การสอนโดยเพื่อนช่วยสอน ( Peer Tutoring)


การสอนโดยเพื่อนช่วยสอน ( Peer Tutoring)

การสอนโดยเพื่อนช่วยสอน ( Peer Tutoring)

 
   
       ความหมาย
      การสอนโดยเพื่อนช่วยสอน หมายถึง วิธีการสอนที่ให้เพื่อนักเรียนช่วยสอนให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ แบบตัวต่อตัวหรือ 1 :1 โดยเพื่อนช่วยสอนอาจเป็นนักเรียนชั้นสูงกว่าหรือนักเรียนขั้นเดียวกัน อายุเท่ากัน แต่มีความสามารถสูงกว่ามาช่วยสอน

      ประโยชน์ของการสอนโดยเพื่อนช่วยสอน
      ประโยชน์สำหรับครู ทำให้มีครูเพิ่มขึ้นจากเดิมมี 1 คน ใน 1 ห้องเรียน เมื่อมีเพื่อนนักเรียนช่วยสอนจึงเท่ากับว่ามีครูมากกว่า 1 คน ในห้องเรียน ครูมีคนช่วยดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดและทั่วถึงยิ่งขึ้น
      ประโยชน์สำหรับนักเรียน นักเรียนจะได้รับผลประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย คือ
      นักเรียนผู้ช่วยสอน       จะเกิดทักษะในการเรียนรู้และทักษะทางสังคมมากขึ้น
      นักเรียนผู้ถูกสอน       จะเรียนรู้ได้ดีขึ้นจาการใช้ภาษาของเพื่อนในวัยเดียวกัน
 

      ข้อแนะนำสำหรับครู
      ในการสอนโดยเพื่อนช่วยสอนเป็นวิธีการที่ดีวิธีหนึ่ง ครูควรคำนึงถึงเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
            1. การเลือกงานที่เหมาะสม เพราะกิจกรรมบางอย่างอาจไม่เหมาะสมสำหรับการใช้วิธีการสอนแบบเพื่อนช่วยสอน
            2. การประเมินความต้องการของผู้เรียนก่อนการสอน เพื่อทราบว่านักเรียนยังขาดความรู้ความสามารถในเรื่องใดบ้าง
            3. การจัดเตรียมกิจกรรมและสื่อการสอนไว้ให้พร้อม
            4. การเตรียมขั้นตอนการสอนให้ง่าย เพื่อให้นักเรียนผู้ช่วยสอนปฏิบัติตาม
            5. การจับคู่ผู้ช่วยสอนกับผู้เรียนให้เหมาะสม
            6. การฝึกนักเรียนผู้ช่วยสอนให้มีความเข้าใจในบทบาทก่อน
            7. การจัดรายการปฏิบัติแต่ละวันให้แน่นอน เพื่อให้ผู้ช่วยสอนแน่ใจและปฏิบัติตามตารางที่กำหนด
            8. การจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมสำหรับเด็ก
            9. การตรวจสอบความก้าวหน้าทั้งผู้ช่วยสอนและผู้ถูกสอน อาจตรวจสอบได้ทุกสัปดาห์ เพื่อดูความก้าวหน้าและสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติงาน
            10. การให้กำลังใจผู้ช่วยสอน เช่น ประกาศเกียรติคุณให้เขาเป็นที่ยอมรับ ให้เกียรติบัตรให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจเป็นเสื้อยืดทีม สมุดบันทึก ฯลฯ เป็นต้น

 

 

     การสอนให้เด็กเป็นผู้ช่วยสอนที่ดี
      ก่อนจะให้เด็กช่วยสอน ครูต้องอธิบายหรือสอนเทคนิคการเป็นผู้ช่วยสอนให้เด็กเข้าใจเป็นอย่างดีในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดย
      1. อธิบายให้เข้าใจถึงแนวทางการสอน
      2. บอกลักษณะงานประจำให้เด็กเข้าใจอย่างชัดเจน
      3. อธิบายให้เด็กเข้าใจถึงงานที่ต้องทำ
      4. บอกวิธีทาง "ทำอย่างไรจึงจะผูกมิตรกับผู้ถูกสอน"
      5. สอนขั้นตอนง่าย ๆ ในการสอนให้เด็กผู้ช่วยสอนเข้าใจวิธีการ ดังนี้
            ขั้นที่ 1 แสดง สาธิต อธิบาย ให้ผู้ถูกสอนเข้าใจเนื้อเรื่องที่ต้องการสอน
            ขั้นที่ 2 สอบถามความเข้าใจที่แสดง สาธิต หรืออธิบายให้ฟังแล้ว
            ขั้นที่ 3 ให้เด็กผู้ถูกสอนปฏิบัติพร้อม ๆ กับผู้ช่วยสอน
            ขั้นที่ 4 ให้เด็กผู้ถูกสอนปฏิบัติเอง โดยผู้ช่วยสอนไม่ต้องช่วยเหลือ
            ขั้นที่ 5 ตรวจสอบผลการปฏิบัติงาน และอาจผลัดกันเป็นผู้ถาม-ตอบด้วยก็ได้
      6. สอนทักษะในการทำงานกับผู้อื่น พัฒนาทักษะทางสังคมให้ผู้ช่วยสอน
      7. สอนวิธีการวัด/การตรวจสอบผู้เรียน ให้เด็กผู้ช่วยสอนเข้าใจ
      8. สอนให้เด็กผู้สอนจดบันทึกความก้าวหน้าของผู้เรียน
      9. สอนเคล็ดลับในการเป็นผู้สอน เช่น ใจเย็น ไม่เร่งเร้าผู้เรียน


      การติว (Tutoring)
      การติว เป็นกระบวนการที่ใช้ในการสอนตัวต่อตัว นักเรียนเฉพาะบุคคล โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาทักษะและเอื้ออำนวยให้เกิดความคิดรวบยอดทางบวกเกี่ยวกับตนเอง (Koskined & Wilson : 1980 อ้างถึงใน Cole & Chan : 1990)
      ผู้ติว (tutor) คือบุคคลที่ทำการสอน
      ผู้รับการติว (Turee) คือ บุคคลที่ได้รับการสอน

      ผู้ติว จะช่วยครูในชั้นเรียน โดยการจัดดำเนินกิจกรรมที่ช่วยเสริม หรือช่วยสอนแก้ไขหรือสอนเสริม
      ในการติวส่วนใหญ่ จะต้องมีการวินิจฉัยระดับความก้าวหน้าทักษะทางการเรียนของบุคคลนั้น ก่อนที่จะเริ่มดำเนินโปรแกรมติว ซึ่งจะทำโดยครูประจำชั้นและนำเอาข้อมูลเหล่านี้ไปบอกให้กับผู้ติว ผู้ติวก็จะใช้ประโยชน์ข้อมูลในการดำเนินการติว ในบางครั้งอาจมีผู้ติวหลายคนช่วยเด็กคนเดียว
      การติวโดยเพื่อนต่างอายุหรือต่างชั้นกัน หมายถึง สถานการณ์การสอนที่นักเรียนที่เป็นผู้ติว สอนนักเรียนที่มีอายุน้อยกว่าหรือเรียนอยู่ในชั้นต่ำกว่า
      การติวโดยเพื่อนที่อายุเท่ากันหรืออยู่ในชั้นเดียวกัน เป็นการสอนที่นักเรียนเป็นผู้ติวสอนนักเรียนที่มีอายุเท่ากันหรือเรียนอยู่ในชั้นเดียวกัน
      การติวโดยเพื่อนทั้งชั้น (Classwide peer tutoring) เกิดขึ้นเมื่อนักเรียนทุกคนในชั้นมีส่วนร่วมในกิจกรรมการติว (ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ติวหรือผู้รับการติว) ในช่วงระยะเวลาเฉพาะตอน ในระหว่างวัน

      หน้าที่ของผู้ติว
      ในกระบวนการติว ผู้ติวจะทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมติดตามในสิ่งเสริมแรง สาธิต และอธิบาย
            1. การควบคุมการคิว
            2. การให้สิ่งเสริมแรง
            3. การสาธิต
            4. การอธิบาย

 

 

      การสร้างโปรแกรมการติว ประสบผลสำเร็จให้ใช้แนวทางต่อไปนี้
            1. วินิจฉัยจุดอ่อนของนักเรียนและกำหนดจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน
            2. จับคู่ผู้ติวกับผู้ที่จะบริการติว
            3. พัฒนาโปรแกรมและสิ่งที่สอดคล้องกับหลักสูตรที่เหมาะสม
            4. จัดอบรมสั้นๆ ให้กับผู้ติว
            5. จัดให้มีกระบวนการสอนง่าย ๆ ที่ผู้ติวสามารถใช้ได้
            6. การจัดระบบปฏิบัติงานประจำวัน
            7. จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับการติวให้เหมาะสม
            8. ให้สิ่งเสริมแรงทางบวกแก่ผู้ติวและผู้ได้รับการติว
            9. ควบคุมติดตามความก้าวหน้าของการติว
                  9.1 นิเทศกระบวนการติวเพื่อให้ผู้ติวสอนในระดับที่เหมาะสมและสอนครอบคลุมเนื้อหา
                  9.2 ประเมินคุณภาพของสัมพันธภาพของผู้ติวและคู่ติว ครูควรควบคุมติดตามระดับความก้าวหน้า การสื่อสารระหว่างคู่ติว
                  9.3 ควบคุมติดตามความถี่ในการเข้าปฏิบัติการติวหรือรับการติว เพราะการมาถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่งที่จะทำนายความสำเร็จของการติว
            10. เปลี่ยนผู้ติวหากจำเป็น

      สรุป
-       ในการติว ผู้ติวควรตั้งเกณฑ์ไว้อย่างน้อย 80 %
- ผู้ติวควรได้รับทราบหน้าที่อย่างชัดเจน ส่วนการสนับสนุนและความรับผิดชอบต่อเด็ก ส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของครู

      สิ่งที่จะเสริมการติว
      1. จดบันทึกความก้าวหน้าของนักเรียน ให้ทำให้ง่ายที่สุด ได้แก่ จดบันทึกจำนวนข้อที่เด็กทำได้สำเร็จ จำนวนหน้าที่อ่านได้ จำนวนเวลาที่ทำงานกับเด็ก ความสามารถในการทำกิจกรรม
      2. อภิปรายร่วมกันถึงผลของโปรแกรมการติว ต้องพบกันสม่ำเสมอ โดยครูฟังรายงานจากผู้ติวทั้งหลายถึงความก้าวหน้า และผู้ติวจะได้สนับสนุนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์และปัญหาที่พบขณะปฏิบัติงาน


 

 
หมายเลขบันทึก: 197751เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2008 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดีครับ เพราะงั้นต้องมีพี่ช่วยติวน้องบ้างแล้วครับ สวัสดีครับ

ดีมาก เป็นสิ่งที่ทำได้ดีด้วยแต่ก็มีปัญหามีเด็กบางคนไม่ยอมช่วยเพื่อน

เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ดีอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักมีน้ำใจและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท