วิธีถ่างความคิด


          

 (ขยายความคิด ติดความรู้-สู่การปฏิบัติ)

 

เรื่องความคิดความรู้นี่พูดกันปากเปียกปากแฉะ

ขึ้นอยู่กับวิธีอธิบาย

ช่วงที่จัดค่ายSCG.เปเปอร์ ของชาวปูนซีเมนต์ไทย

จะชวนคิดชาวคุยในเรื่องที่ทำได้ง่าย ได้ประโยชน์และดูดี

แต่ก็ยังติดปัญหา..วัฒนธรรมความเชื่อ ความเคยชิน

ประเด็นอยู่ที่ว่าจะออกแบบให้ฉุกคิด..ได้อย่างไร

จะนำร่อง นำทางอย่างไร ถึงจะถูกจุดโดนใจ

จึงขออนุญาตชูเรื่องมะกรูดเป็นพระเอกตัวอย่าง  เพราะ..

 

  • เรามีวัตถุดิบอยู่แล้ว
  • เรามีกระบวนการพัฒนา/ต่อยอดชุดความรู้ไว้บ้างแล้ว
  • เราสามารถสื่อความหมายไปถึงสินค้าที่ปรากฎอยู่ในตลาด
  • เราโยงไปถึงลักษณะการใช้แบบต่างๆในห้องครัว ห้องน้ำ ห้องสุขา
  • รวมทั้งการอธิบายถอยหลังไปถึงว่าวิถีไทยใช้มะกรูดทำอะไร
  • มีการเพิ่มมูลค่าใหม่ๆในปัจจุบันนี้อย่างไร

  

เอาเรื่องง่ายๆที่คนรู้จักกันดีอยู่แล้วมาเป็นโจทย์ ทำเรื่องธรรมดาให้เป็นเรื่องพิเศษ ..โดยปกติแล้วการปลูกมะกรูดถ้าไม่ใส่ใจจริงๆก็ยากที่จะเติบโต บางคนต้องปลูกแล้วปลูกอีก การเติบโตช่วงแรกจะช้ามาก จัดอยู่ในกลุ่มไม้โตช้าได้เลยละ เว้นแต่จะปลูกอย่างเอาใจใส่พิเศษ หรือใช้วิธีต่อยอดกับต้นกระสังจะได้ผลผลิตเร็ว (ร่นระยะออกผลจาก4-5ปีมารับผลใน1ปี)

 

ในช่วงที่มาปักหลักปลูกสร้างสวนป่า พืชที่สำคัญในลำดับต้นๆคือ มะนาว มะกรูด เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการตำน้ำพริก ใส่แกง ปรุงรสอาหาร บังเอิญเจ้ามะ..ที่ว่านี้มักจะขาดแคลนในช่วงแล้งมีราคาแพง ..ประเด็นพื้นฐานที่ว่านี้ละครับ ที่ทำให้เราตั้งใจปลูกมะกรูดมะนาวเป็นพิเศษ และก็ทำได้สำเร็จในระยะต่อๆมา

 

 

ผลพวงที่ทำไว้ ทำให้เรามีมะกรูดมะนาวหล่นเกลื่อนพื้น

ใครไปใครมาต่างเก็บใส่ตะกร้ากะตู้วู้

จัดอบรมการเสียบยอดพืชตระกูลส้มกับยอดกระสัง

ปีนี้ฝนดี มะกรูดมะหนาวออกลูกเป็นพวงห้อยระย้า

บางคนเก็บแล้ว..ไม่รู้ว่าจะเอามาใช้อย่างไร?

จุดที่ว่านี้ละครับคือ..

 

  • โจทย์ของนักวิจัย
  • โจทย์ของนักพัฒนา
  • โจทย์ของนักส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
  • โจทย์ของนักปรับปรุงพันธุ์พืช
  • โจทย์ของนักวิสาหกิจชุมชน
  • โจทย์ของภูมิปัญญาท้องถิ่น
  • โจทย์ของครูที่สอนเรื่องหลักสูตรท้องถิ่น
  • โจทย์ของนักออกแบบกล่องเพื่อการขนส่งและจำหน่าย
  • โจทย์ของบริษัทผลิตภัณฑ์สินค้าสุขภาพ
  • โจทย์ของผลิตภัณฑ์สปา
  • โจทย์ของยาพื้นบ้านและสมุนไพร
  • โจทย์ของแม่ครัวหัวป่าส์

 

สรุปว่าโจทย์ของคนไหนก็ของคนนั้นตามอัธยาศัย ขึ้นอยู่กับว่าจะโดนใจตามสภาพแวดล้อมอย่างไร ..ช่วงที่จัดค่ายSCG.เปเปอร์ ชาวค่ายทำอาหารเมนูยำแซบหลายรายการ มีเปลือกมะนาวเยอะ นำมาลอยไว้ในกาละมังล้างจาน ช่วยชำระคราบสกปรก มือ/ภาชนะมีกลิ่นสะอาด เป็นการใช้ประโยชน์แบบง่ายๆตรงๆ

 

ส่วนมะกรูด เรายังไม่ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร

ผมใช้วิธีง่ายๆ ผ่าซีกแล้วเอามาสระผม เอามาถูตัว ใช้ไปใช้มาติดใจ

ผมสลวย เบาสบาย ไม่ต้องเสียเงินซื้อแชมพู

กลิ่นตัวก็คงจะจางไป จางไป ถึงไม่หอมเหมือนทาโคโลจญ์ แต่กลิ่นสะอาดขึ้น

ไปไหนมาไหนก็จะเก็บติดตัวไปด้วย

มาเที่ยวนี้ก็ขนมาเยอะ  เจอใครแจกดะ

หลายคนชอบและใช้ประจำ อ้าวเป็นงั้นไป

ยังงี้ดีเลย มะกรูดจะเป็นของฝากทุกครั้งที่เข้ากทม. 

มะกรูดมีคุณสมบัติพิเศษ ไม่เหี่ยวง่าย เก็บไว้ได้นาน

เนื่องจากเราปลูกเองใช้เองจึงเก็บสดๆจากต้นได้เรื่อยๆ

ผมใช้มะกรูดวันละ2ลูก สระผม ถูตัวดังที่เล่าไว้

ปีนี้ก็จะเพาะมะกรูดให้ได้10,000ต้น

ท่านใดจะร่วมด้วยช่วยปลูกก็ดีนะครับ

หรือจะช่วยต่อยอดการใช้ประโยชน์ก็ดีอีกนั่นแหละขอรับ

ถ้าเราช่วยกันปลูกอย่างจริงจัง ชี้ชวนกันใช้อย่างกว้างขวาง

รายได้โดยตรงอาจจะไม่ดูมากมาย แต่ถ้าคิดถึงการประหยัด

การเสริมสภาพแวดล้อม การเรียนเรื่องสุขภาวะชุมชนคนพึ่งตนเอง

ทั้งมูลค่าและคุณค่าไม่ธรรมดาหรอกนะตัวเอง

บางทีมะกรูดนี่แหละจะช่วยตีความให้เข้าถึงเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงได้อีกทางหนึ่ง

ท่านใดมีความรู้เรื่องมะกรูด กรุณาแนะนำด้วยนะครับ

ท่านที่ไว้ผมเปีย/ผมยาวๆ ถ้าสระผมจากน้ำมะกรูดโดยตรง น่าจะดีนะขอรับ

ส่วนท่านใดต้องการทดลองใช้มีมะกรูดสดๆจากต้นอย่างจุใจ

เชิญไปเก็บที่สวนป่ามหาชีวาลัยอีสาน อิอิ..

วิจัยสไตล์ครูบา

ระหว่างที่อาบน้ำเช้านี้  ผมเอามะกรูดสระผมและถูร่างกาย ถูไปถูมาก็เกิดประกายความคิด..ทำไมเราไม่ลองผ่ามะกรูดแล้วบีบน้ำกลั่วคอ คิดแล้วลองเลย น้ำมะกรูดมีรสเปรี๊ยวแต่ไม่ถึงกับเปรี๊ยวมากเท่ามะนาว หลังจากบ้วนออกจะรู้ถึงรสฝาดในช่องปาก จะดีหรือไม่ดียังไงคงต้องลองใช้น้ำมะกรูดบ้วนปากประจำสักระยะหนึ่ง ช่วงนี้เว้นวรรคListerine ถ้ามะกรูดดีกว่าก็จะบอกเลิกศาลากันไป หันมาใช้ของไทยของแท้ ชวนใครมานิยมไทยกันดีกว่า ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นทาสสารเคมี และเป็นผู้ที่อาศัยความรู้คนชาติอื่นไปจนตาย  ที่เล่านี้..เป็นเพียงประเด็นหรือโจทย์เล็กๆผิวๆเท่านั้น ยังมีเรื่องใบมะกรูด น้ำมันมะกรูด เนื้อมะกรูด ราก เปลือกต้นมะกรูด..รอให้เราค้นหาอีกมากมาย

มาช่วยกันทำเรื่องมะกรูดเพื่อชาติดีไหมครับ!

 

 

 

หมายเหตุ:

เอกสารประกอบการนำเสนอเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

วันครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันที่15 กันยายน 2551

คำสำคัญ (Tags): #เฮฮาศาสตร์
หมายเลขบันทึก: 203116เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2008 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท