เกษตรธรรมชาติ…ทางรอดของเกษตรกรไทย


พึ่งพาตนเองด้วยการทำการเกษตรธรรมชาติแบบพอเพียงเพื่อวิถีชีวิตที่พอเพียง สุขสงบกับธรรมชาติ แทนวิถีชีวิตที่ดิ้นรน ไม่พอเพียง ในกระแสทุนนิยมและวัตถุนิยม

เกษตรธรรมชาติทางรอดของเกษตรกรไทย

       ผศ.ดร.ธวัชชัย  นาคะบุตร

           30 มิถุนายน 2551

               

เกษตรไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวเพื่อการค้า ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้เครื่องทุ่นแรง ใช้พันธุ์พืชที่ปรับปรุง  มีต้นทุนสูง แต่ไม่สามารถควบคุมราคาผลิตผลได้  ทำให้เกษตรกรมักจะประสบปัญหาการขาดทุนอยู่เสมอ หรือได้ไม่คุ้มทุน (กำไรน้อย หรือไม่มีกำไร ถ้าคิดค่าแรงของคนในครอบครัว)

ทำไมเกษตกรจึงขาดทุน

สาเหตุที่เกษตรกรขาดทุน มีมากมาย อาทิ

ต้นทุนสูง เพราะปุ๋ยแพง  ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์  ต้องใช้จ่ายเรื่องเครื่องทุ่นแรง ดอกเบี้ยเงินกู้ ฯลฯ

ราคาผลิตผลต่ำด้วยสาเหตุต่าง ๆ อาทิ ผลผลิตล้นตลาด การกดราคา การโกงของพ่อค้า นักการเมืองและข้าราชการ

ขาดความรู้และเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการเกษตร ด้านการตลาด  

ขาดปัจจัยการผลิต อาทิ เครื่องทุ่นแรง

ภัยธรรมชาติ 

                ค่าใช้จ่ายในครอบครัวสูง เพราะต้องซื้ออาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ ชาวนาบางรายต้องซื้อข้าวกิน เพราะได้ขายข้าวที่ตนปลูกไปหมดแล้ว

เกษตรธรรมชาติคืออะไร

เกษตรธรรมชาติ เป็นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์แบบเคารพ รักษา รู้ เข้าใจ เชื่อมั่นและพึ่งพาธรรมชาติ

                เกษตรกรธรรมชาติเคารพธรรมชาติ  ไม่ทำลายธรรมชาติ  รักษาสมดุลทางธรรมชาติ อนุรักษ์ธรรมชาติ รักษา ฟื้นฟูและเพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพ   เกษตรกรธรรมชาติเข้าใจธรรมชาติ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพืช สัตว์ ความเกี่ยวพันของพืชกับพืช พืชกับสัตว์ สัตว์กับสัตว์ คนกับพืชและสัตว์ เกษตรกรธรรมชาติเชื่อมั่นในธรรมชาติว่าเป็นสิ่งที่สามารถพึ่งพาได้อย่างยั่งยืน เป็นแหล่งของปัจจัยต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตของมนุษย์  ชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติเป็นชีวิตที่มีความสงบสุข เกษตรกรธรรมชาติพึ่งพาธรรมชาติ ไม่ฝืนธรรมชาติ ปรับตัวเข้าหาธรรมชาติ ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างฉลาด (เช่น ใช้ไส้เดือน พรวนดิน ปลูกผักกาดหัว พรวน ดิน ปลูกพืชบำรุงดิน ปลูกพืชคลุมดิน ปลูกพืชชนิดหนึ่งบังร่มให้พืชชนิดอื่น)  ไม่เอาเปรียบธรรมชาติ

เกษตรธรรมชาติทำอย่างไร และดีอย่างไร

          

 

เกษตรธรรมชาติมีแนวทางและข้อดีดังต่อไปนี้

1. ปลูกพืชหลากหลายชนิดคละกันไปแบบธรรมชาติ  ให้พืชพึ่งพาและควบคุมกันเอง       เช่น ไม้ต้นบังร่มให้พืชที่ชอบร่ม ไม้ต้นคุมหญ้าไม่ให้รก ปลูกขิง ข่าใต้สักทอง ปลูกมันเสาให้เกาะปาล์มขวด     เป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ได้ใช้ประโยชน์จากพืชหลายชนิด ลดค่าใช้จ่ายและสร้างรายได้ครัวเรือน แต่ไม่ควรเน้นการผลิตเพื่อการค้า แต่ควรเน้นการผลิตเพื่อกินเพื่อใช้ในครัวเรือน หากเหลือจึงขาย เพราะถ้าเน้นเพื่อการค้า ก็อาจจะขาดทุนได้ แต่การผลิตเพื่อกินเพื่อใช้ในครัวเรือน ไม่มีคำว่า ขาดทุน ถ้ารู้วิธีปลูกพืชหลาย ๆ ชนิดร่วมกันอย่างเหมาะสม ทั้งประเภทไม้ป่า สมุนไพร ผัก ไม้ผล พืชพลังงาน ฯลฯ โดยพยายามกินหรือใช้ประโยชน์จากพืชทุกชนิดที่ปลูกหรือขึ้นเองตามธรรมชาติ และพยายามปลูกพืชให้มากชนิดที่สุด เพราะพืชทุกชนิดมีประโยชน์ การปลูกพืชมากๆ โดยเฉพาะพืชยืนต้นช่วยป้องกันภาวะโลกร้อน และลดภัยธรรมชาติ การปลูกพืชเชิงเดี่ยว การเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยวทำลายธรรมชาติ การเลี้ยงโคอย่างเดียวโดยโคนต้นไม้เพื่อปลูกหญ้าไม่ดีเท่าการเลี้ยงโคร่วมกับไม้ป่า

2. ไม่กำจัดวัชพืช ใช้วิธีควบคุมโดยธรรมชาติ ประหยัดแรงงาน ค่าใช้จ่าย ได้ประโยชน์จากพืชทุกชนิด ไม่ถือว่าพืชชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นวัชพืช

3. ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปล่อยให้พืช สัตว์ควบคุมกันเอง ไม่ถือว่าพืช สัตว์ชนิดหนึ่งชนิดใด เป็นศัตรูพืช ยอมรับความเสียหายที่อาจมีบ้าง ถือว่าเป็นธรรมดาหรือเป็นธรรมชาติ การไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชช่วยให้คน สัตว์และสิ่งแวดล้อมปลอดภัยจากสารพิษ

4. ไม่ไถหรือพรวนดิน ให้ไส้เดือนและรากพืช ไถพรวน ดินแทน นายมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ปลูก

ผักกาดหัวเพื่อพรวนดิน (ให้ผักกาดหัว พรวนดิน ให้) ประหยัดแรงงานและเวลา

                5. ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ปล่อยให้พืชสัตว์ ใส่ปุ๋ย โดยธรรมชาติ ประหยัดแรงงาน ค่าใช้จ่าย ดินไม่เสีย และดีขึ้นเรื่อย ๆ แบบยั่งยืน อาจปลูกพืชตระกูลถั่วบำรุงดิน มีไม้ต้นเอนกประสงค์ที่ช่วยบำรุงดิน เช่น ถ่อน ทองกวาว ประดู่ ฝาง กระจาย นนทรีป่า กัลปพฤกษ์ จามจุรี (พฤกษ์ Albizia lebbeck (L.) Benth.)

                6. เลี้ยงสัตว์อย่างเหมาะสม ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

                7. ควรทำเกษตรธรรมชาติแบบประณีต ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ซึ่งมีปราชญ์ชาวบ้านหลายท่านได้ทำและประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง อาทิ พ่อคำเดื่อง ภาษี ผู้ริ่เริ่มและส่งเสริมเกษตรประณีตหนึ่งไร่  พูลศักดิ์ สมบูรณ์ (แหลมยโสธร  อรหันต์ชาวนา) อำเภอกุดชม จ.ยโสธร ชาวนาผู้ปลอดหนี้และมีชีวิตทั้งครอบครัวอย่างมีความสุขจากการทำเกษตรพอเพียง แหลม กล่าวว่า คนอื่นๆ ทำนาเสร็จก็เข้ากรุง แต่ผมจะปลูกทุกอย่างที่สามารถกินได้ในพื้นที่ว่าง เหยียบลงตรงไหนก็สามารถกินได้หมดโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ เป็นการพึ่งพาตนเองและใช้ชีวิตอย่างพอเพียง แต่ถ้าสิ่งใดที่ต้องพึ่งพาคนอื่นตั้งแต่แรกก็จะไม่ลงมือทำ เพราะเศรษฐกิจพอเพียงไม่สามารถสำเร็จได้ ถ้าไปพึ่งพาคนอื่นตั้งแต่เริ่มต้น ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม อำเภอพนมสารคาม ฉะเชิงเทรา ผู้ริเริ่มวนเกษตรในเนื้อที่ 10 ไร่

                เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะแข่งขันในการค้าเสรีของตลาดโลก  รัฐบาล  หน่วยงานของรัฐ สหกรณ์ไทย การเมืองไทย และการศึกษาไทยยังไม่สามารถช่วยให้เกษตรกรไทยแข่งขันกับต่างชาติได้อย่างเสรี เกษตรกรไทยจึงเผชิญปัญหาและอยู่ในวังวนของความยากจน

เกษตรกรไทยจึงควรเลิกทำการเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อการค้าที่ต้องพึ่งพาตลาดโลก พึ่งพาผู้อื่น และอยู่ในฐานะเสียเปรียบ  ขาดทุน  ยากจน มีหนี้สิน แล้วหันมาพึ่งพาตนเองด้วยการทำการเกษตรธรรมชาติแบบพอเพียงเพื่อวิถีชีวิตที่พอเพียง สุขสงบกับธรรมชาติ แทนวิถีชีวิตที่ดิ้นรน ไม่พอเพียง ในกระแสทุนนิยมและวัตถุนิยม

www.tawatchainakabut.multiply.com

www.naturalagri.multiply.com

 

หมายเลขบันทึก: 200973เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2008 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท