AAR:การฟังบรรยายR2RVersionศจ.นพ.สมบูรณ์เทียนทอง


แทนการถามว่าทำแล้วได้อะไรแต่ลองย้อนกลับมามอง/ทบทวนถึงความสำคัญ/จำเป็นในการทำกิจกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันบางอย่างว่าทำไมเราจึงต้องทำมันเช่นนั้นและถ้าหากว่าจะทำให้แตกต่างไปจากเดิมบ้างมันจะส่งผลกระทบให้เกิดความแตกต่าง/เปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้างไหม?

เมื่อวันที่26 ส.ค.ที่ผ่านมาทางสถาบันได้จัดการประชุมวิชาการและการนำเสนอผลงานวิชาการของสถาบัน โดยในช่วงเช้าได้เชิญศาสตราจารย์นพ.สมบูรณ์ เทียนทอง จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

มาบรรยายและให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ของสถาบันและผู้สนใจในหัวข้อ R2Rซึ่งอาจารย์ได้มีการเตรียมเอกสารประกอบการบรรยายมาอย่างดี มีทั้งเนื้อหาที่เป็นตัวอักษรและวิดีโอทัศน์คัดย่อการแสดงความคิดเห็นที่เด่นๆจากผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความรู้ อาทิเช่น ท่านอาจารย์วิจารณ์ พานิช หรือ อาจารย์แพทย์จากที่ศิริราช และอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ได้นำเอาR2Rมาใช้ควบคู่กับการปฏิบัติงาน หรือแม้กระทั่งการยกตัวอย่างของงานR2Rของหน่วยบริการปฐมภูมิที่ได้รับรางวัลนำเสริมให้เห็นภาพของประโยชน์และแนวทางที่หน่วยบริการสามารถริเริ่ม/กระทำให้เกิดขึ้น..เนื่องจากว่าฉันได้มาเข้าร่วมฟังการบรรยายช้าในตอนเกริ่นนำถึงความหมาย/คำจำกัดความของR2Rตามสไตล์ของอาจารย์จึงไม่ได้ฟังทั้งหมด แต่จากที่มีอยู่ในเอกสารประกอบการบรรยาย.อาจารย์ได้สรุป/คัดย่อเอาไว้ว่า

R2Rคืออะไร...

  • ไม่มีนิยามที่ตายตัว
  • ลักษณะงานวิจัยที่เข้าข่ายR2R

       -การวิจัยที่ดำเนินการโดยผู้ปฏิบัติที่ต้องการพัฒนางานประจำ

       -โจทย์ของงานวิจัยได้มาจากปัญหาในการทำงานประจำ

      -ผลของงานวิจัย เน้นที่ผู้รับบริการ

      -สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนางานประจำ

  • เป็นเครื่องมือในการพํฒนางาน/พัฒนาคน

เราอาจแบ่งกลุ่มคนในองค์กรเป็น4กลุ่มด้วยกัน คือ

1.ได้ทำR2Rไปแล้ว

2.ทำไปแล้วบางส่วน

3.อยากทำแต่ยังไม่ได้เริ่มต้น ไม่รู้จะทำอย่างไร

4.ไม่รู้ไม่สนใจ และกลุ่มนี้มักมีคำถามในใจว่าทำแล้วได้อะไรอยู่เสมอ

ซึ่งอาจารย์ก็เฉลยในสไลด์ถัดไปว่าการทำR2Rได้ประโยชน์ต่อผู้ทำ หน่วยงานและสังคมวงกว้าง

อีกสไลด์ที่น่าสนใจคือ..จะเริ่มต้นทำR2Rอย่างไร

1.เริ่มต้นที่ตัวบุคคลก่อน...

มีความกล้าคิด กล้าทำ มีฝัน ท้าทาย หรือเป็นลักษณะเสรีนิยมมากกว่าอนุรักษ์นิยมก็มักจะสนใจหรือเปิดรับการทำR2Rได้ง่าย

2.ความใส่ใจต่อการทบทวน/ค้นหาว่าอะไรคือปัญหาในการทำงาน

-การทำงานนั้นมีปัญหาหรือไม่ หรือหากว่ามีหลายปัญหา จัดลำดับความสำคัญของปัญหา หรือ ไม่มีปัญหาเลยจริงการทำR2Rก็ยังคงได้ประโยชน์ในการที่จะทำอย่างไรให้ดียิ่งๆขึ้นไป

3.บางที่อยากทำแต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร...อาจารย์แนะนำให้หาผู้ช่วย ผู้รู้ ผู้สนับสนุน

4.ที่สำคัญอาจารย์แนะนำให้เริ่มจากงานเล็กๆที่เราสามารถจัดการได้ หรืออาจใช้ทีมงานที่ไม่ใหญ่มากเก็บสะสมผลงานและต่อยอดความรู้/ความลึกของข้อมูลต่อไปเรื่อยๆ...

อาจารย์อธิบายถึง3Dที่ใช้ในการขับเคลื่อนR2Rทั้งในระดับบุคคลและองค์กรให้มีการหมุนเกลียวและต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เจ้า3Dที่ว่านี้คือ

  1. dream(vision&shared vision=team)
  2. DefineZGoal/KPIs/Strategy)
  3. Drive(action)

หลังจากสไสด์นี้ก็เป็นรูปภาพกิจกรรมและบทสัมภาษณ์ของคน/ทีมที่ได้ทำR2Rไปแล้วซึ่งมีทั้งในระบบโรงเรียนแพทย์เช่นที่ศิริราช หรือ ม.อ. โรงพยาบาลภูมิภาค เช่นที่ขอนแก่นและที่รพ.ยโสธร มาเป็นตัวอย่าง หรือ ออร์เดิฟ ก่อนที่จะเสริฟต่อไปถึงเนื้อหาความรู้ในเรื่องการสื่อสารการเปลี่ยนแปลงซึ่งแน่นอนหัวใจหลักก็ยังคงอยู่ที่คน หรือ บุคลากร ว่ามีความพร้อมมากหรือน้อยแค่ไหนที่จะเปลี่ยนแปลง อาจารย์ก็จัดแบ่งคนออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

  1. พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง(หายากแต่ไม่ใช่ไม่มี-ความเห็นผู้บันทึก)
  2. ประเภทขอดูผล1ครั้งก่อน..หากว่าดีแล้วเปลี่ยนแปลงได้
  3. ขอดูผล10ครั้งก่อน..(ต้องการความมั่นใจ/พวกอนุรักษ์นิยม)
  4. ยังไงก็ไม่ยอมเปลี่ยนพวกDeadwood(ไม้ตายซาก)ในองค์กรไม่ควรมีเกินกว่า5%เพราะไม่ขับเคลื่อนหรือพัฒนา

ถัดจากนั้นก็เป็นการอธิบายถึงรูปแบบและกระบวนการทำงานวิจัย ซึ่งรูปแบบงานวิจัยในR2Rไม่มีลักษณะตายตัว ขึ้นอยู่กับบริบทและสภาพปัญหา ขนาดของกลุ่มตัวอย่างไม่มาก กระบวนการอาจไม่ยุ่งยากซับซ้อนแต่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการกำหนดประเด็นปัญหา หรือการเป็นผลรับผลประโยชน์ที่ได้จากงานวิจัย  อาจารย์ได้ยกตัวอย่างงานวิจัยผู้ป่วยโรคไตที่รพ.ท้องถิ่นแห่งหนึ่งจัดทำขึ้นซึ่งนอกเหนือไปจากการได้ทำความเข้าใจต่อสภาพการบริการที่เป็นอยู่จริงของหน่วยงานผู้ทำวิจัยแล้วเขาได้นำผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์ต่อกับคนไข้,มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานของหน่วยงานให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยและชุมชนได้ดียิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นเหตุให้งานวิจัยชิ้นนี้มีคุณค่าและได้รับรางวัล...

อาจารย์ยังได้แนะนำแหล่งความรู้ทั้งบล็อกและหนังสือให้พวกเราผู้เริ่มจะสนใจR2Rได้ไปค้นหาเพิ่มเติม อาทิเช่น

  • http://gotoknow.org/blog/thaikm
  • http://gotoknow.org/post/tag/r2r
  • หนังสือกระตุ้นความคิดที่ส.ส.ส.พิมพ์เผยแพร่ที่มีชื่อว่า" R2R Routien to Research สยบงานจำเจด้วยการวิจัยสู่โลกใหม่ของงานประจำ"

หลังจากฟังอาจารย์บรรยายจบแล้วในที่ประชุมก็ยังมีการนำเสนอผลงานวิชาการต่อเนื่องอีก...แต่สำหรับตัวฉันการได้มีโอกาสมาฟังอาจารย์ศจ.นพ.สมบูรณ์บรรยายครั้งนี้ให้ข้อคิดและความรู้สึกที่ดีมาก..เพราะก่อนหน้านี้ฉันมีความรู้สึกว่าการทำงานวิจัยควบคู่กับการทำงานประจำเป็นสิ่งที่ยุ่งยากมากกว่าท้าทาย และในขณะเดียวกันก็มีมุมมองแคบๆว่าในโรงพยาบาลR2Rน่าจะเป็นการทำงานวิจัยเชิงคลินิกมากกว่า แต่เมื่อได้มาฟังและเห็นตัวอย่างที่อาจารย์นำเสนอขึ้นมาทำให้เร้สึกง่าย(สามารถเป็นไปได้)และเกิดความเข้าใจมากขึ้นว่าหน่วยงานในทุกส่วนงานสามารถที่จะใช้R2Rเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาคนที่ทำงานหรืองานที่ทำ..คล้ายกันกับที่เราทำCQIแต่ว่าเพิ่มความเข้าใจถึงธรรมชาติและกระบวนการในการทำวิจัย โดยเริ่มต้นที่การค้นหาโจทย์/คำถามการวิจัย/กรอบการวิจัยที่ตอบสนองต่องานและผู้รับบริการ มีการสืบค้นหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือ/อ้างอิงได้ หรือ สร้างแนวทางการทำงาน/วิธีคิดการทำงานใหม่และทดสอบผลการเปลี่ยนแปลงของมัน มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ จัดทำข้อสรุปและรายงานผล

หมายเลขบันทึก: 204070เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2008 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท