การเรียนรู้แบบ 4M


การทำงานของสมอง

 

 

4 MAT การเรียนรู้แสนมหัศจรรย์

 

อัจฉรา ไทยเจริญ

สพท. นครศรีธรรมราช เขต 1

 

การเรียนรู้แบบ 4 MAT   เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้โดยใช้สมองซีกซ้ายและซีกขวาอย่างสมดุลย์ รู้จักคิด วิเคราะห์ ปฏิบัติจริง นักเรียนจึงเรียนรู้อย่างมีความสุข

 

เราทุกคนเกิดมาพร้อมกับ "สมอง" เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือที่ดีเยี่ยมชิ้นหนึ่ง

ประสิทธิภาพนั้นพูดได้ว่ามหัศจรรย์ทีเดียว  มนุษย์ให้ความสนใจเรื่องสมองมานานแล้ว ย้อนกลับไปประมาณสี่ร้อยปีก่อนคริสตกาล ท่านไฮโปรเครดิส (Hipprocrates) ปราชญ์ชาวกรีกได้สังเกตว่าทหารที่ได้รับบาดเจ็บตรงศีรษะซีกขวาจะมีปัญหาในการควบคุมอวัยวะซีกซ้ายของร่างกาย และกลับกันสำหรับผู้ที่ศีรษะซีกซ้ายได้รับบาดเจ็บ จะมีปัญหาในการควบคุมอวัยวะซีกขวา นั่นคือเราต้องเข้าใจถึงการทำงานของสมองส่วนบนทั้งซีกซ้ายและซีกขวาแล้วทำกิจกรรมให้สอดคล้องกับการทำงานของสมองทั้งสองซีก ทำให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเต็มศักยภาพในที่สุด

 

สมอง….. เป็นเช่นนั้นจริงหรือ

ในปี ค..1972 นายแพทย์โรเจอร์ สเปอร์ (Dr. Roger Sperry) ศัลยแพทย์ทางประสาท จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย ได้รับรางวัลโนเบลจากการศึกษาทดลองเกี่ยวกับการทำงานของสมองทั้งสองซีก ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจว่า สมองสองซีกจะมีความถนัดในเรื่องต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน โดยอธิบายว่าสมองซีกซ้ายจะมีศักยภาพเกี่ยวกับภาษา การฟัง ความจำ การวิเคราะห์ เหตุผล การจัดลำดับ การคิดคำนวณ สัญลักษณ์ เหตุผลเชิงตรรกและวิทยาศาสตร์ ส่วนสมองซีกขวาจะมีศักยภาพเกี่ยวกับจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ ความรู้สึกรับรู้ภาพรวม การรับรู้ทางประสาทสัมผัส ศิลปะ สุนทรี รูปทรง รูปแบบสี ดนตรี มิติสัมพันธ์และการเคลื่อนไหว

เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจมีการเปรียบเทียบการทำงานของสมองซีกซ้ายเหมือนกับการมองต้นไม้ต้นเดียว ส่วนการทำงานของสมองซีกขวาเหมือนกับการมองป่าทั้งป่าเห็นเป็นภาพรวม

ดังนั้นถึงแม้ว่าบุคคลแต่ละคนจะมีความถนัดในการใช้สมองซีกใดซีกหนึ่งต่างกัน แต่ศักยภาพในการเรียนรู้ของมนุษย์นั้น ขึ้นอยู่กับการทำงานของสมองทั้งสองซีกอย่างสอดประสาน และการทำงานของสมองจะเปลี่ยนทุก ๆ 60 - 90 นาที ถ้าซีกหนึ่งทำงานดีอีกด้านหนึ่งจะจาง    จึงต้องมีการกระตุ้นให้เกิดความสมดุลย์ของสมองทั้งสองซีก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการเรียนรู้

ดังนั้นในการเรียนการสอน  ครูต้องเข้าใจถึงการทำงานของสมองส่วนบนทั้งซีกซ้ายและซีกขวาแล้วจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับการทำงานของสมองทั้งสองซีก ทำให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเต็มตามศักยภาพของผู้เรียนในที่สุด หากผู้สอนละเลยหรือใช้วิธีการซ้ำซาก ผู้เรียนจะเกิดความเบื่อหน่ายกับการเรียนและพยายามแยกตัวออกจากกลุ่ม   เพื่อไปแสวงหาสิ่งที่ตื่นเต้นภายนอกมาทดแทน

วิธีการที่จะทำให้การทำงานของสมองทั้งสองซีกมีความสอดประสานกันอย่างสมดุลย์ มีการยอมรับแล้วว่ามีอยู่จริง  หนึ่งในนั้นคือการจัดการเรียนรู้  แบบ 4 MAT  

 

4  MAT  กับ การทำงานของสมอง

 

ส่วนใหญ่เวลาที่เราเห็นตัวอักษรภาษาอังกฤษในงานวิชาการต่างๆ เรามักคิดว่าเป็นตัวย่อ จึงสืบหาคำเต็มว่าคืออะไร  แต่ไม่ใช่ในที่นี้  คำว่า  “ MAT ”  อ่านว่า  แมท  แปลเป็นไทยได้หลายอย่าง  แต่ที่ตรงกับเรื่องนี้แปลว่า ด้าน หรือแบบ  คำว่า 4 MAT   ก็คือ สี่ด้าน  หรือ   สี่แบบ   ซึ่งมีที่มาจากนักการศึกษาชาวตะวันตก  เริ่มด้วยเดวิด  คอล์บ ( David Kolb )   เชื่อว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์  2  มิติ  คือการรับรู้  และกระบวนการ  ต่อมา Kolb ยังพบว่ากระบวนการเรียนรู้ของบางคนเป็นกระบวนการที่เกิดจากการลงมือปฎิบัติ  ในขณะที่บางคนเรียนรู้ผ่านกระบวนการสังเกต หรือการรับรู้ข้อมูลพร้อม ๆ กับนำมาคิดไตร่ตรอง  และจากจุดตัดของหนทางการรับรู้สองแบบกับช่องทางของกระบวนการทำให้ Kolb มองเห็นความแตกต่างของการเรียนรู้ถึง  4  แบบตามพื้นที่ที่ถูกแบ่งด้วยเส้นตรง แห่งการเรียนรู้และเส้นตรงแทนกระบวนการของการรับรู้   จึงได้เรียกชื่อวิธีการเรียนรู้นี้ว่า  4  MAT    ซึ่งต่อมา เบอรนีส แมคคาร์ธี  (Bernice Mccarthy) ได้ประยุกต์ความคิดของ Kolb  โดยนำความคิดเรื่องบทบาทของสมองซีกซ้ายและซีกขวามาพัฒนาเป็นแนวการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน  4  แบบ  ดังนี้  

ผู้เรียนแบบที่ 1  คือผู้เรียนที่ถนัดจินตนาการ (Imaginative learners) มี 2 ขั้นตอนย่อย คือขั้นสร้างประสบการณ์  (สมองซีกขวา) และขั้นวิเคราะห์ประสบการณ์(สมองซีกซ้าย) 

ผู้เรียนแบบที่ 2   คือผู้เรียนที่ถนัดการวิเคราะห์ (Analytic Learners) มี 2 ขั้นตอนย่อย คือขั้นปรับประสบการณ์เดิมเข้าสู่ความคิดรวบยอด  (สมองซีกขวา) และขั้นทฤษฎีความคิดรวบยอด(สมองซีกซ้าย) 

       ผู้เรียนแบบที่ 3  คือผู้เรียนที่ถนัดใช้สามัญสำนึก (Common Sense Learners) มี 2 ขั้นตอนย่อย คือขั้นทบทวนฝึกปฏิบัติ  (สมองซีกซ้าย)  และขั้นวางแผนและสร้างผลงาน (สมอง

ซีกขวา)  

                   ผู้เรียนแบบที่ 4  คือผู้เรียนที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง (Dynamic Learners) มี 2 ขั้นตอนย่อย  คือขั้นวิเคราะห์ชิ้นงาน  (สมองซีกซ้าย) และขั้นนำเสนอและแลกเปลี่ยน (สมองซีกขวา)  

  จะเห็นว่ากระบวนการเรียนรู้ แบบ 4 MAT จะเริ่มต้นจากการใช้ความรู้สึกรับรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งที่จะเรียนและมีจินตนาการเกี่ยวกับสิ่งนั้น ซึ่งเป็นการใช้สมองซีกขวาและในขั้นสุดท้ายก็จบลงด้วยความรู้สึกอันเป็นกิจกรรมของสมองซีกขวาเช่นกัน แต่เป็นความรู้สึกที่แตกต่างกันมากเนื่องจากตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นจนถึงขั้นสุดท้าย ผู้เรียนได้ผ่านกระบวนการแสวงหาความรู้ ทักษะ ความคิดและการลงมือทำเพื่อสร้างผลงานแห่งการเรียนรู้ของตนเองอย่างหลากหลาย วงกลมแห่งการเรียนรู้นี้จึงสามารถเคลื่อนต่อไปได้อย่างไม่รู้จบด้วยตนเองของผู้เรียนเองภายใต้จังหวะ ขวา - ซ้าย - ขวา - ซ้าย - ซ้าย - ขวา - ซ้าย ขวา  หมุนเวียนเป็นวัฎจักร ดังนั้นเมื่อนำมาใช้ในประเทศไทย  บางคนจึงใช้ชื่อว่าการเรียนรู้แบบวัฎจักรการเรียนรู้

 

เมื่อ 4 MAT เดินทางถึง….. นครศรีธรรมราช

 

      ระยะเริ่มต้น

ผู้บริหาร  ผู้สอน  และผู้ที่เกี่ยวข้อง หลายต่อหลายคนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบใหม่ ๆ  มีความเห็นว่า ศึกษานิเทศก์น่าจะช่วยได้ ผู้เขียนซึ่งเป็นศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบกลุ่มหลักสูตรและการพัฒนากระบวนการเรียนรู้  มีความสนใจรูปแบบการเรียนรู้ แบบวัฎจักรการเรียนรู้ (4 MAT) เป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว  จึงรับหน้าที่ทำการศึกษาว่า  การเรียนรู้ แบบ4 MAT จะบังเกิดขึ้นในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1  หรือไม่   โดยตั้งวัตถุประสงค์ ว่าเพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ แบบวัฎจักรการเรียนรู้ (4 MAT)  และเพื่อศึกษาผลที่เกิดจากการจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้

  การศึกษาเริ่มต้นจากการเขียนโครงการเพื่อวางแผนการทำงานให้กระชับ  รัดกุม  และมีทิศทางการปฏิบัติงานที่ชัดเจน  แล้วรับสมัครครูกลุ่มเป้าหมาย  โดยจัดทำเป็นหนังสือราชการแจ้งให้โรงเรียนทุกโรงทราบ  หากมีครูคนใดสนใจสมัครเข้ารับการพัฒนาตามโครงการนี้ให้กรอกใบสมัครตามแบบที่กำหนด ส่งได้ไม่จำกัดจำนวนหลังจากนั้นจึงคัดเลือกครูกลุ่มเป้าหมายเข้าโครงการ  แล้วประชุมชี้แจงวิธีการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นโครงการจนเข้าใจอย่างชัดเจน   จึงให้ครูทำข้อตกลงในการปฏิบัติงานตามปฏิทินที่กำหนดไว้โดยไม่ละทิ้งงานกลางคัน  ถัดจากนั้นได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเขียนแผนการเรียนรู้แบบ 4 MAT   โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาเป็นวิทยากรให้ความรู้  แก่ครูกลุ่มเป้าหมาย  จำนวน  12  คน  ซึ่งหลักสูตรในการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้  มีเนื้อหาสาระในเรื่องสมองกับการเรียนรู้  และการเรียนรู้แบบ 4 MAT   โดยมีการฝึกปฏิบัติการเขียนแผนการเรียนรู้จนเข้าใจอย่างถ่องแท้ทุกคน

              ระยะปฏิบัติการ

ต่อจากนั้นครูกลุ่มเป้าหมายนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติการเขียนแผนการเรียนรู้ แบบ

4 MAT   และทดลองใช้กับนักเรียนในชั้นเรียนของตน   ในระยะเวลา  1  ภาคเรียน  ในระหว่างนี้มีกิจกรรมนอกแผนคือจัดศึกษาดูงาน  โดยไปศึกษาดูงานการจัดการเรียนรู้แบบ 4 MAT      โรงเรียนสมถวิล  อำเภอหัวหิน  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์   ส่วนกิจกรรมปกติก็มีการนิเทศติดตามผล  เป็นระยะๆ  โดยผู้เขียนซึ่งรับผิดชอบโครงการนี้อยู่  ทำการนิเทศแบบตัวต่อตัว เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของแผนการสอน    และตรวจสอบรายงานผลการสอน    นอกจากนั้นยังมีการพบปะอย่างไม่เป็นทางการ  ตามความสะดวก และความต้องการของครูผู้เข้าโครงการแต่ละคน และหลังจากเสร็จสิ้นโครงการแล้วยังมีกิจกรรมเสริมคือไปสรุปผลอย่างไม่เป็นทางการนอกสถานที่อีก 1 วัน 

 

ระยะประเมินงาน

ในช่วงระยะใกล้จะเสร็จสิ้นโครงการ  ผู้เขียนได้ออกไปเก็บข้อมูลความพึงพอใจในการจัดการเรียนรู้ แบบ4 MAT  ณ โรงเรียนทดลอง     ซึ่งผู้ที่ให้ข้อมูลได้แก่ผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน  เพื่อนครูในโรงเรียน  นักเรียน  และผู้ปกครองนักเรียน (บางคน)ในชั้นเรียนนั้นๆ    สิ่งที่พบและประทับใจมาก คือ  นักเรียนในชั้นเรียนอื่นๆ ชอบมามุงดู  และอยากเรียนแบบนั้นบ้าง   ทำให้คิดได้ว่าการใช้กระบวนการเรียนรู้แบบใหม่นี้   โดยการทดลองใช้เพียงชั้นเรียนเดียว   ของครูผู้สอนเพียงคนเดียวในโรงเรียน  ทำให้ไม่สามารถบ่งบอกผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในภาพรวมของชั้นหรือของโรงเรียนได้ว่าเพิ่มขึ้นเพราะการใช้รูปแบบการเรียนรู้นี้   

 

ระยะเก็บเกี่ยวผล

สิ่งเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม คือครูกลุ่มเป้าหมาย เขียนแผนการเรียนรู้แบบ 4 MAT ได้ถูกต้อง ทุกคน  และรายงานผลการสอนอย่างเป็นทางการในรูปเล่มตามแบบรายงานการวิจัยทั่วไป จำนวน 8  คน จากทั้งหมด 12 คน   คนที่ไม่ได้ส่งเล่มรายงานผลอีก 4 คน เนื่องจากไม่สันทัดในการเขียนรายงานผลแบบงานวิจัย  แต่สามารถเขียนบันทึกผลหลังสอน บอกปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น  พร้อมทั้งข้อเสนอแนะได้  ส่วนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช  เขต 1  ได้รวบรวมแผนการเรียนรู้แบบ  4 MAT    ของครูผู้สอนที่เข้าโครงการทุกคน  นำมาจัดพิมพ์รวมเล่ม  และแจกจ่ายเพื่อเผยแพร่แก่โรงเรียนอื่น ๆ ในสังกัดทุกโรง  และยังได้เผยแพร่ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใกล้เคียงอีกด้วย

 ผลงานที่สามารถจับต้องได้อีกชิ้นหนึ่ง คือรายงานผลการวิจัยการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบ 4 MATในระดับเขตพื้นที่การศึกษา  ซึ่งได้ตอบคำถามผลการศึกษาในครั้งนี้ว่า ครูสามารถจัดทำแผนการเรียนรู้แบบ 4 MAT ได้อย่างมีคุณภาพในระดับมากร้อยละ 100   และความพึงพอใจของผู้บริหาร ครูผู้สอน นักเรียน  และผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้แบบ 4 MAT อยู่ในระดับมากเช่นเดียวกัน

 

   จากการปฏิบัติงานอย่างตั้งใจ    ผู้เขียนได้ค้นพบว่า การให้ครูได้ทำงานโดยสมัครใจ   และชี้แจงวิธีการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นให้ทราบอย่างชัดเจน    การนิเทศแบบตัวต่อตัวรวมทั้งการติดตามงานอย่างสม่ำเสมอ  จะทำให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย   ส่วนที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นคือ  การละเลยการติดตามผล และช่วยเหลือครูที่ด้อยศักยภาพให้เขาทำงานจนสำเร็จ   ถึงแม้ว่าจะเสร็จสิ้นโครงการไปแล้ว   

ในการทำงานต่อไปข้างหน้า  สำหรับผู้เขียนแล้วคิดว่าหากมีครูท่านใดที่ทำงานไม่สำเร็จตามเวลาที่กำหนด  เราต้องช่วยเหลือให้ครูบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายของงานให้จนได้  และอีกประการหนึ่งคือ  ควรดำเนินงานโครงการนี้โดยให้ครูทุกคนเข้าร่วมโครงการทั้งโรงเรียน   เพราะเมื่อประเมินผลการเรียนแล้ว  จะสามารถบอกได้ว่าผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้นเกิดจากการจัดการเรียนรู้รูปแบบ  4 MAT  นี้   และที่สำคัญที่สุดนักเรียนทุกคนในโรงเรียนมีโอกาสใช้สมองซีกซ้ายและ

ซีกขวาอย่างสมดุลย์ รู้จักคิด วิเคราะห์  ได้ฝึกปฏิบัติจริงอย่างสนุกสนาน ได้นำเสนอผลงานด้วยความชื่นชม      คาดว่าพวกเขาคงมีความสุขกับการเรียนมากขึ้นอย่างแน่นอน……..สพท.นศ.เขต 1

 

หมายเลขบันทึก: 205047เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2008 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ฤดูฝน ผ่านไป ผ่านไป แล้วก็ผ่านไป....

คิด คิด คิด คิด...

ฤดูฝน ปีนี้ จะทำอะไร ดี...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท