การศึกษาที่มีคุณภาพเท่านั้น จึงจะช่วยชาติได้


การศึกษาที่มีคุณภาพเท่านั้น จึงจะช่วยชาติได้

การศึกษาที่มีคุณภาพเท่านั้น จึงจะช่วยชาติได้

 

โดย มติชน วัน อังคาร ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 02:17 น.

 

 

 

โดย เกษม วัฒนชัย

1.การศึกษาที่มีคุณภาพคืออย่างไร

การศึกษาที่มีคุณภาพ คือ ระบบการศึกษาที่ออกแบบและบริหารจัดการให้

(1) เหมาะเจาะสอดคล้องกับสังคมและประเทศชาติ

(2) นำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสาธารณะ

(3) ผู้เรียนได้รับการพัฒนาจิตใจ อุปนิสัย และระบบคุณค่าคุณธรรม ที่พึงประสงค์ของสังคมโดยรวม

ส่วนการศึกษาที่ขาดคุณภาพ คือ การศึกษาที่ผลผลิตของระบบได้รับความรู้ที่ไม่ตรงหรือต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของหลักสูตร ขาดทักษะชีวิต ทักษะงาน และย่อหย่อนด้านคุณธรรม

2.วัตถุประสงค์ทั่วไปของระบบการศึกษา

2.1 การศึกษาปฐมวัย (ก่อนการศึกษาขั้นพื้นฐาน) มีวัตถุประสงค์เพื่อ

(1) พัฒนาการเจริญเติบโตของร่างกาย

(2) พัฒนาอารมณ์และทักษะสังคม

(3) พัฒนาสมองและเชาวน์ปัญญา

(4) สร้างพื้นฐานจิตใจด้านคุณงามความดี

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมเด็กเล็กให้พร้อมทุกด้านในการเข้าสู่การศึกษาขั้นพื้นฐาน

2.2 การศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประถมศึกษาปีที่ 1-6 และมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 รวม 12) เพื่อผลิต พลเมืองดี ให้แก่ประเทศชาติในอนาคต แต่ละประเทศที่ออกแบบและบริหารจัดการหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงต้องตั้งคำถามและหาคำตอบให้ได้ว่า พลเมืองดีในอนาคต ของชาติตน จะต้อง

(1) มีความรู้อะไร

(2) ทำอะไรเป็น

(3) มีระบบคุณค่าคุณธรรมอย่างไร

ทั้งนี้ จะต้องมี มาตรฐานหลักสูตรระดับชาติ และจะต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

หลายประเทศให้ความสำคัญถึงขั้นจัดตั้ง สำนักงานพัฒนาหลักสูตรระดับชาติ และ สำนักงานจัดทดสอบการศึกษาระบบชาติ ขึ้น เพื่อเป็นมือไม้ในการสอบวัดผลผลิตการศึกษาด้วยมาตรฐานเดียวทั้งประเทศ ประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอน แล้วนำไปตั้งเป้าหมายคุณภาพให้สูงขึ้นในปีต่อไป โดยเฉพาะในวิชาที่ไม่ถึงเป้าหมาย รวมไปถึงการพัฒนาหลักสูตรอยู่เสมอเพื่อให้ทันสมัยและโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

2.3 การอาชีวศึกษา เพื่อผลิตบุคลากรสายช่างในระดับต่างๆ (ช่างฝีมือ ช่างเทคนิค นักเทคโนโลยี) ให้รู้จริงทำงานได้ และมีคุณธรรม

2.4 การอุดมศึกษา เพื่อ

(1) ผลิตความรู้และเทคโนโลยีสาขาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศ

(2) ผลิตนักวิชาการและนักวิชาชีพชั้นสูง

(3) เสนอทางเลือกและให้บริการวิชาการแก่สังคม

(4) ทำนุบำรุงส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรม

(5) อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ

(6) ส่งเสริมสันติสุขและสันติภาพ

3.ประโยชน์ของการศึกษาที่มีคุณภาพ

การศึกษาที่มีคุณภาพจะให้ประโยชน์โดยตรงต่อผู้เรียน และประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมแก่สังคมประเทศชาติ

3.1 ช่วยขจัดความยากจน หากคนไทยทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเต็มศักยภาพ เขาจะมีความรู้ความสามารถประกอบอาชีพ พึ่งพาตนเองได้ทางเศรษฐกิจ ขจัดความยากจนในปัจจุบันและอนาคตของประเทศ

นอกจากนั้น หากเขาประสบความสำเร็จในอาชีพเป็นอย่างดียิ่ง เขาจะเป็นพลังช่วยผู้อื่นและช่วยสังคมได้อีกด้วย

3.2 ส่งเสริม สุขภาพดีถ้วนหน้า ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะต้องจัดชุดความรู้และฝึกประสบการณ์ในการดูแลสุขภาพ ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การดูแลรักษาตนเองเมื่อเกิดโรค และการฟื้นฟูสภาพ ตั้งแต่ระดับตนเอง ครอบครัว และชุมชน

3.3 พิทักษ์รักษาธรรมชาติทั้งกิจกรรมในหลักสูตรและเสริมหลักสูตร จำเป็นต้องให้ความรู้และความดื่มด่ำในความงาม และน่าพิศวงของธรรมชาติ รวมทั้งความสำคัญของธรรมชาติที่มีต่อความยั่งยืนของชุมชนและมนุษยชาติ จัดกิจกรรมวิชาการและกิจกรรมนันทนาการให้ผู้เรียนได้ เรียนรู้ธรรมชาติและอนุรักษ์ธรรมชาติ

3.4 สร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาธิปไตยที่แท้จริงคือประชาธิปไตยที่ยึดในหลักการสาม คือ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ

ภราดรภาพ หรือความรักสามัคคีฉันพี่น้องของคนในชาติ คือ เป้าหมายของประชาธิปไตย หากระบบประชาธิปไตยที่ใช้อยู่ทำให้ตนในชาติแตกแยก และทำร้ายกันและกันแล้วไซร้ ให้ตระหนักรู้ว่าเป็นระบบประชาธิปไตยจอมปลอม

เสรีภาพ คือ การที่ทุกคนในชาติมีคุณค่าแห่งความเป็นคนเท่าเทียมกัน และรัฐจะต้องจัดระบบให้ทุกคนได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่ดี ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ได้ประกอบอาชีพการงานที่สุจริต และได้รับการปฏิบัติอย่างสมศักดิ์ศรีเมื่อสูงวัย

เสมอภาค คือ พันธะที่ทุกคนในชาติพึงมีต่อการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์สังคม และศีลธรรมแห่งศาสนา

เพราะฉะนั้น การศึกษาที่มีคุณภาพจึงต้องคำนึงถึงหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อ ความเป็นพลเมืองดี ให้ได้เงื่อนไขแห่งการบรรลุวุฒิภาวะทางการเมือง ไม่ขายเสียง ซื้อเสียง มี อิสรภาพทางการเมือง ไม่เป็นทาสของอำนาจเงิน จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

3.5 สร้างสังคมคุณธรรม สังคมคุณธรรม คือ สังคมที่เน้นการปรับฐานจิตใจของคนในชาติ ตั้งแต่เด็กเล็กขึ้นไป ให้มีการชี้ ถูกผิด-ชั่วดี ให้ยึดมั่นใน ความถูกต้องเที่ยงธรรม ให้มีการยกย่อง ความดี และปฏิเสธ ความชั่ว จนกระทั่งในจิตใจของทุกคน อายที่จะทำชั่ว กลัวที่จะทำบาป

ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพจะต้องถือว่าในทุกวิชาทางโลกจะต้องมีวิชาทางธรรมควบคู่กันไปด้วยเสมอ ครูบาอาจารย์คือแบบอย่างความดีสำหรับเด็กและเยาวชน ระบบจะต้องลงโทษและกำจัดคนชั่วที่ปลอมมาเป็นครูบาอาจารย์ เพราะเขาทำลายพลังบริสุทธิ์ได้อย่างมหันต์

3.6 สร้างสันติสุขและสันติภาพ ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพพึงสร้างความเข้าใจและความหวงแหนในวัฒนธรรมของชาติไทย ให้เขาภูมิใจในความเป็นคนไทย กตัญญูรู้คุณต่อแผ่นดิน และแสดงกตเวทีตอบแทนคุณแผ่นดิน

ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเข้าใจอันดีในวัฒนธรรมอื่นยอมรับและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

4.เราจะสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างไร

4.1 การส่งเสริมการศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกคน

รัฐมีหน้าที่

(1) กำหนดแผนและนโยบายการศึกษาชาติทั้งระยะยาว (10-15 ปี) ระยะปานกลาง (5 ปี) และแต่ละปี

(2) กำหนดคุณภาพมาตรฐานของระบบการศึกษา ทั้งหลักสูตร ครู ผู้เรียน ผู้จบ และสิ่งสนับสนุนการศึกษาต่างๆ

(3) กำกับดูแลระบบการศึกษา ตรงไหนประชาชนทำได้ดี รัฐก็ถอยออกมา เพื่อจะได้มีทรัพยากรไปอุดหนุนส่วนหรือพื้นที่ที่ยังด้อยโอกาสหรือด้อยคุณภาพ

(4) สนับสนุน-ส่งเสริม ให้มีผู้จัดการศึกษาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยราชการอื่น รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ

(5) เข้มงวดในการวัดผลผลิต และผลกระทบของระบบการศึกษา

องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต้องพัฒนาศักยภาพและความพร้อมของตนเอง เพื่อจัดการศึกษาเอง หรือสนับสนุนผู้อื่นที่จัดการศึกษาอยู่แล้ว ต้องพิสูจน์ให้สาธารณชนเกิดศรัทธาว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำได้และทำได้ดี

เอกชนทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน ต้องหันมาสนใจและลงมือลงแรงจัดการศึกษา เพราะผลของการจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพมีผลเสียหายแก่ทุกภาคส่วน ตรงข้ามหากเอกชนสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ด้วย ผลดีก็ตกแก่ทุกฝ่ายเช่นกัน

4.2 อย่าใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายผู้บริหาร ครู การจัดซื้อจัดจ้างการฝากเด็ก ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแต่บ่อนทำลายคุณภาพการศึกษาทั้งสิ้น และเครื่องมือทางการเมืองในที่นี้มิได้หมายถึงเฉพาะนักการเมืองอาชีพระดับชาติเท่านั้น แต่ยังหมายถึงระดับท้องถิ่น และข้าราชการประจำในระบบการศึกษาด้วย

ขอให้ระบบการศึกษาเป็นระบบปลอดการเมืองอย่างแท้จริง

และขอให้พวกเราทุกคนไม่ว่าจะมีหน้าที่ตำแหน่งใดมาช่วยกันทุ่มเทพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านความสุจริตใจ พวกเราในที่นี้หมายถึงคนไทยทุกคน

4.3 คุณภาพครู คือหัวใจของคุณภาพการศึกษา

(1) หลักสูตรผลิตครู อาจารย์ ต้องปรับปรุงขนานใหญ่ ครูต้องมีความรู้ความสามารถในวิชาที่สอน และต้องมีความเป็นครูด้วย

ครูที่รับผิดชอบแต่ละวิชาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องเรียนจบอย่างน้อยระดับปริญญาตรีในสาขานั้น เช่น ครูสอนคณิตศาสตร์ต้องจบปริญญาตรีคณิตศาสตร์ (4 ปี) และเพิ่มด้วยวิชาครูการสอนคณิตศาสตร์อีกอย่างน้อย 1 ปี

อาจารย์ที่สอนอยู่ในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย แม้ท่านจะเรียนจบปริญญาโท-ปริญญาเอกสาขาที่ท่านรับผิดชอบแล้ว ก็ควรได้เรียนวิชาครูด้วยกันทุกคน รวมทั้งวิชาทำวิจัย วิชาการบริหารวิชาการแก่สังคมและอื่นๆ ในภารกิจของครู อาจารย์

(2) เมื่อเรียนจบและปฏิบัติงานแล้ว ในระหว่างประจำการอยู่ ก็ควรมีการเรียนรู้ต่อเนื่องทั้งในเนื้อหาวิชาที่สอนและเทคโนโลยีการเรียนรู้ที่มีนวัตกรรมและแบบอย่างใหม่ๆ ในโลกนี้

4.4 พัฒนากระบวนการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

(1) ในความหมายของ นักเรียนเป็นศูนย์กลางของระบบการศึกษา นั้น เริ่มตั้งแต่ผู้ออกแบบและรับผิดชอบการจัดการศึกษาทั้งระบบชาติและระดับเขตพื้นที่

แผนแนะนโยบายทางการศึกษาต้องเน้นที่ ผู้เรียน เป็นตัวตั้งเสมอ

(2) สร้าง สิ่งแวดล้อมโรงเรียน ให้เป็นระบบ ระเบียบ สะอาด สว่าง ปลอดภัย เป็นมิตรต่อผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้

(3) สร้าง วัฒนธรรมโรงเรียน เน้นเรื่องหลักธรรมาภิบาล ความซื่อสัตย์สุจริต ความเที่ยงธรรม

(4) กระบวนการสอนมีเป้าหมายที่จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

4.5 การทดสอบระดับชาติ ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ประเทศไทยเคยจัดสอบระดับชาติ 2 ช่วงชั้น คือ ประโยคประถมศึกษาปีที่ 4 และมัธยมศึกษาปีที่ 8 ต่อมาก็ได้เลิกไปและให้แต่ละโรงเรียนจัดสอนเองสอบเอง ผลก็คือ

(1) มาตรฐานของชาติอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้

(2) แต่ละโรงเรียนต่างก็วัดด้วยแต่ละมาตรฐานซึ่งเทียบกันไม่ได้

เมื่อต้นปี 2549 สำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ได้จัดทดสอบ 5 วิชา ในช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คือ วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา ผลปรากฏว่าคะแนนเฉลี่ยระดับชาติของทุกวิชาอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า 50 คะแนน ในคะแนนเต็ม 100

ขอร้องให้รัฐ

(1) ส่งพัฒนาสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติให้เข้มแข็ง เพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจได้เต็มที่ กรุณาให้กำลังใจเขาด้วย

(2) กำชับเขตพื้นที่และโรงเรียนที่ร่วมจัดสอบให้เน้นความโปร่งใส เที่ยงธรรม ผู้บริหาร ครู หรือผู้เข้าสอบ หากตั้งใจทุจริตการสอบต้องลงโทษอย่างรุนแรง เพราะเขากำลังทำลายระบบการศึกษาไทย

(3) เมื่อได้ผล ให้รัฐและเอกชนรวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำผลไปวิเคราะห์ให้ลึกซึ้ง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างต่อเนื่องสืบไป

(4) เมื่อจัดวัดผลในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานจนได้ผลดีแล้ว ต้องเร่งวัดผลระดับชาติในระบบอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาต่อไป

สรุป การศึกษาที่มีคุณภาพเป็นระบบการศึกษาที่ออกแบบและบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อผู้เรียนและต่อสังคมประเทศชาติ

การศึกษาที่มีคุณภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการ

(1) ขจัดความยากจน

(2) ส่งเสริม สุขภาพดีถ้วนหน้า

(3) พิทักษ์รักษาธรรมชาติ

(4) สร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง

(5) สร้างสังคมคุณธรรม และ

(6) สร้างสันติสุขและสันติภาพ

การได้มาซึ่งการศึกษาที่มีคุณภาพจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุนด้วยความจริงใจและบริสุทธิ์ใจ ทั้งภาคการเมือง/ราชการ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพครู คุณภาพเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง และสร้างระบบการทดสอบระดับชาติ เพื่อเป็นกลไกในการประเมินผลของระบบและปรับปรุงระบบให้เพิ่มคุณภาพอย่างต่อเนื่องเรื่อยไป

 

 

ที่มา : http://news.sanook.com/scoop/scoop_46493.php

 

 

หมายเลขบันทึก: 199851เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2008 21:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท