สอนน้องราวน์วอร์ด


การตรวจคนไข้ในในช่วง 2 วันนี้จึงค่อนข้างช้าเพราะต้องให้คำแนะนนำแก่น้องไปด้วย แต่หากว่าจะช่วยให้เราได้หมอที่อยากมาอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนในอนาคตก็ถือว่าคุ้มค่า

              ช่วงสัปดาห์นี้ มีน้องนักศึกษาแพทย์ปี 2(ขึ้น3) ของคณะแพทย์ มช. มาขอศึกษาเรียนรู้ชีวิตในโรงพยาบาลชุมชน 1 สัปดาห์ เมื่อวันจันทร์ช่วงค่ำ ผมก็ได้พูดคุยกับน้องเพื่อวางโปรแกรมในการเรียนรุ้ร่วมกันและพาน้องไปรู้จักพี่ๆคนอื่นๆ น้องที่มาชื่อน้องเฟี๊ยต พอได้คุยกันก็รู้ว่าน้องมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นหมอในโรงพยาบาลชุมชนมาก และกำลังจะเป็นประธานค่ายอาสาพัฒนาอนามัยและชนบท(พอช.)ของนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ แต่จะสังกัดอยู่กับคณะแพทย์ แต่ก่อนจะมีนักศึกษาจากทันตะ เภสัช พยาบาล เทคนิคการแพทย์ มาร่วมทำกิจกรรมกันมาก แต่ต่อมาแต่ละคณะมีค่ายอาสาของตนเองทำให้การเข้ามาร่วมกิจกรรมตรงนี้ลดลงไป

              จากการพูดคุยกันมีผม หมอแอ๊ด หมอป๋อง และเฟี๊ยต ก็ทำให้ทราบว่าหมอแอ๊ดเองก็เคยเเป็นประธาน พอช. ผมก็เคยเป็นประธาน พอช.เหมือนกัน ซึ่งผมกับหมอแอ๊ดก็ได้เล่าประสบการณ์ให้น้องฟัง รวมทั้งเทคนิคการสร้างทีมเพื่อมาเป็นทีมงานของค่าย

               เนื่องจากน้องมาแค่ 5 วัน จึงพยายามวางโปรแกรมให้น้องได้เรียนรู้มากที่สุดโดยช่วเช้า7.00-8.30 น. น้องจะราวน์วอร์ดคนไข้ในกับผม อังคารเช้าออกพีซียู บ่ายเรียนรุ้งานในโรงพยาบาล พุธเช้าราวน์วอร์ด แล้วเข้าห้องผ่าตัดกับหมอดล บ่ายออกพีซียูอีก สอ.หนึ่ง พฤหัสออกหน่วยพอสว.บ้านลีซอกับผม บ่ายให้ออกโฮมเลท์แคร์กับหมอแอ๊ด ส่วนวันศุกร์ก็ให้เรียนรู้กิจกรรมและติดตามทีมเวชปฏิบัติครอบครัว

                สองวันที่ผ่านมา น้องได้ตามราวน์วอร์ดชายด้วย ผมก็ได้ชี้ประเด็นที่สำคัญให้น้องเห็นถึงโรคต่างๆที่เราตรวจรักษานั้น เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาดเช่นตับแข็ง ถุงลมโป่งพอง มะเร็งตับ เอดส์ ซึ่งหากเราไม่ตื่นตัวออกไปส่งเสริมป้องกัน เราก็จะเจอกับสภาพนี้ ผมแนะนำน้องเรื่องการพูดกับคนไข้ การมองหาความเจ็บป่วยอื่นๆมากกว่าแค่โรคที่เขาเป็น รวมทั้งการรับฟังข้อร้องเรียนเสนอแนะจากผู้ป่วย

                ผมได้ชี้ให้น้องเห็นการสื่อสารกันระหว่างวสิชาชีพในใบออร์เดอร์ที่ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของแพทย์เท่านั้น แต่เป็นเวทีสื่อสารกันระหว่างสาขาวิชาชีพต่างๆที่มีส่วนเข้ามาดูแลผู้ป่วย เช่นคนไข้โรคมะเร็งปอดที่มีนักกายภาพมาช่วยฟื้นฟูสภาพการหายใจ มีพยาบาลสุขภาพจิตมาช่วยประเมินและลดความเครียด มีพยาบาลผู้สูงอายุมาประเมินสภาพผู้ป่วยพร้อมการจัดกิจกรรมกลุ่มให้ผู้ป่วย เป้นต้น ซึ่งน้องเฟียตก็ถามว่าอย่างนี้คือการดูแลแบบองค์รวมใช่ไหม ผมก็ตอบว่าใช่ส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังต้องมีการดูแลไปถึงคนในครอบครัว ตามไปดูที่บ้านว่าเขาปฏิบัติได้ตามที่เราแนะนำหรือไม่ ต้องการความช่วยเหลืออะไรเพิ่มเติมหรือไม่

                การตรวจคนไข้ในในช่วง 2 วันนี้จึงค่อนข้างช้าเพราะต้องให้คำแนะนำแก่น้องไปด้วย แต่หากว่าจะช่วยให้เราได้หมอที่อยากมาอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนในอนาคตก็ถือว่าคุ้มค่า

คำสำคัญ (Tags): #kmกับงานประจำ
หมายเลขบันทึก: 20304เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2006 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 03:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท