PAR ต้องเริ่มต้นจากการศรัทธาซึ่งกันและกัน


การที่มหาวิทยาลัยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มีโอกาสเข้าไปทำงาน เข้าไปสรรรค์สร้างกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน โอกาสอันดีนั้นควรจะสร้างให้เกิดการจัดการความรู้ร่วมกันเพื่อแบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้สังคม...

จุดประสงค์ของการวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR)  คือการได้ “ร่วม” กันในทุกสิ่ง ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไข ร่วมพัฒนา ร่วมปรับปรุง ร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมเดินเคียงข้างกันไปตลอดกาลนาน

ก้าวแรกของการมีส่วนร่วมนั้นคือ การร่วมรู้ตนเอง ร่วมรู้ปัญหา ร่วมรู้ทุกข์ของตนเอง ไม่มีปัญหาใดที่ยิ่งใหญ่เท่ากับ “ปัญหาที่เราไม่รู้ปัญหาของตนเอง” ดังนั้น จุดมุ่งหมายหรือสิ่งที่มุ่งประสงค์แรกของวิจัยแบบมีส่วนร่วมนั้นก็คือ "การจัดการความรู้เพื่อให้เราร่วมรู้ปัญหาของเราเอง"

การทำงานแบบมีส่วนร่วม เราต้องเริ่มจัดการความรู้ตั้งแต่ทีมงาน ต้องรู้ปัญหา ข้อดี ข้อด้อย ของทีมงาน
ทีมงานทุก ๆ คนก็ต้องจัดการความรู้ในส่วนของตนเอง ต้องรู้ว่าตนเองมีข้อดี ข้อด้อย มีปัญหาอะไรบ้างในการทำงานครั้งนี้

ประสบการณ์ ความรู้ ทิฏฐิ มานะ สิ่งใดที่จะขวางกั้นการทำงาน ต้องจัดการความรู้เพื่อให้รู้ตนเอง รู้ปัญหาของตนเอง
มีการจัดการความรู้ในตนเองเป็นพื้นฐาน เพื่อให้ทีมงานมีความแข็งแกร่งอย่างแท้จริง

การทำงานแบบมีส่วนร่วมมักจะมีจุดอ่อนอยู่ตรงนี้ เรามุ่งจะไปแต่จะไปทำงานกับคนอื่น มุ่งไปจัดการความรู้คนอื่น แต่ลืมจัดการความรู้ของตนเอง ลืมจัดการความรู้ทีมงานของตนเอง “ลืมตัวของตัวเอง”

การจัดการความรู้แบบมีส่วนร่วมจึงต้องเริ่มจากจัดการตนของตนเองให้ได้ จากนั้นจัดการความรู้ในทีมของตนเองให้ได้

และปัญหาที่พบบ่อยที่สุดก็คือเรามักจะคิดว่าเราฉลาดและชุมชนที่เราลงไปทำงานด้วยนั้นด้อยกว่าหรือเรียกกันตรง ๆ ว่า “โง่” นั่นเอง


การคิดแบบนี้เป็นการคิดที่ขวางกั้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง
ปิดประตูในการร่วมกันทำอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
การคิดแบบนี้จึงทำให้ชุมชนหรือผู้ร่วมวิจัยเป็นเพียงคนรับใช้สมมติฐาน (Hypothesis) ซึ่งเดินตามระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology) ที่เรากำหนดไว้แค่นั้นเอง

ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำเป็นอันดับแรกก่อนที่จะทำงานวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) ก็คือ เราต้องทำให้ทีมตระหนักในคุณค่าความเท่าเทียมกันในทุก ๆ ด้านของบุคคลทุกคนที่เราจะเข้าไปทำงานร่วมด้วย

ต้องจัดการความรู้ให้ทุก ๆ คนในทีมรู้ว่า ทุกฝ่าย ทุกคนต่างมีความรู้ มีประสบการณ์กันในแต่ละด้าน เก่งกันในแต่ละด้าน เราเก่งทฤษฎี เขาเก่งปฏิบัติ แล้วร่วมร้อยเรียงร่วมกันให้เกิดเป็น “ปฏิเวธ”

พยายามขจัดความคิดที่ทีมงานคิดว่า เราเป็นเทพเจ้าที่จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาชีวิตให้กับชุมชน
ถ้าคิดให้ดี เราเองนั่นคือปัญหาของเขา ไม่มีเราเขาก็อยู่กันสบายดี มีแต่เรานั่นเองที่เข้าไปบอกเขาว่า “เขามีปัญหา” เขาต้องแก้ไข เขาจนเกินไป เขายังไม่ “พัฒนา”

การทำงานแบบมีส่วนร่วมต้องกำจัดความคิดนี้ออกไปให้ได้เป็นอันดับที่หนึ่ง
ต้องสร้างแนวคิดการพึ่งพาอาศัยกัน การยอมรับในความรู้ การตระหนักในคุณค่าของประสบการณ์ ทีมงานต้องจัดการสร้างความคิดนี้ให้เกิดขึ้นกับทีมงานทุก ๆ คนให้ได้

ทุก ๆ ฝ่าย ทุก ๆ คนต่างมีหน้าที่ มีบทบาท กันแต่ละด้าน แต่ละอย่าง มีความสำคัญเปรียบเสมือนฟันเฟืองที่สอดประสานกันอย่างกลมกลืน จะไม่มีใครเด่นกว่าใคร ไม่มีใครเหนือกว่า ไม่มีใครช่วยใคร แต่เราร่วมช่วยกันด้วยกันและกัน

ถ้าหากทีมงานมีความคิดที่ว่าชุมชนยังด้อยกว่าตนอยู่ ยังคิดว่าชุมชนมีปัญหาต้องรอ ต้องอาศัยการพึ่งพาความรู้จากเราอยู่ อันนี้ยังเรียกว่าการวิจัยแบบมีส่วนร่วมไม่ได้

ก้าวแรกของ PAR จะก้าวอย่างถูกต้องได้ทุกฝ่ายจักต้องศรัทธาซึ่งกันและกัน
ทีมงานต้องสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นในจิตในใจของทีมงานให้ได้
เมื่อทีมงานมีศรัทธา PAR ก็จะเดินก้าวหน้าอย่างถูกต้องและมั่นคง...
 

 

หมายเลขบันทึก: 198953เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2008 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท