หนึ่งคาบเรียนหลาก “ล้าน” ความรู้...


 

ถ้าหากเราย้อนกลับไปพิจารณาถึงเวลาที่เราเข้าไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนแล้ว แต่ละคาบ แต่ละชั่วโมงนั้นมีความรู้ที่ผุดขึ้นอย่างมากหลายถ้าวิเคราะห์ พิจารณาออกมาก็จะได้ หลาก “ล้าน” ความรู้...

นับตั้งแต่ลมหายใจแรกที่เตรียมการสอน จัดเตรียมเอกสาร Course Outline จัดหาหนังสือ การจัดตารางสอน เวลาเรียน เท้าซ้ายที่ก้าวออกจากห้องพัก เท้าขวาที่เหยียบขึ้น ความชื้นเมื่อยามฝน ความร้อนเมื่อยามแดดออก หรือเมื่อครั้นนกกระจอกที่กลับเข้าสู่รัง “ทุกย่างก้าวมีความรู้”

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความรู้ได้นัก เราจักต้องหมั่นตั้งคำถามให้เกิดขึ้นในใจอยู่เสมอ
พร้อมกันทั้งจักต้องมีทิฏฐิมานะที่ต่ำ กล้าซัก กล้าถาม ในสิ่งที่เรายังไม่รู้กับนักเรียน นักศึกษา เด็ก ๆ นั้นก็เป็นครูของเราได้หากเราเปิดใจและน้อมจิตยอมรับฟัง

คนที่จะมีความรู้ มีปัญญาได้นั้นจักต้องเป็นผู้ที่ทำตนเหมือนทะเล ซึ่งมีพื้นที่อันอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำทั้งหลาย ความต่ำของทะเลนี่แลจึงทำให้ “ทะเลเป็นราชาแห่งแม่น้ำทั้งปวง...”

เมื่อครูลดทิฏฐิมานะของตนลงได้ หลากล้าน หลากหลายความรู้จึงหมุนเวียนกันเป็นเกลียวสู่ทั้งครูและนักเรียน

อนึ่ง เมื่อมีการหมั่นสังเกตุแล้ว หมั่นตั้งคำถามแล้ว ลดทิฏฐิมานะได้แล้ว การคิด วิเคราะห์ สกัด ความหมายในความรู้ทั้งหลายอย่างเป็นระบบและระเบียบเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง

สัตว์ตัวหนึ่งที่จะเรียกว่าปลาได้จักต้องมีทั้งหัว ลำตัว และปลายหาง

การจัดการความรู้ในชั้นเรียนก็เช่นเดียวกัน
จักต้องประกอบไปด้วยความคิดริเริ่มดี กิจกรรมดี สกัดดี วิเคราะห์ดี จัดเก็บรวบรวมดี เผยแพร่ดี ทุกอย่างต้องดี ยกเว้นอยู่อย่างหนึ่งที่ไม่ดีคือ “ทิฏฐิมานะ”

ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างดีคาบหนึ่งในห้องเรียนชั้นนี้ก็จะเป็นช่วงเวลาที่มีพลังและทรงคุณค่า "ทรงคุณค่าโดยนักศึกษา เพื่อนักศึกษา"
นักศึกษาก็จะนำสิ่งดี ๆ อันทรงคุณค่าผ่องถ่ายไปยังครอบครัวและสังคม

หรือหากจะถามเรื่ององค์กรที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) แล้วล่ะก็ ความรับผิดชอบหลักของมหาวิทยาลัยที่จักต้องมีต่อสังคมก็คือ การสร้างคนดี

คนดีนั้นไม่เพียงแต่เป็นบัณฑิตที่ดี
คนที่ดีต้องดีพร้อมใช้ในวันนี้ คาบเรียนนี้ มีความรู้ “พอดี” ที่จะใช้ดำรงชีวิตอยู่ได้ในโลกประจำวัน

การจัดการความรู้ในชั้นเรียน จึงเป็น “การวิจัยในงานประจำ (Research to Routine : R2R) ที่ครูและอาจารย์พึงกระทำเพื่อน้อมนำให้เด็ก ๆ เป็นคนดีอย่างปัจจุบันทันด่วน โดยเรียนรู้ แก้ไข และพัฒนาด้วยกันและกันอยู่ตลอดเวลา

อาจารย์ผู้บรรยายก็จะกลายเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาได้ กลายเป็นญาติ เป็นครอบครัวได้ เพราะรู้ เข้าถึง และเข้าใจ ถึงจริต พื้นฐานนิสัยของเด็กแต่ละคน

การวิจัยในชั้นเรียนก็ดี การทำ R2R ก็ดีจะทำให้เราในฐานะต่าง ๆ ที่ถูกสมมติไม่ว่าจะเป็นครู อาจารย์ ผู้บรรยาย วิทยากรกระบวนการ เป็นคนละเอียดขึ้น “มองคนเป็นคนมากขึ้น” เพราะเราจักมองคนที่คนจริง มองคนที่ความจริง การเป็นวิจัยชั้นเรียน และ R2R จักทำให้เราอยู่กับความจริง คนจริง “อยู่กับปัจจุบัน” ไม่มองคนในความฝัน ไม่มองไกลไปถึงเรื่องอนาคตซึ่งอัศจรรย์ เราจักมีความสุขในชีวิตอยู่กับปัจจุบันไปวัน ๆ ด้วยความจริง...

 


 

ภาพประกอบ...การจัดการความรู้ในชั้นเรียน และนำชั้นเรียนลงสู่ชุมชน ของนักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

หมายเลขบันทึก: 198246เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2008 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท