จิตวิทยาการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ช่วยสอน


จิตวิทยาการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

แนวคิดในการออกแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนนั้น อาศัยแนวคิดเดียวกับการออกแบบบทเรียนแบบโปรแกรม และที่มาของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนนั้น ก็พัฒนามาจากบทเรียนแบบโปรแกรม ซึ่งการที่ได้เกิดความคิดในนำคอมพิวเตอร์มาสร้างเป็นบทเรียนแบบโปรแกรมก็เพราะว่า คอมพิวเตอร์มีศักยภาพที่เหนือกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ในหลายประการด้วยกัน แต่ข้อได้เปรียบที่สำคัญที่คอมพิวเตอร์มีเหนือสิ่งพิมพ์ก็ได้แก่ ความสามารถในการนำเสนอในลักษณะของสื่อหลายมิติ และความสามารถในการให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับบทเรียนได้เป็นอย่างดี นั่นเอง
ทฤษฎีทางจิตวิทยาการเรียนรู้แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆคือ กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behavior Learning Theories) กลุ่มปัญญานิยม (Cognitive LearningTheories) และกลุ่มปฏิสัมพันธ์ (Integrationist Approach) ซึ่งแนวคิดของแต่ละทฤษฎีก็จะมีจุดเน้นที่แตกต่างกันไป (ประสาท อิศรปรีดา, 2538 : 198) ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะแนวคิดของทฤษฎีที่มีอิทธิพลต่อแนวทางในการออกแบบบทเรียนแบบโปรแกรมหรือบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ดังนี้

ทฤษฎีพฤติกรรมนิยม
ทฤษฎีพฤติกรรมนิยมเป็นทฤษฎีที่มีแนวคิดเกี่ยวกับจิตวิทยาว่า เป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ของพฤติกรรมมนุษย์ (Scientific Study of Human) นักจิตวิทยากลุ่มนี้เชื่อว่า การเรียนรู้ของมนุษย์เป็นสิ่งที่สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมภายนอก และมีแนวคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง (Stimulus and Response) โดยเชื่อว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการที่มนุษย์หรือสัตว์ได้เลือกเอาปฏิกิริยาตอบสนองเชื่อมต่อ (Connect) เข้ากับสิ่งเร้าอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ นักจิตวิทยาในกลุ่มนี้ยังได้ให้ความสำคัญกับการเสริมแรง (Reinforcement) โดยเชื่อว่าการ
ให้การเสริมแรงที่เหมาะสมจะช่วยให้พฤติกรรมการตอบสนองของผู้เรียนเข้มข้นขึ้น
นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงในกลุ่มนี้ได้แก่ พาฟลอฟ (Pavlov) วัตสัน(Watson) กัทรี (Guthrie) ธอร์นไดค์ (Thorndike) สกินเนอร์ (Skinner) เมอร์เรย์(Murray) และฮัลล์ (Hull) เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดของแต่ละทฤษฎี ขอให้ศึกษาเพิ่มเติมจากตำราทางด้านจิตวิทยาการเรียนรู้
สำหรับนักจิตวิทยาที่มีบทบาทมากที่สุดคนหนึ่งในกลุ่มนี้ ในการริเริ่มสร้างและพัฒนาบทเรียนแบบโปรแกรม ได้แก่สกินเนอร์ (B. F. Skinner) โดยสกินเนอร์ได้ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองและการเสริมแรง สกินเนอร์ให้ความสำคัญกับการเสริมแรงเป็นพิเศษ เขาเชื่อว่าการให้การเสริมแรงที่เหมาะสมจะช่วยให้พฤติกรรมการตอบสนองของผู้เรียนเข้มข้นขึ้นและจะคงอยู่ตลอดไป สกินเนอร์

บทเรียนแบบโปรแกรมที่สร้างขึ้นโดยอาศัยแนวคิดของทฤษฎีพฤติกรรมนิยมนี้ มีลักษณะเป็นบทเรียนเชิงเส้นตรง (Linear) ซึ่งเป็นบทเรียนที่มีการเสนอเนื้อหาเรียงตามลำดับ ตั้งแต่ต้นจนจบ ในระหว่างการเรียนเนื้อหาแต่ละตอนจะมีคำถามให้ผู้เรียนตอบอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อผู้เรียนตอบแล้วก็จะมีคำเฉลยทันที พร้อมทั้งมีการเสริมแรง โดยอาจจะเป็นการเสริมแรงทางบวกเช่น คำชมเชย หรือเสริมแรงทางลบเช่นการให้กลับไปศึกษาบทเรียนอีกครั้งหรือคำอธิบายเพิ่มเติม เป็นต้น การเรียนด้วยบทเรียนเชิงเส้นตรงนี้ ผู้เรียนทุกคนจะต้องเรียนตามลำดับเนื้อหาตั้งแต่ต้นจนจบบทเรียน
เหมือนกัน โดยจะต้องเข้าใจเนื้อหาที่อยู่ในลำดับแรกก่อนแล้วจึงจะสามารถผ่านไปเรียนเนื้อหาที่อยู่ในลำดับถัดไปได้

ทฤษฎีปัญญานิยม
ทฤษฎีปัญญานิยม มีแนวคิดที่แตกต่างไปจากทฤษฎีพฤติกรรมนิยม โดยทฤษฎีปัญญานิยมจะเน้นในเรื่องขององค์ประกอบด้านการสร้างความคิด(Conceptual Aspects) มากกว่าองค์ประกอบด้านพฤติกรรม (Behavioral Aspects) นักจิตวิทยากลุ่มนี้จะอธิบายการเรียนรู้โดยมุ่งความสนใจไปที่กระบวนการภายในสมองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับรู้ (Perception) การจัดระเบียบความรู้ (Reorganization) การเก็บกักสาระความรู้ (Storing) รวมถึงการเรียกสาระความรู้ที่เก็บไว้ออกมาใช้
(Retrieval) ในขณะที่ทฤษฎีพฤติกรรมนิยมมองการเรียนรู้ในรูปของการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง โดยมีการเสริมแรงเป็นปัจจัยควบคุม
                นักจิตวิทยาในกลุ่มนี้ได้แก่ กลุม่ เกสตัลท์ (Gestalt) ชอมสกี้ (Chomsky)วายเนอร์ (Weiner) คราวเดอร์ (Crowder) อัสซุเบล (Ausubel) เพียเจท์ (Piaget) และบรุนเนอร์ (Bruner) เป็นต้น

กลุ่มเกสตัลท์
กลุ่มเกสตัลท์เป็นกลุ่มของนักจิตวิทยาในแนวปัญญานิยมที่มีแนวความคิดหรือความเชื่อที่คล้ายๆกัน นักจิตวิทยาในกลุ่มนี้ได้แก่ เวอร์ไธเมอร์ (Max Wertheimer) คอฟฟ์กา (Kurt Koffka) และโคห์เลอร์ (Wolfgang Kohler) เป็นต้นทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มเกสตัลท์เชื่อว่า มนุษย์จะรับรู้สิ่งรอบๆตัวในลักษณะที่มีความหมาย และจะรับรู้สิ่งต่างๆในรูปของส่วนรวมทั้งหมด ไม่ได้รับรู้เพียงเฉพาะ
ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือสิ่งเร้าเฉพาะอย่าง ในลักษณะที่แยกจากกัน เราจะรับรู้สิ่งนั้นเป็น คน รถ ต้นไม้ บ้านหรือแมว ในลักษณะที่มีความหมายแบบทั้งหมดทั้งรูปร่าง เราไม่ได้รับรู้เฉพาะเส้ สี หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสิ่งนั้นเท่านั้น จากแนวคิดดังกล่าวนี้ ต่อมาได้พัฒนาเป็นข้อสรุปที่ว่า ส่วนรวมทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีความหมายมากกว่าการรวมเอาส่วนย่อยๆเข้าด้วยกัน เช่น รูปสี่เหลี่ยมมีความหมายมากกว่าเส้นตรง 4 เส้นรวมกัน (ประสาท อิศรปรีดา. 2538 : 246)นอกจากนั้น ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มเกสตัลท์ยังได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของ
ภาพและพื้น (Figure and Ground) และได้ข้อสรุปว่าในการรับรู้ของคนเรานั้น จะรับรู้ในลักษณะของภาพ (Figure) และพื้น (Ground) ซึ่งหากเราสามารถรับรู้ความแตกต่างระหว่างภาพและพื้นได้อย่างชัดเจน ก็จะทำให้เรารับรู้ความหมายจากสิ่งที่รับรู้นั้นได้ถูกต้องและชัดเจนยิ่งขึ้น ในทางกลับกัน หากสิ่งที่เรารับรู้นั้นมีลักษณะของภาพและพื้นที่
ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าส่วนใดเป็นภาพและส่วนใดเป็นพื้น ก็อาจทำให้รับรู้สิ่งนั้นใน
ความหมายที่คลาดเคลื่อนไปได้แนวคิดของทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มเกสตัลท์นี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบบทเรียนแบบโปรแกรมหรือบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนได้โดย ในการนำเสนอเนื้อหาของบทเรียนนั้น ควรให้ผู้เรียนได้รับรู้ภาพรวมหรือโครงสร้างรวมของสิ่งที่จะเรียนก่อน แล้วจึงจะเรียนในส่วนย่อยๆ โดยในการเรียนเนื้อหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราอาจจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นหน่วยย่อยที่มีความหมายสมบูรณ์ และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน และในการนำเสนอบทเรียน เราควรให้ผู้เรียนได้เห็นโครงสร้างรวมของเนื้อหาทั้งหมดก่อน แล้วจึงค่อยเรียนเนื้อหาในหน่วยย่อยๆแต่ละหน่วย เช่น ในการเสนอเนื้อหาเรื่องประเทศไทย เราควรเริ่มด้วยภาพรวมของประเทศไทยก่อน แล้วจึงค่อยเรียนเกี่ยวกับภาค และจังหวัด โดยในแต่ละจังหวัดถือเป็นบทเรียนที่มีความหมายและมีความ
สัมพันธ์เชื่อมโยงกับจังหวัดอื่นๆ และภาคอื่นๆสำหรับหลักการของภาพและพื้นนั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบบทเรียนได้ โดยการออกแบบการนำเสนอในลักษณะที่ให้ผู้เรียนรับรู้ได้ชัดเจนว่าสิ่งใดเป็นภาพและสิ่งใดเป็นพื้น เช่นการใช้สีสันที่แตกต่างกัน การขีดเส้นใต้ข้อความที่
สำคัญ การใช้กรอบเพื่อเน้นสาระที่เป็นหัวใจของเรื่อง การใช้ตัวหนังสือที่มีขนาดใหญ่ตัวเอน ตัวหนาหรือสีที่แตกต่างไป เมื่อต้องการเน้นเป็นพิเศษ หรือการใช้ภาพเคลื่อนไหว เพื่อให้เป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้เรียน เป็นต้น

ทฤษฎีโครงสร้างความรู้   
ทฤษฎีโครงสร้างความรู้ เป็นทฤษฎีที่อยู่ภายใต้ทฤษฎีปัญญานิยม เพียงแต่ทฤษฎีโครงสร้างความรู้จะเน้นในเรื่องของโครงสร้างความรู้ โดยทฤษฎีนี้มีแนวคิดว่าโครงสร้างภายในของความรู้ที่มนุษย์มีอยู่นั้น มีลักษณะเป็นโหนด (Node) หรือกลุ่ม ที่มีการเชื่อมโยงกันอยู่ การที่มนุษย์จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆนั้น มนุษย์จะนำความรู้ใหม่ๆที่เพิ่งได้รับนั้น ไปเชื่อมโยงกับกลุ่มความรู้เดิม                (Pre Existing Knowledge) ที่มีอยู่ (ถนอมพร เลาหจรัสแสง. 2541 : 54) ความรู้หรือสารข้อมูลทั้งหลายที่มนุษย์เรียนรู้ จะถูกจัดเข้าด้วยกันเป็นหน่วยๆ (Unit) หน่วยความรู้พื้นฐานซึ่งถูกจัดไว้อย่างเป็นระเบียบเหล่านี้เรียกว่า Schemata (Glover, Ronning and Bruning. 1990 : 85)นอกจากนั้น ทฤษฎีนี้ยังให้ความสำคัญกับการรับรู้ (Perception) ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าการรับรู้ข้อมูลนั้นเป็นการสร้างความหมาย โดยการถ่ายโอนความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิม ภายในกรอบความรู้เดิมที่มีอยู่และจากการกระตุ้นโดยเหตุการณ์หนึ่งๆที่ช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงความรู้นั้นๆเข้าด้วยกัน การรับรู้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการ
เรียนรู ้ เนื่องจากไม่มีการเรียนรู้ใดเกิดขึ้นโดยปราศจากการรับรู้ นอกจากนั้น โครงสร้าง
ความรู้ยังช่วยในการระลึก (Recall) ถึงสิ่งต่างๆ ที่เราเคยเรียนรู้มาอีกด้วย (Anderson.1984   อ้างถึงใน ถนอมพร เลาหจรัสแสง. 2541 : 54) แนวคิดตามทฤษฎีโครงสร้างความรู้นี้ ส่งผลในการออกแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ในลักษณะของการนำเสนอเนื้อหาที่มีการเชื่อมโยงกันไปมาคล้ายใยแมงมุม (Webs) หรือบทเรียนในลักษณะที่เรียกว่า บทเรียนแบบสื่อหลายมิติ (Hypermedia) โดยมีการวิจัยหลายชิ้นสนับสนุนว่า การจัดระเบียบโครงสร้างการนำเสนอเนื้อหาบทเรียน ในลักษณะสื่อหลายมิติจะสนองตอบวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์ ในความพยายามที่จะเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้ที่มีอยู่เดิมได้เป็นอย่างดี (ถนอมพร   เลาหจรัสแสง. 2541 : 55)

ทฤษฎีความยืดหยุ่นทางปัญญา
ทฤษฎีความยืดหยุ่นทางปัญญา เป็นทฤษฎีที่เกิดขึ้นใหม่เมื่อไม่นานมานี้ คือ ประมาณต้นปี ค.ศ. 1990 (ถนอมพร เลาหจรัสแสง. 2541 : 55) โดยทฤษฎีนี้ได้ศึกษาเกี่ยวกับลักษณะโครงสร้างขององค์ความรู้ของสาขาวิชาต่างๆ และได้ข้อสรุปว่าความรู้แต่ละองค์ความรู้นั้นมีลักษณะโครงสร้างที่แน่ชัดและสลับซับซ้อนมากน้อยแตกต่างกันไป โดยองค์ความรู้บางประเภทสาขาวิชา เช่น คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์กายภาพนั้น จัดว่าเป็นองค์ความรู้ประเภทที่มีโครงสร้างที่ตายตัว ไม่สลับซับซ้อน(Well-Structured Knowledge Domains) เนื่องจากมีความเป็นตรรกะและเป็นเหตุเป็นผลที่แน่นอนของธรรมชาติขององค์ความรู้ ในขณะที่องค์ความรู้บางประเภทสาขาวิชา เช่น จิตวิทยาหรือสังคมวิทยา จัดว่าเป็นองค์ความรู้ประเภทที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อนและไม่ตายตัว (Ill-Structured Knowledge Domains) เพราะความไม่เป็นเหตุเป็นผลที่แน่นอนตายตัวของธรรมชาติขององค์ความรู้ (West and others. 1991. อ้างถึงในถนอมพร เลาหจรัสแสง. 2541 : 55) อย่างไรก็ตาม ในสาขาวิชาหนึ่งๆ นั้น มิใช่ว่าจะมีลักษณะโครงสร้างที่ตายตัวหรือสลับซับซ้อนทั้งหมด ในบางส่วนขององค์ความรู้อาจจะมีโครงสร้างที่ตายตัว ในขณะที่บางส่วนขององค์ความรู้ ก็อาจจะมีโครงสร้างที่ไม่ตายตัวหรือสลับซับซ้อนได้เช่นกันแนวคิดตามทฤษฎีความยืดหยุ่นทางปัญญานี้ ส่งผลต่อการออกแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน โดยการออกแบบบทเรียนให้สามารถตอบสนองการเรียนเนื้อหาบทเรียนที่มีโครงสร้างขององค์ความรู้ที่แตกต่างกันได้ ซึ่งได้แก่บทเรียนในลักษณะที่เป็นสื่อหลายมิติ เช่นเดียวกับแนวคิดของทฤษฎีโครงสร้างความรู้ ทั้งนี้เนื่องจากการจัดระเบียบโครงสร้างการนำเสนอเนื้อหาบทเรียนในลักษณะสื่อหลายมิติ จะอนุญาตให้ผู้เรียนทุกคน มีอิสระในการควบคุมการเรียนของตนเอง ตามความสามารถความถนัด ความสนใจ และพื้นฐานความรู้ของตนได้อย่างเต็มที่
นักจิตวิทยาในกลุ่มปัญญานิยมอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญ เกี่ยวข้องกับการสร้างและพัฒนาบทเรียนแบบโปรแกรมในยุคแรกๆ ได้แก่ คราวเดอร์ (Crowder)โดยคราวเดอร์ได้ออกแบบบทเรียนเชิงสาขา (Branching) ซึ่งเป็นบทเรียนที่ให้ผู้เรียนมีอิสระในการควบคุมการเรียนของตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีอิสระในการเลือกลำดับในการเรียนเนื้อหาบทเรียนที่เหมาะสมกับตนเอง ผู้เรียนแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเรียนตามลำดับที่เหมือนกัน เนื้อหาของบทเรียนจะได้รับการนำเสนอโดยขึ้นอยู่กับความสนใจ ความถนัด และความสามารถของผู้เรียนเป็นคำคัญ

ทฤษฎีปฏิสัมพันธ์
เป็นทฤษฎีที่เกิดขึ้นใหม่โดยได้ผสมผสานแนวคิดของทฤษฎีกลุ่มพฤติกรรมนิยมและกลุ่มปัญญานิยมเข้าด้วยกัน โดยที่แนวคิดของกลุ่มพฤติกรรมนิยมกับกลุ่มปัญญานิยมจะแตกต่างกันในลักษณะที่เปรียบเสมือนอยู่คนละขั้วหรือคนละปลายของเส้นตรง กลุ่มพฤติกรรมนิยมมีแนวคิดว่า พฤติกรรมของมนุษย์ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนด ตัวแทนของแนวคิดนี้ได้แก่ ทฤษฎีของ สกินเนอร์ ในขณะที่กลุ่มปัญญานิยมเชื่อว่า พฤติกรรมของมนุษย์ขึ้นอยู่กับการรับรู้ การคิด หรือกระบวนการทางปัญญาของบุคคล ตัวแทนของแนวคิดของกลุ่มนี้ได้แก่ ทฤษฎีของกลุ่มเกสตัลท์ สำหรับแนวคิดของทฤษฎีกลุ่ม ปฏิสัมพันธ์นั้น มีความคิดว่า พฤติกรรมของมนุษย์ขึ้นอยู่กับทั้งกระบวนการทางปัญญาของบุคคลและสิ่งแวดล้อมรวมกันนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงมากในกลุ่มนี้ได้แก่ แบนดูรา (Albert Bandura)
แบนดูราได้ตั้งชื่อทฤษฎีของเขาว่า ทฤษฎีปัญญาสังคมของแบนดูรา (Bandura’s Social Cognitive Theory) โดยแบนดูราเชื่อว่า การเรียนรู้ของมนุษย์เกิดจากกระบวนการทางปัญญาของบุคคลร่วมกับการที่บุคคลนั้นมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และกระบวนการเรียนรู้ของบุคคลเกิดจากการที่บุคคลนั้นเกิดความใส่ใจ (Attention) แล้วเกิดการจดจำ (Retention) จากนั้นผู้เรียนจะแสดงพฤติกรรมตามแบบ (Producing Behavior) และเกิดแรงจูงใจที่จะแสดงพฤติกรรมนั้นซ้ำ ๆ (Motivated to Repeat the Behaviors)  ตามลำดับการประยุกต์

หมายเลขบันทึก: 20481เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2006 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรนรรัส่คร่ายนารร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท