การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์


การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์

การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์

                   การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นเทคนิควิธีการบริหารจัดการสมัยใหม่ที่นำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm) และวิธีการบริหารงานภาครัฐไปจากเดิมที่ให้ความสำคัญต่อทรัพยากรหรือปัจจัยนำเข้า  (input)  และอาศัยกฏระเบียบ  เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความถูกต้อง  สุจริตและเป็นธรรม  โดยหันมาเน้นถึงวัตถุประสงค์และสัมฤทธิ์ผลของการดำเนินงานทั้งในแง่ของผลผลิต(Output)  และผลลัพธ์ (Outcome)  และความคุ้มค่าของเงิน (Value  for  money)  รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพและสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชน  ผู้รับบริการ

            การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์  (Results  Based  Management  -  RBM)
   แยกออกเป็น  ผลสัมฤทธิ์    =      ผลผลิต    +     ผลลัพธ์
                               (RESULTS)              (OUTPUTS)       (OUTCOMES)

การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์คืออะไร

                        คือ  วิธีการบริหารจัดการที่เป็นระบบมุ่งเน้นที่ผลสัมฤทธิ์หรือผลการปฏิบัติงานเป็นหลัก  โดยมีการวัดผลการปฏิบัติงานที่ชัดเจนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

ที่มาของการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์

                        มาจากแนวคิดของการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public  Management : NPM )  (3  E)  ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อ

  • ความประหยัด (Economy) การใช้ต้นทุนหรือทรัพยากรการผลิตอย่างเหมาะสม  และมีความคุ้มค่าที่สุด
  • ประสิทธิภาพ  (Efficiency)  ประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้ได้ผลงานในระดับที่สูงกว่าปัจจัยนำเข้า
  • ประสิทธิผล  (Effectiveness)  ประสิทธิผลการปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

  และการบริหารงานโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์นั้นต้องใช้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีด้วย  (ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ.2542)  โดยมีหลักปฏิบัติ  6  ประการ แต่การบริหารงานโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์นั้นนำมาใช้เพียง  4  หลักปฏิบัติตั้งแต่ ข้อ 3 ถึง ข้อ  6
           1. หลักนิติธรรม  (Rule  of  Law)  หมายถึง  การตรากฎหมายที่ถูกต้องเป็นธรรม  การบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย  การกำหนดกฎ  กติกาและการปฏิบัติตามกฎ  กติกาที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัดโดยคำนึงสิทธิ  เสรีภาพ  ความยุติธรรมของสมาชิก
           2. หลักคุณธรรม  (Ethics)  หมายถึง  การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม  การส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อม ๆกัน  เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์  จริงใจ  ขยัน  อดทน  มีระเบียบวินัย  ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจำชาติ
           3. หลักความโปร่งใส  (Transparency)  หมายถึง  การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ
โดยปรับปรุงกลไกการทำงานขององค์กรทุกวงการให้มีความโปร่งใส
           4. หลักการมีส่วนร่วม (Participation)  หมายถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และเสนอความเห็นในการตัดสินใจ
ปัญหาของประเทศ  ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น  การไต่สวนสาธารณะการประชาพิจารณ์  การแสดงประชามติหรืออื่น ๆ
           5. หลักความรับผิดชอบ  (Accountability)  หมายถึง  การตระหนักในสิทธิหน้าที่ความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบ  ตลอดจนการเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง  และความกล้าที่จะยอมรับผลดีและผลเสียจากการกระทำของตน เช่น  รับผิดชอบต่อลูกค้า  ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยอมรับต่อผลการดำเนินการ
           6. หลักความคุ้มค่า  (Utility)  หมายถึงการบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม  โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด  ใช้อย่างคุ้มค่าสร้างสรรค์สินค้า  และบริการที่มีคุณภาพสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก  และรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน RBM  :  Results  เกี่ยวข้องกับทุกกระบวนการของการบริหาร  ได้แก่
                        Plan  ต้องกำหนดวัตถุประสงค์/เป้าหมายชัดเจน (ต้องการผลสัมฤทธิ์อะไร)
                        Do     ปฏิบัติมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่วางแผนไว้
                        Check  วัดว่าปฏิบัติได้ผลสัมฤทธิ์ตามที่วางแผนหรือไม่ (KPI ชัดเจน)
                        Act  ปรับปรุงแก้ไขให้ได้ผลสัมฤทธิ์ตามที่วางแผนไว้
            การติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน  (Performance  Monitoring)  เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งเพราะเรื่องนี้

  • เป็นกระบวนการวัดผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
  • เป็นการกำกับ  ตรวจสอบการใช้ทรัพยากรในการปฏิบัติงาน
  • สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโครงการของรัฐได้

ประโยชน์ของการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน

  • กระตุ้นให้เกิดการสื่อสารระหว่างกัน
  • ปรับปรุงการกำหนดนโยบาย
  • สามารถแสดงภาพรวมของสถานภาพ
  • สนับสนุนการวิเคราะห์แนวโน้มผลการปฏิบัติงาน                                           

การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์  เกี่ยวข้องกับการกำหนด

  • วิสัยทัศน์
  • พันธกิจหรือภารกิจ
  • ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ
  • ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก

วิสัยทัศน์  (Vision)
                   คือ  ภาพที่องค์การต้องการจะเป็นหรือเป็นเป้าประสงค์โดยรวมที่องค์การต้องการ    เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต
พันธกิจ  (Mission)

  • เป็นหลักการพื้นฐานจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งองค์การและขอบข่ายการดำเนินงานขององค์กร

ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ  (Critical  Success  Factor)
            “สิ่งที่เราต้องการทำให้มีหรือให้เกิดขึ้นเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กรคืออะไร
            ถ้าหากว่า เรากำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กรไว้แล้ว  การที่เราจะบรรลุวิสัยทัศน์นั้นเราต้องทำอะไรบ้างหรือมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง  องค์กรจึงจะบรรลุวิสัยทัศน์   ฉะนั้นจึงต้องมีเกณฑ์การกำหนดปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ  ดังนี้

  • เกี่ยวข้องกับผลสัมฤทธิ์โดยมุ่งความสำคัญที่ผลผลิตและผลลัพธ์
  • เชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์  พันธกิจ  และวัตถุประสงค์ขององค์กร
  • มีความเฉพาะเจาะจงและสามารถเข้าใจได้
  • เป็นที่ยอมรับจากระดับผู้บริหาร
  • อยู่ภายใต้อิทธิพลการควบคุมขององค์กร   

ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก  (Key  Performance  Indicator)
            “เราจะวัดความก้าวหน้าของการบรรลุปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จได้อย่างไร
                        ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก  คือสิ่งที่สะท้อนว่า  เราจะวัดอะไร  อะไรที่แสดงถึงความก้าวหน้าของเรา  ในการกำหนดตัวชี้วัดมีข้อที่จะต้องคำนึงถึงเช่นกันว่า  เวลากำหนดขึ้นมานั้นจะต้องรับได้ไหม  วัดได้จริง ๆไหมแล้วจะต้องทำได้ 
และบรรลุได้  ทำความเข้าใจได้  ตรวจสอบได้  วัดได้ภายในเวลาที่กำหนด  หากจะจำง่าย ๆนั้นก็คือ  SMART   
เป็นการกำหนดตัวชี้วัด

เกณฑ์การกำหนดตัวชี้วัด

  • สามารถวัดผลการปฏิบัติงานได้จริง
  • สามารถบรรลุได้  มีความสมเหตุสมผลที่จะใช้เป็นตัวชี้วัด  ไม่วัดในสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากความสามารถของส่วนราชการ
  • สามารถสื่อสารทำความเข้าใจได้ตรงกัน  มีความเฉพาะเจาะจง
  • สามารถตรวจสอบได้
  • สามารถวัดผลได้อย่างเท่าเทียมกัน  ผลงานเหมือนกันควรใช้ตัวชี้วัดเดียวกัน
  • สามารถวัดผลการปฏิบัติงานภายในเวลาที่กำหนด

ความหมายของคำว่า  Smart  มีดังนี้
S  pecific                -  เฉพาะเจาะจง  ชัดเจน
M  easurable          -  สามารถวัดได้
A  chievable           -  สามารถบรรลุได้
R  ealistic               -  สอดคล้องกับความเป็นจริง
T  imely                  -  วัดได้เหมาะสมตามช่วงเวลาที่กำหนด
                        การกำหนดตัวชี้วัดต้องกำหนดอย่าง  SMART  พอเป็นตัวชี้วัดแล้วก็ต้องมาดูการแสดงค่าให้ชัดเจน ดังนั้น ตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่ดีจะต้องแสดงค่าที่แสดงออกมาเป็นตัวเลขอันใดอันหนึ่ง เช่น  เป็นร้อยละ  (Percentage)     อัตราส่วน  (Ratio)   ค่าเฉลี่ย  (Average  or  Mean) จำนวน  ( Number) อัตรา  (Rate)   และสัดส่วน  (Proportion)

ที่มา  http://www.logist.rtaf.mi.th/mangerment.html
เรียบเรียงโดย 
น.อ.ศิริพล  ศิริทรัพย์                                                                                              

หมายเลขบันทึก: 202187เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2008 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท