ทางออกของการจัดการปัญหาเขาพระวิหาร


จนป่านนี้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องเขาพระวิหารก็ยังคาราคาซังหาทางออกไม่ได้ และรังแต่จะทำให้เป็นปัญหาลุกลามปานปลายไปจนเป็นปัญหาระดับนานาชาติ หรือว่าทางออกของปัญหาจริงๆ ไม่มีเสียแล้ว

                ธีรภาพ โลหิตกุล เคยเขียนเกี่ยวกับเขาพระวิหารไว้ในคอลัมน์ของเขาในหนังสือพิมพ์คมชัดลึกว่า ปัญหาความขัดแย้ง (คราวนั้นยังไม่ปะทุรุนแรงอย่างตอนนี้) เป็นปัญหาคาราคาซังมานมนาน นานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อเนื่องมาจนถึงเหตุการณ์ที่หวิดๆ ที่ไทยกับกัมพูชาต้องยกทหารเข้าปะทะกันสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อเนื่องมาจนกระทั่งบัดนี้

                ธีรภาพมองว่า อันเขาพระวิหารนี้เป็นมรดกของมวลมนุษยชาติ หาใช่เป็นสมบัติของราชอาณาจักรแห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะไม่ เพราะฉะนั้นควรเลิกแย่งกระดูกบรรพบุรุษกันเสียที เพราะหากต่างฝ่ายต่างเอื้อประโยชน์แก่กันและแบ่งปันผลที่ได้อย่างเหมาะสมไม่มีใครถือว่าเป็นของตนโดยเฉพาะแล้ว เมื่อนั้นย่อมเกิดผลดีต่อทั้งสองฝ่าย

                ขณะที่ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ให้ข้อคิดไว้ในคราวบรรยายเกี่ยวกับปัญหาเขาพระวิหารเมื่อคราวเกิดปัญหาขึ้นใหม่ๆ ไว้น่าสนใจว่า ไทยเคยเสียค่าโง่มาแล้วครั้งหนึ่งคราวแพ้คดีแก่กัมพูชาบนศาลโลก เพราะเหตุว่าเราไปจับประเด็นผิด แทนที่จะประท้วงแผนที่ฉบับที่ถูกฝรั่งเศสโกงมาตั้งแต่ต้น เรากลับไปประท้วงที่ตัวปราสาทว่าควรเป็นของเรา ทำให้น้ำหนักคำให้การบนศาลโลกอ่อนไปเมื่อเทียบกับหลักฐานเรื่องกฎหมายปิดปากที่กัมพูชาเสนอ และคราวนี้ถ้าหากไทยยอมตกลงเสนอจดทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกับกัมพูชาและให้มีประเทศที่สามมาร่วมบริหารจัดการเขาพระวิหารด้วย ก็เท่ากับว่าไทยเสียค่าโง่เป็นครั้งที่ ๒ เพราะเท่ากับว่าเราจะเสียสิทธิสภาพเหนือดินแดนของเรากว่า ๗.๒ ตารางกิโลเมตรที่กำลังถือครองอยู่ ให้เป็นเขตฟรีโซน เท่ากับเราเอาดินแดนจำนวนมากไปแลกเอาดินนิดเดียวอันเป็นที่ตั้งตัวปราสาท ซึ่งศาลโลกพิจารณาแล้วว่าเป็นของกัมพูชา เหมือนเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ ส่วนไทยกับกัมพูชาก็เป็นตาอินกับตานาแย่งปลากัน สุดท้ายกลายเป็นตาอยู่ มาฉวยโอกาสหยิบชิ้นปลามันเอาผลประโยชน์ไปหน้าตาเฉย

                เมื่อเหตุผลเป็นดังนี้แล้วข้าพเจ้าใคร่ขอเสนอทางออกที่เป็นกลางกว่านั้นอีกว่า ทางที่ดีถ้ากัมพูชาจะดึงดันขอขึ้นทะเบียนตัวปราสาทเป็นมรดกโลกอยู่ต่อไป ก็ให้เขาจดไปเสียไม่ต้องไปยุ่งและไม่ต้องไปโวยวายอะไร เพราะอย่างไรเสียถึงแม้จะเอาเรื่องขึ้นศาลโลกอีกครั้งน้ำหนักทางศาลว่าด้วยพยานหลักฐานต่างๆ แต่อดีตแต่เดิมมา รวมทั้งคำพิพากษาเก่าที่มีเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วยังไงเราก็เสียเปรียบเขาอยู่วันยังค่ำ

                ส่วนตัวเราเองควรหันมาทำหมายเขตปักปันดินแดนที่ตอนนี้กัมพูชาก็ยอมรับออกมากรายๆ (ในแบบเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก) แล้วว่า พื้นที่รอบตัวปราสาทนอกนั้นเป็นของไทย พอเป็นข้อตกลงชัดเจนเป็นที่เข้าใจกันแล้วเราก็ทำเรื่องขอขึ้นทะเบียนเฉพาะในส่วนที่อยู่ในดินแดนของเราเองบ้าง หรือถ้าไม่ขอจดก็เข้าไปจัดการบูรณะรักษาไว้ให้อย่างดี เพื่อรักษาสิทธิสภาพเหนือดินแดนของเราไว้ เพราะถึงอย่างไรกัมพูชาก็ต้องอาศัยประเทศไทยเป็นทางผ่านขึ้นสู่ตัวปราสาทอยู่แล้ว เพราะทางขึ้นช่องบันไดหักของเขาเหลือกำลังนักท่องเที่ยวที่กำลังไม่ดีจะขึ้นมาได้

                ก็เมื่อปักปันอาณาเขตกันได้ชัดเจนลงตัวอย่างนี้แล้ว ก็จัดการรักษาของใครของมันให้จงดี เพราะอย่างไรก็มองเห็นแต่ประโยชน์ ถ้าจะพูดถึงเรื่องการเข้าชมตัวปราสาทหรือ บันไดทางขึ้นที่ง่ายที่สุดก็อยู่ฝั่งไทย คนไทยจะเข้าไปเที่ยวชมเมื่อไหร่ก็ย่อมได้ ยิ่งเมื่อตัวปราสาทได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วยแล้วกัมพูชาจะหาเหตุปิดด่านตามอำเภอใจอย่างแต่ก่อนก็คงไม่ง่าย เพราะจะผิดเงื่อนไขการเป็นพื้นที่สาธารณะของสถานที่อันเป็นมรดกโลก ถ้ายังทำเปิดๆ ปิดๆ ตามอำเภอใจอย่างแต่ก่อนก็เสี่ยงถูกถอดได้ง่ายๆ เหมือนกัน อีกทั้งพื้นที่เกี่ยวเนื่องและที่เหมาะสมจะต่อยอดธุรกิจจากการท่องเที่ยวเขาพระวิหารก็อยู่ฝั่งไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านขายของที่ระลึก โรงแรมที่พัก หรือจุดผ่านแดนเข้า-ออก ไม่ยากเลยที่ไทยจะพัฒนาธุรกิจในบริเวณใกล้เคียงให้รองรับการบริการนักท่องเที่ยว ถึงแม้ตัวปราสาทจะอยู่เขตกัมพูชาก็ตาม

                ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่จะช่วยลดความตึงเครียดบนแนวชายแดนแห่งนี้ลงได้ ก็คือคนไทยเราเองต้องลดความรู้สึกอคติจากความคิดแบบชาตินิยมรุนแรงลงด้วย อย่างที่พลเอกสุจินดา คราประยูร อดีตผู้นำรัฐบาลยุคนองเลือดเมื่อคราวพฤษภาทมิฬ ปี ๓๗ ผู้มีประสบการณ์เรื่องความขัดแย้งของกลุ่มความคิดมาแล้ว ให้สัมภาษณ์ในวันคล้ายวันเกิดอายุครบ ๗๕ ในปีนี้ ที่บ้านซอยระนอง ๒ ว่า การปลุกระดมไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น รังแต่จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ เลวร้ายลง เหตุผลบางอย่างที่พอจะตกลงกันได้ด้วยการเจรจา ก็มีผลพลอยเป็นหมันไป เพราะต่างฝ่ายต่างก็มัวหวาดระแวงซึ่งกันและกัน เนื่องมาจากกลุ่มมวลชนชาตินิยมที่คอยดันหลังอยู่

                แต่เดิมมา หลักการในกระบวนทัศน์ของชาวอีสานนั้นไม่ใคร่จะแก้ปัญหากันด้วยวิธีรุนแรงนัก โดยมากเวลาชาวบ้านเกิดความขัดแย้ง ชาวอีสานมักแก้ปัญหาด้วยการพูดจา โดยมีผู้ใหญ่ที่ทั้งสองฝ่ายให้ความเคารพยำเกรงเป็นตัวกลางให้ ซึ่งบางครั้งเมื่อได้ตั้งวงเจรจาต่อหน้ากันจริงๆ แล้ว ผู้ใหญ่แทบไม่ได้เอ่ยปากพูดอะไรด้วยซ้ำ เพราะคู่กรณีที่มีความขัดแย้งกันจะหาข้อตกลงกันได้เองโดยสันติวิธี นี่คือวิถีประนีประนอมอันดีงามตามแบบพุทธ ตามแบบไทย ตามแบบไทยอีสาน ที่ใช้ได้ผลมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดอยู่ทุกวันนี้แล้วจบลงด้วยความรุนแรง เสียเลือดเสียเนื้อ หรือเสียชีวิตไปนั้น เป็นเพราะเราเอาวัฒนธรรมอย่างตะวันตก วัฒนธรรมแห่งกฎหมาย วัฒนธรรมแห่งกฎระเบียบที่ไม่มีความยืดหยุ่นคลายตัวมาใช้อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมกับบริบทของวัฒนธรรมไทย ผลที่ได้ก็รังแต่จะขัดแย้งกันยิ่งขึ้น เพราะฝ่ายแพ้ก็ยังติดใจว่าผลการพิจารณานั้นไม่ยุติธรรม ฝ่ายชนะก็กลายเป็นมารเอาอำนาจคำพิพากษานั้นเข้าข่มเหงรังแกอีกซ้ำ

                และโปรดอย่าลืมว่าผืนดินแผ่นนี้แต่เดิมมามิใช่ของผู้ใดเลย ล้วนเป็นของกลางที่โลกมีไว้ให้กับทุกสรรพชีวิตตั้งแต่ยังไม่กำเนิดขึ้นมานั่นด้วยซ้ำ และกาลต่อมาเมื่ออารยธรรมมนุษย์ได้เจริญขึ้น แผ่นดินแถบนี้ทั้งหมดก็อยู่ในความดูแลของบรรพบุรุษชาวขอม พวกเขาไม่ได้แบ่งเลยว่านี่เรานี่เขา จะเห็นได้จากภาพสลักขบวนทัพของพระเจ้าชัยวรมันบนกำแพงนครวัด ซึ่งหลากล้วนไปด้วยกองทหารสัมพันธมิตรหลากหลายเชื้อชาติ รวมถึงกองทัพแห่งเสียมกุกของเราเองด้วยเป็นตัวอย่าง แล้วเหตุผลอะไรเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป พวกเราท่านทั้งหลายจึงจะยกเอาเส้นหมึกบางๆ ที่พากันวาดลงบนแผนที่เป็นเขตกั้นแบ่งเขาแบ่งเรา จะล่วงล้ำกล้ำกรายกันไม่ได้แม้แต่ก้าวเดียว

                จะว่าไปแล้วก็น่าหัวเราะมนุษย์ยุคพัฒนาแล้วทั้งหลาย ที่เฝ้าแต่ทะนงตนว่าตนฉลาด เก่งกาจกว่าบรรพบุรุษมากมายนั้น กลับไม่สามารถดำรงความสมัครสมานสามัคคีกันได้ ด้วยเหตุแห่งเส้นหนึกเล็กๆ บนแผนที่เส้นเดียว กลับมาขัดแย้งชิงชังกันเพื่อแย่งผลประโยชน์ที่บรรพบุรุษโบราณสร้างเอาไว้ โดยที่พวกเขาเองไม่มีส่วนสร้างสรรค์อะไรแม้แต่น้อย

มันเป็นการกระทำที่น่าอายต่อวิญญาณบรรพชนเหล่านั้นเพียงไหนลองคิดดูเถิด

 

อ้างอิง

ธีรภาพ โลหิตกุล. รักชื่นขื่นชังอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : เนชั่นบุ๊คส์, ๒๕๔๕.

ศรีศักร วัลลิโภดม. ระเบิดเวลาเรื่องเขาพระวิหาร. ศิลปวัฒนธรรม. ฉบับวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๑.

<www.manager.co.th>. ๖ สิงหาคม ๒๕๕๑.

 

 

หมายเลขบันทึก: 199455เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2008 23:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ความเป็นไทย ยังน้อยมากคะคุณ

ดีจังครับพระเดชพระคุณท่าน

ที่นำเสนอมุมมอง ที่น่าคิดน่าสนใจ

ดีกว่าการเสนอวาทกรรมเพื่อความขัดแย้ง

ความเห็นประโยชน์ประการอื่น ๆ ที่ต้องการ

นำเสนอวิธีการเอารูปลง ให้นำรูปเข้าไพล์อัลบั้มก่อน

แล้วค่อยนำรูปในไพล์อัลบั้มของท่านมาใช้ประอกบในบทความในการเขียน

โดยข้าน้อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท