คำแนะนำก่อนการฝึกโปรแกรมเสริมศักยภาพเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่บ้าน


คำแนะนำก่อนการฝึกโปรแกรมเสริมศักยภาพเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่บ้าน

 

            - โปรแกรมนี้ทำขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ปกครอง ผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจ ได้นำกิจกรรมต่างๆไปใช้เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมศักยภาพเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หากจะได้ผลดีและเป็นประโยชน์แก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษมากที่สุด ท่านควรปรึกษานักกิจกรรมบำบัดที่อยู่ใกล้บ้านท่านร่วมด้วย เพื่อปรับกิจกรรมและต่อยอดโปรแกรมการฝึกให้กับบุตร-หลานของท่าน

- ไม่ควรทำการฝึกหลังจากที่น้องทานอาหารเสร็จ เพื่อป้องกันการจุก และการอาเจียน (ควรทำการฝึกหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ 30-60 นาที)

- จำนวนที่ใช้ในการฝึกผู้ปกครองสามารถปรับได้ตามความเหมาะสม จำนวนที่ผู้เขียนกำหนดมาให้เพื่อใช้เป็นแนวทางในการฝึกเท่านั้น ถ้าจะให้การฝึกมีประสิทธิภาพและได้ผลดี ผู้ปกครองควรปรึกษานักกิจกรรมบำบัดร่วมด้วยเพื่อต่อยอดแนวทางในการฝึกและมีการปรับกิจกรรมให้มีความเหมาะสมสำหรับน้อง

- ในการฝึกทุกครั้งอุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้ ผู้ปกครองควรมีความระมัดระวังในการฝึกและต้องมีการป้องกันอุบัติเหตุร่วมด้วย โดยที่ผู้ปกครองควรมีการจัดสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัยต่อการฝึก และต้องรู้จักเซฟตัวน้องเวลาทำกิจกรรมต่างๆร่วมด้วยเนื่องจากกิจกรรมบางอย่างมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ถ้าไม่ระมัดระวังในการฝึก

- เพื่อไม่ให้น้องเบื่อหรือล้าเกินไปในการฝึก ผู้ปกครองอาจจะให้น้องพักเหนื่อย โดยทำเสร็จ 3 – 5 ท่า ให้น้องมีการพักสักเล็กน้อยประมาณ 1 – 2 นาที หรือในกรณีเด็กเล็ก/เด็กที่เพิ่งเริ่มฝึก ผู้ปกครองฝึก 1 ท่า พัก 1 นาที ก่อนที่จะทำท่าใหม่ หรืออาจจะนำกิจกรรมที่ไม่ต้องออกแรงมาทำขณะพักแทนที่จะให้น้องนั่งพักเฉยๆ เช่น กระโดดเสร็จหนึ่งท่า พัก ยืนโยนรับ ส่งลูกบอล 10 ครั้ง แล้วไปกระโดดต่อ

- ขณะที่ฝึกน้องทำท่ากระโดดผู้ปกครองต้องเน้นให้น้องกระโดดเป็นจังหวะ ถ้าน้องกระโดดไม่เป็นจังหวะหรือนับเร็วไปผู้ปกครองต้องเตือนให้น้องพยายามทำให้เป็นจังหวะ ซึ่งในช่วงแรกของการฝึกท่าต่างๆที่น้องทำยังไม่ได้ผู้ปกครองอาจจะช่วยโดยการให้น้องจับมือขณะกระโดดและสอนน้องทีละขั้นโดยที่ยังไม่ต้องกระโดด ฝึกให้น้องเลียนแบบท่าที่จะต้องทำให้ได้ก่อน เมื่อน้องทำได้ดีขึ้นผู้ปกครองลดการช่วยเหลือลงจนน้องสามารถทำได้เอง เช่น กระโดดสองขาซ้าย - ขวา ตอนแรกผู้ปกครองสอนน้องให้รู้จักการเคลื่อนไหวขาให้ได้ก่อน เมื่อน้องทำได้เริ่มให้น้องกระโดดโดยที่จับมือผู้ปกครอง เมื่อน้องเริ่มกระโดดได้ดีขึ้นผู้ปกครองให้จังหวะและน้องกระโดดเอง

- ในกิจกรรมรูปแบบเดิมผู้ปกครองสามารถนำสื่อต่างๆเข้ามาผสมประกอบการทำกิจกรรมเพื่อให้มีความหลากหลายในการฝึก โดยที่ยังคงยึดตามวัตถุประสงค์เดิม เช่น ให้น้องกระโดดประกอบจังหวะเพลง หรือกระโดดพอปิดเพลง น้องต้องหยุดกระโดด ฝึกให้น้องรู้จักจังหวะ และการควบคุมตัวเอง เพื่อให้น้องไม่เบื่อกับการฝึกและทำให้น้องได้เรียนรู้ทักษะใหม่เพิ่มขึ้น

- อย่าไปเร้าหรือบังคับน้องขณะทำกิจกรรมมากเกินไป แต่ก็ไม่ใช่ตามใจ ควรคำนึงถึงความเหมาะสม และระลึกไว้ว่าตอนนี้เราทำการฝึกอยู่ กฎเงื่อนไขต่างๆที่ตกลงกันไว้ต้องทำให้ได้ ยืดหยุ่นได้แต่ไม่ใช่หย่อนยาน เพราะจะทำให้ได้ผลในการฝึกไม่ดีเท่าที่ควร

- ผู้ปกครองควรมีการปรับกิจกรรมให้มีความยากเพิ่มขึ้นในกิจกรรมที่น้องทำได้แล้ว  เพื่อเพิ่มทักษะการเรียนรู้ และฝึกการแผ่ขยายประสบการณ์ที่ตนเองได้เรียนรู้มาไปสู่การเรียนรู้รูปแบบใหม่ เช่น เมื่อน้องกระโดดขึ้น ลงได้ดีแล้ว ผู้ปกครองให้น้องกระโดดพร้อมโยนรับ ส่งลูก บอล เพื่อจะให้ได้ผลดีก่อนที่ผู้ปกครองจะมีการปรับกิจกรรมควรมีการปรึกษานักกิจกรรมบำบัดที่น้องทำการฝึกอยู่ร่วมด้วย เพราะบางท่าหรือการทำกิจกรรมบางอย่างมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ เพราะว่าการทำกิจกรรมต่างๆจะมีเทคนิคในการสอนอยู่ หากผู้ปกครองสงสัยสามารถสอบถามผู้เขียนได้คะ

- กิจกรรมหนึ่งสามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการได้หลายด้าน แต่ผู้ปกครองต้องมีวัตถุประสงค์หลักในการทำกิจกรรม เพราะในกิจกรรมหนึ่งผู้ปกครองจะให้น้องทำให้บรรลุทุกวัตถุประสงค์ในกิจกรรมเดียวอาจจะยาก และอาจจะทำให้ผู้ปกครองเกิดความเครียดว่าเพราะอะไรน้องถึงทำไม่ได้ ให้ผู้ปกครองระบุไปเลยว่าในกิจกรรมนี้ผู้ปกครองต้องการให้น้องแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้แก่อะไรบ้าง เช่น  การกระโดดบนเบาะ ในช่วงต้นผู้ปกครองอาจจะตั้งวัตถุประสงค์คือ น้องสาสามารถทำการเคลื่อนไหวตามผู้ปกครองได้ เมื่อน้องทำการเคลื่อนไหวตามผู้ปกครองได้แล้ว ผู้ปกครองอาจจะเพิ่มวัตถุประสงค์คือ นอกจากน้องจะสามารถทำการเคลื่อนไหวตามแบบผู้ปกครองได้แล้วน้องจะต้องมีการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ กล่าวคือผู้ปกครองค่อยๆเพิ่มวัตถุประสงค์ในการทำกิจกรรมเพิ่มขึ้น จนในที่สุดน้องสามารถทำการเคลื่อนไหวได้เอง เป็นจังหวะ  

 

หลักในการฝึก

 

- ในการฝึกผู้ปกครอง/ผู้ฝึกต้องมีอารมณ์ร่วมกับน้อง ในขณะฝึกต้องลดบทบาทความเป็นพ่อเป็นแม่หรือผู้บำบัดลงบ้าง ไม่ใช่คอยบอก คอยสอน หรือสั่ง แต่ต้องให้น้องได้อิสระคิดเอง ทำเองบ้าง เพียงแต่ผู้ปกครอง/ผู้ฝึกคอยช่วยชี้แนะ เพื่อให้น้องมีความมั่นใจในตัวเอง

- อย่าตำหนิเด็ก ถึงแม้ว่าเขาจะทำไม่เข้าท่า/หรือทำไม่เหมาะสม แต่ควรถามเหตุผลน้องก่อนว่า เพราะอะไรน้องถึงทำ/คิดอย่างนี้ อย่าเพิ่งไปดุเพราะคนเราจะทำอะไรต้องมีเหตุผลในตัวเอง และถ้าผู้ปกครอง/ผู้ฝึกมองดูว่าเหตุผลที่น้องบอกให้ฟังไม่เหมาะสม ผู้ปกครอง/ผู้ฝึกค่อยปรับความคิดของน้องว่าถ้าทำแบบนี้ในสิ่งที่ผู้ปกครอง/ผู้ฝึกเห็นว่าถูกต้องกับสิ่งที่น้องตอบออกมาให้น้องเลือกว่าอันไหนจะเหมาะสมกว่า ถ้าน้องยังเลือกในสิ่งที่น้องเลือกออกมา ผู้ปกครอง/ผู้ฝึกค่อยชี้นำหรือยกตัวอย่างของคนที่เลือกทำแบบนี้ให้น้องดูว่าถ้าทำแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น และถ้าทำแบบที่น้องบอกจะเกิดอะไรขึ้นให้น้องตัดสินใจเอง ถ้ายังยึดความคิดเดิมก็บอกน้องว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวคราวหลังเราค่อยคุยกันใหม่ก็ได้ แล้วบอกน้องให้กลับไปคิดดูนะว่าวิธีไหนจะดีกว่าเพื่อเป็นการเคารพความคิดของน้องด้วย น้องจะได้ไม่มีความรู้สึกว่าน้องต้องทำตามที่ผู้ปกครองบอกเสมอทุกครั้ง เพราะถ้าเราปิดกั้นความคิดของน้อง ก็จะทำให้น้องเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อตัวผู้ปกครอง เกิดความไม่มั่นใจในตัวเองเวลาที่จะต้องตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ เพราะว่าเวลาน้องจะทำอะไรมีพ่อแม่คอยตัดสินให้น้องตลอดมา  นอกจากนี้การที่ความคิดของน้องที่เสนอออกมาได้รับการยอมรับน้องก็จะเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง เกิดการยอมรับในตนเอง และไม่ตำหนิตนเอง 

- ควรให้การฝึกในรูปแบบซ้ำๆแต่เปลี่ยนวิธีการนำเสนอเพื่อให้น้องเกิดทักษะขึ้นมาจากการฝึกซ้ำๆ

- พยายามให้คำชม (ชมที่ความพยายาม) จากการทำกิจกรรมของน้อง

- ผู้ปกครอง/ผู้ฝึก ต้องมีการวิเคราะห์และสังเคราะห์กิจกรรมให้มีความเหมาะสมกับศักยภาพและความชอบของน้อง

- คนเราแต่ละคนมีความสามารถและความถนัดที่แตกต่างกัน พยายามฝึกให้น้องเปรียบเทียบกับตัวน้องเองว่าแต่ก่อนน้องเป็นอย่างไร ทำอะไรได้บ้าง และตอนนี้น้องทำอะไรได้บ้าง  ซึ่งจะทำให้น้องมีกำลังใจและมองเห็นจุดเด่นในตัวเอง และผู้ปกครองก็ใส่ความคิดเข้าไปว่าคนเราถ้ามีความพยายาม มั่นฝึกฝน เราก็จะสามารถทำงานต่างๆได้ดีขึ้น

- ผู้ปกครอง/ผู้ฝึกควรมีเงื่อนไขข้อตกลงที่ชัดเจน พยายามทำตามเงื่อนไขข้อตกลง อย่าหย่อนยาน เพราะน้องจะไม่เกิดการเรียนรู้กฎเกณฑ์ที่ผู้ปกครอง/ผู้ฝึกตั้งไว้ เพราะถ้าผู้ปกครอง/ผู้ฝึกหย่อนยานไม่ทำตามกฎ น้องก็จะไม่กลัวและก็จะเข้าใจว่ากฎมีไว้แค่ตั้ง ไม่จำเป็นต้องทำตาม   ซึ่งตอนนี้น้องยังเล็กอยู่ผู้ปกครองอาจจะยังมองไม่เห็นผลกระทบที่จะตามมาจากการที่ผู้ปกครองไม่เคยสอนน้องให้ทำตามกฎ แต่พอน้องเริ่มโตผู้ปกครองก็จะเริ่มเหนื่อยและมักจะบ่นว่า บอกแล้วทำไมน้องไม่ทำตาม บอกแล้วทำไมน้องไม่ฟัง ก็เพราะว่าน้องเกิดการเรียนรู้แล้วว่าน้องจะทำหรือไม่ทำตามกฎก็ได้ เพราะไม่เห็นเป็นอะไรเลย ซึ่งสิ่งดังกล่าวเป็นผลเนื่องมาจากผู้ปกครองไม่เห็นทำอะไรฉันเลย และผู้ปกครองก็จะไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ของสิ่งที่ผู้ปกครองต้องการให้น้องทำหรือให้น้องเป็น แต่ถ้าผู้ปกครอง/ผู้ฝึกมีกฎเกณฑ์ มีความสม่ำเสมอ มีความต่อเนื่อง เป็นแบบอย่างให้น้องเห็น น้องก็จะเรียนรู้และพฤติกรรมต่างๆของน้องก็จะดีขึ้น ก่อนที่จะสร้างเงื่อนไขข้อตกลงผู้ปกครอง/ผู้ฝึกต้องมีการพูดคุยให้น้องเข้าใจถึงเงื่อนไขและข้อตกลงต่างๆ หากน้องไม่ทำตามบทลงโทษที่น้องจะได้รับคืออะไร และรางวัลที่ได้คืออะไรถ้าน้องแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ถ้าน้องทำไม่ได้ จะรบเร้าอย่างไรก็อย่าใจอ่อน ถ้าเราใจอ่อนครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ก็จะมีอีก ทำให้ไม่มีบรรทัดฐานที่แน่นอน 

- หลักในการปรับพฤติกรรมผู้ปกครอง/ผู้ฝึกต้องมีความสม่ำเสมอและมีความต่อเนื่องและทำให้ได้ตามเงื่อนไข/ข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกันและต้องทำให้ได้ ในช่วงแรกของการปรับพฤติกรรมหรือทำกิจกรรมใหม่ น้องอาจจะต่อต้านหรือมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้นหรืออาจจะดูว่าน้องแย่ลง แต่จริงๆแล้วเป็นลูกเล่นของน้องที่ไม่อยากทำเนื่องจากตัวเองทำไม่ได้หรือไม่อยากทำ ก็เลยแสดงพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงจะได้ไม่ทำ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ใจไม่แข็งพอ ผู้ปกครอง/ผู้ฝึกก็จะตกหลุมพรางที่เด็กสร้างขึ้นมา

- ผู้ปกครอง/ผู้ฝึกต้องพยายามให้น้องได้เรียนรู้และพบเจอปัญหาและให้น้องได้รู้จักหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง อาจจะถูกบ้างผิดบ้างผู้ปกครอง/ผู้ฝึกก็อย่าไปดุหรือห้าม เพราะเด็กกำลังเรียนรู้สิ่งต่างๆจากสถานการณ์จริง

- ผู้ปกครองควรจะมีการพูดคุยกับน้องถึงพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่น้องทำในแต่ละวันก่อนนอน เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจระหว่างผู้ปกครองและน้อง เวลาน้องมีเรื่องอะไร  น้องก็จะกล้าเล่าให้ฟัง และถ้าวันไหนที่น้องแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็อธิบายพูดคุยถามน้องว่าเพราอะไรน้องถึงทำแบบนี้ ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีก น้องจะทำอย่างไร เป็นการฝึกให้น้องรู้จักคิดก่อนเจอสถานการณ์จริง และอาจจะมีการเล่านิทานที่มีพฤติกรรมคล้ายน้องว่าที่ตัวละครตัวนี้เป็นอย่างนี้เพราะอะไร ถ้าเป็นน้องจะทำอย่างไร

หมายเลขบันทึก: 201121เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2008 13:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท