ก็บ่นไปตามเรื่อง


-

ทั้งที่เมื่อคราวสมัครเรียนปริญญาโท และเข้าสอบสัมภาษณ์นั้นเราสามารถตอบได้อย่างไม่ลังเลเลยว่าเราอยากทำวิทยานิพนธ์เรื่องอะไร แต่พอมาเรียนแล้วจริงๆ จนป่านนี้ยังหาข้อสรุปให้ตัวเองไม่ได้ว่าจะทำเรื่องอะไรดี

                   น้ำหนักของเรื่องที่คิดไว้นั้นก้ำกึ่งกันอยู่ระหว่างสองโจทย์ เรื่องหนึ่งเราอยากทำเรื่องปรากฏการณ์ภายหลังการเกิดขึ้นของคณะสงฆ์ธรรมยุต ต้องการศึกษาหาดูว่าทำไมรัชกาลที่ ๔ ท่านจึงตั้งคณะธรรมยุตซ้อนขึ้นมาอีก ทั้งๆ ที่เมืองไทยก็มีพระเถรวาทอยู่แล้ว ตั้งขึ้นมาแล้วมันให้ผลอะไร อย่างไรกับสังคมบ้าง แล้วจนถึงวันนี้หน่อธรรมยุตที่พระองค์ท่านทรงปลูกไว้เมื่อครั้งกระโน้นสำเร็จตามพระราชพระสงค์หรือไม่ประการใด แล้วมันพอจะเห็นแนวทางอะไรหรือไม่ที่จะนำมาพัฒนา หรือปรับปรุงพุทธไทยให้ดีขึ้น หรือเป็นไปในแนวทางที่เหมาะที่ควร โดยใช้กรณีนี้เป็นเครื่องศึกษาและเทียบเคียง

                   อีกประเด็นหนึ่งที่คิดว่าให้ประโยชน์กับองค์ความรู้ของสังคมส่วนรวม และมีความน่าสนใจให้วิเคราะห์วิจัยไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ เกี่ยวกับการนับถือพุทธแบบไทยๆ ของเรานี้ มันชวนให้สงสัยและค้นหาเหตุเหลือเกินว่า เหตุใดประเทศไทยที่พยายามเรียกขานตัวเองว่าบ้านพุทธเมืองพุทธนี้ จึงหาหลักการปฏิบัติที่เป็นแก่นของพุทธจริงๆ ได้ลำบากหนักหนา ที่พากับทำๆ สืบกันมาจนเป็นประเพณี และเที่ยวประกาศว่าเป็นประเพณีพุทธนั้น ความจริงแล้วล้วนเป็นแต่ “เปลือกพุทธ” ทั้งสิ้น และก็เห็นกันอยู่เต็มๆ โต้งๆ ว่าในบรรดาประเพณีพิธีกรรมเหล่านี้ไม่เคยขาดจากความเชื่อเรื่องผี และพิธีพราหมณ์ไปได้เลย ทั้งที่ลองจับมาวิเคราะห์ให้เห็นกันแก่นๆ จะพบว่าปรัชญาพุทธนั้นสอนไปคนละฟากกับผี และก็ขัดกับแนวปฏิบัติของพราหมณ์อย่างสุดขั้ว อย่างพราหมณ์เขาสอนให้บูชาเทพเจ้าแล้วพระเจ้าจะมีความเมตตาประทานพรแก่เราตามที่หวัง พุทธก็ฉีกไปสุดเหวี่ยงว่า ตนแลเป็นที่เพิ่งแห่งตนอย่างนี้เป็นต้น

                   ก็เพราะเหตุนี้เองเราจึงยังเลือกไม่ได้เลยระหว่างเรื่องคณะธรรมยุตซึ่งเป็นของกลางเก่ากลางใหม่ เป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยอยู่ กับเรื่องผี พราหมณ์ พุทธ ซึ่งเป็นรากเหง้าของเราแท้ๆ เป็นตัวเป็นตนเป็นวัฒนธรรมของเรา คล้ายๆ กับจะรักพี่แล้วเสียดายน้องอย่างไรอย่างนั้น (ท่านผู้อ่านเห็นอย่างไรช่วยแนะนำมาหน่อยแล้วกัน)

                   ย้อนกลับไปคิดถึงคำถามที่ ผอ.สถาบันศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน และประธานหลักสูตรวัฒนศาสตร์ ดร.ประจักษ์ จันทจร ถามวันนั้นว่าจะทำวิทยานิพนธ์เรื่องอะไร

                   “พญานาค” เราตอบชัดถ้อยชัดคำ (ทั้งที่ในใจอยากทำเรื่องพระธรรมยุตต่างหาก)

                   “ทำไมล่ะ” ผอ.ถามตามทางที่ควร

                   “เราชอบตำนาน เราคิดว่าตำนานคือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ คือเป็นวรรณกรรมแต่งประวัติศาสตร์ เรามีความรู้สึกว่าตำนานพญานาคกับคนไทย-ลาวมีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่ เราอยากค้นหาดู” เราบอกตามความฝันของเราเมื่อนมนานมาแล้ว

                   “ผมรู้สึกว่ามันจะเก่าไป ลองทำประวัติศาสตร์ยุคใหม่ หรือประวัติศาสตร์ร่วมสมัยจะเข้าท่ากว่านะ มันไม่ค่อยมีใครทำ” ผอ.ใจดีให้คำแนะนำ

                   บทสนทนาระหว่างเรามีเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ก่อนจะจบลงและโจทย์ที่ผอ.ให้นำกลับมาคิดเป็นการบ้าน

                   ถ้าเป็นนักเรียนที่ต้องส่งการบ้านในอาทิตย์ถัดมา เราคงได้คะแนนศูนย์ หรือว่าสอบตกไปแล้วแน่ๆ เพราะล่วงเข้าจนป่านนี้เดือนที่สองจะผ่านพ้นแล้ว เรายังสรุปโจทย์นั้นไม่ได้เลย ยังดีหน่อยที่มันเริ่มมีความคิดให้เห็นเป็นเค้าเป็นโครงขึ้นมาบ้าง

                   คิดว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้ เราจะมองเห็นรูปร่างหน้าตาของมันชัดเจนขึ้น ซึ่งก่อนจะถึงตอนนั้นเราจะขอ “บ่นไปตามเรื่อง” ไปพลางๆ ก่อน อาจจะมีเรื่องโน้นเรื่องนี้บ้างช่างหัวมันตามประสาคนยังไม่เห็นจุดหมาย (เนาะ) ก็หวังแต่เพียงว่าผู้ใดหลงเข้ามาอ่านแล้วจะไม่เบื่อด่าให้ซะก่อน เอาเป็นว่าคราวหน้าจะพยายาม “หาเรื่อง” มาเล่าสู่กันฟังให้พอได้ประทังสมอง แต่ปฐมบทนี้ขอบ่นไว้เพียงนี้ก่อน...แล้วเจอกันใหม่เมื่อหัวใจออกเดิน...อีกครั้ง

หมายเลขบันทึก: 198250เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2008 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาเป็นกำลังให้ค่ะ

เวลามีเรื่องอยุ่ในใจได้ปลดปล่อยออกบ้าง

ระบายอย่างไรก้ได้ ที่คนอื่นไม่เดือดร้อนก็โอเคแล้วค่ะ

อิอิ จริงไหมค่ะ...ขอบคุณค่ะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท