“ความเชื่อ พิธีกรรมของชาวกุย”


ภูมิปัญญาชาวบ้าน

สรุปสาระภูมิปัญญา

 

1.  ภูมิปัญญา   วิจัยเรื่อง  ความเชื่อ พิธีกรรมของชาวกุย    กรณีศึกษาการรำแกลมอ  อำเภอสำโรงทาบ  จังหวัดสุรินทร์   วิจัยโดย นางวรรณภา พัวเวส  นางสาววิราวรรณ  มูลตรีภักดี  นางสาววัลภา พงษ์พันธ์ และ    นายชัยสิทธิ์  คุณสวัสดิ์

 

                1.1  ผลจากการวิจัยมีข้อค้นพบดังต่อไปนี้

                       1.1.1  ด้านประวัติความเป็นมาของชาวกุย

                        ชาวกุย (Chui)  ชาวกวย (Kuoy)  หรือส่วยภาคอีสาน (Soai)  เป็นชนเผ่าหนึ่งที่พูดภาษาในตระกูลมอญ  เขมร  หรือออสโตรเอเชียติก  ชาวกุยมีเลือดผสมระหว่างพวกเว็ดดิ  กับพวกเมเลาเนเชียลพันธุ์ผสม  มีหน้าตาคล้ายพวกเงาะ หรือพวกเซมัง  ลักษณะเด่น คือ ผมหยิก  ผิวคล้ำ  จมูกบาน  ริมฝีปากบาน  ชาวกุยเคยมีอาณาจักร และเคยมีพระเจ้าแผ่นดินมาก่อน  ถิ่นฐานเดิมของชาวกุยตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของประเทศกัมพูชา  เมืองกำปงธม  และเคยเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่และมีอำนาจมาก ต่อมาเขมรได้ใช้อำนาจทางทหาร ปราบชาวกุยและผนวกอาณาจักรกุยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเขมร

                        ชาวกุยจึงต้องอพยพเพื่อแสวงหาดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อใช้ในการเพาะปลูก  คาดว่าชาวกุยอพยพเข้ามาประเทศไทย  ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  ประมาณ พ.ศ.  2245  ถึง พ.ศ. 2326  โดยอพยพเข้ามาทางตอนใต้ของลาวทางด้านปากเซบ้องไฟของลาว  แล้วข้ามแม่น้ำโขงจากประเทศลาวเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใน 3 จังหวัด คือ สุรินทร์  ศรีสะเกษ  และบุรีรัมย์  ทางแก่งสะพือ  อำเภอโขงเจียม  ชาวกุยที่อพยพเข้ามาจะมีหัวหน้าของตัวเอง  คนไทยเรียกชาวกุยว่า  เขมรป่าดง  ชาวกุยเรียกตัวเองว่ากุย  กุย  โกย หรือกวย ซึ่งแปลว่า คน

                        พวกส่วย หรือ กุย  ปัจจุบันมีการตั้งถิ่นฐานกระจายกันอยู่ตามป่า ตามภูเขาสูง  เนื่องจากชาวกุยเคยปิดกั้นตัวเองไม่ยอมรับวัฒนธรรมใหม่ๆ  และบางครั้งการถูกรุกรานจากชนชาติอื่นที่อพยพเข้ามาใหม่ จึงทำให้ชาวกุยชอบหนีเข้าไปอยู่ในป่า  และหากสถานที่ใดเป็นสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพืชพรรณธัญญาหารเกิดขึ้นเอง  โดยไม่จำเป็นต้องปลูก ชาวกุยก็จะอพยพเข้าไปอยู่

                        วิถีชีวิตของชาวกุย  ลักษณะบ้านเรืองของชาวกุยมีลักษณะใต้ถุนสูง  ด้านหน้าจะยกสูงเพราะในสมัยก่อนชาวกุยทำไว้สำหรับเลี้ยงช้าง  ใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่วางหูกทอผ้าและวางกระด้งไหม  วัสดุเครื่องใช้ของชาวกุยจะสานด้วยหวายหรือไม้ไผ่  ชาวกุยบางกลุ่มจะแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ติดอยู่กับตัวบ้านให้เป็นยุ้งข้าว  แต่บางกลุ่มสร้างยุ้งข้าวแยกออกต่างหาก  (ครูบาใหญ่, สัมภาษณ์ 1 มกราคม 2550)  ชาวกุยรับประทานข้าวจ้าวเป็นอาหารหลัก  จะรับประทานข้าวเหนียวเพียงบางครั้ง  อาหารที่รับประทานเป็นประจำได้แก่  พริกตำ  แกงกบ  อาหารอื่นๆ  ได้แก่ เขียด  กิ้งก่า  ที่ชาวกุยเอามาสับ  ย่างและตำเป็นน้ำพริก  เป็นต้น  อาหารดิบที่บริโภค ได้แก่ กุ้งตัวเล็ก  ปลาซิวตัวเล็ก  เรียกว่า  กาผุห์  ผู้หญิงกุยสูงอายุนิยมเคี้ยวหมากและพลู  นอกจากนี้ยังเก็บลูกไม้ชนิดหนึ่งมาเคี้ยวกับหมากเรียกว่า ปลัย การ  ชาวกุยยังมีการเลี้ยงหมู  เป็น  ไก่  มี  การล้มวัวควาย  เพื่อการบริโภคหรือเมื่อเวลามีงานพิธี  เช่น  เซ่นผิบรรพบุรุษ  งานบวช  เป็นต้น

               

2

                         ประเพณีและวัฒนธรรมชาวกุย   การสร้างบ้านเรือน  บ้านของชาวกุยเป็นบ้านใต้ถุนสูง  เพื่อใช้สำหรับวางหูกทอผ้า  วางกระด้งไหม  วัตถุเรื่องสาน  แบบบ้านเรียบง่าย  ไม่มีการฉลุลาย  ถ้าเป็นกระท่อมจะไม่มีใต้ถุน  วัสดุที่หาง่ายในการสร้างบ้านคือการใช้ตอไม้ไผ่ที่แก่จัดมาทำเป็นเสาบ้าน  ปูด้วยพื้นไม้ไผ่ผ่าครึ่งตามยาวใช้ค้อนทุบให้แตกเหมือนฟาก  หรือใช้ไม้ยืนต้นมาผ่าทำเป็นพื้น  พื้นจะมีลักษณะขรุขระ  ส่วนฝาบ้านทำด้วยไม้ขัดแตะหรือใบยาง  หลังคาบ้านทำเป็นรูปจั่วมุงด้วยหญ้าคา  ปัจจุบันการสร้างบ้านเรือนเปลี่ยนเป็นเสาปูนและพื้นปูน  โดยมีการปรับวัฒนธรรมด้านการสร้างบ้านเรือนให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง

                          การแต่งกาย  ลักษณะเสื้อผ้าของสตรีของชาวกุย  ภาษาเรียกว่า  ฮั้ว  ส่วนมากสตรีชาวกุยจะสวมใส่เสื้อและใช้ในทุกโอกาสทั้งสานบุญ  งานประเพณี  งานพิธีต่างๆ ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล  โดยทั่วไปประกอบด้วยเสื้อและผ้าซิ่น  กล่าวคือ  เสื้อกุย หรือฮั้วกุย  เป็นเสื้อที่ตัดและเย็บด้วยมือ  โดยใช้ผ้าไหมยกดอก (แก็บ)  สีดำที่ย้อมด้วยเม็ดมะเกลือแขนยาว  ปักแซวด้วยเส้นไหมสีขาว  สรีแดง  สีเขียว  สีเหลือง  หรือสีอื่นๆ ตามความชอบ  โดยจะแซวสลับกันไปตามแนวตะเข็บของเสื้อ  เช่น  ตะเข็บข้าง  ตะเข็บวงแขน  รอบคอ  สาบเสื้อด้านหน้าและชายเสื้อ  ส่วนกระดุมใช้กระดุมเงิน (กะตุมประ) หรือโลหะ  หรือร้อยเส้นไหม  ผ้าซิ่นหรือผ้านุ่ง  สตรีชาวกุย  นิยมนุ่งผ้าไหมมัดหมี่ หรือผ้าไหมหลายเข็น (จิกระวี)  ผ้าซิ่นของสตรีกุย  มีส่วนประกอบแบ่งออกเป็น 3 ส่วน  คือ  ส่วนที่ 1  เรียกว่า  หัวซิ่น (อัมเปิลหรือปลอดจิก)  ส่วนที่ 2 คือ ตัวซิ่น  ส่วนที่ 3  เรียกว่า  ตีนซิ่น (กะปูลหรือเญิงจิกหรืออินเญิง)  การแต่งกายของชาวกุยมีลักษณะพิเศษในเรื่องการแต่งกาย  เสื้อผ้าที่ใช้ในการแต่งกายมีพวกผ้าฝ้าย  ซึ่งชาวกุยจะปลูกฝ้ายไว้เพื่อทอเป็นเสื้อ  กางเกง  ผ้าถุง  ผ้าขาวม้า  สีที่ย้อมมีสีน้ำเงินได้จากต้นคร้าม  สีดำได้จากผลมะเกลือ  สีเหลืองได้จากขมิ้น  แก่นขนุน  และ เข  สีแดงจากครั่ง  เปลือกหว้า  ส่วนผ้าไหมเป็นที่น่าสนใจว่า  พวกกุยที่เข้ามาในหมู่บ้าน  มีความสามารถทอผ้าไหมได้ดีและค่อนข้างซับซ้อนในกระยวนการผลิต  จึงทำให้ผ้าไหมของกุยมีราคาแพง  ผู้ใช้ผ้าไหมต้องเป็นผู้มีฐานะดี  ชาวบ้านไม่นิยมใช้เพราะดูแลรักษายาก จะใช้เฉพาะกรณีพิเศษเท่านั้น

                      1.1.2  ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ความเชื่อ พิธีกรรม การรำแกลมอ

เมื่อกล่าวถึงเรื่อง  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ความเชื่อ  พิธีกรรม การรำแกลมอ  ชาวกุยมีความเชื่อเช่นเดียวกับหลักคำสอนของศาสนาพุทธ  คือ  ความเชื่อในเรื่องของวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว  โดยบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วยังมีอิทธิพบต่อชีวิต และจิตใจ  รวมถึงความปลอดภัยในชีวิตที่เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บที่มาเบียดเบียน และคามเชื่อในเรื่องของการรักษาโรค  โดยเฉพาะการรำแกลมอในการรักษาโรคซึ่งชาวกุยมีความเชื่อในวิญญาณบรรพบุรุษหรือที่เรียกว่า ผีมอ  ด้วยเหตุนี้  แกลมอ  จึงเป็นการแสดงในเชิงพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในเรื่องของวิญญาณบรรพบุรุษ  และเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูของกลุ่มชนที่นับถือ ผีมอ  (ผีบรรพบุรุษ)  การรำแกลมอเป็นการร่ายรำในลักษณะเป็นการบวงสรวงอัญเชิญผีบรรพบุรุษเข้ามาประทับร่าง  การจะจัดให้มีพิธีการรำแกลมอได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปรึกษาหารือกันในครอบครัวก่อน  และที่สำคัญจะต้องมีการวางแผนขั้นตอนในการดำเนินงานที่ละเอียดอ่อนจึงต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ  เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในระหว่างการประกอบพิธีกรรม  การแสดงรำแกลมอจึงเป็นการแสดงนาฎศิลป์พื้นบ้านที่เน้นในเชิงพิธีกรรม  แต่ซ่อนความสวยงามของการร่ายรำในการประกอบพิธีกรรม (เวทีชาวบ้าน, 30 ธันวาคม 2549)  ซึ่งวิธีการของความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ  ที่แสดงออกมาเป็นรูปธรรม จะเป็นวัฒนธรรมของชาวกุย พอจะสรุปได้ดังนี้

3

1. ชาวกุยมีความเชื่อในเรื่องของวิญญาณบรรพบุรุษว่า  ที่เรียกว่า  ผีมอ  โลกของวิญญาณกับวิถี

ชีวิตของชาวกุยมีความผูกพันกันจนไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้ และผีมอมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต  การเจ็บไข้ได้ป่วย  โดยชาวกุยเชื่อว่า การเจ็บไข้ได้ป่วยที่หาสาเหตุไม่ได้เกิดจากการกระทำของผีมอ  การทำพิธีจึงเป็นการอ้อนวอนให้ผีมอพอใจ  ความเชื่อเหล่านี้ถือเป็นความเชื่อที่แฝงด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีผลต่อจิตใจของคนในสังคมให้เกิดความเข้มแข็ง

2 . การจัดพิธีกรรมการรำแกลมอเป็นการทำเพื่อแสดงความกตัญญูต่อผีบรรพบุรุษ  ซึ่งพิธีกรรม

เหล่านี้ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกแสดงออก ผ่านวิถีชีวิต ความเชื่อ พิธีกรรม รวมทั้งกระบวนการคิด เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล เพื่อป้องกันโรคภัย เพราะฉะนั้น การประกอบพิธีกรรมมีความหมายสามอย่างด้วยกัน คือ อย่างแรกเป็นการชักนำให้ผู้คนที่อยู่ร่วมกันในกลุ่มเดียวกัน หรือในสังคมเดียวกันให้มาพบปะกัน  ก่อให้เกิดการรู้จักและสัมพันธ์กันขึ้น  อย่างที่สองคือการสื่อความหมายให้เข้ากันในการอยู่ร่วมกัน  เพราะเรื่องพิธีกรรมเป็นระบบสัญลักษณ์ของการสื่อสาร  อย่างที่สามเป็นเรื่องทางด้านจิตใจที่เป็นผลมาจากทั้งความเชื่อและการกระทำ เชื่อว่าความเป็นสิริมงคลทำให้เกิดความสบายใจและมั่นใจจนเป็นการยอมรับอะไรต่าง ๆ  ร่วมกันได้  (ศรีศักดิ์  วัลลิโภดม, 2536.) ความเชื่อเหล่านี้ถือเป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับ  ให้บุคคลปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของระเบียบสังคมได้เช่นกัน (พัทยา  สายหู, 2536.)  เช่นเดียวกับพิธีการรำแกลมอที่แฝงไปด้วย ระบบกฎเกณฑ์ของความสัมพันธ์ในครอบครัวและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข

                1.2  ภูมิปัญญา  ความเชื่อ พิธีกรรมของชาวกุยกับการจัดการศึกษา และพัฒนาสังคม

                       1.2.1  จากภูมิปัญญาดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีคุณค่าอย่างยิ่ง  ดังนั้นจึงควรบันทึกคุณค่า  รูปแบบ  เนื้อหาสาระ  ขั้นตอนของพิธีกรรมอย่างเป็นระบบ  ให้มีความถูกต้องสมบูรณ์  เหมาะสมกับการเรียนรู้ตามสภาพสังคมปัจจุบัน  อันเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้แก่คนรุ่นหลังได้มากที่สุด 

                       1.2.2  ควรประสานเรื่องความเชื่อและพิธีกรรมของชุมชนเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างเป็นรูปแบบให้นักเรียนซึ่งทั้งหมดก็คือเด็กในชุมชน  ได้เกิดการเรียนรู้ เข้าใจ ภูมิใจ  ตระหนักในคุณค่า  รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

                       1.2.3  การเรียนรู้ ความเชื่อและพิธีกรรมโดยผ่านระบบการศึกษา  จำเป็นต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนให้มากที่สุด เพราะหากขาดความสอดคล้องระหว่างกัน  อาจเกิดความแปลกแยก ขัดแย้งกลายเป็นการทำลายระบบคุณค่าดั้งเดิมของความเชื่อและพิธีกรรมของชุมชนได้

                 เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ดังกล่าว โรงเรียนและท้องถิ่นควรร่วมกันนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องดังกล่าวและเรื่องอื่นๆ จัดทำหลักสูตรท้องถิ่นโดยสอดแทรกในหลักสูตรสถานศึกษาตามความเหมาะสมเพื่อให้เด็กและเยาวชนเห็นคุณค่า ตระหนักถึงความสำคัญอันจะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน ท้องถิ่น สังคม และประเทศชาติต่อไป

 

2.  ภูมิปัญญา    วิจัยเรื่อง  การศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น การทอเสื่อกก  กรณีศึกษาหมู่บ้านบางสระเก้าจังหวัดจันทบุรี  วิจัยโดย นางสาววรางคณา  กิจยรรยง  นางสาวพรทิพย์ สุขอดิศัย  และนางสาวนิรันตรี 

คล้ายหนองสรวง

 

                2.1  ผลจากการวิจัยมีข้อค้นพบดังต่อไปนี้

                       2.1.1  สภาพทั่วไปของชุมชน

                       หมู่บ้านบางสระเก้า มีที่ตั้งอยู่ที่ ตำบลสระเก้า  อำเภอแหลมสิงห์  จังหวัดจันทบุรี  มีเขตการปกครอง รวม 5 หมู่บ้าน  ชุมชนบ้านบางสระเก้าในอดีตมีการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักที่อยู่คู่กับการดำรงชีวิตของชุมชน เมื่อว่างเว้นจากการทำนาในฤดูแล้งชาวบ้านจะตัดใบจากมาเย็บไว้  เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยก่อนที่ฤดูฝนจะย่างกรายเข้ามา บ้างก็รับจ้างทอผ้าฝ้ายเพื่อเป็นอาชีพเสริมหรือเก็บไว้ใช้สอยเป็นเครื่องนุ่งห่มของสมาชิกในครัวเรือนบ้างก็ ทอเสื่อกกเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน และในชุมชนก็มีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์   ได้แก่  ลำคลองธรรมชาติ  ป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของชุมชน

                      ตำบลบางสระเก้า  เป็นพื้นที่ราบลุ่มชายทะเล  มีลำคลองไหลผ่าน  แต่พื้นที่ส่วนหนึ่งก็เป็นที่ดอนสามารถปลูกข้าวได้  ด้วยการยกคันกั้นเป็นพื้นที่ทำนาปลูกข้าวของชาวบ้าน  มีข้าวไว้บริโภคตลอดปี พื้นที่นาในหมู่บ้าน  นอกจากชาวบ้านจะใช้ปลูกข้าวแล้วยังใช้เป็นพื้นที่ปลูกพืชหมุนเวียน ถั่วลิสงคือพืชหมุนเวียนที่ชาวบ้านปลูกและเก็บผลผลิตตากแห้งไว้บริโภคและขยายพันธุ์ในปีต่อไป  วิถีความเป็นอยู่ของชุมชนอยู่กันแบบพี่น้อง  เป็นเสมือนครอบครัวใหญ่  ยึดมั่นต่อหลักธรรมของพระพุทธศาสนา  โดยมีวัดบางสระแก้ว  เป็นแหล่งเรียนรู้และยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน ชาวบ้านได้อาศัยเป็นสถานที่เรียนหนังสือและเป็นศูนย์รวมกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน  นอกจากนี้ยังมีการพึ่งพิงปัจจัยภายนอก โดยการนำผลผลิตทางการเกษตรมาแลกเปลี่ยนเป็นสินค้ากับเรือสินค้าที่เดินทางมาเทียบท่าอยู่ที่ชุมชน

                      ปัจจุบันอาชีพหลักของคนในชุมชน  คือ อุตสาหกรรมในครัวเรือน  (ทอเสื่อกก)  ส่วนอาชีพรอง คือ เกษตรกรรมหมุนเวียน ทำสวนผลไม้ค้าขาย  เลี้ยงกุ้งกุลาดำ  ประมงขนาดเล็ก  เลี้ยงหอยนางรม  เลี้ยงปลา  รับจ้าง ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในตำบลจะประกอบอาชีพมากกว่า 1 อาชีพขึ้นไป

                        2.1.2  ลักษณะภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอเสื่อกก

                        ชาวบ้านในหมู่บ้านบางสระเก้าได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาทางด้านหัตถกรรมประเภทงานจักสาน  สามารถสร้างสรรค์งานหัตถกรรมที่มีความประณีตและเป็นเอกลักษณ์สอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมไทยได้  นับตั้งแต่กระบวนการปลูกจนกระทั่งแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านในหมู่บ้านบางสระเก้านั้นต้องมีองค์ประกอบของภูมิปัญญาพื้นบ้านปรากฏอยู่ทุกขั้นตอนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการปลูกกก จนถึงการทอเสื่อ โดยเริ่มจากการปลูกกก  รู้จักและเรียนรู้วิธีการปลูกเพื่อให้ได้กกที่มีคุณภาพโดยปลูกกกในนาน้ำกร่อยซึ่งทำให้กกมีความคงทนอายุยาวนาน มากกว่ากกที่ปลูกในน้ำจืด  การนำเอาต้นกกมาแปรรูปเพื่อใช้ในการทอเสื่อรู้จักการเลือกวัตถุดิบและคัดวัตถุดิบ การจักกก  และจักให้ละเอียดเพื่อที่เวลานำกกไปตากแห้งจะมีเส้นที่ละเอียดเมื่อทอเป็นเสื่อ ผืนจะได้งานที่ประณีตและสวยงามมากกว่าที่อื่น เนื่องจากชาวบ้านรู้จักคิดค้นและทอเสื่อลายอื่นๆ จนได้ลายเสื่อที่เป็นเอกลักษณ์และความโดดเด่น  โดยอาศัยความชำนาญการลองผิดลองถูก การจดจำ  สั่งสมประสบการณ์จนกลายเป็นการทอเสื่อที่มีลวดลายเฉพาะของหมู่บ้านบางสระเก้า  เสื่อกกในหมู่บ้านบางสระเก้า ได้มีการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบเพื่อตอบสนองประโยชน์การใช้งานในชีวิตประจำวันและได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง  จนเป็นงานหัตถกรรมที่แฝงไปด้วยคุณค่าความงานทางศิลปะมากขึ้น  เช่น  การแปรรูปจากเสื่อผืนเป็นเสื่อพับ

5

                        การทอเสื่อกกของชาวบ้านบางสระเก้าเป็นการสืบทอดประสบการณ์ทางวิชาชีพ จากอดีตถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีการดำรงรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนไว้  สั่งสมมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และได้ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง  โดยรูปแบบของการสืบทอดจะเริ่มจากการถ่ายทอดความรู้  ความชำนาญเทคนิคการทำ ที่มีลักษณะเฉพาะให้กับคนในครอบครัวและเครือญาติก่อน  ปัจจุบันรูปแบบการสืบทอดมีวิธีการที่หลากหลายมากขึ้น มีทั้ง การเรียนรู้จากคนในครอบครัว เรียนรู้จากผู้รู้  ผู้ชำนาญ โดยผู้สืบทอดจะเป็นใครก็ได้   ทั้งจากคนในชุมชนและนอกชุมชน  ที่สำคัญสืบทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน  โดยผ่านหลักสูตรท้องถิ่นภายในโรงเรียน  เนื่องจากผู้บริหารโรงเรียนเห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่นับวันคนรุ่นหลังในหมู่บ้านสนใจที่จะสืบทอดน้อยลง  ปัจจุบันผู้สืบทอดส่วนใหญ่อยู่ในวันกลางคน  วัยหนุ่มสาว และวัยเด็ก  ซึ่งรูปแบบการถ่ายทอดภูมิปัญญาก็เปลี่ยนไปจากเดิมคือจากการบอกเล่าด้วยวาจาเป็นเอกสารเผยแพร่  และตั้งกลุ่มเครือข่ายการทอเสื่อกก  เช่น  ศูนย์ศิลป์เสื่อบางสระเก้า  กลุ่มทอเสื่อสุริยากลุ่มสหกรณ์สตรีทอเสื่อ เป็นต้น

                     2.1.3  แนวทางการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอเสื่อกก

                       จากภูมิปัญญาการทอเสื่อกกที่ลดน้อยลงจนแทบจะสูญหายไปจากชุมชน  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530  ทำให้มีการรวมตัวของชาวบ้านจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาอย่างเป็นทางการ  เพื่อร่วมกันสืบทอดภูมิปัญญานี้ไว้ให้คงอยู่คู่กับชุมชน โดยปัจจุบันประกอบด้วยกลุ่มศูนย์ศิลป์เสื่อบางสระเก้า  กลุ่มสิริยาทอเสื่อกกบางสระเก้า  กลุ่มสตรีสหกรณ์ทอเสื่อกก และกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์เสื่อ  ซึ่งจากอดีตภูมิปัญญาการทอเสื่อกกเป็นอาชีพเสริมของคนในชุมชน  แต่ปัจจุบันเมื่อมีการจัดตั้งกลุ่มการทอเสื่อกกทำให้ภูมิปัญญาการทอเสื่อกกกลับมารุ่งเรืองอี

คำสำคัญ (Tags): #ชาวกุย
หมายเลขบันทึก: 200954เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2008 18:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 20:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีใจมากเลยที่ได้ข้อมูลจากคุณครูในโรงเรียนสำโรงทาบ อิอิ ขอบคุณมากๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท