เป็นนักเรียนสถาบันพระปกเกล้าตอนที่๓๘(ลงพื้นที่จริง๑)


มาฟังเกษตรกรสะท้อนความรู้สึก

วันนี้เราออกพื้นที่ตั้งแต่เช้า โดยมีคุณสุทธิ อัชฌาศัย เป็นวิทยากรให้ ในรถก็ได้เปิดซีดีรายการเปิดปม ให้เราได้ดูปูพื้นสภาพปัญหา เราได้ลงพื้นที่ไปถามชาวบ้านที่บ้านตะพงใน เราไปดูสวนผลไม้ของชาวบ้าน ผมไปคุยกับคุณอาคม สวัสดิ์ล้น บ้านตะพงใน หมู่ที่ ๑ ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง.เจ้าของสวนได้เห็นสภาพต้นไม้ยอดเหี่ยวบ้าง ในแห้งเป็นขอบบ้าง แต่เราไม่ได้มากันในหน้าผลไม้จึงไม่เห็นผลผลิตว่าเป็นประการใดจึงต้องใช้การสอบถามจากเจ้าของสวน

        เราฟังมาว่าได้มีการแก้ไขปัญหามลภาวะแล้ว ควบคุมการปล่อยของเสียแล้ว ระมัดระวังมลพิษทางอากาศแล้ว เราแยกย้ายไปไปคุยกับชาวบ้านเป็นกลุ่ม(แต่ไม่ใช่กลุ่มที่แบ่งกันในห้องนะครับ) แล้วก็ถามคุณอาคม ว่าตอนนี้อากาศดีขึ้นไหม (เพราะเราฟังมาจากการนิคมฯว่าทุกอย่างเริ่มดีขึ้นจากแผนลดและแก้ไขปัญหามลพิษในระยอง)  แต่...เขาบอกว่าก็งั้นๆแหละ ปัญหาก็ยังมีเหมือนเดิม ฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ผลผลิตก็ลดน้อยลง โรคภัยของคนและของพืช สถานการณ์ยังคงทรงตัวยังไม่ดีขึ้น โรงงานเพิ่มขึ้น ภาคเกษตรลดลง อิอิ....เราเห็นต้นเงาะใบแห้งก็ถามว่าเพราะอะไร เขาก็บอกว่าเป็นโรคและเกิดจากมลภาวะด้วย สวนนี้ปลูกต้นกฤษณา แซมอยู่ในสวนผลไม้ ได้ความรู้ว่ามีโรงกลั่นกฤษณาอยู่ที่ระยองเป็นโรงงานของชุมชน

        พวกเราถามว่า เวลามีปัญหาเกี่ยวกับผลผลิตไปหาใคร เขาตอบว่าภาคเกษตรไม่ค่อยดิ้นรนไปตรงโน้นตรงนี้ แต่มีกลุ่ม NGO คอยช่วย เป็นตัวกลางให้ข้อมูลผลกระทบทางด้านอากาศ,น้ำ ซึ่งชาวบ้านก็บอกว่ารับรู้ด้วยตนเองด้วย ปุ๋ยต้องใช้มากขึ้น ดินก็เป็นกรดเป็นด่าง

        ถามว่าเคยเอาน้ำฝนไปตรวจไหม

เขาตอบว่าเคยตรวจด้วยตนเอง เนื่องจากเคยผลิตน้ำดื่มขาย มีปัญหาค่าเป็นกรดจึงเลิก

        ถามว่าความรู้สึกของชาวบ้าน แม้นิคมจะอยู่ห่างออกไป แต่การที่เกิดภาวะมลพิษมากับฝนกับอากาศ รู้สึกอย่างไร

        ตอบ มันเป็นเรื่องหมักหมมมานาน โรงงานไม่ควรอยู่ใกล้ชุมชน แต่ขยายตัวมากขึ้น พื้นที่เกษตรมีน้อยอยู่แล้วก็หดหายไป โรงงานมาตั้งอยู่บนความขัดแย้งของธรรมชาติ เช่น โรงงาน IRCC ชาวบ้านประท้วงก็ไม่ยอม ส.ส.ก็มีผลเป็นตัวแปรในเชิงลบไม่จริงใจกับชาวบ้าน ปัญหาเหล่านี้ทุกคนรับรู้แต่ไม่มีการแก้ไข

        ถามว่าอยากให้มีโรงงานอุตสาหกรรมหรือไม่

        ตอบ ส่วนหนึ่งอยากให้มีแต่ขอให้ทำให้ถูกต้องไม่สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน เพราะมีการสร้างงาน ชาวบ้านจึงยอมรับได้ แต่ขอเพียงอย่าให้เกิดผลกระทบกับชาวบ้าน

        ถามว่า มีข้อเสนอจะให้แก้อย่างไร

        ตอบ ภาคอุตสาหกรรมกับภาครัฐจะต้องร่วมมือกันและมีความจริงใจกับชาวบ้านด้วย จึงจะอยู่ด้วยกัน ชาวบ้านไม่ได้กีดกันไม่ให้สร้างโรงงาน แต่ชาวบ้านต้องอยู่ได้

        ถาม เขาไม่จริงใจอย่างไร

        ตอบ คือการแก้ไขปัญหามลพิษ การรับรู้ข้อมูล ความจริงปรากฏชัดเจนเพราะชาวบ้านยังรู้สึกเหมือนเดิม แสดงว่ายังไม่ได้แก้ไขไม่มีความจริงใจในการแก้ไข

        ถาม เราได้ฟังปัญหามีการโยนกันไปมาว่าคนที่ก่อให้เกิดมลพิษคือโรงงานรอบนอกนิคมอุตสาหกรรม ในความเป็นจริงชาวบ้านเข้าใจว่าอย่างไร

        ตอบ ในการโยนกันไปกันมาภาครัฐแหละรู้ดี และปัญหาที่รัฐรับจากภาคเกษตร แต่ทำไมรัฐไม่แก้ไข ทำไมเกษตรกรไม่ร้องเรียน ไม่ต่อต้าน ภาคเกษตรเห็นว่าแม้จะร้องแรกแหกกะเฌอก็ยาก

        ถาม ถ้าจะให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข จะให้ทำอย่างไรหรือมีมาตรการอะไรให้อุตสาหกรรมอยู่ได้ ชาวบ้านอยู่ได้

        ตอบ ภาครัฐและบริษัทต้องจริงใจในการแก้ไขปัญหาเพียงจุดนี้จุดเดียว อย่าหมกเม็ด การตรวจสอบ การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การตรวจสอบชาวบ้านไม่รู้ ไม่ได้รับรู้กระบวนการตรวจสอบ บริษัทอ้างว่าระบบตรวจสอบเขาดีอยู่แล้ว ถามว่าภาครัฐเคยไปตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์ว่าได้มาตรฐานจริงไหม

        ถาม ชาวบ้านตรวจสอบบ้างไหม ใช้อะไรตรวจสอบ

        ตอบ ตรวจสอบจากธรรมชาติ เพราะเราอยู่กับธรรมชาติ เราเห็นความเปลี่ยนแปลง เช่น ดูจากมด แมลง ถ้าเห็นมดตาลีตาเหลือกออกมาเราก็พอรู้แล้วว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ฝนอาจจะตก เป็นต้น

        ถาม ข้อสรุปจากชุมชนเคยคุยกันอย่างเป็นระบบไหม เรียงออกมาเป็น ๑,๒,๓ ไปคุยกับเขาให้รู้เรื่อง ชุดความรู้ต่างๆชุดความต้องการที่จะไปแลกเปลี่ยน ควรมีการพบปะพูดคุยจะได้ชัดความรู้สึก ความต้องการ แล้วร่างเป็นข้อๆ เพื่อให้เขารู้ความต้องการของเราชัดเจน เราได้เตรียมการบ้านตรงนี้ไหม

        ตอบ ชาวบ้านขาดการพูดคุยกันแบบนี้ ต่างคนต่างแก้ ปัญหารวมๆก็เหมือนกัน ต่างคนก็เสนอปัญหา แล้วเราก็รอ ผลสรุปก็คือไม่ได้เกิดการแก้ปัญหาซ้ำแล้วซ้ำอีก ปุ๋ยแพง ผลผลิตตกต่ำ ปัญหาก็เหมือนเดิม

        ถาม อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านช่วยเหลืออะไรบ้างไหม เกี่ยวกับเรื่องอากาศเสีย ของเสีย

        ตอบ ก็เป็นเพียงช่วยเชื่อมโยงปัญหา ชงปัญหาต่อๆไป ถึงปีก็มารับฟังปัญหา แต่ส่งไปแล้วจะไปอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้

        ถาม ชุมชนมีส่วนร่วมกับนิคมบ้างไหม

        ตอบ เอาผู้นำไป ถามว่าผู้นำไปเป็นตัวแทนได้ไหม เราไม่ทราบว่าผู้นำไปถ่ายทอดตรงตามความต้องการของชาวบ้าน ไปประชุมแล้วผลเป็นอย่างไรชาวบ้านก็ไม่รู้

        ถาม ที่การนิคมฯเขาว่าตั้งกองทุนอะไรเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านให้ชุมชนเข้มแข็งมีไหม

        ตอบ เป็นการสร้างภาพ เพื่อให้ชุมชนอยู่ภายใต้กติกาของเขาไม่เปิดปากพูดในสิ่งไม่ถูกต้อง

        ถาม มีการทำโครงการขอใช้เงินจากกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรบ้างไหม

        ตอบ ส่วนใหญ่ชาวบ้านไม่ร้องขอ อาจจะไม่รู้วิธีการร้องขอ ตั้งกองทุนก็ตั้งไว้แบบนั้น เกษตรกรไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาใช้ได้อย่างไร จึงไม่เคยขอ

        ถาม เราได้ยินคำว่าเดิมๆส่งไปแล้วมันก็เงียบ เราคิดอย่างไร ต้องการตัวช่วยเพื่อยกระดับน้ำหนักการเรียกร้องไหม

        ตอบ ต้องการมากถ้าใครเข้าถึงจิตใจเกษตรกรก็จะเป็นเรื่องดีมาก แต่อย่าหวังผลทางการเมือง เพราะหากเป็นแบบนี้ชาวบ้านจะเกิดการระแวง แล้วจะไม่ให้ความร่วมมืออีกเลยและจะเกิดความระแวงต่อต้านไม่สิ้นสุด

        ถาม น่าเบื่อไหม ที่มีคนมาสอบถามพูดเรื่องเดิมๆ แล้วก็หายไป ไม่เห็นผลอะไรเลย

        ตอบ หัวเราะ น่าเบื่อมากเลย...มาให้ดีใจแล้วหายไป

        ถาม อยากให้มีตัวช่วย อยากให้ช่วยตรงไหนบ้าง

        ตอบ ปัญหาต้นทุนการผลิต เพราะราคาผลผลิตต่ำลง ตอนนี้ต้องปรับลดต้นทุน เช่น ปุ๋ย น้ำ ระบบนิเวศน์ที่มันเสียไป มันเป็นต้นทุนทั้งนั้น เราตั้งราคาเองไม่ได้ ตัวแปรอาจจะเกิดผลผลิตไม่ได้คุณภาพ

        ถาม ได้ใช้ช่องทางในการยื่นฟ้องศาลบ้างไหม

        ตอบ ชาวบ้านเข้าไม่อยากจะทำอย่างนั้น เขาไม่คาดหวัง เพราะเสนอปัญหาไปตามหน่วยงานต่างๆก็เฉย กฎหมายใหม่ๆก็เหมือนหนูทดลองยา ไม่รู้จะได้ผลหรือเปล่า

        ถาม ความรู้สึกของชาวบ้านที่มีต่อการนิคมฯ ต่อรัฐ

        ตอบ ไม่อคติมาก ยอมรับว่ามีบ้าง เพราะส่วนราชการตามไม่ทันปัญหาของเกษตรกร

        ถาม ปัญหาลูกหลานเกษตรกรไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม มีปัญหาไหม

        ตอบ มีแน่นอน เพราะเขามีรายได้จากตรงนั้นเขาก็นิยมชมชอบ

        ถาม ปัญหาภาค NGO รู้สึกอย่างไร ที่ทำกันมาตั้งนานหลายปีแต่ยังไม่เห็นผล

        ตอบ มองลำบากเพราะลึกๆแล้วมีอะไรหรือเปล่า ชาวบ้านรู้สึกว่ากำลังตกเป็นเครื่องมือของทุกฝ่าย ชาวบ้านเป็นหนูลองยาจนดื้อยา และเป็นภูมิแพ้ แต่ใจไม่แพ้...

        ถาม ปัญหาการนิคมฯที่เขาบอกว่าเขามีการจัดการเป็นระบบ แล้วที่ชาวบ้านอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง ดีขึ้นไหม   เรื่องกลิ่นลดลงบ้างไหม

        ตอบ มันมาตามลม ไม่รู้มันมาทางไหนบ้างไม่รู้ว่ามาจากโรงงานไหน ยังมีกลิ่นอยู่แน่นอน ฝนกรดตอบได้เลยว่า ๑๐๐ % ยังไม่ลด(จากการวัดค่าของน้ำ) ภูมิแพ้ไม่ลด มีสารก่อมะเร็ง คนเป็นมะเร็งอันดับหนึ่ง

        แหย่ต่อมคัน มันหัวใจกันไปนิดหน่อย เพราะลงไปพื้นที่จริงของมาบตาพิษ เพื่อให้รู้ความจริงว่าชาวบ้านเขารู้สึกอย่างไร อิอิ แล้วเราก็ถูกน้องวีนัส มาเร่งให้ไปขึ้นรถเพราะยังต้องไปดูจุดอื่นๆอีก ตามผมมาจะพาไปดูจุดอื่นอีก...มันกว่านี้ยังมีอีก..อิอิ

หมายเลขบันทึก: 202143เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2008 06:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท