคุณค่า วิถีปฏิบัติในสังคม และระบบสถาบัน ที่ส่งเสริมสิทธิ์นั้น และมีแนวโน้มว่าประชาธิปไตยในโลกจะมีลักษณะที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจโดยตรงมากขึ้น ปล่อยให้นักการเมืองตัดสินใจเอง น้อยลง ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตยแท้ กับฝ่ายประชาธิปไตยลวง ต้นฉบับครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท