แนวทางปฏิรูปการศึกษาไทย


ควรบูรณาการภารกิจทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อมิให้แยกส่วนกันทำอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งทำให้หย่อนประสิทธิภาพ ไม่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของสังคม

แนวทางปฏิรูปการศึกษาไทย

                                                                                                                                ผศ.ดร.ธวัชชัย  นาคะบุตร

                                                                                                                   25 มิถุนายน 2550

          เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติและสังคม   แต่เราก็ยังคงละเลยที่จะพัฒนาการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง  คุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับต่าง ๆ ยังต่ำอย่างน่าเป็นห่วง ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองทั้งหลายทั้งปวงมีผลพวงมาจากการศึกษาที่ด้อยคุณภาพ  การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมายังทำไม่ถูกจุด ครู อาจารย์จำนวนมากท้อแท้ ท้อถอย สอนไปวัน ๆ  ผู้เขียนเห็นว่ามีทางที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาของไทยได้หากทุกฝ่ายร่วมมือกันทำอย่างจริงจัง  และแม้ว่าแนวคิดที่จะนำเสนอต่อไปนี้อาจมิได้นำไปใช้อย่างเป็นระบบซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย โดยเฉพาะจากผู้มีอำนาจในการบริหารการศึกษาของชาติ   แนวคิดที่จะนำเสนอก็อาจเป็นประโยชน์ได้เช่นกัน หากท่านใดท่านหนึ่งนำไปปรับใช้เป็นส่วนตัว ส่วนครอบครัว หรือเฉพาะองค์กรเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ต้องรอทั้งระบบ  หากท่านเห็นด้วยอาจช่วยกันต่อยอดแนวคิดนี้ และช่วยกันเผยแพร่แนวคิดนี้สู่สาธารณชน

                ผู้สอน  ครู อาจารย์ ผู้บริหารและประชาชนควรเปลี่ยนความคิดว่าเราสามารถปฏิรูปการศึกษาของไทยได้  สิ่งที่ทำอยู่ สามารถพัฒนาได้ โดยเริ่มที่ตนเอง  ช่วยกันคิดหาวิธีพัฒนาการจัดการศึกษา ซึ่งอาจนำแนวทางที่ผู้เขียนกำลังนำเสนอไปใช้ หรืออาจจะมีแนวทางอื่น ๆ

                ในทัศนะของผู้เขียน  การจัดการศึกษาของประเทศไทยควรดำเนินการดังต่อไปนี้

1. จัดการศึกษาแบบบูรณาการ  การบูรณาการหรือการผสมผสาน  มีหลายด้านดังต่อไปนี้

                1.1 บูรณาการภารกิจของสถานศึกษา   สถานศึกษาระดับอุดมศึกษามีภารกิจในการสอน วิจัย บริการทางการศึกษา ควรบูรณาการภารกิจทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อมิให้แยกส่วนกันทำอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งทำให้หย่อนประสิทธิภาพ ไม่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของสังคม ปัจจุบันครู อาจารย์ส่วนใหญ่เน้นการสอนเป็นหลัก ไม่ค่อยวิจัย ไม่ค่อยบริการทางการศึกษา   แม้จะเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยก็ตาม  ส่วนใหญ่สอนตามตำรา สอนตามที่เรียนมา โดยไม่ค่อยคำนึงถึงสภาพของเศรษฐกิจและสังคม ไม่ค่อยเอาสังคมเป็นตัวตั้งในการเรียนการสอน ทำให้สอนไปแบบไร้ทิศทาง  ไม่สนองตอบความต้องการของสังคม ดังนั้นควรผสมผสานการสอน การวิจัยและการบริการชุมชนเข้าด้วยกัน

                สถานศึกษาในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาก็ควรทำการสอน วิจัยและบริการทางการศึกษาแบบบูรณาการเช่นเดียวกับอุดมศึกษา แต่อาจจะลดความเข้มข้นลงตามขีดความสามารถของผู้เรียน ผู้สอนและอุปกรณ์

                อุดมศึกษาไทยมิได้เน้นการวิจัย แม้ว่าจะมีวิชาวิจัย   การทำโครงงาน ปัญหาพิเศษ วิทยานิพนธ์ ก็เป็นเพียงแบบฝึกหัดที่มักไม่สอดคล้องกับปัญหาของสังคม ไม่ต่อเนื่อง ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างครบวงจร จึงมีประโยชน์น้อยกว่าที่ควร แต่ถ้ามีการทำวิจัยโดยเอาปัญหาและความต้องการของสังคมเป็นตัวตั้งและทำแบบบูรณาการกับภารกิจการสอน และการบริการทางการศึกษาแล้ว สถานศึกษาก็จะทำหน้าที่ได้อย่างครบถ้วนทุกด้านไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่ตกหล่น ไม่ต้องมาห่วงว่าการวิจัยของนักศึกษาและอาจารย์จะสูญเปล่า เพราะวิจัยแล้วนำมาใช้สอนนักศึกษา สอนและบริการประชาชนทันที แก้ปัญหาทันที  ไม่มากก็น้อย

                ขั้นตอนหลักในการจัดการเรียนการสอน การวิจัยและการบริการชุมชนแบบบูรณาการ ได้แก่

                1. สำรวจชุมชน สำรวจในด้านที่เป็นเนื้อหาของหลักสูตรที่กำลังจัดการเรียน-การสอน-วิจัย-บริการทางการศึกษา เช่น วทบ. (เกษตรศาสตร์) ก็สำรวจเกี่ยวกับการเกษตรในชุมชน ทั้งการผลิต การตลาด การขนส่ง การแปรรูป การบริโภค ปัญหาการเกษตร ปัญหาและความต้องการของเกษตรกร ฯลฯ  ผู้เรียนด้านการบริหารจัดการก็สำรวจชุมชนในด้านการบริหารจัดการที่มีอยู่ในชุมชน ว่าเป็นอย่างไร ทำอย่างไร จะพัฒนาอย่างไร โดยเอาความรู้ที่สำรวจได้กับความรู้จากแหล่งอื่น ๆ มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และนำไปใช้พัฒนา ซึ่งหลายท่านอาจมองไม่ออกว่าจะนำไปใช้ได้อย่างไร ถ้าองค์กร หน่วยงาน ชุมชนไม่สนใจ ไม่ยอมรับ ไม่เอาด้วย คำตอบก็คือ การจัดทำโครงการต้องพิจารณาว่าจะศึกษาอะไร ที่ใด ระดับใด ผู้เกี่ยวข้องสนใจจะพัฒนาหรือไม่ อาจเอาหน่วยงานที่สนใจ  ต้องมีการติดต่อประสานงานกับหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง   หรืออาจพัฒนางานในระบบบุคคลก็ได้ โดยเอางานของบุคคลซึ่งอาจเป็นตัวผู้เรียนเป็นตัวตั้งก็ได้ ศึกษาและก็พัฒนาตัวผู้เรียนเองก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทำในขอบเขตใหญ่ก็ได้ แต่เน้นที่วิธีการ กระบวนการและคุณภาพของการเรียนการสอนการวิจัยและการบริการชุมชนในรูปแบบบูรณาการ แม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็ได้วิธีการ กระบวนการที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์แท้จริงทันที

                2. กำหนดโครงการเรียน-สอน-วิจัย-บริการทางการศึกษาเป็นโครงการแบบบูรณาการที่ครู อาจารย์  ผู้บริหาร นักศึกษา ประชาชนร่วมกันเขียน ดำเนินการ วัดผล ประเมินผล

                การวิจัยอาจทำได้จำกัด แต่ก็ย่อมทำได้โดยให้อยู่ในเนื้อหาตามหลักสูตร โดยเอาชุมชน สังคมเป็นตัวตั้ง

                การสอน ผู้สอนเอาเนื้อหาของหลักสูตรมาสอนให้สอดคล้องกับชุมชน เช่น การสอนชีววิทยาสอนตามสภาพของชุมชน เช่น ชาวบ้านเลี้ยงไก่ วัว สุกร ปลูกมะขามหวานก็สอนเกี่ยวกับไก่ วัว สุกร คน มะขามหวาน

                จำนวนโครงการขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ตัวอย่าง เช่น นักศึกษาหลักสูตร วท.บ. (เกษตรศาสตร์)  ในภาคเรียนหนึ่ง หรือ ในปีหนึ่งอาจทำโครงการ 1- 2 โครงการ เนื้อหาบูรณาการวิชาเกษตร ชีววิทยา เคมี ชีววิทยา วิจัย คณิตศาสตร์ การบริหาร การบริการุมชน การวัดผล ประเมินผล

                สถานที่เรียนขึ้นอยู่กับเนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน ฯลฯ สถานที่เรียนอาจจะเป็นไร่ นา สวน ป่าไม้ ชุมชน ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ (เรียนปฏิบัติการทางเคมี) โรงงาน บริษัท ห้างร้าน ทะเล ภูเขา บ้านของผู้เรียน (เรียนผ่านอินเตอร์เนต เรียนงานที่บ้านของผู้เรียน) ฯลฯ  การเรียนการสอนที่อยู่แต่ในห้องเรียน แม้จะใช้สื่อการสอนช่วยก็ไม่สมจริงเท่าของจริง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้ผู้เรียนเรียนจากภายนอกห้องเรียนให้มากกว่าที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าการสอนนอกห้องเรียนดูจะยุ่งยากกว่า สิ้นเปลืองกว่า แต่ถ้าใช้ให้ถูกวิธีก็สามารถทำได้ไม่ยาก ไม่สิ้นเปลือง และปลอดภัย  ผู้สอนควรพิจารณาวางแผนว่าเนื้อหาใด เรื่องใดบ้างที่จะให้ผู้เรียนเรียนในห้องเรียน เนื้อหาใดควรให้เรียนนอกห้องเรียน เนื้อหาใดให้ผู้เรียนเรียนโดยใช้สื่อใด หรือผ่านช่องทางใด เช่น การค้นหาความรู้จากเว็ปไซต์, การส่งการบ้าน รายงานทาง e-mail, การเรียนทาง video conference, การเรียนโดย Chat Room, การเสวนาในชุมชน การเรียนในวัด การเรียนในไร่นา การเรียนผ่านรายการวิทยุชุมชน  วิทยุของสถานศึกษา

                3. ดำเนินการตามโครงการ ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์  ผู้สอนสอนแบบบูรณาการ โดยอาศัยการสอนเป็นคณะ ใช้ผู้สอนหลายคนสอนร่วมกันเป็นคณะ

                4. วัดผล ประเมินผล วัดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียน วัดประโยชน์ของโครงการที่มีต่อองค์กร ชุมชน สังคม ฯลฯ ตามที่ตั้งไว้เป็นวัตถุประสงค์ของโครงการ มีการวัดผล ประเมินผลผู้สอน และผู้บริหารด้วย เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงการจัดการศึกษาและนำไปใช้ประกอบในการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ การเลื่อนขั้นเงินเดือน

                ในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก การสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ควรเปิดให้ผู้สนใจภายนอกสถานศึกษา (มหาวิทยาลัย) ได้มีโอกาสเข้าฟังและสอบถามได้ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้วิทยานิพนธ์มีคุณภาพอย่างแท้จริง และเป็นการเผยแพร่วิทยานิพนธ์สู่สาธารณชน อาจมีการเผยแพร่สดผ่านอินเตอร์เนตและวิทยุกระจายเสียงของมหาวิทยาลัย วิทยุกระจายเสียงชุมชน วิทยุกระจายเสียท้องถิ่นด้วย มหาวิทยาลัยควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบกำหนดการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์  มหาวิทยาลัยควรบรรจุวิทยานิพนธ์ทั้งหมดเข้าไว้ในเว็ปไซต์

                5. เผยแพร่ ขยายผล โดยบรรจุรายงานของโครงการเข้าไว้ในเว็ปไซต์ของสถานศึกษาอย่างละเอียดทุกขั้นตอนเพื่อเป็นประโยชน์ในการสร้างองค์ความรู้

               การสอนแบบทำเป็นโครงการบูรณาการซึ่งรวมการเรียน การสอน การวิจัยและการบริการทางการศึกษาเข้าด้วยกัน  หลักสูตรอาจกำหนดเนื้อหา  กรอบ เกณฑ์ ขนาดของโครงการ  มีการวัดผล ประเมิลผลว่าผู้เรียนได้ทำโครงการต่าง ๆ ครอบคลุมเนื้อหาของแต่ละหลักสูตรแล้วหรือไม่ แต่ไม่ควรยึดเนื้อหามากจนเกินไป ควรพิจารณาว่าผู้เรียนได้ทำโครงการอยู่ในกรอบของเนื้อหาตามหลักสูตรนั้น ไม่หลุดไปนอกหลักสูตรนั้น  ควรเน้นให้ผู้เรียนรู้วิธีเรียนรู้อย่างบูรณาการ คิดเป็น ทำเป็น  ใช้การเรียนรู้แก้ปัญหา พัฒนาตนเอง ชุมชนและสังคมได้อย่างแท้จริง โดยเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ หมายความว่า ใช้ได้อย่างแท้จริง แต่ปริมาณงานไม่จำเป็นต้องมาก ตัวอย่าง เช่น ผู้เรียนหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมอาจทำโครงการรณรงค์ปลูกป่า  ผู้เรียนอาจรณรงค์การปลูกป่าในพื้นที่ไม่ต้องมาก แต่ทำต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ปี จนเห็นผลอย่างแท้จริงก็ถือว่าได้ผล หรือแม้แต่ผู้เรียนปลูกป่าในที่ดินของตนเองและศึกษาการปลูกป่าที่ตนเองทำว่าปลูกพืชชนิดใด ประโยชน์มีอะไรบ้าง ศึกษาการเติบโตฯลฯ  มีการจดบันทึก เผยแพร่ความรู้ให้ผู้อื่น  ก็ถือว่าผู้เรียนได้มีการศึกษาเรียนรู้แบบบูรณาการแล้ว

                การสอนต้องไม่สอนแยกเป็นรายวิชาแบบเดิม แต่นำเนื้อหามาหลอมหลวมกัน ศึกษาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน ตามสภาพของชุมชน องค์กร หน่วยงานที่เป็นแหล่งเรียนรู้ มิใช่เรียนแต่ในห้องเรียน แต่การสอนในห้องเรียนก็อาจใช้ด้วยแต่เน้นการออกไปศึกษานอกห้องเรียน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อหา อาจกำหนดเป็นรายวิชาแบบสหวิทยาการ เพื่อลดจำนวนรายวิชาลง หรือไม่มีรายวิชาเลย (หากติดปัญหาการตีเงินเดือนของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็อาจเขียนหลัดสูตรแบบที่ก.พ.รับรอง แต่สอนแบบบูรณาการ)  

                  หลักสูตรอาจเป็นหลักสูตรเฉพาะทาง หรือหลักสูตรที่สอนแบบกว้าง ๆ ก็ได้ แต่เน้นการบูรณาการ หมายถึง บูรณาการเนื้อหา วิธีการเรียน-สอน-วิจัย-บริการทางการศึกษา ส่วนเนื้อหาจะเป็นอะไรก็แล้วแต่สภาพ ปัญหาและความต้องการของสังคมและหรือผู้เรียน หากผู้เรียนรู้ความต้องการของตนเองก็อาจให้ผู้เรียนร่วมกับผู้สอนกำหนดหลักสูตรของตนเองได้เอง โดยความยินยอมของสถานศึกษา แต่ถ้าผู้เรียนไม่ทราบความต้องการของตนเอง ก็เอาชุมชนหรือองค์กรหรือสังคมของผู้เรียนเป็นตัวตั้งในการกำหนดหลักสูตร 

                อาจมีคำถามว่าถ้าไม่มีหลักสูตรก่อน แล้วจะทำอย่างไร คำตอบก็คือ อาจมีหลักสูตรก่อนก็ได้ โดยมาจากสภาพ ปัญหาและความต้องการของสังคม แต่อาจเปิดโอกาสให้ผู้เรียนปรับหลักสูตรหรือสร้างหลักสูตรเฉพาะตนเองขึ้นได้

                เวลาที่ใช้จัดการเรียนการสอนในแต่ละโครงการจะต้องยาวพอ อาจเป็น  1 ภาคเรียน 2 ภาคเรียน 3 ภาคเรียน 4 ภาคเรียน  1 ปีการศึกษา 2 ปีการศึกษา 3 ปีการศึกษา หรือ 4 ปีการศึกษา ก็ได้ตามความเหมาะสม

                1.2 บูรณาการการบริหารของสถานศึกษา ต้องบูรณาการการบริหารสถานศึกษาให้เอื้อต่อการจัดการศึกษาแบบบูรณาการ แก้ไขระเบียบ ข้อบังคับ และออกระเบียบ ข้อบังคับใหม่ให้เอื้อต่อการจัดการศึกษาแบบบูรณาการ อาทิ การบริหารงานด้านกิจการนักเรียน นักศึกษาควรบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอน  เช่น การเรียนการสอนเรื่องประชาธิปไตย   อาจทำได้โดยให้ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของนักเรียน นักศึกษา   กิจกรรมไหว้ครู กิจกรรมกีฬา ควรผสมผสานกับด้านวิชาการหรือการเรียนการสอน กล่าวคือ มิใช่จัดให้มีการแข่งขันกีฬาอย่างเดียว แต่จะควรมีการเรียนการสอน การวิจัยและบริการชุมชนไปด้วย ให้ชุมชนได้มีส่วนรวมตั้งแต่การวางแผน การดำเนินงาน การประเมินผล และให้ชุมชนได้รับประโยชน์ด้วย ชมรม สมาคมกีฬาควรได้รับเชิญเข้ามามีส่วนร่วม ครู อาจารย์ต้องมีส่วนร่วม ในกิจกรรมการสอน (เช่นสอนนักกีฬาในด้านทักษะกีฬา วิทยาศาสตร์การกีฬา  กติกา วินัย การจัดการแข่งขัน)  ทำการวิจัยในแง่มุมต่างๆ และบริการทางการศึกษา (ในเรื่องที่เกี่ยวกับกีฬา อาทิ เผยแพร่ข่าวสารข้อมูลผ่านวิทยุของสถานศึกษา หรือวิทยุชุมชน อินเตอร์เนต) นักศึกษาที่เรียนนิเทศศาสตร์ก็ทำหน้าที่ด้านนิเทศศาสตร์ นักศีกษาด้านก่อสร้างก็อาจช่วยในการเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ นักศึกษาศิลปะก็อาจช่วยทำป้ายประชาสัมพันธ์ ตกแต่งสถานที่

                1.3 บูรณาการหลักสูตร  เนื้อหา  วัตถุประสงค์  กิจกรรม เวลาเรียน การวัดผล ประเมินผล  บูรณาการทุก ๆ อย่างที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน

                1.4 บูรณาการการเรียนกับการดำรงชีพ  ควรสร้างหลักสูตรที่ให้ผู้เรียนสามารถเรียนพร้อมไปกับการทำงานโดยไม่ต้องหยุดหรือลางานเพื่อเรียน  แต่สามารถเรียนกับงานที่ทำ โดยกำหนดวัตถุประสงค์ในการเรียนเพื่อพัฒนางานที่กำลังทำอยู่และพัฒนาตนเองจากที่เป็นอยู่ไปสู่เป้าหมายที่กำหนด เช่น เจ้าของร้านค้าปลีก อาจเรียนหลักสูตรบริหารธุรกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาร้านค้าของตนเอง มีโครงการพัฒนาร้านตนเองเป็นกิจกรรมการเรียน การสอน การวิจัยและการบริการชุมชนทำร่วมกันระหว่างผู้เรียน ผู้สอน และสถานศึกษา แนวคิดนี้ เหมาะที่จะนำไปใช้กับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั้งปริญญาตรี โท และเอก และน่าจะนำไปใช้ได้กับระดับมัธยมศึกษาด้วย  จะทำให้ผู้เรียน ผู้สอนเห็นเป้าหมายในการเรียนการสอน การวิจัยและการบริการทางการศึกษา  เกิดผลงานในการพัฒนาคน ชุมชน สังคม ประเทศชาติอย่างแท้จริง ไม่เลื่อนลอยเหมือนสภาพส่วนใหญ่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  เป็นการพัฒนาจากสิ่งที่เป็นอยู่ไปสู่สิ่งที่ต้องการ

                ในกรณีที่ผู้เรียนยังไม่มีอาชีพ  ก็อาจเรียนโดยอาศัยเจ้าของกิจการ องค์กร หน่วยงานในชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกงาน ทั้งนี้ผู้เรียน สถานศึกษาต้องประสานขอความร่วมมือจากสถานประกอบการ องค์กร หน่วยงาน ซึ่งสถานประกอบการ องค์กร หน่วยงานที่ร่วมมือก็จะได้รับประโยชน์เช่นกันคือได้รับการบริการทางการศึกษาที่เป็นผลิตผลส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียน การสอน การวิจัยและการบริการทางการศึกษา เป็นการได้ประโยชน์ร่วมกัน ทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง  แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องมีความเข้าใจในวัตถุประสงค์ เป้าหมาย วิธีการของการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ เพราะต่างจากแบบเดิม ๆ อย่างมาก  ซึ่งแม้จะมีการฝึกงาน ฝึกสอน แต่ก็เป็นเพียงการส่งผู้เรียนไปฝึกงาน มิได้มีการสำรวจ วิจัยและร่วมกันวางโครงการเพื่อพัฒนาผู้เรียนและสถานประกอบการ องค์กรที่รับฝึกงานไปพร้อมกันด้วย 

                สถานศึกษาควรมีสถานประกอบการในสาขาวิชา วิชาเอก โปรแกรมวิชาต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติ แหล่งวิจัยของนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจมาฝึกปฏิบัติหรือวิจัย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ เพื่อให้ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษามีความรู้ ทักษะ ตลอดจนเจตคติที่ดีต่อการทำงาน มีความรู้ ความสามารถอย่างแท้จริงในการสร้างงาน ทำงาน แก้ปัญหาในการทำงาน สถานศึกษาอาจมีร้านค้า โรงงาน โรงพิมพ์ โรงแรม อู่ซ่อมรถ สถานพยาบาลที่เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปในเชิงธุรกิจอย่างเต็มรูป  โดยให้นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ได้มีส่วนในการวางแผนและดำเนินการในทุกขั้นตอนให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้  โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเสียหายต่อธุรกิจหากมีการวางแผนและดำเนินการที่รัดกุม โดยฝึกนักเรียน นักศึกษาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน  นอกจากจะทำให้การจัดการศึกษามีประสิทธิภาพและคุณภาพสูงขึ้นแล้ว  ยังช่วยให้สถานศึกษา ครู อาจารย์ ผู้บริหารและผู้เรียนมีรายได้    สถานศึกษาอาจร่วมมือกับสถานประกอบการเพื่อจัดการเรียนการสอน วิจัยและบริการทางการศึกษาแบบบูรณาการร่วมกัน

                กระบวนการเรียนการสอนแบบนี้จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนคติ ทักษะ ประสบการณ์ ปัญหา ความต้องการ ฯลฯ ระหว่างผู้เรียน ผู้สอน สถานประกอบการ สถานศึกษา ผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง

                การเรียนการสอนอาจกำหนดเป็นโครงการที่จะสร้างงานให้ผู้เรียนที่ยังไม่มีอาชีพไปด้วยเลย จะทำให้มีงานทำตั้งแต่เริ่มเรียนหรือระหว่างเรียน ฝึกการคิดสร้างงานโดยผู้เรียนร่วมกับผู้สอน ไม่ต้องรอว่าเรียนจบแล้วจึงคิดหางานทำ งานที่เริ่มอาจเป็นกิจการขนาดเล็ก อาทิ การค้าปลีกเล็ก ๆ การขายตรง การขายของในตลาดนัด การรับจ้างต่อเติมบ้าน โดยเริ่มจากการเป็นกรรมกร ช่างฝึกหัดแล้วพัฒนาเป็นช่าง และผู้รับเหมาก่อสร้าง สถานศึกษา ธนาคารหรือรัฐอาจให้สินเชื่อในการเริ่มกิจการ  หากทำได้ตามแนวคิดนี้ น่าจะเป็นการปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างแท้จริง  วิธีการนี้อาจจะดูว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ผู้เขียนคิดว่าถ้าได้ทดลองทำแบบโครงการนำร่อง แล้วค่อย ๆ พัฒนา น่าจะทำได้ คงต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนวิธีการ โดยอย่าเพิ่งคิดว่า ทำไม่ได้หรอก เพราะเหตุผลต่าง ๆ นา ๆ ทั้ง ๆ ที่ในด้านหลักการที่ผู้เขียนได้นำเสนอมา น่าจะเป็นไปได้ และน่าจะดีกว่าแบบเดิม ๆ ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ผู้เขียนเห็นว่ามีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ต้องการแรงงาน และยินดีฝึกงานให้นักเรียน นักศึกษา (ที่ตั้งใจ) สถานศึกษาอาจประกาศรับสมัครสถานประกอบการที่สนใจร่วมโครงการ หรือมีหนังสือเชิญเข้าร่วมโครงการ  ทางด้านการเกษตร มีเจ้าของที่ดินจำนวนมากที่ต้องการแรงงานจากนักศึกษาและต้องการพัฒนาที่ดินและกิจการของเขา  หากสถานศึกษาติดต่อประสานงานก็จะเกิดโครงการความร่วมมือในการให้การศึกษาในแนวบูรณาการซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย  ด้านการก่อสร้างก็เช่นกัน ประชาชนหาช่าง ผู้รับเหมาที่มีคุณภาพ คุณธรรมได้ยากมาก สถานศึกษาที่สอนวิชาก่อสร้างน่าจะใช้โอกาสนี้จัดการศึกษาแบบบูรณาการ

                การศึกษาแบบที่กล่าวถึงนี้มิได้แยกการศึกษาออกจากการดำรงชีพ แต่บูรณาการเข้าด้วยกันให้มากที่สุด จนแทบจะแยกกันไม่ออก ซึ่งต่างจากการศึกษาในปัจจุบันที่แยกออกจากการดำรงชีพอย่างชัดเจน กล่าวคือ เรียนแล้วจึงทำงาน  เรียนเผื่อ ๆ โดยยังไม่รู้ว่าจะทำงานอะไร กับเรียนโดยรู้ว่ากำลังทำอะไร จะทำอะไร จะพัฒนาตนเอง สถานประกอบการ องค์กรไปทิศใด อย่างไร ดังนั้นผู้เรียนจะต้องฝึกคิด วางแผน ทำ วัดผลประเมินผล ผู้สอนก็ต้องคิดเป็น  สอนให้ผู้เรียนคิดเป็นจริง ๆ มิใช่ฝึกคิดเล่น ๆ เป็นเพียงแบบฝึกหัด ถ้าผู้สอนยังคิดไม่เป็น คิดไม่ดีจริงก็ต้องหาผู้สอนที่เก่งกว่ามาช่วย หรือปรึกษา   ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อให้สามารถดำเนินการสอนได้บรรลุผลดี ดังนั้นผู้สอนจะต้องตื่นตัว พัฒนาตนเองอยู่เสมอ และสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องรู้จริง ถ้าไม่รู้ก็ต้องเรียนรู้ เรียนจากชุมชน หรือจากแหล่งใด ๆ ก็ตามมิใช่เรียนแต่จากตำราอย่างเดียว

                การเรียนการสอนดังกล่าวจะสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ใช้กับชุมชนที่เป็นแหล่งเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง เพราะมาจากชุมชนนั้น ๆ และสามารถปรับใช้ได้กับชุมชนอื่น ๆ ที่มีสภาพใกล้เคียงได้ ดีกว่าการเรียนสอนที่นำองค์ความรู้จากต่างถิ่นต่างแดนเป็นหลักโดยมิได้ปรับใช้และพัฒนาองค์ความรู้ขึ้นมาใหม่ แต่ทั้งนี้มิได้ปฏิเสธองค์ความรู้ต่างถิ่น

                ผู้เขียนมีแนวคิดที่ทำได้ง่าย ๆ ในการสร้างองค์ความรู้ ดังนี้

                1.สำรวจชุมชน โดยใช้เครื่องมือง่าย ๆ คือ ปากกา สมุดบันทึก ถ้ามีกล้องถ่ายรูป กล้

หมายเลขบันทึก: 200031เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2008 19:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ร่วมปฎิวัติการศึกษาเพื่อความเป็นไท

http://gotoknow.org/blog/plays-learns/320506

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท