ศาสตร์และศิลป์แห่งการบริหาร “4 อย่าง” เมื่อเผชิญหน้าวิกฤต


ศาสตร์และศิลป์แห่งการบริหาร “4 อย่าง” เมื่อเผชิญหน้าวิกฤต
ศาสตร์และศิลป์แห่งการบริหาร “4 อย่าง” เมื่อเผชิญหน้าวิกฤต


          เป็นธรรมดาที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะเสียขวัญและทำอะไรไม่ค่อยถูกเมื่อเผชิญหน้ากับวิกฤต ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ยิ่งในกรณีที่เป็น “ผีซ้ำด้ำพลอย” ด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่ สภาพการณ์ในปัจจุบันของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย หลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาตลอดจนผลพวงของโรค “ซาร์ส” ยังต้องกลับมาเผชิญกับความผันผวนไม่แน่นอนของการก่อการร้าย ที่สร้างความหวาดกลัวไปทั่วโลก แต่ธุรกิจก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป ขวัญและกำลังใจจึงจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับผู้บริหารซึ่งจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคนี้ไปได้สำเร็จ เมื่อผู้บริหารซึ่งนำสู้ไม่ถอยแล้ว ขวัญของพนักงานในองค์กรก็จะดีขึ้น กลับจะร่วมแรงร่วมใจกับผู้บริหารได้อย่างเต็มที่ ผู้นำจึงจำเป็นต้องปรับบทบาท รู้จักใช้กลยุทธ์เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสในช่วงนี้ให้ได้ และจะต้องแสดงตนให้เป็นตัวอย่างที่ดี การสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้บริหารในองค์กรมิให้เกิดการตื่นตระหนก ท้อแท้ และสิ้นหวังจะดำเนินการได้อย่างไรนั้น มีข้อเสนอแนะเป็นแนวทาง 4 อย่าง ที่ควรจะหลีกเลี่ยงดังนี้
อย่าตีโพยตีพาย ในช่วงประสบปัญหา ให้ระลึกเสมอว่าการตีโพยตีพายไม่เกิดประโยชน์อะไร ทั้งยังบั่นทอนขวัญและกำลังใจของคนรอบข้างในองค์กร สร้างความไม่แน่ใจว่าองค์กรจะสามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ ผู้บริหารจะสู้หรือเปล่าทำให้ทุกคนท้อถอยไม่เป็นอันทำงาน องค์กรก็ยิ่งจะมีผลกระทบในทางเลวร้ายลงไปอีก สิ่งที่ผู้บริหารควรทำที่สุดในขณะเผชิญวิกฤต ก็คือ ต้องใจเย็นและสุขุม พร้อมรับสถานการณ์ด้วนความอดทนอดกลั้น พูดให้น้อยถอยกลับมาตั้งหลักใหม่ แล้วเริ่มระดมสมอง ระดมความคิดของคนในองค์กร เพื่อหนทางที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับการตั้งรับ ปรับปรุงแก้ไข และต่อสู้ลดความรุนแรงของผลกระทบ ทำให้องค์กรสามารถโต้พายุวิกฤตที่เกิดขึ้นและเอาตัวรอดได้ในที่สุด
ผู้บริหารควรใช้เวลาทำความเข้าใจ สร้างขวัญและกำลังใจให้กับทุกคนในองค์กร สร้างความเป็นหนึ่งเพื่อก่อให้เกิดพลังร่วมสร้างความแข็งแกร่งภายในองค์กร และทำให้ทุกคนมีความมุ่งมั่นในกิจกรรมที่ทำมากกว่า
อย่าเอาตัวรอด ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญวิกฤตการทำงานเป็นทีม ร่วมเป็นร่วมตายย่อมมีความสำคัญเพราะจะสร้างความแข็งแกร่งให้สามารถยืนหยัดต่อสู้กับภัยได้ทุกวิถีทาง หากผู้บริหารซึ่งเป็นผู้นำองค์กรคิดเอาแต่ตัวรอด คนในองค์กรก็จะเสียขวัญ กลไกในการดำเนินกิจการก็จะติดขัด เปิดช่องและจุดอ่อน ทำให้การโจมตีและผลกระทบจากวิกฤตภายนอกได้ผล กิจการอาจต้องทรุดหรือล้มเลิกไป ผู้บริหารจะต้องแสดงความเป็นผู้นำ ไม่เห็นแก่ส่วนตัวและจะต้องเป็นผู้เสียสละ ดังกัปตันเรือที่กำลังอับปางจะต้องกล้าหาญออกจากเรือเป็นคนสุดท้าย หรือมิฉะนั้นก็จมหายไปกับเรือ ผู้นำในลักษณะนี้เป็นบุคคลที่ทุกคนในองค์กรปรารถนาโดยเฉพาะในช่วงของความยากลำบาก ผู้บริหารจะต้องร่วมเป็นร่วมตายจนถึงที่สุดเพื่อให้เกิดขวัญกำลังใจและความสามัคคีในองค์กรมากขึ้น ทุกคนจะมีความเห็นอกเห็นใจ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ต่อสู้วิกฤตจนประสบความสำเร็จในที่สุด
อย่าโยนหินถามทาง หลายๆ ครั้งเมื่อเกิดความไม่แน่ใจมักจะมีการทดลองทำไปก่อน แล้วค่อยดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหาวิธีที่เหมาะสม ซึ่งเป็นลักษณะของการขว้างหินถามทางแต่ในช่วงวิกฤตไม่มีโอกาสแก้ตัว ผู้บริหารต้องรอบคอบ ใช้ความรู้ความสามารถ ความถนัด และความชำนาญของผู้คนในองค์กรมาหล่อหลอม ผสมผสานความเพื่อให้ได้มาซึ่งวิธีการในการดำเนินการที่ดีและเหมาะสมที่สุด แล้วจึงนำไปปฏิบัติการ ความสำเร็จจะมีมากเพราะคนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันและมีความเชื่อมั่นสูง ทุกคนจะตระหนักถึงโอกาสที่มีเพียงครั้งเดียวและจะต้องร่วมมือร่วมใจทำให้สำเร็จให้ได้ดังอุทาหรณ์ในประวิติศาสตร์ไทยที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้กลยุทธ์ “ทุบหม้อข้าว” ตีเมืองจันทบุรีแตกมาแล้ว
อย่ากลัวๆ กล้าๆ ความเด็ดเดี่ยวมั่งคงในการดำเนินงานในช่วงวิกฤตมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง จะท้อถอยหรือเลิกเสียกลางทางไม่ได้ เมื่อได้เริ่มกิจกรรมใดที่คิดว่ามีการกลั่นกรองอย่างรอบคอบ และตกลงใจร่วมกันแล้วต้องดำเนินต่อและสู้จนเห็นผล ผู้บริหารจะต้องกระตุ้นผู้ร่วมงานทุกคนให้ความร่วมมือร่วมใจไปสู่ชัยชนะให้ได้ ดั่งในการรบรุกทหารจะวิ่งฝ่ากระสุนเข้ายึดฐานที่มั่นของข้าศึกอย่างมุ่งมั่นและจะวิ่งให้เร็วที่สุด เพราะหากหยุดเมื่อใดก็จะเป็นเป้านิ่งเสียที ข้าศึกมีโอกาสรอดน้อยมาก การทำงานภายใต้วิกฤตเช่นนี้จึงต้องมุมานะ มีขวัญ กล้าหาญ และมีความมุ่งมั่น จึงจะมีโอกาสสำเร็จได้
4 อย่าข้างต้นเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารจำเป็นต้องตระหนักให้มากในการเผชิญวิกฤตปัจจุบัน ยิ่งหนทางข้างหน้ายิ่งสลัวและแปรปรวน ก็ยิ่งต้องเอาใจใส่และดำเนินการด้วย ความรอบคอบ อย่าให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้น ผู้บริหารก็จะสามารถนำพาองค์กรให้อยู่รอดและปลอดภัยฟันฝ่าวิกฤตที่เผชิญอยู่ไปได้ การหวนกลับมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองขององค์กรก็จะอยู่เพียงแค่เอื้อม


วิธีได้รับความไว้วางใจจากคนอื่น

เพื่อได้รับความไว้ใจจากนายจ้างหรือรวมทั้งของลูกค้าการใช้บริการจากลูกค้ารายเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกมีค่ามหาศาลต่อธุรกิจ อะไรทำให้ลูกค้าต้องการใช้บริการของคุณ ตอบแบบกำปั้นทุบดินคือ เพราะบริการของคุณมีค่าในสายตาของลูกค้า แต่โดยพื้นฐานมีเคล็ดลับ 10 ประการที่ทำให้นายจ้างหรือลูกค้าไว้วางใจคุณ ได้แก่
1.ทำตัวให้ยุ่ง มืออาชีพอิสระและบุคลากรคุณภาพเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะเมื่อคนทั่วไปเห็นคุณมีงานรัดตัว คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริง แต่คุณสามารถเปลี่ยนความรับรู้ได้ อย่าพูดถึงสิ่งที่ไม่ได้ทำ แต่ให้พูดถึงสิ่งที่คุณทำอยู่แล้ว แนะนำลูกค้าที่มีชื่อเสียงแก่ลูกค้ารายอื่นๆ ทำตัวคุณเองให้เด่นโดยใช้สื่อต่างๆตามเหตุผลตามสมควร ยิ่งคุณดูสำเร็จผลเท่าไหร่คุณก็จะยิ่งสำเร็จผลเท่านั้น
2.เป็นคนที่ทำงานร่วมกันได้ง่าย บุคลิกมีความสำคัญมาก ลูกค้าส่วนใหญ่ชอบที่จะทำงานกับคนที่สดชื่นแจ่มใส บุคลิกเช่นนี้จะช่วยคุณให้รับงานที่ระยะยาวนานขึ้น ข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งคือเมื่อลูกค้าชื่นชอบตัวคุณมากขึ้นก็ทำให้เขาได้ตอบรับข้อเสนอข้อคิดเห็นที่ตรงไปตรงมาของคุณง่ายขึ้น
3.เป็นคนอยากรู้อยากเห็น การมีความสนใจนอกเหนือขอบเขตงานที่ได้รับมอบหมายหรือการเป็นคนอยากรู้อยากเห็นและการแสดงความจริงใจต่อลูกค้า ทำให้พวกเขาเชื่อมั่นคุณมากขึ้น พวกเขามักจะเข้าใจว่า การที่คุณมีความอยากรู้อยากเห็นนั้นก็เพื่อจะทำให้งานดีขึ้นจริง เห็นได้ว่ายิ่งคุณรู้มากเท่าไร คุณก็จะมีฐานะที่ดีในการแนะนำที่ดีมีประโยชน์ต่อลูกค้า
4.แสดงความรับผิดชอบ ลูกค้าทุกคนต้องการความสบายใจที่รู้ว่างานของพวกเขาอยู่ในความดูแลของคนที่เชื่อใจได้ ดังนั้นยิ่งคุณรับผิดชอบมากเท่าไหร่ลูกค้าก็จะเชื่อใจคุณมากยิ่งขึ้น ในทางกลับกันยิ่งคุณลนลานขาดการมั่นใจในตัวเอง ลูกค้าย่อมจะสงสัยขีดความสามารถไปถึงค่าจ้างที่จ่ายให้คุณด้วย
5.เป็นคนไว้ใจได้ 100% จงเป็นคนตรงต่อเวลา จงให้งานแล้วเสร็จตามที่สัญญาไว้ อย่าทำให้เขาเห็นความอ่อนแอของคุณ ไม่มีอะไรที่จะเลวร้ายไปกว่าการที่คุณส่งงานไม่ตรงกำหนด หากคุณมีปัญหาหรือเกิดอุปสรรคจงแจ้งลูกค้าอย่างตรงไปตรงมา ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการเห็นคนสำเร็จผลและยินดียกโทษในกรณีที่ผิดพลั้งจริงๆ
6.จงใส่ใจทุกรายละเอียด อย่าชุ่ย ในหลายกรณีลูกค้ามีความรู้ความเข้าใจในตัวคุณสูงกว่าปกติ พวกเขาคาดหมายให้คุณบอกวิธีการทำงาน ขั้นตอน กำหนดเวลา รวมทั้งสิ่งที่ต้องการจากพวกเขา ดังนั้นจงติดต่อสื่อความกับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอถึงการเปลี่ยนแปลงใดๆ รวมทั้งข้อเสนอแนะและแก้ไขให้ตรวจสอบรายละเอียดซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้ไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ
7.แสดงความสนใจเป็นส่วนตัว ข้อนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์เพราะเราต่างก็ให้ผู้อื่นสนใจตัวเรา ดังนั้นอย่าทำผิดพลาดโดยมองข้ามการเป็นมนุษย์ของลูกค้า รวมไปถึงไม่มองข้ามเจ้าหน้าที่ระดับล่างในหน่วยงานของลูกค้า เพราะพวกเขาไม่เพียงมีส่วนช่วยให้งานปัจจุบันดำเนินไปด้วยดีแต่พวกเขาอาจเลื่อนขั้นไปสู่ตำแหน่งที่มีอำนาจสั่งการในอนาคต
8.ทำความเข้าใจกับความสร้างสรรค์ เมื่อพูดถึงความคิดสร้างสรรค์เรามักจะหมายถึงความชำนาญ ความเป็นต้นแบบ หรือการเป็นผู้นำความคิด แต่สำหรับลูกค้าจะจำกัดอยู่ที่ว่าจะทำงานเสร็จได้อย่างไร ในเมื่อคุณทำงานร่วมกับเขา จงให้แน่ใจว่าคุณกับลูกค้าพูดภาษาเดียวกัน
9.เป็นคนยืดหยุ่น ลูกค้าที่ดีมักคาดหมายคุณให้ทำงานในวิธีที่คุณคิดว่าดีที่สุด แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกค้าไม่เห็นด้วย คุณต้องยืดหยุ่นพอที่จะปรับเปลี่ยน อย่าลืมว่าลูกค้าเป็นฝ่ายจ่ายเงิน เขาจึงมีสิทธิ์ที่จะเสนอแนวคิดของเขาด้วย
10.ปฏิบัติต่อเงินลูกค้าเหมือนเป็นของคุณ ทุกวันนี้ลูกค้าไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ระมัดระวังเรื่องค่าใช้จ่ายมากกว่าแต่ก่อน จงให้ลูกค้ามั่นใจว่าคุณทำงานเต็มประสิทธิภาพและคุ้มค่าเงินพวกเขา
ที่กล่าวมาอาจกล่าวได้ว่าเป็น “สามัญสำนึก” ในการทำธุรกิจ คนเรามักจะลืมเพราะมัวไปคิดแต่เรื่องเงิน จนลืมธรรมชาติของความเป็นคนไปหมด เริ่มวันนี้ยังไม่สายครับ

http://www.smesmart.is.in.th/?md=news&ma=show&id=65

หมายเลขบันทึก: 203864เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2008 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท