แนวการจัดระบบการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตย


แนวการจัดระบบการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตย

 แนวการจัดระบบการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตย


 

                การศึกษากับการพัฒนาประชาธิปไตย

การมีวัฒนธรรมทางการเมือง หรือการมีจิตใจผูกพันกับระบบการเมืองแบบใดแบบหนึ่ง จนเกิดความประพฤติปฏิบัติที่พัฒนามาเป็นวัฒนธรรม ย่อมเป็นผลลัพธ์ที่ได้มาจากกระบวนการถ่ายทอดวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ จากการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น และจากการมีประสบการณ์กับกระบวนการทางการเมืองการบริหารในทุกขั้นตอนของชีวิต สถาบันสำคัญๆ ที่มีส่วนช่วยอบรมกล่อมเกลาสร้างสมวัฒนธรรม และจิตใจของคนเรา ได้แก่ ครอบครัว ศาสนา โรงเรียน ชุมชน สถานที่ทำงาน สื่อมวลชน และระบอบการปกครองของสังคมนั้นนั่นเอง สถาบันต่างๆ ดังกล่าว หากจำแนกตามประเภทของระบบการศึกษาจะได้ 3 ประเภท คือ การศึกษาตามธรรมดาวิสัย ( Informal Education ) ซึ่งเป็นกระบวนการการศึกษาที่ทุกคนประสบในการดำรงชีวิตประจำวัน การศึกษาในระบบโรงเรียน ( Formal Education ) ซึ่งเป็นกระบวนการศึกษาที่จัดขึ้นในสถาบันการศึกษาทั่วๆ ไป และการศึกษานอกโรงเรียน (Non - Formal Education ) ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่นอกเหนือไปจากการศึกษาในระบบโรงเรียน ซึ่งทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบโรงเรียนนี้ เป็นการศึกษาที่จงใจจัดขึ้น เพื่อกล่อมเกลาบุคคลให้มีวัฒนธรรมทางการเมือง หรือมีจิตใจแบบประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องอาศัยการจัดการศึกษาในแบบดังกล่าวเป็นหลักในการพัฒนาประชาธิปไตย

แนวทางในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาการเมืองระบอบประชาธิปไตย

1) บทบาทของการศึกษาในฐานะเป็นกระบวนการสังคมประกิตทางการเมือง

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมทางการเมืองของบุคคลในประเทศ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการเมืองของประเทศนั้นๆ ระบบการเมืองจะมีลักษณะอย่างไร จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับบุคคลในระบบการเมืองนั้นๆ ว่ามีวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างไร

การศึกษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเมือง โดยสร้างบุคคลให้มีความรู้ความเข้าใจ และมีพฤติกรรมต่อเนื่องจนกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมือง โดยกระบวนการสังคมประกิตทางการเมือง ซึ่งมีความหมายที่สรุปได้ว่า เป็นกระบวนการที่ทำให้บุคคลมีเจตคติและความรู้สึกผูกพันต่อระบบการเมือง และต่อบทบาทของตนเอง รวมถึงความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนความสำนึกทางการเมือง

ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย การศึกษาจะมีบทบาทในการพัฒนาทางการเมือง ดังนี้

1.1) ให้ความรู้หรือสร้างศรัทธาเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน ให้ประชาชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการทางประชาธิปไตย เช่น กติกาของความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีการเลือกตั้งเสรี การใช้สิทธิที่จะคัดค้าน สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นโดยเสรี การยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย การตัดสินปัญหาโดยอาศัยเสียงข้างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความคุ้มครองแก่ฝ่ายเสียงข้างน้อย และการมีรัฐธรรมนูญเป็นแม่บท

1.2) ให้ประชาชนมีความรู้สึก มีความจงรักภักดีอย่างมั่นคง (Loyalty) และมีความผูกพันที่จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นพลเมืองดี (Civic Obligation) ของประเทศ

1.3) ให้ประชาชนได้รู้จักการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของตน คือ ให้รู้ว่าบทบาทของตนมีอย่างไรบ้างในระบอบประชาธิปไตย และรู้ว่าจะแสดงบทบาทอย่างไรเมื่อใด

1.4) ช่วยกระตุ้นและสร้างบุคคลให้มีแนวคิดใหม่ๆ เช่น เห็นว่าการดำเนินงานทางการเมืองควรมีการแบ่งแยกหน้าที่กันโดยเด็ดขาด

1.5) ช่วยให้ประชาชนรู้ว่าทุกคนมีความเสมอภาค ไม่มีความแตกต่างจากคนอื่นมากนัก ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในความสามารถทางการเมือง (Political Competence) ของตนเอง

1.6) โรงเรียนและสถาบันการศึกษาอื่นๆ จะเป็นแหล่งสำคัญที่จะกล่อมเกลาการเรียนรู้ทางการเมืองในค่านิยมประชาธิปไตย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโรงเรียนจะมีผลต่อการปลูกฝังวัฒนธรรมทางการเมืองแก่เยาวชนทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรแบบเรียน กิจกรรมการเรียน การสอน ตลอดจนบรรยากาศในโรงเรียน

2) บทบาทของการศึกษาในการปลูกฝังประชาธิปไตยในโรงเรียน

โรงเรียนเป็นแหล่งสำคัญที่จะถ่ายทอดและอบรมความรู้ทางการเมืองแก่เยาวชน ดิลก บุญเรืองรอด ได้เสนอแนะแนวทางการจัดการศึกษาในโรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีวัฒนธรรมทางการเมืองหรือจิตใจแบบประชาธิปไตย อันประกอบด้วย การกำหนดปรัชญาการศึกษาหลักสูตร การจัดกลุ่มการเรียนการสอน และการปกครองในสถานศึกษา ซึ่งมีรายละเอียดในแต่ละหัวข้อดังนี้

2.1) ปรัชญาการศึกษา

จอห์น ดิวอี้ ได้กล่าวถึงปรัชญาการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นประชาธิปไตยไว้ สรุปได้ว่า ปรัชญาการศึกษาจำเป็นต้องมีพื้นฐานมาจากปรัชญาทางสังคม เมื่อสังคมมีปรัชญาเป็นประชาธิปไตย ปรัชญาการศึกษาจำต้องเป็นไปในทางที่จะพัฒนาให้บุคคลมีจิตใจเป็นประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยนั้นให้ความสำคัญต่อปัจเจกบุคคล บุคคลแต่ละคนมีคุณค่าสูงสุด หลักในการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมคุณค่าของแต่ละคน จำเป็นต้องจัดให้เกิดความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา ในการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมคุณค่าในตัวบุคคลนี้ จอห์น ดิวอี้ ได้มีแนวคิดใหม่เกี่ยวกับโรงเรียนว่า โรงเรียนมิใช่แหล่งที่จะพัฒนาสติปัญญา หรือเป็นที่เตรียมตัวเพื่อชีวิตในอนาคต แต่โรงเรียนเป็นประสบการณ์ของการดำเนินชีวิต เป็นแหล่งที่จัดสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถฝึกทักษะ โดยเฉพาะทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมประชาธิปไตย ครูมิใช่ครูในความหมายเดิมในฐานะผู้สั่งสอนผู้ถ่ายทอดความรู้อีกต่อไป แต่ครูคือผู้ช่วยเท่านั้น ครูจะไม่ทำหน้าที่สอนเนื้อหา แต่จะทำหน้าที่ชี้แนะเทคนิควิธีการให้นักเรียน เพื่อที่นักเรียนจะได้สามารถกำหนดเป้าหมายของตนเอง และดำเนินการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของตนเองได้ และนี่เป็นการจัดการศึกษาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย โดยให้ความสำคัญแก่ผู้เรียนมากกว่าผู้สอน หรือเป็นการศึกษาที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child - Centered Education)

2.2) หลักสูตร

หลักสูตรตามความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป คือ เนื้อหาวิชาที่จัดให้นักเรียนเรียน แต่การจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยนั้นมีความหมายแตกต่างออกไป หลักสูตรเป็นกิจกรรมทุกอย่างในความรับผิดชอบของสถานศึกษา หลักสูตรจึงเท่ากับการดำรงชีวิตหรือกระบวนการปรากฏการณ์ชีวิตในโรงเรียนของเด็ก หลักสูตรการศึกษาเพื่อประชาธิปไตยจะแยกออกจากชีวิตจริงไม่ได้ ตรงกันข้ามกลับสนใจปัญหาชีวิตจริงเลยทีเดียว การจัดหลักสูตรเป็นหลักแบบแกน ( Core Curriculum ) ซึ่งยึดเอาปัญหาการดำเนินชีวิตโดยสรุป ปรัชญาหรือทฤษฎีการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นประชาธิปไตยควรดำเนินการดังนี้

(1) รัฐจะต้องพยายามส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสในการศึกษาเท่าเทียมกัน
(2) การบริหารการศึกษา พยายามเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนบุคคลท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมมากที่สุด โดยยอมรับฟังความคิดเห็นของครูและประชาชนส่วนใหญ่
(3) ส่งเสริมความมั่นคงแก่ครูแต่ละคนมากที่สุด โดยพิจารณาถึงรายได้ สภาพงาน ความเป็นอยู่และการให้ความเป็นธรรม
(4) กำหนดความมุ่งหมายของการศึกษา โดยคำนึงถึงตัวบุคคลและสังคมประกอบกัน ไม่เน้นหนักไปทางเดียว
(5) ดำเนินการสอนและการปกครองตามแบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะฝึกฝนให้แต่ละคนเป็นตัวของตัวเอง มีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตนเอง
(6) กำหนดหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม และให้เป็นการ ส่งเสริมประชาธิปไตย

นอกจากนั้น ในแง่ของการแนะแนวและการประเมินผลจะต้องเป็นกระบวนการเสริมความมีชีวิตในสังคมประชาธิปไตย เป็นแกนกลางโดยมีลักษณะ ดังนี้

(1) หลักสูตรจะตัองตั้งอยู่บนพื้นฐานของปัญหาที่บุคคลและสังคมเผชิญ
(2) ปัญหาเหล่านี้จะต้องได้รับเลือกร่วมกันระหว่างครู นักเรียน และชุมชน
(3) กระบวนการเรียนการสอนใช้วิธีการแก้ไขปัญหาเป็นหลัก ( Problem Solving Method )
(4) โปรแกรมการเรียนแบบแกนนี้ต้องการการแนะแนวทั้งแบบเดี่ยว และแบบกลุ่ม ( Individual and Group Guidance ) จึงจำเป็นต้องมีผู้แนะแนวที่มีความสามารถ
(5) ครูในสถานศึกษาจะต้องมีสมรรถภาพในการพัฒนาสังคม

โดยสรุปหลักสูตรแบบแกนเพื่อประชาธิปไตยนั้น จะเน้นกิจกรรมของผู้เรียนมากกว่าเนื้อหาวิชา ปัญหาปัจจุบันได้รับการเน้นมากกว่าปัญหาอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะควบคุมเหตุการณ์อนาคตโดยเน้นปัญหา และความต้องการของเด็กมากกว่าความต้องการของผู้ใหญ่ในสังคม การวางแผนการเรียนเพื่อความเป็นประชาธิปไตยเป็นหัวใจสำคัญ

2.3) การสอน

การสอนเน้นวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งแท้ที่จริงก็คือ วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ( Scientific Methods ) นั่นเอง จอห์น ดิวอี้ นำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน มี 5 ขั้น คือ

(1) ขั้นกำหนดและให้คำจำกัดความของปัญหา
(2) ขั้นตั้งสมมติฐาน
(3) ขั้นรวบรวมข้อมูล จัดและวิเคราะห์ข้อมูล
(4) ขั้นหาข้อสรุป
(5) ขั้นประเมินผล

วิธีการนี้ถือว่าเป็นวิธีการแห่งปัญญา ซึ่งถือเป็นวิธีการแก้ปัญหาตามแนวทางของประชาธิปไตย ถ้าเป็นการแก้ปัญหาโดยกลุ่มบุคคลผ่านการปรึกษาหารือข้อมูล และข้อตกลงใจร่วมกัน ถ้าเป็นการแก้ปัญหาโดยลำพังคนเดียวน่าจะเรียกว่า การแก้ปัญหาตามหลักเหตุผลหรือขั้นตอนตามหลักวิทยาศาสตร์มากกว่าหลักประชาธิปไตย

2.4) การจัดกลุ่มการเรียนการสอน

การจัดกลุ่มการเรียนการสอนทำให้เกิดการเรียนรู้ใน 4 ลักษณะ คือ

1) ทำให้เกิดพลังของการคล้อยตามในกลุ่ม
2) เกิดความร่วมมือในการทำกิจกรรม เช่น การอภิปราย การลงมือทำงาน อันจะก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง
3) เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
4) ทำให้เกิดสภาพการคล้ายห้องทดลองความร่วมมือในกระบวนการ ประชาธิปไตย และการปรับปรุงบุคลิกภาพของความเป็นผู้นำ

การจัดกลุ่มการเรียนการสอน สามารถจัดได้ทั้งแบบการจัดตามความสามารถและการจัดกลุ่มแบบคละ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาการเรียนการสอน ไม่จัดกลุ่มแบบใดแบบหนึ่งตลอดไป

2.5) การปกครองในสถานศึกษา

การปกครองในแบบประชาธิปไตยเป็นการปกครองด้วยกฎหมายรวมถึงระเบียบวินัย แต่การบังคับให้บุคคลปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายฯกระทำได้ 2 ทาง คือ การใช้อำนาจภายนอกกับอำนาจภายใน

การใช้อำนาจภายนอกเป็นการใช้บทบาทขององค์กร เช่น ตำรวจ ผู้พิพากษา อัยการ เป็นต้น

แต่การใช้อำนาจภายนอกจะกระทำไม่สำเร็จ ถ้าขาดองค์ประกอบของอำนาจภายในที่บุคคลมีความรับผิดชอบในความผิดความถูก ความดีความชั่ว การที่บุคคลสามารถบังคับตนเองให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำในสิ่งที่เหมาะที่ควรเรียกว่า บุคคลมีวินัยในตนเอง เป้าหมายการศึกษาเพื่อประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องดำเนินการให้บุคคลมีวินัยในตนเอง คือ

(1) ใช้หลักการประชาธิปไตยในการปกครองบุคลากรของสถานศึกษา การปกครองนักเรียน และการบริหารสถานศึกษา มีการแลกเปลี่ยนความ คิดเห็น มีการร่วมมือกัน และตัดสินปัญหาด้วยวิธีการแห่งปัญญา
(2) ใช้หลักของความยุติธรรม
(3) ใช้หลักของความเมตตากรุณา
(4) ใช้หลักของความสม่ำเสมอ คงเส้นคงวา
(5) ใช้หลักของการส่งเสริมเอกัตตบุคคล
(6) ใช้หลักของการส่งเสริมความก้าวหน้า
(7) ใช้หลักของสวัสดิภาพ
(8) ใช้หลักของการสร้างความสามัคคคี

ในการดำเนินการควบคุมให้เกิดมีวินัยนั้นมี 2 แบบ คือ การควบคุมภายนอก ( External Control ) กับการควบคุมภายใน ( Internal Control ) ถ้าการควบคุมใช้การลงโทษอย่างเปิดเผย ถือเป็นการควบคุมภายนอก ถ้าการควบคุมไม่มีการลงโทษมุ่งให้เกิดวินัยในตนเอง เป็นการควบคุมภายใน แต่ละสถานศึกษาอาจเน้นการควบคุมต่างๆ กัน บางแห่งเน้นแบบการควบคุมภายนอก บางโรงเรียนเน้นการควบคุมภายใน และที่ใช้การควบคุมทั้ง 2 แบบ ก็มีไม่น้อย แต่การควบคุมภายในย่อมเอื้อต่อความเป็นประชาธิปไตยโดยตรง เพราะเป็นเส้นทางไปสู่การควบคุมตนเอง และปกครองตนเองได้ในที่สุด

นอกจากนี้ สนธิ คชสิทธิ์ ยังได้เน้นถึงการจัดสภาพแวดล้อม ( Environment ) ในโรงเรียนเพื่อเป็นการพัฒนาค่านิยม และบุคลิกภาพระบบประชาธิปไตยให้แก่ผู้เรียน ซึ่งได้แก่

(1) สภาพแวดล้อมทางด้านการเรียน ( Instruction Environment )
2) สภาพแวดล้อมทางด้านการบริหาร ( Administration Environment )
(3) สภาพแวดล้อมด้านกิจการนักเรียน
(4) สภาพแวดล้อมด้านอาคารสถานที่ ( Physical Environment )

 

ลิขิต ธีรเวคิน ย้ำว่าการสร้างค่านิยมประชาธิปไตยในโรงเรียนเป็นสิ่งจำเป็นและควรกระทำให้ครบ 3 ส่วน ดังนี้

(1) ให้ความรู้เรื่องระบอบประชาธิปไตย ซึ่งได้แก่ ระบอบการปกครองแบบ ประชาธิปไตย วัฒนธรรมการเมืองประชาธิปไตย โครงสร้างและกระบวนการเมืองระบอบ ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง ฯลฯ ความรู้ระบอบประชาธิปไตยขั้นมูลฐานเหล่านี้ ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของการศึกษา ที่จะให้แก่ประชาชนในระบอบการปกครองแบบ ประชาธิปไตย หากระบบการศึกษา หลักสูตร และวิธีสอนไม่สามารถให้ความรู้เรื่องดังกล่าวได้ก็สรุปได้ว่า การให้การศึกษาได้มองข้ามมิติทางการเมือง ในแง่การสร้างความรู้และค่านิยมประชาธิปไตยในหมู่นักเรียน

(2) สร้างความผูกพันและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย โดยชี้ให้เห็นผลดีและประโยชน์ของระบอบว่าเป็นกระบวนการที่มีข้อเสียน้อยกว่าระบอบอื่น เป็นระบอบที่เคารพสิทธิเสรีภาพ และปัจเจกภาพของสมาชิกในสังคม เป็นระบอบที่สร้างความเสมอภาค และเปิดทางให้มีการต่อรองเรียกร้องทางการเมือง ความผูกพันและศรัทธาดังกล่าวจะต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมของนักเรียน เพื่อจะได้เป็นปัจเจกชนที่มีวิญญาณประชาธิปไตย

(3) การปฏิบัติการประชาธิปไตย ต้องดำเนินการโดยครูและนักเรียน เช่น การประชุมอภิปรายผลดีผลเสียของกิจกรรม และการลงคะแนนเสียงเพื่อหาข้อยุติ ควรเป็นส่วนสำคัญของกิจกรรมทั้งในและนอกหลักสูตร ซึ่งทั้งครูและนักเรียนจะต้องปฏิบัติร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อให้วิถีประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานและแก้ปัญหาข้อขัดแย้ง

หากได้ปลูกฝังค่านิยมประชาธิปไตยครบถ้วนทั้ง 3 มิติ คือ ความรู้ ความ ผูกพัน และการปฏิบัติ โอกาสของการสร้างปัจเจกชนที่มีลักษณะประชาธิปไตย ก็จะประสบความสำเร็จและน่าที่จะเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอย่างมั่นคงถาวรได้

ส่วนสุมน อมรวิวัฒน์ เห็นว่า การศึกษาเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยควรเน้นที่กิจกรรม การเรียนรู้ การปลูกฝัง การฝึกฝนอบรมมากกว่าการเสนอหรือกำหนดไว้ในหลักสูตรแบบ ตายตัวอย่างไรก็ดี การจัดกิจกรรม การเรียนรู้ก็มีข้อจำกัด คือ วิถีชีวิตในครอบครัวไทย, ในการจัดการบริหารการศึกษา และวิถีชีวิตในสังคมทั่วไป เพราะเมืองไทยยังไม่เป็นสังคมที่เปิดให้มีการเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยมากพอ (Democratic Learning Society) ชีวิตเด็กและชีวิตนักเรียนถูก พ่อแม่ ครู และคนรอบตัวครอบงำ กำกับสั่งการทั้งหมด จึงจำเป็นต้องให้การศึกษาอบรมแก่ พ่อแม่ ครู ผู้บริหารการศึกษาให้มากขึ้น ส่วนสื่อมวลชนเองก็ควรได้รับการเรียนรู้ในวิถีประชาธิปไตยที่ถูกต้องก่อนจะไปถ่ายทอด เผยแพร่แก่สังคมในการศึกษานอกระบบต่อไป

 


 

 

เอกสารการอ้างอิง

1) สนธิ คชสิทธิ์ . การศึกษากับสังคม . ลพบุรี : วิทยาลัยครูเทพสตรี, 2527

2) ลิขิต ธีรเวคิน . "การศึกษาและการพัฒนาประชาธิปไตย" , มติชน . 17 กรกฎาคม 2536 หน้า 10 .

3) จำรัส นวลนิ่ม . การศึกษากับการพัฒนาประเทศ : แนวความคิดและวิธีปฏิบัติ . กทม : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ , 2540 .

 

 

หมายเลขบันทึก: 199856เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2008 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 09:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท