20. การคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นผู้บริหาร


การคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นผู้บริหาร

                การเลือกบุคคลเข้ามาเป็นผู้บริหารทุกระดับจำเป็นจะต้องพิจารณาจากคุณสมบัติที่เหมาะสมกับตำแหน่ง คุณสมบัตินั้นควรประกอบด้วยอะไรบ้าง

                เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ผู้นำ (Leader) เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งต่อความสำเร็จขององค์การทั้งนี้ เพราะผู้นำมีภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบโดยตรงที่จะต้องวางแผนสั่งการดูแล และควบคุมให้บุคลากรขององค์การปฏิบัติงานต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ปัญหาที่เป็นที่สนใจของนักวิชาการ และบุคคลทั่วไปอยู่ตรงที่ว่าผู้นำทำอย่างไร หรือมีวิธีการนำอย่างไรจึงทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือผู้ตามเกิดความผูกพันกับงานแล้วทุ่มเทความสามารถ และพยายามที่จะทำให้งานสำเร็จด้วยความเต็มใจ ในขณะที่ผู้นำบางคนนำอย่างไร นอกจากผู้ใต้บังคับบัญชาจะไม่เต็มใจในการปฏิบัติงานให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเกลียดชัง และพร้อมที่จะร่วมกันขับไล่ผู้นำให้ไปจากองค์การ ดังนั้นการคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นผู้บริหารทุกระดับควรพิจารณาจากคุณสมบัติ ดังนี้

                1. ความรู้ (Knowledge) การเป็นผู้บริหารนั้น ความรู้เป็นสิ่งจำเป็นที่สุด ความรู้ในที่นี้มิได้หมายถึงเฉพาะความรู้เกี่ยวกับงานในหน้าที่เท่านั้น หากแต่รวมถึงการใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมในด้านอื่น ๆ ด้วย การจะเป็นผู้บริหารที่ดี หัวหน้างานจึงต้องเป็นผู้รอบรู้ ยิ่งรอบรู้มากเพียงใด ฐานะแห่งความเป็นผู้บริหารก็จะยิ่งมั่นคงมากขึ้นเพียงนั้น

                2. ความริเริ่ม (Initiative) ความริเริ่ม คือ ความสามารถที่จะปฏิบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใดในขอบเขตอำนาจหน้าที่ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องคอยคำสั่ง หรือความสามารถแสดงความคิดเห็นที่จะแก้ไขสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ดีขึ้น หรือเจริญขึ้นได้ด้วยตนเอง ความคิดริเริ่มจะเจริญงอกงามได้ หัวหน้างานจะต้องมีความกระตือรือร้น คือมีใจจดจ่องานดี มีความเอาใจใส่ต่อหน้าที่ มีพลังใจที่ต้องการความสำเร็จอยู่เบื้องหน้า

                3. มีความกล้าหาญ และความเด็ดขาด (Courage and firmness) ผู้บริหารที่ดีจะต้องไม่กลัวต่ออันตราย ความลำบากหรือความเจ็บปวดใด ๆ ทั้งทางกาย วาจา และใจ ผู้บริหารที่มีความกล้าหาญ จะช่วยให้สามารถผจญงานต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ นอกจากความกล้าหาญแล้ว ความเด็ดขาดก็เป็นลักษณะอันหนึ่งที่จะต้องทำให้เกิดมีขึ้นในตัวของผู้บริหารเอง ต้องอยู่ในลักษณะของการ กล้าได้กล้าเสีย ด้วย

                4. การมีมนุษยสัมพันธ์ (Human relations) ผู้บริหารที่ดีจะต้องรู้จักประสานความคิด ประสานประโยชน์ สามารถทำงานร่วมกับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับการศึกษาได้ ผู้บริหารที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี จะช่วยให้ปัญหาใหญ่เป็นปัญหาเล็กได้

                5. มีความยุติธรรม และมีความซื่อสัตย์ (Fairness and Honesty) ผู้บริหารที่ดีจะต้องอาศัยหลักของความถูกต้อง หลักแห่งเหตุผล และความซื่อสัตย์สุจริต ต่อตนเองและผู้อื่น เป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยสั่งการ หรือปฏิบัติงานด้วยจิตที่ปราศจากอคติ ปราศจากความลำเอียง ไม่เล่นพรรคเล่นพวก

                6. มีความอดทน (Patience) ความอดทน จะเป็นพลังอันหนึ่งที่จะผลักดันงานให้ไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างแท้จริง

                7. มีความตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตูม (Alertness) ความตื่นตัว หมายถึง ความระมัดระวัง ความสุขุมรอบคอบ ความไม่ประมาท ไม่ยืดยาดขาดความกระฉับกระเฉง มีความฉับไวในการปฏิบัติงาน ทันต่อเหตุการณ์ ความตื่นตัวลักษณะที่แสดงออกทางกาย แต่การไม่ตื่นตูม เป็นพลังทางจิตที่จะหยุดคิดไตร่ตรองต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รู้จักใช้ดุลยพินิจที่จะพิจารณาสิ่งต่าง ๆ หรือเหตุต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง พูดง่าย ๆ ผู้บริหารที่ดีจะต้องรู้จักควบคุมตัวเองนั้นเอง (Self control)

                8. มีความภักดี (Loyalty) การเป็นผู้นำหรือผู้บริหารที่ดีนั้น จำเป็นต้องมีความจงรักภักดีต่อหมู่คณะ ต่อส่วนรวม และต่อองค์การ ความภักดีนี้จะช่วยให้หัวหน้าได้รับความไว้วางใจ และปกป้องภัยอันตรายในทุกทิศได้เป็นอย่างดี

                9. มีความสงบเสงี่ยมไม่ถือตัว (Modesty) ผู้บริหารที่ดีจะต้องไม่หยิ่งยโส ไม่จองหอง ไม่วางอำนาจ และไม่ภูมิในใจสิ่งที่ไร้เหตุผล ความสงบเสงี่ยมนี้ ถ้ามีอยู่ในหัวหน้างานคนใดแล้ว ก็จะทำให้ลูกน้องมีความนับถือ และให้ความร่วมมือเสมอ

                หากพูดถึง ผู้นำ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นลักษณะของผู้บริหาร และเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่มีส่วนช่วย ให้องค์การประสบความสำเร็จ หรือความล้มเหลว และสามารถแข่งขันกับองค์การอื่นได้หรือไม่ ในโลกปัจจุบันที่ภาวการณ์แข่งขันนั้นสูง หากเราเปรียบเทียบองค์การเหมือนกับเรือลำหนึ่งที่เรือจะแล่นสู่ฝั่ง ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่นั้น มีองค์ประกอบหลายประการทั้งความสามารถของลูกเรือ สภาพทะเล แต่องค์ประกอบที่สำคัญที่สุด คือ กัปตัน หรือผู้นำในเรือลำนั้น หากกัปตันไม่มีความรู้ความสามารถที่เพียงพอ โอกาสที่เรือจะเข้าสู่ฝั่งได้อย่างปลอดภัยก็จะมีน้อย แต่หากกัปตันมีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ความชำนาญที่ดีแล้ว โอกาสที่เรือจะเข้าสู่ฝั่งได้อย่างปลอดภัยก็จะมีสูง เช่นเดียวกับองค์การ หากมีผู้นำ หรือผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ องค์การก็สามารถจะแข่งขันกับผู้อื่นได้ และประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

                ในอดีตลักษณะผู้นำที่ดีและเข้มแข็งนั้น จะมองเพียงในด้านกายภาพ บุคลิกภาพ ความรู้ ความสามารถ ความมั่งคั่ง และบารมี เท่านั้น แต่สำหรับในปัจจุบันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา ผู้นำที่ดี และเข้มแข้งยังต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีการติดต่อสื่อสารในองค์การที่ดี ฯลฯ เพื่อที่จะองค์การไปสู่ความสำเร็จตามที่เป้าหมายได้ตั้งไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้สมาชิกในองค์การเกิดความพึงพอใจ ในงานที่เขาทำด้วย

               

 

 

หมายเลขบันทึก: 199915เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2008 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท