บทความ


อ่านหนังสือกันดีกว่า

อ่านหนังสือกันดีกว่า

                                                                                                                                                        ชุมพล   หลวงจอก *

ความนำ                                                

                                                                                นานาประเทศล้วน                นับถือ

                                                                คนที่รู้หนังสือ                                        แต่งได้

                                                                ใครเกลียดอักษรคือ                              คนป่า

                                                                ใครเยาะกวีไซร้                                     แน่แท้คนดง

                โคลงสี่สุภาพข้างต้นเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  แสดงให้เห็นว่าการอ่านหนังสือได้นั้นมีความสำคัญมาก  เป็นสิ่งที่นานาอารยประเทศล้วนยกย่องสรรเสริญ

                โลกยุคปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว  วิชาการทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป  มีการค้นคว้าสิ่งใหม่เกิดขึ้นมากมาย

มนุษย์จำเป็นต้องรับรู้ข่าวสารอย่างรวดเร็วเพื่อพัฒนาตนเองและสังคม  สังคมปัจจุบันเป็นสังคมแห่งข่าวสารประเทศที่พัฒนาคือประเทศที่ประชากรมีคุณภาพ  สามารถรับข่าวสารได้รวดเร็วและชาญฉลาด  การอ่านหนังสือเป็นวิธีรับข่าวสารที่แตกต่างจากวิธีอื่นเพราะเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้คิดและจินตนาการได้กว้างไกล  หนังสือสามารถบันทึกประสบการณ์ของมนุษย์ได้อย่างกว้างขวาง  ตลอดจนบันทึกสิ่งที่เป็นความรู้ความก้าวหน้าทางวิชาการสมัยใหม่  มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม  ผู้ที่สามารถอ่านออกเขียนได้  จึงเป็นผู้ที่รับข่าวสารได้รวดเร็วมีโอกาสที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

 (อนงค์  บุญเลิศ, ๒๕๓๘,หน้า ๑)

ประโยชน์ของการอ่าน

                ประเทศที่พัฒนา  ประเมินกันที่คุณภาพของประชาการ  ประชาการที่มีคุณภาพคือ  ผู้ที่สามารถอ่าน  วิเคราะห์  สังเคราะห์  ประยุกต์  และประเมินข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ (อนงค์  บุญเลิศ, ๒๕๓๘,หน้า ๑๐)

ดังนั้นหากต้องการให้ประเทศไทยพัฒนามากกว่าที่เป็นอยู่   สมควรอย่างยิ่งที่คนไทยจะต้องตระหนักและเห็นคุณประโยชน์ของการอ่านให้มาก 

                ถนอมวงศ์  ล้ำยอดมรรคผล (อ้างถึงใน  อนงค์  บุญเลิศ,๒๕๓๘,หน้า ๑๐) กล่าวถึงประโยชน์ของการอ่านไว้ดังนี้

                                ๑.  การอ่าน  ช่วยป้องกันและแก้ปัญหาบางอย่างได้  เช่นการอ่านคำแนะนำการใช้ยา  คำแนะนำการใช้เครื่องมือต่างๆ  ถ้าผู้อ่านเข้าใจแจ่มแจ้ง  และปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านั้นเท่ากับเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาซึ่งจะเกิดได้เป็นต้น

                                ๒.  การอ่านช่วยพัฒนาจิตใจให้เจริญงอกงามขึ้น  เช่น การอ่านหนังสือธรรมช่วยให้มีเมตตาจิต  อ่านสารคดีท่องเที่ยวช่วยให้เกิดความรักบ้านเมือง  รักธรรมชาติ  เป็นผลให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกอยากจะอนุรักษ์ไว้  เป็นต้น

                                ๓.  การอ่านช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์  เช่น  การอ่านบทความบางประเภทก่อให้เกิดแนวคิดสร้างสรรค์  เห็นแนวทางในการประดิษฐ์สิ่งต่างๆ  เช่นประดิษฐ์สิ่งของจากเศษวัสดุเหลือใช้  หรือจากสิ่งของที่ไม่ได้ใช้แล้ว 

                                ๔.  การอ่านช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิต  ชีวิตในสังคมปัจจุบันเป็นชีวิตที่ต้องทำอะไรอย่างรวดเร็วจึงจะทันเหตุการณ์  เช่น  ในการเดินทางอาจจะต้องอาศัยการอ่านแผนที่จะทำให้เดินทางได้ถูกต้อง

                                ๕.  การอ่านช่วยพัฒนาอาชีพ  วิชาการแต่ละอาชีพมักจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  ผู้ที่ประกอบอาชีพแต่ละอาชีพจึงต้องก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงนั้น  วิธีการที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดนั้นได้จากการอ่านหนังสือต่างๆ

                การอ่านหนังสือบางประเภท เช่น หนังสือชีวประวัติเกี่ยวกับบุคคลที่มีชื่อเสียงประสบความสำเร็วในชีวิต  ทำให้ผู้อ่านได้ศึกษาถึงชีวิต  และการต่อสู้ชีวิตก่อนที่บุคคลเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จ  เป็นการสร้างแรงบันดาลใจ  เป็นแบบอย่างที่ดีที่สมควรลอกเลียนแบบ  ซึ่งสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมหรือแนะนำให้เยาวชนไทยอ่านหนังสือประเภทชีวประวัติบุคคลสำคัญนี้ให้มากเพื่อจะเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องต่อไป   ดีกว่าไปเลียนแบบดารา  หรือแฟชั่น ซึ่งมีบางส่วนที่ไม่อาจเป็นแบบอย่างที่พึงประสงค์ของเยาวชนไทยได้

               ในทางจิตวิทยายังใช้การอ่านบำบัดจิตใจของผู้ป่วยได้อีกด้วย  เช่น  ในรายงานของจิตแพทย์ชื่อ เจอร์โรน  ซเนค(Jerrone  Schneck)  จิตแพทย์อาวุโสประจำการของคลินิก  เมนนิงเจอร์  (Menningger  Clinic)ระบุว่า  คนไข้รายหนึ่งเกิดความไม่สบายใจหลังจากที่ได้รับการผ่าตัด  ขณะที่พักฟื้นผู้ป่วยได้อ่านหนังสือหลายเล่ม  และจดบันทึกไว้  บันทึกตอนหนึ่ง  มีความว่า  เมื่อข้าพเจ้าคิดถึง  ไฮน์ (Heine)  ผู้ป่วยเป็นอัมพาตต้องนอนอยู่บนเตียงจนเตียงเปรียบเสมือนหลุมฝังศพ  โวลแตร์(Voltaire)  ผู้ได้รับโทษเนรเทศต้องระเหเร่ร่อนไปเรื่อยๆ  หรือ  มิลตัน(Milton) กวีตาบอดแล้ว  ข้าพเจ้ารู้สึกว่า  ความทุกข์ของข้าพเจ้านั้นเบาลง  (ไฮน์  โวลแตร์  มิลตัน  คือ  ตัวละครในหนังสือที่เขาอ่าน)  (ฉวีลักษณ์  บุณญกาญจน,๒๕๒๔ หน้า ๑๓๑)

              วนิษา  เรช (๒๕๕๐,หน้า๓๘-๓๙) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ชื่อ  อัจฉริยะสร้างได้  ว่าอัจฉริยภาพของมนุษย์นั้นมีหลายด้านด้วยกัน  หนึ่งในนั้นคืออัจฉริยภาพด้านภาษาและการสื่อสาร  ซึ่งรวมถึงการอ่านด้วย เธอกล่าวว่า  คนอ่านเก่ง  อ่านเร็ว  อ่านเป็น  เป็นกลุ่มคนที่โชคดีมาก  เพราะในยุคปัจจุบัน  คนเราต้องมีข้อมูลข่าวสารผ่านสายตามากมาย  หากอ่านไม่เป็น  ไม่เร็ว  ไม่ทันความจำเป็นที่จะต้องใช้ ก็จะมีผลเสียทั้งกับการเรียนและการงานอย่างมาก  การอ่านเร็วและได้ใจความครบถ้วนเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน  เช่นเดียวกับเรื่องที่เกี่ยวกับสมองทุกเรื่องก็มีหลักการเดียวกันคือ  ฝึกฝน  ฝึกฝน  และฝึกฝน

                จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าการอ่านมีประโยชน์ต่อชีวิตของเรามาก   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่อุดมไปด้วยข้อมูลต่างๆมากมาย  จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องอาศัยข้อมูลเหล่านั้นในการตัดสินใจ  หรือแก้ปัญหาต่างๆ  และการจะได้ข้อมูลนั้นมาใช้ประโยชน์ก็ต้องอาศัยการอ่านที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง

พัฒนาอัจฉริยภาพด้านการอ่านด้วยเทคนิคการอ่าน

               วนิษา  เรช (๒๕๕๐,หน้า๓๙-๔๐) ได้นำเสนอเทคนิคการอ่านเพื่อพัฒนาอัจฉริยภาพด้านการอ่าน ไว้ในหนังสือชื่อ

อัจฉริยะสร้างได้  ดังต่อไปนี้

                เทคนิคอ่านเร็ว  อันดับแรกให้ลบทัศนะแบบเก่าๆของออกไปจากสมองเสียก่อน  ทัศนะแบบเก่าที่ว่าคือ

                                -การอ่านเร็วเป็นเรื่องยาก

                                -เราไม่ควรใช้นิ้วลากตามข้อความที่เราอ่าน

                                -เราต้องอ่านทุกคำให้ครบ และเริ่มจากต้นจนจบ

                                -เราต้องอ่านให้ช้าเพื่อจะได้ใจความครบถ้วน

                แล้วเปลี่ยนเป็นทัศนะใหม่ว่า

                                -การอ่านเร็วเป็นเรื่องง่าย  ทำได้ด้วยการเริ่มฝึกทีละนิด

                                -เราใช้นิ้วลากตามข้อความ หรือใช้นิ้วชี้ตามข้อความได้

                                -ใช้วิธีมองภาพรวมของข้อมูลก่อน และไม่ต้องอ่านให้ครบทุกคำก็ได้

                                -อ่านเร็วก็ได้ข้อมูลที่จำเป็นเท่ากับการอ่านช้า

                เมื่อปรับเปลี่ยนทัศนะแล้วก็เริ่มเตรียมตัวเตรียมใจเข้าสู่การอ่านเร็ว  ด้วยเทคนิคต่อไปนี้

                เทคนิคผลส้มเขียวหวาน

                                ก่อนลงมืออ่าน  ให้หามุมสงบๆ  อาจมีน้ำเย็น หรือชาร้อน นั่งในห้องทำงาน บนโซฟา หรือในสวน แล้วให้เอาหนังสือเล่มที่จะอ่านมาวางไว้บนตัก  แต่อย่าเพิ่งเปิดอ่าน  ให้เราหลับตา  หายใจเข้าลึก ยาว สามครั้ง  แล้วบอกตัวเองว่า  การอ่านในห้วงเวลาหลังจากนี้ เราจะอ่านด้วยความสบายใจ  อ่านอะไรก็จะจำได้ดี  จากนั้น  ก็ให้จินตนาการให้เห็นผลส้มเขียวหวานลอยอยู่ตรงหน้า ให้เห็นชัดเจน ดมได้กลิ่นส้ม  เห็นได้ทุกรายละเอียดของผลส้ม  แล้วหยิบมันขึ้นมาโยนไปมาระหว่างสองมือ  จากนั้นจินตนาการให้ลูกส้มนี้ลอยไปแขวนอยู่ข้างหลังศีรษะสูงประมาณหนึ่งไม้บรรทัด

                                วนิษา  อธิบายว่าเหตุที่ต้องใช้ส้มเขียวหวานเพราะส้มช่วยเปิดประสาทสัมผัสของเราได้ครบ โดยเฉพาะกลิ่นของส้ม จะทำให้เราใช้ประสาทสัมผัสได้ครบและอ่านได้ดีขึ้น

                เทคนิคกระดาษเปล่า

                                ทุกครั้งที่เราจะเริ่มอ่านหนังสือ  หากเป็นการอ่านที่ต้องมีจุดมุ่งหมาย เช่นการอ่านเร็ว  อ่านเอาความ  อ่านให้จำแม่น  ให้เอากระดาษเปล่าวางไว้ข้างตัวเสมอและคอยจดข้อมูลลงด้วยปากกาสีสวยถูกใจ  กระดาษเปล่าจะเป็นตัวบังคับไม่ให้เรานอนหลับเพราะต้องจดตลอดเวลา

                เทคนิคการมองภาพรวมทั้งหมดก่อน

                                สมองชอบรู้ภาพรวมก่อนเข้าสู่รายละเอียด  เพราะสมองถูกสร้างมาให้ประเมินสภาพแวดล้อมก่อนเพื่อหาความปลอดภัยของร่างกาย  ดังนั้นหากต้องการอ่านเร็วและจำแม่นยำ อย่ารีบพุ่งเข้าสู่ข้อมูลรายละเอียด  แต่ให้ประเมินสภาพแวดล้อมโดยรวมของสิ่งที่เราจะอ่านเสียก่อน  เริ่มจากการพลิกหนังสือเร็วๆให้เห็นทีละหน้า  หน้าละประมาณหนึ่งวินาที โดยไม่ต้องสนใจเนื้อหา ไม่ต้องอ่าน  ทำอย่างนั้นจนหมดเล่ม  แล้วค่อยย้อนกลับมาอ่านหัวข้อ  เมื่ออ่านหัวข้อจนครบแล้ว ค่อยมาดูว่าต้องการอ่านรายละเอียดหัวข้อใด  และที่สำคัญให้อ่านเอาองค์ความคิด อย่าอ่านเอาแต่คำพูด

บทสรุป

                เทคนิควิธีการอ่านแม้จะดีเพียงใดก็ตามแต่ถ้าหากเราไม่นำไปฝึกฝน จนเกิดเป็นทักษะ และเป็นนิสัยแล้วการพัฒนาการอ่านของเราก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ  จะเป็นการดีอย่างยิ่งหากสามารถฝึกฝนและทำให้การอ่านของเราเร็วขึ้น

และดีขึ้นกว่าเดิม  ชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไปในทางทางที่ดีขึ้น   เราควรอ่านหนังสือทุกวัน  อย่างน้อยวันละ  ๑๕  นาที  จนเป็นนิสัย  และเกิดเป็นความรู้สึกขึ้นมาในใจตนเองได้ว่าการอ่านหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต  ดังบทพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ชื่อว่า ฉันชอบอ่านหนังสือ

                                                หนังสือนี้มีมากมายหลายชนิด           นำดวงจิตเริงรื่นชื่นสดใส

                                ให้ความรู้สำเริงบันเทิงใจ                                     ฉันจึงใฝ่ใจสมานอ่านทุกวัน

                                มีวิชาหลายอย่างต่างจำพวก                               ล้วนสะดวกค้นได้ให้สุขสันต์

                                วิชาการสรรมาสารพัน                                        ชั่วชีวันฉันอ่านได้ไม่เบื่อเลย

      

บรรณานุกรม

 

ฉวีลักษณ์   บุญยะกาญจน. (๒๔๒๔). จิตวิทยาการอ่าน. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.

ฉวีวรรณ   คูหาภินันทน์. (๒๕๔๒). เทคนิคการอ่าน. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร.

วนิษา  เรช. (๒๕๕๐). อัจฉริยะสร้างได้. กรุงเทพฯ: ไทยยูเนี่ยนกราฟฟิกส์.

เทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี,สมเด็จพระ. (๒๕๔๑). ๒๔๘๙ ดั่งดวงแก้ว. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์.

อนงค์  บุญเลิศ. (๒๕๓๘). การอ่านเพื่อชีวิต. กรุงเทพฯ: พัฒนาศึกษา.

         

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 201904เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2008 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท