วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม นี้ชุมชนสำนักงานเลขานุการจะมีการพบปะกันแบบ F2F ซึ่งสถานที่พบปะกันมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ที่ห้อง Main Conference ศูนย์ฝึกอบรมและควบคุมระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เปลี่ยนเป็นห้องประชุมคณะศึกษาศาสตร์ ทางคุณตูน (ผู้อำนวยการประกันคุณภาพการศึกษา) ได้ประสานงานให้อย่างเรียบร้อยและรวดเร็ว วันนี้คงมีหนังสือเวียนให้ทุกหน่วยงานได้รับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงสถานที่พบปะกัน
ผมลองทบทวนความเป็นมาของชุมชนสำนักงานเลขานุการแล้ว เริ่มต้นเกิดจากความไม่ชัดเจนในการประกันคุณภาพของสำนักงานเลขานุการในองค์ประกอบที่ 10 ภารกิจหลักของสำนักงานเลขานุการ และถือเป็นบ่อเกิดแห่งความรู้ที่สำคัญในการประกันคุณภาพของสำนักงานเลขานุการ โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินของหน่วยงานสายสนับสนุน คือ องค์ประกอบที่ 1 , 7 , 8 , และ 9 สำหรับองค์ประกอบที่ 10 เพิ่งจะเริ่มมีการประเมิน ความไม่ชัดนี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพราะถ้าทุกอย่างชัดเจน วันนี้คงไม่มีชุมชนสำนักงานเลขานุการ หรือ Office KM เกิดขึ้น
วันที่พบปะกันในวันที่ 24 มีนาคมนี้บางคนคงมีคำถามว่าเกณฑ์การประเมินองค์ประกอบที่ 10 ซึ่งชุมชนสำนักงานเลขานุการได้มีกิจกรรม Office KM มา 4 ครั้ง โดยพบปะกันแบบ F2F ใช้ได้เลยหรือเปล่าสำหรับการประเมินในรอบนี้ หลายหน่วยงานก็เริ่มทำโดยไม่มีข้อสงสัย เนื่องจากสายสนับสนุนการมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจากคนปฏิบัติงานด้วยกันแล้ว การจะนำไปใช้ มักจะต้องรอการสั่งการจาก Top Down ลงมาก่อน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติ เพราะการยึดติดกับโครงสร้างสายการบังคับบัญชา ทำให้การสร้างสรรค์หรือพัฒนามีน้อย แต่ KM เป็นเครื่องมือที่ช่วยละลายพฤติกรรมและมีอิสรภาพที่อยู่บนความรับผิดชอบในการทำงานงานให้มีคุณภาพ โดยไม่ยึดติดกับสายการบังคับบัญชา แต่เป็นการดำเนินการในแนวราบ
นับเป็นโชคดีของชุมชนสำนักงานเลขานุการ ที่มีท่านอาจารย์มาลินี ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดี ซึ่งดูแลงานประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย ช่วยดำเนินการก่อตั้งให้ชุมชนนี้จบประสบความสำเร็จ หลังจากท่านได้ทำหน้าที่ก่อตั้งเสร็จ มีเหตุให้ท่านต้องกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค ของคณะสหเวชศาสตร์ ซึ่งท่านก็ยังห่วงใยในชุมชนสำนักงานเลขานุการ ผมรับปากกับทุกคนในการทำกิจกรรม Office KM ครั้งที่ 4 ที่คณะศึกษาศาสตร์ ว่าจะจัดตั้งชุมชนสำนักงานเลขานุการ และเมื่อท่านอาจารย์มาลินีเสนอให้มีการเลือกผู้นำชุมชนสำนักงานเลขานุการ ผมได้รับเลือกให้เป็นผู้นำชุมชนสำนักงานเลขานุการ และผมได้เชิญชวนเลขานุการคณะจากทุกแห่งในมหาวิทยาลัยนเรศวร สมัครเป็นสมาชิกใน Gotoknow เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานให้มีคุณภาพของสำนักงานเลขานุการผ่าน Blog วันนี้ชุมชนดังกล่าวมีการเติบโตขึ้น และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฎิบัติข้ามมหาวิทยาลัยในส่วนของบุคลากรสายสนับสนุน
ผมยังมีความฝันที่จะสืบทอดเจตนารมย์ของท่านอาจารย์มาลินี ที่ชุมชนสำนักงานเลขานุการซึ่งแตกตัวออกมาจากชุมชน NUKM Blog จะมีชุมชนจากบุคลากรสายสนับสนุนแตกตัวออกไปอีก 5 ชุมชน คือ ชุมชนงานธุรการ (ชุมชนนี้มีการขับเคลื่อนโดยสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตอนที่ยังไม่เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร มีการจัดกิจกรรม KM ที่พบปะกันแบบ F2F ของผู้ปฎิบัติงานด้านธุรการในมหาวิทยาลัยนเรศวร มีคุณไพฑูรย์ เป็นผู้นำในการขับเคลื่อน) เพื่อพัฒนางานธุรการ ชุมชนงานการเงินและพัสดุ (ชุมชนคนพัสดุ ผมได้ไปช่วยในเบื้องต้น ถึงแม้วันนี้จะไม่แข็งแรงแต่ก็ได้เริ่มมีการก่อตัวขึ้นแล้ว) ชุมชนงานนโยบายและแผน (ชุมชนนี้ความจริงได้ชักชวนคุณธงชัยอยู่ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ วันนี้มีคุณเกียม เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนกำลังที่จะรวมกลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านนโยบายและแผนตั้งชุมชนดังกล่าวขึ้น) ชุมชนงานบริการการศึกษา (ชุมชนนี้ยังไม่มีการขับเคลื่อน) ชุมชนงานห้องปฏิบัติการ (ความจริงชุมชนนี้ ทางสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีการขับเคลื่อนอยู่เหมือนกัน) อย่างที่ท่านอ.ประพนธ์เขียนใน Blog สำหรับ KM ที่สมบูรณ์ ต้องมีความชัดเจนทั้ง 3 ส่วน คือส่วนหัวปลา ตัวปลา และหางปลา
สำหรับชุมชนสำนักงานเลขานุการ ผมมองว่าวันนี้หัวปลามีความชัดเจน หางปลามีแนวทางที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ เพียงแต่ปลาตัวนี้อาจจะตัวผอมไปนิด วันนี้ชุมชนสำนักงานเลขานุการ คงต้องแบ่งปันความรู้จากการปฏิบัติงานที่ประสบความสำเร็จกันให้มากขึ้น เพื่อการปฏิบัติงานที่มีคุณภาพของสำนักงานเลขานุการ
บอย
ชุมชนสำนักงานเลขานุการ
ไม่มีความเห็น