ลาวศึกษา : สมุดคู่มือการเดินทาง


จากลุ่มเจ้าพระยาไหลเชี่ยวมาสู่ลำน้ำโขง

           

            

          ก่อนการเดินทางไปสปป.ลาวครั้งนี้ เราต้องทำงานและต้องศึกษารายละเอียดต่างๆกันค่อนข้างจะหนักทีเดียว (เลยไม่ค่อยมีเวลาไปอัพรูปใน HI 5...เกี่ยวกันไหมเนี่ย)   

            เรื่องการประสานงานต่างๆก็ค่อนข้างจะยุ่ง และมีอุปสรรคบางประการพอสมควร แต่ว่าก็สามารถผ่านพ้นไปได้ และสิ่งหนึ่งที่บางท่านอาจไม่เห็นความสำคัญมากนัก แต่ว่าขาดไม่ได้ ก็คือ คู่มือการเดินทาง หรือจะเรียกว่า แผ่นพับ โบชัวร์ แปมแฟลต หรือต่างๆนานา สุดแท้แต่จะเรียก ซึ่งตรงนี้กระผมก็ไม่ได้ศึกษาถึงความหมายที่แท้จริงของคำแต่ละคำว่ามีความหมาย และแยกประเภทกันอย่างไรบ้าง (อย่างเช่น เราเรียกห้องแบ่งเช่าที่เป็นตึกหลายชั้นว่า อพาร์ทเม้น และแมนชั่น แต่ก็ไม่รู้ว่าอย่างไรเรียก อพาร์ทเม้นท์ อย่างไรเรียกแมนชั่น แต่พอศึกษาระดับหนึ่ง อพาร์ทเม้นท์ กับแมนชั่นในบริบทของสังคมไทย ใช้เหมือนกัน แต่อพาร์ทเม้นท์เป็นคำภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน แต่แมนชั่นในภาษาอังกฤษหมายถึงคฤหาสน์) แต่ว่ากล่าวโดยสรุปแล้ว เราหมายถึงเอกสารประกอบการเดินทาง ในที่นี้จะใช้คำว่า สมุดคู่มือการเดินทาง ดีไหมครับ ถ้าใครมีความรู้ช่วยบอกด้วยนะครับ

            เริ่มตั้งแต่ปกครับ

            1. ปกหน้ามีพื้นหลังเป็นลำน้ำโขง มีภาพพระธาตุหลวงทางซ้าย และประตูชัยอยู่ทางขวา มีรูปเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ (ขอย้ำ!!! สุพรรณ ไม่ใช่ สุวรรณ และ หงส์ ไม่ใช่ หงส์) ซ้นทับอยู่ด้านหน้า และด้านบนของภาพมีตัวอักษรภาษาไทยสีแดงเขียนคำว่า สายสัมพันธ์สองฝั่งโขง

            ภาพนี้มีนัยยะสำคัญมาก อธิบายได้ไม่หมดครบถ้วน แต่เอาคร่าวๆนะครับว่า สายน้ำโขงนี้ ย่อมหมายถึงวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง ก็คือ สปป.ลาว และภาคอีสานของไทยนั่นเอง และเราจะเชื่อมสองฝั่งเข้าด้วยกัน เป็นภาพที่ดูอ่อนไหว แสดงให้เห็นภูมิประเทศ และวัฒนธรรมที่พึ่งพิงสายน้ำแห่งนี้มาหลายชั่วอายุคน เป็นตำนานแห่งสายน้ำ เป็นเส้นเลือดของชาวไทยลาวบริเวณนั้น

            ส่วนภาพพระธาตุหลวง เป็นสัญลักษณ์ของสปป.ลาวเลยก็ว่าได้ และใครที่ไปสปป.ลาวแล้วจะต้องไปกราบนมัสการพระธาตุศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ซึ่งภายในได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์จริงไว้ด้วย

            ภาพประตูชัย เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์เมืองเวียงจันทน์และสปป.ลาว ทุกครั้งที่ข้ามไปฝั่งสปป.ลาวจะต้องมีรูปประตูชัยอวดโฉมต่อชาวโลก

            ภาพเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สุดยอดความงามของเรือแห่งสยามประเทศ หรือ

สุดยอดแห่งนาวาสถาปัตยกรรมสยาม นับว่าเป็นบุญแท้ของชาติไทยที่มีพระมหากษัตริย์ และช่างฝีมือเอกของชาติที่สามารถจรรโลงสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย เพราะว่ารูปเรือนี้ ถ้าปรากฏอวดโฉมต่อสายตาชาวโลกที่ไหนนั่นคือ สัญลักษณ์ของประเทศไทยก็ว่าได้ และเมื่อพูดถึงสัญลักษณ์ของเอเปค 2003 แล้วหลายคนคงจะรู้แล้วว่าสัญลักษณ์นี้ คือ รูปหัวเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของความเป็นไทยที่ชาวต่างชาติรู้จักกันดี และสัญลักญณ์เรือ หมายถึง การเดินทางอีกด้วย โดยเรือนี้ใช้ในพระราชพิธีเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค และถือกันว่าสวยงามที่สุดในขบวนเรือ ดังมีบทชมไว้ในกาพย์เห่เรือพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ (กุ้ง) ที่กล่าวว่า

สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย             งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์                     ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเรือสุวรรณหงส์ที่เจ้าฟ้ากุ้งกล่าวถึงและเรือลำอื่นๆในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้ถูกเผาทำลายไปเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่สอง

และต่อมาจึงมีการสร้างขึ้นใหม่ เรียกชื่อว่า เรือศรีสุพรรณหงส์ สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 1 ในจดหมายเหตุเมื่อ พ.ศ.2370 มีหมายรับสั่งให้จัด "เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์" เป็นเรือทรงพระบรมธาตุที่ได้อัญเชิญมาจาก เวียงจันทน์

และจากการที่เรือลำนี้มีลักษณะงดงามยิ่งจิ่งเป็นเจ้าของเหรียญรางวัลมรดกทาง ทะเลขององค์การเรือโลก แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งจัดเป็นมรดกของโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกล ที่แสดงออกถึงความงามและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยองค์การดังกล่าว เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ พระสวามีของสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ และทรงส่งพระราชสาส์นมาแสดงความยินดีด้วย

และตัวอักษรภาษาไทยสีแดงที่เขียนว่า สานสัมพันธ์สองฝั่งโขงนั้น นั่นคือ Theme ของงานนี้ครับ เราจะไปร่วมกันเจริญสัมพันธไมตรีด้านการศึกษา แม้จะเป็นเพียงหยดน้ำหยดเดียวเดียวแห่งห้วงมหาสมุทรก็ตาม แต่ก็เป็นก้าวแรกอันจะนำไปสู่ก้าวแห่งความสำเร็จไม่ใช่หรือ และจะเป็นใบเบิกทางสำหรับคนรุ่นต่อๆไป ในการมาเยี่ยมเยือน และเพื่อความสัมพันธ์ อันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นของสองชนชาติ

ปล. วันนี้ไม่ได้ไปตัดผม เพราะร้านปิดวันจันทร์ (ไปเก้อ) แต่ก็ไปซื้อรองเท้าแตะคู่ใหม่มา ซึ่งไม่รู้ว่าใครก๊งกันแน่ พอมาถึงบ้านก็เจอรองเท้าข้างเดียวกัน 2 ข้าง และคนละเบอร์ด้วย (เฮ้อ...เอาอีกแล้วเรา)

หมายเลขบันทึก: 204846เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2008 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ค.ศ.1957 (พ.ศ. 2500) มีดำรัสจากนายกรัฐมนตรีให้แต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อจัดการประกวด แข่งขันการออกแบบประตูชัย ซึ่ง าวทำไชยะสิดเสนา ผู้บัญชาการกรมยุทธสรรพาวุธ ได้รับชนะเลิศ

รูปลักษณะและความหมายของประตูชัย

อนุสาวรีย์ มีรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส มีประตูสี่ด้าน ซึ่งต่างจากที่ฝรั่งเศสมีเพียงสองด้าน หลังคาเป็น ยอดช่อฟ้า 5 ยอด ด้านในใจกลางของประตูชัยมีป่องสำหรับจุดเปลวไฟเป็นอนุสรณ์สมมติ ของดวงวิญญาณวีระชนนิรนาม ทั้งหมดแบ่งเป็น 3 ชั้น ๆ ที่ 3 เป็นหลังคามียอดช่อฟ้า 5 ช่อ ตรงยอดช่อฟ้า ใหญ่มีหอคอยติดตั้งกล้อง ส่องทางไกล ให้ชมทิวทัศน์รอบด้าน ของเวียงจันทน์ รูปทรง ได้นำเอาสูตรตำราเลข 3 ตัว คือ 3-7-8

(1) เลข 3 หมายถึง แก้วสามประการ ซึ่งหมายถึงอำนาจพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

(2) เลข 7 หมายถึง จำนวนวันในหนึ่งสัปดาห์

(3) เลข 8 หมายถึง ทิศทั้ง 8 ซึ่งทั้งหมดมีความหมายดังนี้

-ความกว้างแต่และด้าน 24 เมตร(3x8= 24) เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส

-ความสูง 49 เมตร(7x7 = 49)

จะเห็นได้ว่าอนุสาวรีย์นี้มีรูป 4 เหลี่ยมมณฑลอันเป็นเอกลักษณ์พื้นฐานของสถาปัตยกรรมของลาวแท้ เช่น พระธาตุหลวง พระธาตุพนมพระธาตุอิงฮัง พระธาตุสีโคตรบูรณ์พระธาตุพูสีพระธาตุสีสองรัก พระธาตุบังพวน ล้วนแต่มีรูปสี่เหลี่ยมแบบลาวแท้

การประดับประดาลวดลาย

ได้นำเอาลวดลายที่เป็นศิลปะลาวที่มีอยู่ตามอนุสรณ์สถานต่าง ๆ เช่น ดอกบัวใหญ่ที่ประดับล้อมประตูชัย ได้นำแบบมาจากพระธาตุหลวง

ความหมายและประโยชน์ที่ใช้

1. จุดประสงค์ที่สร้างขึ้นเพื่อ เป็นที่ระลึกเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตา และเชิดชูบูชาดวงวิญญาณวีรบุรุษ วีรชนของชาติทุกยุคทุกสมัย ไว้เป็นแบบอย่างอันสูงส่ง แต่ดวงวิญญาณเป็นสิ่งจับไม่ได้ มองไม่เห็นจึงได้สมมติเอาเปลวไฟที่ใสส่องขาวสะอาด คือตัวแทนของดวงวิญญาณให้เห็นประจักษ์ตา เป็นรูปธรรม เวลาประกอบพิธีเคารพบูชาตอบแทนบุญคุณ ให้เหมือนกับว่าดวงวิญญาณปรากฎอยู่ต่อหน้า

2. ประตูชัยมี 4 ด้าน ด้านหนึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก และตะวันออก ทะลุสู่ถนนล้านช้าง ใช้สำหรับพิธีสวนสนามเดินผ่านประตูชัยอย่างองอาจมีไชย ในวันสำคัญของชาติ

3. ด้านนอกแต่ละมุมจะมีสระน้ำสร้างเป็นรูปดอกบัวตูมมีขอบสูง ปลายดอกบัวแหลมชี้ออกนอก ติดอยู่กับมุม แต่ละมุมมีรูปพญานาคชูหัวองอาจ ห้าวหัน งดงาม ยกหงอนชี้ฟ้า อ้าปาก ตัวพญานาคเป็นตัว พระราชาแห่งนาค เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศลาว ดอกบัวตูมที่อยู่กลางสระน้ำนั้นหมายถึง ดอกไม้เลิศพันธ์ มีไว้เพื่อบูชาแด่ดวงวิญญาณวีรชน ผู้เลิศเลอมีบุญคุณเอนกอนันต์ต่อชาติลาว

4. แต่ละ 4 มุมของฝาด้านนอก มีดอกไม้ประดับไว้สำหรับติดดอกไฟฟ้า ในวันพิธีบุญเฉลิมฉลองสำคัญต่าง ๆ

5. มีบันไดขึ้น 2 ทาง 147 ขั้น ท่านสามารถเดิมชมศิลปะของแต่ชั้นได้ ปัจจุบันใช้เป็นที่จำหน่าย สินค้าของที่ระลึก

6. ยอดช่อฟ้า เป็นชั้นสูงสุดมี 5 ยอด เปรียบเสมือนปราสาทราชวัง ยอดช่อฟ้าทั้งห้ายอดนี้ หมายถึง ปัญจศิลาหัวใจหลักการนำชี้วิถีชีวิตให้แก่นักการเมืองในการปกครองประเทศ 5 ประการตามหลักพุทธรรมสายกลาง เปี่ยมด้วยมิตรไมตรี เกียรติศักดิ์ศรีเจริญรุ่งเรืองถาวร

อนุสาวรีย์แห่งนี้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 63 ล้านกีบ

ตั้งแต่ปี ค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) เป็นต้นมา การเดินขบวนสวนสนามก็ได้เดินลอดใต้ประตูชัยแห่งนี้ไปสู่สนามลานพระธาตุหลวง ดังที่หนังสือแจ้งการของกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม ได้บันทึกไว้ว่า ขบวนมวลชนเพื่อยึดอำนาจอยู่เวียงจันทน์ ในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ.1975 (พ.ศ.2518) ขบวนชาวนครหลวงเวียงจันทน์ และตัวแทนประชาชนเขต แขวงต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อฉลองชัยชนะแห่งการสถาปนา สปป.ลาว ก็ล้วนแต่ได้เดินผ่านประตูนี้ไป จนกระทั่งมาถึงปี ค.ศ.1976(พ.ศ.2519) การสวนสนามได้ย้ายไปที่ ลานพระธาตุหลวง ต่อหน้าอนุสาวรีย์นักรบนิรนาม ที่พรรค และรัฐบาลได้สร้างขึ้น

ประตูชัยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง ที่ทำรายได้เข้าประเทศ นักท่องเที่ยวก่อนที่จะเดินทางไปถึงพระธาตุหลวง และอนุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช จะต้องแวะชมสถานที่แห่งนี้ก่อน ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของประชาชนลาวทั่วประเทศ

พระธาตุหลวง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประตูชัย พระธาตุหลวงแห่งนี้ถือเป็นศาสนสถานที่สำคัญที่สุดของประเทศลาว เป็นสัญญาลักษณ์ประจำชาติและยังแทนความเป็นเอกราชและอำนาจอธิปไตยของประเทศลาวอีกด้วย พระธาตุนี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16 พระธาตุองค์นี้มีรูปทรงที่ไม่เหมือนกับองค์อื่นๆ เพราะเป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมในพระพุทธศาสนากับสถาปัตยกรรมของอาณาจักร
            ตามตำนานเล่าว่า พระธาตุองค์นี้ได้สร้างในสมัยพุทธศักราชที่ 236 โดยมีพระภิกษุลาวจำนวน 5 รูปเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย และได้อันเชิญพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้ามายังนครเวียงจันทน์ด้วย ต่อมาด้ำกราบทูลพระยาจันทบุรีประสิทธิ์ศักดิ์ เจ้านครเวียงจันทน์ในสมัยนั้น ให้สร้างพระธาตุหลวงขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเพื่อให้ชาวลาวได้กราบไหว้ กล่าวไว้ว่า พระธาตุองค์เดิมนั้นสร้างด้วยหินเป็นทรงโอคว่ำ มีการก่อกำแพงล้อมรอบเอาไว้ทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีความกว้าง 10 เมตร หนา 4 เมตร และสูง 9 เมตร เชื่อกันว่าพระธาตุที่เห็นในปัจจุบันสร้างครอบองค์เดิม ซึ่งต่อมาสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองหลวงของราชอาณาจักรล้านช้างจากหลวงพระบางมาอยู่ที่เวียงจันทน์ ตามดำริของพระราชบิดา คือพระเจ้าโพธิสาร จากนั้นทรงมีพระบัญชา ให้ทรงสร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ครอบพระธาตุองค์เดิมไว้ ณ บริเวณที่เคยเป็นเทวสถานเก่าของขอมโดยเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2109 และหลังจากสร้างพระธาตุหลวงได้โปรดฯ ให้สร้างวัดขึ้นล้อมรอบพระธาตุไว้ทั้งสี่ทิศด้วย แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงสองแห่งด้วยกันคือ วัดพระธาตุหลวงเหนือและวัดพระธาตุหลวงใต้
            ในปัจจุบัน พระธาตุหลวงมีลักษณะคล้ายป้อมปราการ เพราะมีการสร้างระเบียงสูงใหญ่ขึ้นโอบล้อมรอบองค์พระธาตุไว้ พร้อมกับทำช่องหน้าต่างเล็กๆเอาไว้โดยตลอด สำหรับประตูทางเข้านั้นเป็นประตูไม้บานใหญ่ ลงรักสีแดงไว้ทั้งหมด นอกจากนี้รอบๆองค์พระธาตุใหญ่ยังมีเจดีย์บริวารล้อมรอบอยู่โดยรอบอีหลายองค์ เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ๆ ก็จะเห็นสัญลักษณ์หนึ่งแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนาแห่งนี้ปรากฏอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นรูปแกะสลักพญานาค พระพุทธรูปปิดทองลายกลีบบัวประดับอยู่บนฐานปักษ์ และถัดจากประตูทางเข้าใหญ่ประมาณ 100 เมตรจะแลเห็นพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ตั้งอยู่บนฐานสูง พระหัตถ์ทรงถือพระแสงดาบวางพาดไว้บนพระเพลา เล่ากันว่า พระแสงดาบเล่มนี้ทำหน้าที่ปกป้องพระธาตุหลวงซึ่งได้ถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวลาวทุกคน
            สถานที่ตั้ง อยู่ใจกลางเมืองหลวงประเทศลาว

 

หนังสือประวัติเรือรบไทย กรมยุทธศึกษาทหารเรือ บันทึกถึง เรือสุพรรณหงส์ ดังนี้
           
สำหรับเรือสุพรรณหงส์นั้น ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า "สุวรรณหงส์" และต่อมาก็ปรากฏในชื่อเรือ ไชยสุพรรณหงส์ที่ว่ากันว่ามีมาก่อนสมัยพระมหาจักรพรรดิ

ส่วนพระราชพงศาวดารแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อคราวเสด็จฯไปตีเมืองเมาะตะมะ ได้เสด็จฯทางเรือ พระโหราราชครูอธิบดีศรีพิชาจารย์ก็ลั่นฆ้องชัยให้พายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์อันทรงพระพุทธปฏิมากรทองนพคุณบรรจุ***สารีริกธาตุ ถวายพระนามสมญา พระชัย นั้นไปก่อน แล้วเรือกระบวนหน้าทั้งปวงไปโดยลำดับ

แสดงว่า เรือสุพรรณหงส์ มีมาแล้วในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในสมัยรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถก็มี เรือวรสุพรรณหงส์พยุหยาตรา
            มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 เรือสุพรรณหงส์มีคำว่า ศรี นำหน้า เรียก ศรีสุพรรณหงส์
เรียกเช่นนี้จาก ศีรษะของหงส์ (ประเภทเรือกิ่ง คือเรือแกะสลักงดงามทั้งหัวท้าย) ศีรษะหงส์ พื้นท้องเรือสีดำยาว 18 วา (36 เมตร) กว้าง 5 ศอก 1 คืบ 6 นิ้ว (2.88 เมตร) ลึก 1 ศอก 7 นิ้ว (0.67 เมตร) กำลัง (ความเร็ว) 7 ศอก (3.50 เมตร) คือใช้ฝีพายเต็มอัตราพุ้ยน้ำ 1 ครั้ง เรือแล่นได้ 3.50 เมตร
            ต่อมา เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ลำนี้ผุ ใช้การไม่ได้ ปลดระวางเมื่อพ.ศ.2454 เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ลำแรกจึงเป็นต้นแบบของเรือสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง เปลี่ยนนามใหม่เป็น สุพรรณหงส์
(รัชกาลที่ 6 ท่านก็เอาคำว่า ศรีออก เหลือแต่ สุพรรณหงส์)

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ส่วนของท้องเรือภายนอกทาสีดำ ท้องเรือภายในทาสีแดง ยาว 44.90 เมตร กว้าง 3.14 เมตร ลึก 0.09 เมตร กินน้ำลึก 0.41 เมตร กำลัง 3.50 เมตร ฝีพาย 50 นาย นายท้าย 2 นาย นายเรือ 2 นาย (นายเรือคนที่ 1 บังคับบัญชาฝีพายหน้าบัลลังก์กัญญา นายเรือคนที่ 2 บังคับบัญชาฝีพายหลังบัลลังก์กัญญา) พลธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย ร้องเห่ 1 นาย สถาปนิกต่อเรือหรือนาวาสถาปนิก (Naval Architect) ที่ต่อเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์คือ พลเรือตรีพระยาราชางคราม ร.น. (กร หงสกุล)
            เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์โรงเรือพระราชพิธี กรมศิลปากร ปากคลองบางกอกน้อย เช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ เรือเหล่านี้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ เรือพระราชพิธีนอกจากนี้เก็บที่โรงเรือพระราชพิธีท่าวาสุกรี และเรือดั้งอีกประมาณ 50 ลำ เก็บอยู่ในโรงเรือของกองทัพเรือในคลองบางกอกน้อย
            ในส่วนเครื่องประกอบของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ก็มี พู่ห้อย ที่หัวเรือ ทำจากขนของสัตว์ชื่อ จามรี” (ลักษณะเหมือนม้าอยู่ในป่า) ลักษณะขนสีขาว นุ่มละเอียด นำมาประกอบทำเป็นชั้นๆ ตามทรงของพุ่มที่เป็นแบบอยู่ข้างใน แล้วจึงติดชนวนโดยรอบและตกแต่งให้สวยงาม ซึ่งนำมาจากเนปาล
            ด้านการแต่งกายของฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ จะสวมเสื้อสักหลาดสีแดงติดลูกไม้ใบข้าว กางเกงผ้าเสิร์จสีดำ คาดผ้ารัดประคดโหมดเทศดาบฝักไม้ ด้ามไม้กลึง สาย สะพายดาบสักหลาดสีแดงติดแถบลูกไม้ สวมหมวกทรงประพาสสักหลาดแดงติดลูกไม้ใบข้าว สวมถุงเท้ายาวสีขาว รองเท้าหนังสีดำ
            นอกจากจะมีความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์แล้ว เรือสุพรรณหงส์ก็ยังถือเป็นสุดยอดแห่งนาวาสถาปัตยกรรม เที่ยวงดงามวิจิตรไปด้วยศิลปะการตกแต่งทั้งลำเรือ โขนเรือ จนได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกล นอกจากนี้ทางองค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักรยังได้มอบรางวัล มรดกทางทะเลให้แก่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
       การพายเรือพระที่นั่ง จะเป็นการพายเรือแบบ "วิหกเหิน" (นกบิน) เป็นการจ้วงพายในน้ำ 3 ครั้ง ครั้งที่ 4 ยกด้ามพายเฉียงขึ้น เหมือนนกกำลังบินอยู่บนท้องฟ้า การพายเรือแบบ นกบิน จะสงวนให้ใช้ได้เฉพาะเรือพระที่นั่งใหญ่เท่านั้น และถือเป็นธรรมเนียมว่าถ้าจะเปลี่ยนท่าพายธรรมดาจะต้องรับพระบรมราชานุญาตเสียก่อน ส่วนเรือลำอื่นจะพายแบบจ้วงน้ำแล้วยกไม้พายไม่เกินกาบเรือ ตั้งตรงขนานกับขอบเรือ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท