CAR


วิจัยในชั้นเรียน

การวิจัยในชั้นเรียน

การวิจัยในชั้นเรียน ( CAR - Classroom Action Research ) เป็นการพัฒนาการเรียนรู้เชิงระบบโดยใช้ข้อมูลระดับห้องเรียน
เป็นฐานการพัฒนา เพื่อให้ผู้เรียนได้บรรลุเป้าหมายตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ โดยมีขั้นตอนดำเนินการดังนี้

การวิเคราะห์สภาพปัญหาการเรียนการสอนในระดับห้องเรียน เป็นการระบุปัญหาที่แท้จริง โดยอาศัยข้อมูลจากห้องเรียน ดังนี้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับรายวิชา / รายจุดประสงค์การเรียนรู้ พฤติกรรมด้านคุณธรรม จริยธรรม-ที่พึงประสงค์ตามหลักสูตร บุคลิกภาพของนักเรียนด้านต่าง ๆ เจตคติต่อรายวิชาต่าง ๆ พฤติกรรมการเรียน เช่น ความขยันหมั่นเพียร ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อค้นคว้าหาความรู้ แหล่งข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์ ได้แก่

 

1.       รายงานสรุปผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นรายห้อง

2.       รายงานผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นรายจุดประสงค์การเรียนรู้

3.       แบบสังเกตพฤติกรรมด้านต่าง ๆ

4.       ผลการประเมินโครงการที่เกี่ยวข้อง

5.       แบบวัดเจตคติต่อรายวิชาต่าง ๆ

6.       แบบวัดบุคลิกภาพด้านต่าง ๆ

7.       แฟ้มผลงานของนักเรียนรายบุคคล

8.       แบบประเมินพฤติกรรมตามหลักสูตร

9.       แบบวัดคุณธรรม จริยธรรมตามหลักสูตร

ข้อสังเกต  ในการวิเคราะห์ปัญหาด้านการเรียนการสอน ครูผู้สอนใช้ข้อสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยออกข้อสอบแบบอิงจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม แล้วนำผลมาใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาแล้วจะชี้ปัญหารวม ๆ ไม่ได้ระบุว่านักเรียนบกพร่องในด้านใด เรื่องอะไรบ้างได้ชัดเจน เครื่องมือที่ใช้วัดยังไม่คมชัดพอที่จะระบุปัญหาข้อบกพร่องทางการเรียนได้อย่างชัดเจน แต่มีข้อสอบอีกชนิดหนึ่งที่สามารถจะนำมาใช้วินิจฉัยข้อบกพร่องทางการเรียนได้ดี คือ แบบทดสอบวินิจฉัย (Diagnostis Test) ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึงภายหลัง นอกจากข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแล้ว ครูผู้สอนยังต้องนำข้อมูลด้านพฤติกรรมที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรมาร่วมพิจารณาด้วย จึงจะสามารถพัฒนา การเรียนให้เกิดความสมดุลอย่างแท้จริง

 

การพัฒนาเทคนิควิธีการสอน / สื่อ / นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา
เป็นขั้นตอนที่ครู อาจารย์ผู้สอนต้องศึกษา ค้นคว้าหาวิธีการที่จะนำมาแก้ปัญหาในห้องเรียนโดยเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ (Child Centered) โดยพิจารณา
1. วิธีสอน ต้องสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้และพฤติกรรมที่ต้องการแก้ไข เป็นการสอนโดยอาศัยกลุ่มสัมพันธ์ เพื่อเสริมสร้างการทำงานเป็นกลุ่ม / ทีม / คณะ กิจกรรมการสอนเพื่อสร้างปัญญา , กิจกรรมการสอนเน้นการคิดเป็น , การสอนแบบแก้ปัญหา ฯลฯ
2. สื่อ / นวัตกรรมต่าง ๆ เป็นเครื่องมือของ ครู อาจารย์ที่จะทำให้การจัดการเรียนการสอนบรรลุจุดมุ่งหมายการสอน โดยสื่อ / นวัตกรรมเหล่านั้น ต้องสนองตอบต่อการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ โดยนักเรียนจะต้องสามารถศึกษาค้นคว้า หาความรู้ด้วยตนเอง ปฏิบัติจริง ฝึกนิสัยให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ สื่อ/ นวัตกรรมที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา อันได้แก่ สื่อที่ใช้ศึกษาด้วยตนเอง เช่น บทเรียนสำเร็จรูป แบบฝึกทักษะ เอกสารประกอบการเรียนการสอน สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) สื่อเครือข่ายความรู้ทาง Internet เช่น Webbase Instruction , Digital Library เป็นต้น (การสร้างสื่อต่าง ๆ เช่น CAI หรือ Webbase Instruction จะมีผู้นำเสนอในภายหลัง)

 สื่อ / นวัตกรรมที่จะนำมาใช้ในด้านการเรียนการสอน อาจเป็นของที่มีใช้กันอยู่แล้ว ครูนำมาปรับใชักับนักเรียนของตน
ได้อย่างเหมาะสม หรือคิดประดิษฐ์สื่อใหม่ขึ้นมาเพื่อนำมาใช้สอน โดยมีขั้นตอนการพัฒนา ดังนี้

 เมื่อสร้างสื่อ / นวัตกรรมแล้วควรนำสื่อที่ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อนั้น ๆ พิจารณาคุณภาพเบื้องต้นว่า สื่อนั้นถูกต้อง
ตามหลักการ ทฤษฎีของสื่อนั้น และเหมาะสมกับนักเรียนหรือไม่ โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 2 - 3 คน ทดลองให้นักเรียนในระดับเดียวกันกับนักเรียนที่มีปัญหาในเรื่องนั้น ๆ ทดลองเรียนก่อน 1 คน เพื่อดูความเหมาะสม
และความถูกต้อง แล้วปรับปรุงแก้ไขตามความเหมาะสม

 ทดลองกับนักเรียนกลุ่มเล็ก ประมาณ 5 - 10 คนคละกันไป เพื่อตรวจสอบ ข้อบกพร่องและความเหมาะสมของสื่อ เพื่อเตรียมไปใช้กับนักเรียนจริงขั้นตอนนี้เป็นการทดลองใช้เพื่อให้ได้สื่อที่มีคุณภาพระดับหนึ่งสามารถจะนำไปสอนในห้องเรียนจริงได้

การนำเทคนิค วิธีการ / สื่อ / นวัตกรรมไปใช้สอนในห้องเรียน
 ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่นำเอาเทคนิค วิธีการสอน สื่อ / นวัตกรรมที่ได้พัฒนาแล้ว ไปใช้ในห้องเรียนโดยมุ่งเน้นว่าสิ่งที่พัฒนามานั้น สามารถใช้แก้ปัญหาได้หรือไม่ โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. นำเทคนิค วิธีการ / สื่อ / นวัตกรรม ไปใช้แล้วนำผลที่ได้เปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด โดยเกณฑ์นั้น ครู - ผู้สอนจะเป็นผู้กำหนดเอง โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสม คือ ไม่สูงเกินความสามารถของเด็ก หรือไม่ต่ำเกินไป
จนเด็กที่ไม่ได้เรียนโดยใช้วิธีนี้ก็สามารถทำได้
2. เพื่อจะดูว่านักเรียนที่เรียนโดยสื่อ / นวัตกรรม ที่พัฒนาขึ้นมาเกิดการเรียนรู้จริงหรือไม่โดยดูจากคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน(โดยใช้สื่อ / นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมา) นำมาเปรียบเทียบกันว่าแตกต่างกันจริงหรือไม่ ซึ่งพิจารณา
จากผลการทดสอบทางสถิติว่า คะแนนหลังเรียนแล้วแตกต่างจากคะแนนก่อนเรียนและเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหรือไม่(เพื่อความสะดวกของครู อาจารย์ จึงใคร่ขอ เสนอรูปแบบการนำสื่อไปใช้ และพิสูจน์ว่าสื่อที่พัฒนานั้น แก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ แต่ยังมีรูปแบบการนำสื่อไปใช้สอนและพิสูจน์ว่าสื่อที่เราได้ผลิต ใช้แก้ปัญหาได้อีกหลายรูปแบบ ซึ่งทางวิจัยจะเรียกว่ารูปแบบการทดลอง รายละเอียดจะได้เสนอต่อไปอีกครั้ง) ขั้นตอนที่จะได้คำตอบว่า สื่อที่เราพัฒนาขึ้นแล้วนำไปแก้ปัญหาสำเร็จหรือไม่ ถ้ายังแก้ปัญหาไม่ได้ หรือแก้ปัญหายัง
ไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป คือ การปรับปรุงสื่อที่พัฒนาอีกครั้งหรือหาวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ถ้าขั้นตอนนี้สามารถแก้ปัญหาประสบผลสำเร็จ ครู-ผู้สอนจะต้องบันทึกสรุปผลการแก้ปัญหา โดยทำเป็นรูปเล่ม หรือเป็นบทสรุปที่มีข้อมูลยืนยันความสำเร็จ เก็บในแฟ้มผลงานของครู เพื่อเผยแพร่แก่ผู้อื่นได้รับทราบต่อไป

สรุปผลการดำเนินการแก้ปัญหา
ซึ่งเป็นขั้นตอนการเผยแพร่แนวทาง เทคนิควิธีการ / สื่อ / นวัตกรรมที่ใช้แก้ปัญหาประสบความสำเร็จแก่ผู้ร่วมอาชีพและสาธารณชนได้ทราบ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานักเรียน ผู้ร่วมอาชีพ ที่สามารถนำไปเป็นแนวทางการแก้ปัญหาการเรียนการสอนได้ในรายวิชาเดียวกัน หรือรายวิชาอื่น ๆ รายละเอียดของแนวทางการเขียนรายงาน จะนำเสนออีกครั้ง

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #car
หมายเลขบันทึก: 197060เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2008 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีอะไรดีดี เกี่ยวกับการสอน Com ก็แจ้งข่าวด้วยนะ

แวะมาเยี่ยมครับพี่อ๊อด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท