Brain Base Learning


Brain Base Learning

Brain Base Learning

 

เมื่อความลับอัน ?ยากแท้หยั่งถึง? ของสมองค่อยๆ ถูกนักวิทยาศาสตร์คลี่คลายข้อมูลอันมหัศจรรย์ออกมา เผยความเชื่อมโยงระหว่างการทำงานและพัฒนาการของสมองกับการเรียนรู้ของคนเรา ได้พลิกความเชื่อในหลายๆ เรื่องด้วยกัน ข้อมูลความรู้เรื่องสมองนี้เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในปัจจุบันเกิดทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้ใหม่ๆ นำไปทดลองปรับใช้ชั้นเรียน แล้วสร้างโมเดลที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

...ต่อไปนี้คือเรื่องราวของสมองที่ทำให้โลกแห่งการเรียนรู้ของเด็กๆ เบ่งบานเต็มที่.....

"หน้าต่างโอกาส" ของการเรียนรู้
นักประสาทวิทยาบอกว่าคนเรามีเซลล์สมองทั้งหมดมาตั้งแต่เกิด โดยเส้นใยสมองจำนวนหนึ่งเชื่อมต่อกันเรียบร้อยแล้ว เช่นสมองส่วนที่ควบคุมการหายใจและการเต้นของหัวใจ แต่ส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับความคิด เส้นใยสมองจะเชื่อมต่อกันต่อเมื่อได้รับการกระตุ้นจากประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่แรกเกิดเป็นต้นมาจนกระทั่งตลอดชีวิตก็ว่าได้ บางคนเชื่อว่ามันเชื่อมต่อกันสมบูรณ์เมื่ออายุราว 5-6 ปีแรกของชีวิต บางคนก็ว่าน่าจะยาวนานไปถึงวัยเรียนในช่วงประถมศึกษา อีกประเด็นหนึ่งที่ค้นพบ คือ เส้นใยสมองมีการเชื่อมโยงในรูปแบบใหม่ๆ เปลี่ยนไปตลอดชีวิตของคนเรา

การค้นพบเหล่านี้ส่งผลต่อการศึกษาหลายอย่าง อาทิ ปัจจุบันนักการศึกษาหันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน (วัยอนุบาล) มากขึ้น มีการสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนที่หลากหลายมากขึ้นในช่วงวัยประถมต้น และเกิดความใส่ใจต่อเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

การค้นพบเรื่องการเชื่อมต่อของเส้นใยสมองบางเรื่องยังไม่มีคำตอบชัดเจนนัก เช่นพบว่าการเล่นดนตรีเชื่อมโยงกับพัฒนาการทางด้านมิติสัมพันธ์ (ซึ่งเป็นทักษะเดียวกับความเข้าใจด้านคณิตศาสตร์)

งานวิจัยเกี่ยวกับสมองยังกระต้นให้นักการศึกษาและพ่อแม่หันมาใส่ใจพัฒนาเด็กเล็กอย่างรอบด้าน เช่น ให้เล่นบล็อก ร้อยลูกปัด เพื่อพัฒนาทักษะการใช้มือและการสังเกต พัฒนาทักษะภาษาด้วยการพูดคุย เล่นจ๊ะเอ๋กับทารก เป็นต้น ในโรงเรียนอนุบาลก็จัดกิจกรรมที่ทำให้เด็กฝึกการแยกแยะ จัดกลุ่ม นับ เกมที่มีการนับเลข สัมผัสรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งเป็นการเตรียมเด็กให้เรียนรู้เรื่องรูปทรง วิธีวิเคราะห์ข้อมูล การคัดแยกข้อมูล และจำนวน ไม่ใช่เรื่องเร็วเกินไปเช่นเดียวกับการให้เด็กเรียนรู้ภาษาที่สอง

นักวิจัยบางคนเห็นว่า ขวบแรกของชีวิตเป็น ?หน้าต่างแห่งโอกาส? สำหรับการเรียนรู้

อารมณ์กับศักยภาพของสมอง
งานวิจัยที่ค้นพบว่าทัศนคติและอารมณ์ของคนเรามีผลกระทบต่อการเรียนรู้ ความเครียด ความกลัว วิตกกังวล ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับเด็กหรือผู้ใหญ่วัยใดก็ตาม จะสกัดกั้นวงจรการทำงานของสมอง อาจพูดได้ว่าทั้งสุขภาพกายใจของคนเรามีผลต่อประสิทธิภาพการคิดและการเรียนรู้ บ้านหรือโรงเรียน ชั้นเรียนที่มีบรรยากาศตึงเครียดล้วนส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กทั้งสิ้น การเลี้ยงดูของพ่อแม่และบรรยากาศในบ้านที่เด็กเติบโต ต้องเป็นไปในลักษณะที่ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกอบอุ่น มั่นคง ส่วนโรงเรียนก็ต้องจัดบรรยากาศที่ทำให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นในสติปัญญาของตัวเอง ทั้งสองด้านนี้จึงจะช่วยเพิ่มพูนศักยภาพในการเรียนรู้ให้ลูกหลานของเรา

การเปิดโอกาสให้เด็กได้บอกเล่าความรู้สึกของตัวเองจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะในการฟังผู้อื่น และยอมรับคำวิจารณ์ของคนอื่นได้ ไม่เกิดความรู้สึกกดดันเมื่อถูกวิจารณ์ การจัดหาวิธีให้เด็กได้ระบายความรู้สึกนึกคิดอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้เด็กสามารถรับมือกับความโกรธ ความกลัว วิตกกังวล ความเจ็บปวดในใจ และความเครียดในชีวิตประจำวันได้ดี

สมองซีกซ้าย ซีกขวา
มีทฤษฎีหนึ่งเกี่ยวกับสมองที่มีการอ้างถึงบ่อยๆ คือ ทฤษฎีเกี่ยวกับสมองซีกซ้ายสมองซีกขวา ซึ่งบอกว่า สมองทั้งสองซีกมีการทำงานที่ต่างกัน คนเราจึงมีสไตล์การเรียนรู้ที่แตกต่าง
กัน แต่ก็ขัดแย้งกับงานวิจัยดั้งเดิม (จากการสังเกตสมองของผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุทางสมองและการผ่าตัดสมอง) ที่เป็นพื้นฐานของทฤษฎีนี้ พบว่าสมองทั้งสองซีกเชื่อมต่อกันด้วยกลุ่มเส้นใยสมองและแกนสมอง ในสมองที่ปกติ สมองทั้งสองซีกจะทำงานประสานกัน หากส่วนที่เชื่อมสมองทั้งสองซีกเสียหาย สมองทั้งสองซีกก็จะไม่สามารถทำงานประสาทกันได้ แม้จะไม่มีใครกังขาข้อขัดแย้งนี้สักเท่าไหร่ แต่ในด้านการศึกษาแล้ว อย่างไรก็ไม่สามารถแบ่งแยกการเรียนการสอนเป็นแบบสมองซีกซ้าย-สมองซีกขวาได้เสียทีเดียว

ทฤษฎีพหุปัญญา
หรือ ทฤษฎี Multiple Intelligence ของ โอเวิร์ด การ์ดเนอร์ ที่พูดถึงความสามารถหรือความฉลาดที่หลากหลาย ไม่ว่าคนเราจะแสดงออกมาเพียงด้านใดด้านหนึ่ง หรือหมายถึงความสามารถที่มีหลายด้านในตัวคนเราก็แล้วแต่ เป็นทฤษฎีที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง และถูกนำไปปรับใช้ออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ทำให้ครูบาอาจารย์ นักการศึกษาจำนวนมากหันมาเชื่อว่าความเก่งไม่ได้มีอยู่แบบเดียว และคนเราสามารถพัฒนาให้เก่งขึ้นมาได้ แล้วหาวิธีจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายในชั้นเรียนเพื่อเอื้อให้เด็กเกิดการเรียนรู้มากขึ้นและอย่างทั่วถึง ในทางการศึกษาแล้ว ไม่ได้มุ่งใช้ทฤษฎีนี้เพื่อชี้วัดความฉลาดหรือความเก่งของเด็ก แต่นำไปพัฒนาศักยภาพในตัวเด็กให้พัฒนางอกงามเต็มที่

สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
แต่เดิมเชื่อกันว่าเด็กเป็นเหมือนแก้วน้ำที่ว่างเปล่ารอคอยการเติมข้อมูลความรู้ แต่ความเชื่อนี้มีอันต้องเปลี่ยนไปเมื่อค้นพบว่าคนเราสามารถสร้างความรู้ได้เองอย่างต่อเนื่อง โดยต่อยอดจากความรู้เดิมผสมกับความรู้ใหม่และคนเราสามารถเก่งหรือฉลาดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้หากได้รับการกระตุ้น ส่งเสริมอย่างเหมาะสม

Brain Base Learning
หลักการ
1. สมองทำงานพร้อมๆ กันหลายส่วน สมองจะเกิดการเรียนรู้ได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีการกระตุ้นอย่างหลากหลาย
หลักการ
- คิดค้นการนำเสนอเนื้อหาความรู้หลายๆ รูปแบบ เช่น กิจกรรม การเรียนรู้ตัวต่อตัว ร่วมกันเรียนรู้เป็นกลุ่ม เรียนรู้ผ่านการทำงาน ศิลปะ สาธิตให้ดู เช่นการสอนดนตรี

2. ศักยภาพในการเรียนรู้เกี่ยวข้องทั้งพัฒนาการ การเติบโต บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย และสภาวะอารมณ์
หลักการ
- ทำความเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการการเติบโตที่แตกต่างกันแม้จะอยู่ในวัยเดียวกันก็ตาม เด็กแต่ละคนจึงมีความพร้อมในการเรียนรู้ในช่วงวัยช่วงเวลาที่ไม่เหมือนกัน ดูแลสุขภาวะของเด็กทั้งในเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย สอนให้เด็กรู้จักจัดการความเครียด ผ่อนคลาย 

3. เด็กๆ มีความสงสัยใคร่รู้เป็นธรรมชาติ การค้นหาความหมายในเรื่องต่างๆ มีมาตั้งแต่เกิด และสมองถูกออกแบบมาเพื่อรับรู้และขบคิดค้นหาคำตอบ 
หลักการ
- เชื่อมโยงข้อมูลความรู้กับบริบทต่างๆ ที่ใกล้ตัว อาทิ วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ผู้เรียนจึงจะสามารถเข้าใจได้ดี

4. อารมณ์ความรู้สึกกับการเรียนรู้ไม่เคยแยกออกจากกัน อารมณ์ความรู้สึกมีความสำคัญต่อการจดจำข้อมูล (ทั้งในการจำและการเรียกใช้ความจำ)
หลักการ
- สร้างสภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่เอื้อให้ผู้เรียน และครูผู้สอนเกิดทัศนคติที่ดีต่อการเรียนการสอน สอนให้เด็กเท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง และอธิบายให้เด็กรู้ว่า อารมณ์ความรู้สึกนั้นส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างไร

5. สมองแต่ละส่วนรับรู้และทำงานสร้างสรรค์ทั้งแบบเฉพาะด้านและประสานกับสมองส่วนอื่นๆ
หลักการ
- พยายามหลีกเลี่ยงการนำเสนอข้อมูลความรู้ โดยไม่เชื่อมโยงกับบริบท ข้อมูลความรู้อย่างเดียวจะทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องยาก ออกแบบกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้ใช้สมองหลายส่วนทำงานประสานเชื่อมโยงกัน

6. การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้เรียนเกิดความสนใจ ใส่ใจ รับรู้ 
หลักการ
- ใช้อุปกรณ์ เทคนิคการเรียนการสอนที่ดึงดูดความสนใจ เช่น งานศิลปะ บอร์ดภาพ เสียงเพลง ครูผู้สอนต้องมีความกระตือรือร้นและมีวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ 

7. การเรียนรู้เกี่ยวข้องกับจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก 
หลักการ
- กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องและมีชีวิตชีวา โดยกระตุ้นให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นและทบทวนใคร่ครวญสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปแล้ว
หลักการ

8. คนเรามีความทรงจำ 2 ประเภท คือความทรงจำจากการซึมซับประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน กับความทรงจำที่เกี่ยวกับข้อมูลความรู้แบบท่องจำ
หลักการ
- ไม่เน้นความรู้แบบท่องจำ เพราะจะทำให้เด็กไม่พยายามเรียนรู้ด้วยความเข้าใจ

9. สมองจะเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้ดีเมื่อข้อมูลและทักษะต่างๆ มาจากความทรงจำที่ซึมซับจากประสบการณ์จริง
หลักการ
- ใช้เทคนิคการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กได้สัมผัสกับประสบการณ์จริงอย่างหลากหลาย เช่น การทดลองทำให้ดู การทำโครงงาน ทัศนศึกษา การทำ workshop 

10. สมองจะเรียนรู้ได้ดีถ้าได้รับแรงกระตุ้นในทางบวก แต่ถ้าผู้เรียนถูกคุกคามทางความรู้สึก เกิดความเครียด วิตกกังวล จะเป็นการสกัดกั้นสมองไม่ให้เกิดการเรียนรู้ 
หลักการ
- สร้างบรรยากาศผ่อนคลายในชันเรียน หลีกเลี่ยงการกดดัน บังคับ ดุด่า การทำโทษอย่างรุนแรงทั้งทางกายและจิตใจ
หลักการ

11. คนเราเกิดมามีสมองที่แตกต่างกัน และโครงสร้างของสมองแต่ละคนเปลี่ยนแปลงได้
หลักการ
- ใช้กลยุทธ์ เทคนิควิธีในการเรียนการสอนที่หลากหลาย เพื่อดึงดูดความสนใจเด็กให้มากที่สุดทางประสาทสัมผัสทุกด้าน ทั้งการมองเห็น การได้ยิน อารมณ์ความรู้สึก การสัมผัส

 แหล่งที่มา  www.อจท aksorn.com

หมายเลขบันทึก: 202155เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2008 08:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เยี่ยม เยี่ยม เยี่ยม เยี่ยม เยี่ยม จริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท