การจัดการความรู้ในสถานศึกษา:30


การจัดการความรู้เป็นวิธีที่เอื้อประโยชน์ให้ทั้งนักเรียน ครู เกิดการพัฒนาในเชิงคุณภาพร่วมกัน

การประยุกต์ใช้การจัดการความรู้ในการจัดการเรียนรู้

สถานศึกษา/โรงเรียน มีภารกิจหลักคือ ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังผู้เรียน  เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของโรงเรียน และหน่วยงานองค์กรต้นสังกัด

ซึ่งในปัจจุบันการแลกเปลี่ยนความรู้ การถ่ายทอดความรู้ และใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างบุคลากรภายในสถานศึกษา รวมไปถึงผู้เรียนนั้น   เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ภายในองค์กร ก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน

เพราะเป็นช่องทางที่ผู้เรียน และบุคลากรได้ใช้เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนความรู้ การถ่ายทอดความรู้ และใช้ข้อมูลร่วมกันภายในสถานศึกษาปัจจุบันพบว่า สถานศึกษาหลายแห่ง เริ่มเห็นความสำคัญ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวางแผน การดำเนินงาน และการประเมินผล ในการประชุมปรึกษาหารือครูทุกคนมีโอกาสได้ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน นักเรียนสามารถใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้

                    ครูสามารถดึงข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนและกิจกรรมประจำวันของแต่ละชั้นเรียนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายใน (Intranet)  มีข้อมูลภูมิหลังและประวัติของนักเรียน เป็นรายบุคคล ผู้บริหารมีข้อมูลเกี่ยวกับครูในแง่มุมต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานบุคคล เป็นต้น

แต่การจะใช้ข้อมูลร่วมกันให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์  จะอาศัยเฉพาะเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมขององค์กรให้เอื้อต่อการใช้ข้อมูลด้วย

การจัดการความรู้ จึงเป็นเพียงแนวคิดและแนวปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับคนในองค์กรเป็นหลักโดยมองว่า การจัดการความรู้จึงเป็นเหมือนกรอบหรือระเบียบวิธีปฏิบัติที่เอื้อให้คนในองค์กรมีกระบวนการในการเก็บรวบรวมข้อมูลและใช้ความรู้ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของงานและผลลัพธ์ให้ดียิ่งขึ้น

ดังนั้นการจัดการความรู้เพื่อให้เกิดการใช้ข้อมูลร่วมกันอย่างมีประสิทธิผล จะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน คือ คน กระบวนการ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดังนี้

1) คน  คนเป็นทรัพยากรขององค์กรที่สำคัญที่สุด เพราะคนเป็นผู้จัดการความรู้ แต่เราสามารถจัดองค์กรเพื่อให้องค์กรมีนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อให้บุคลากรใช้ความรู้ร่วมกัน การจัดการความรู้จึงยึดหลักการทำงานเป็นทีม  มาแชร์ความคิดเห็นร่วมกัน

ในสถานศึกษาหลายแห่ง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศร่วมกัน  เพราะการรวมกลุ่มกันขึ้นนี้ ช่วยให้งานของแต่ละคนมีความน่าสนใจและมีประสิทธิผลที่ดีขึ้น การรวมตัวนี้เป็นไป
โดยธรรมชาติ จึงเป็นไปด้วยความจริงใจ เป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ในอนาคตของสมาชิกทุกคน การจัดการความรู้เป็นวิธีการที่จะส่งเสริมรูปแบบความร่วมมือแบบนี้ ที่อาจคล้ายๆ กับชุมชนของระดับปฏิบัติการ
(Communities of Practice-CoP)

2) กระบวนการ  ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ เช่นกระบวนการพัฒนาหลักสูตร การจัดเก็บความรู้ของแต่ละฝ่าย และระบบแรงจูงใจ  ล้วนแต่มีอิทธิพลต่อการไหลเวียนของสารสนเทศภายในองค์กร การจัดการความรู้จึงเป็นการส่งเสริมกระบวนการทำงานขององค์กรเพื่อไปสู่การตัดสินใจที่มีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

3) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)  เทคโนโลยีมีความสำคัญ แต่จะต้องพิจารณาการจัดหาให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด แต่เทคโนโลยีไม่ใช่เงื่อนไขของการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ แต่เทคโนโลยีมีส่วนสนับสนุนให้การทำงานขององค์กรมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น การใช้เทคโนโลยีให้เกิดผลจะต้องทำให้กลุ่มเป้าหมายหลักภายในองค์กรเข้าถึงข้อมูลและเปิดช่องทางให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างฝ่ายต่างๆ  ซึ่งอาจครอบคลุมถึงผู้เรียนด้วยเช่นเดียวกัน

การจัดการความรู้จึงเป็นระเบียบวิธีที่เอื้อประโยชน์ให้ทั้งนักเรียน ครู และผู้เกี่ยวข้อง ที่นำไปใช้ในการตัดสินใจในการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ และเกิดความเชื่อมั่นในเชิงคุณภาพที่อาจจะเกิดขึ้นในสถานศึกษาแห่งนั้น โดยที่เป้าหมายร่วมกัน คือ ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ผลทางการเรียนรู้ที่ดี ครู ผู้บริหารมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการปฏิบัติงานที่ดี
 
ขอขอบคุณ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน. การจัดการความรู้ในการจัดการศึกษา

หมายเลขบันทึก: 200622เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2008 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท