วิกฤต ม.เอกชน วิกฤตอุดมศึกษา


วิกฤต ม.เอกชน วิกฤตอุดมศึกษา

วิเคราะห์ข่าวทางอุดมศึกษาเรื่อง

เปิดใจ จีรเดช  อู่สวัสดิ์นายกสถาบันอุดมศึกษาเอกชน วิกฤต ม.เอกชน  วิกฤตอุดมศึกษา

สรุปข่าว

            รศ.ดร.จีรเดช   อู่สวัสดิ์  นายกสถาบันอุดมศึกษาเอกชน  ได้กล่าวถึงสถานการณ์ของการอุดมศึกษาในปัจจุบันว่าจำนวนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเอกชนมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี  สาเหตุมาจากมีจำนวนนักเรียนที่ต้องการเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาลดลง  และที่สำคัญคือมีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาลเปิดสอนในหลักสูตรพิเศษจำนวนมาก  ทำให้อัตราส่วนการรับนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐบาลและมหาวิทยาลัยเอกชนที่จากเดิมกำหนดไว้คือ 70 : 30  นั้นเปลี่ยนแปลงไป  โดยในปัจจุบันสัดส่วนของการรับนักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนเหลือเพียง 16 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น  ซึ่งหลักสูตรพิเศษที่รัฐบาลเปิดสอนมักจะเปิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของผู้บริหารที่คิดหลักสูตรและอาจารย์ผู้สอนในหลักสูตรที่จะได้รับเงินจากค่าสอนหลักสูตรดังกล่าว  ส่วนผลประโยชน์ที่มหาวิทยาลัยจะได้รับนั้นมีน้อยมาก  ด้วยเหตุนี้อาจารย์ผู้สอนจึงมีภาระงานสอนมากขึ้นทั้งหลักสูตรปกติและหลักสูตรพิเศษ  ทำให้อาจารย์ไม่มีเวลาที่จะผลิตงานวิจัย เพื่อนำความรู้ใหม่ๆ มาพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอน จึงส่งผลกระทบให้คุณภาพการเรียนการสอนไม่ดีเท่าที่ควร  และนอกจากนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏยังมีการเปิดหลักสูตรที่เน้นค่าหน่วยกิตไม่แพงและสามารถเรียนจบได้ง่ายอีกด้วย  หากว่าปล่อยให้มีการเปิดหลักสูตรพิเศษหลากหลายเพื่อการแข่งขันกันโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพเช่นนี้แล้ว  จะทำให้การเรียนการสอนไม่มีคุณภาพ  มาตรฐานการศึกษาไทยลดต่ำลง  นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาก็ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน 

            จากสาเหตุดังกล่าวมีผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยเอกชน  เนื่องจากมหาวิทยาลัยเอกชนไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล  ต้องบริหารจัดการงบประมาณภายในมหาวิทยาลัยเอง  จึงจำเป็นต้องเก็บค่าหน่วยกิตในราคาที่สูงเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยรัฐบาล  เพื่อนำเงินที่ได้มาพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้ทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยรัฐบาล  ให้เกิดการแข่งขันในเชิงสร้างสรรค์ทางด้านคุณภาพ  ซึ่งในหลายประเทศจะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยที่ติดอันดับในระดับโลกครึ่งหนึ่งจะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐบาลและอีกครึ่งหนึ่งจะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน  ดังนั้นหากสัดส่วนการรับนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐบาลและมหาวิทยาลัยเอกชน ที่เคยเป็นระบบ     70 : 30  ไม่เป็นไปตามนี้จะทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนไม่สามารถบริหารงานได้และจำเป็นต้องปิด

ตัวลง  ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบอุดมศึกษาทั้งประเทศ เพราะมหาวิทยาลัยของรัฐบาลขาดกลไกการแข่งขัน  ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาขึ้น

สำหรับแนวทางแก้ไขนั้น รศ.ดร.จีรเดช   อู่สวัสดิ์  ได้แสดงความคิดเห็นว่าทางสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาจึงควรมีการควบคุมการเปิดหลักสูตรพิเศษดังกล่าวเพื่อให้แต่ละหลักสูตรมีมาตรฐานและไม่เกินความต้องการของประเทศ

 

วิเคราะห์ข่าว

            จากข่าวจะเห็นได้ว่าปัญหาของมหาวิทยาลัยเอกชนคือ จำนวนนักศึกษาที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษานั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง  สาเหตุหนึ่งมาจากการที่มหาวิทยาลัยเก็บค่าหน่วยกิตในอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับรัฐบาล  และคุณภาพของบัณฑิตที่จบมานั้นก็มักไม่แตกต่างกับมหาวิทยาลัยรัฐบาล  ประกอบกับในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นใหม่เป็นจำนวนมากยังไม่เป็นที่รู้จักและไม่มีการแสดงผลงานทางวิชาการออกสู่สายตาประชาชนให้เห็นอย่างชัดเจน  ทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนขาดความน่าเชื่อถือ  เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยของรัฐบาลที่มีระยะเวลาในการก่อตั้งเป็นเวลานาน  จนทำให้เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป  ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนเกิดความไม่มั่นในประสิทธิภาพของมหาวิทยาลัยเอกชน  ดังนั้นมหาวิทยาลัยเอกชนควรจะพัฒนาคุณภาพทางวิชาการเพื่อให้บัณฑิตที่จบมามีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน  เป็นที่ยอมรับของสังคม  ก็จะช่วยทำให้ความต้องการศึกษาในมหาวิทยาลัยเอกชนมีเพิ่มขึ้น  สำหรับในส่วนค่าใช้จ่ายที่มหาวิทยาลัยเอกชนนำมาใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน  รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยเอกชนด้วยเพื่อเอกชนจะได้นำไปใช้ในการพัฒนาตนเองโดยที่ไม่จำเป็นต้องเก็บอัตราค่าเล่าเรียนจากนักศึกษาสูงจนเกินไป  ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนสามารถอยู่ได้และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการศึกษาระดับอุดมศึกษาด้วย

            นอกจากนี้ยังทำให้ว่าในปัจจุบันมหาวิทยาลัยของรัฐบาลมีการเปิดหลักสูตรพิเศษขึ้นมามากมายเพื่อรับนักศึกษาอย่างไม่จำกัดจำนวน  โดยบางแห่งเน้นที่เสียค่าเล่าเรียนไม่แพง และสามารถจบได้เร็วเพื่อเป็นแรงดึงดูดใจให้กับนักศึกษาเข้ามาเรียน  ซึ่งการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบดังกล่าวอาจจะไม่มีประสิทธิภาพ  เนื่องจากไม่มีการวัดความสามารถของผู้เรียนก่อนว่าพื้นฐานอยู่ในระดับใด  อาจารย์ผู้สอนนั้นมีความรู้ความสามารถหรือไม่  หรือการเรียนในชั้นที่มีผู้เรียนมากเกินไปจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอน   ดังนั้นมหาวิทยาลัยของรัฐบาลจึงควรคำนึงถึงปัญหาดังกล่าวนี้ด้วย       และควรมีหน่วยงานเข้ามาควบคุมเพื่อไม่ให้มีการเปิดหลักสูตร

 

พิเศษมากจนไม่สามารถที่จะควบคุมมาตรฐานได้ เพราะบัณฑิตจะจบมาอย่างไม่มีคุณภาพ  ไม่เป็นที่ยอมรับของตลาดแรงงาน  และยังส่งผลเสียกับสถาบันการศึกษาของรัฐบาลที่เคยได้รับการยอมรับมาตั้งแต่อดีตทำให้ขาดความน่าเชื่อถือจากคนในสังคมด้วย  ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะทำให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาขาดการพัฒนา  มีคุณภาพทางวิชาการต่ำ  ไม่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ  อันจะส่งผลให้ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนาเช่นเดิม  เนื่องจากการศึกษาไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ได้อย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 204505เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2008 00:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ร่วมปฎิวัติการศึกษาเพื่อความเป็นไท

http://gotoknow.org/blog/plays-learns/320506

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท