การศึกษาต่อเนื่องทางไกลอีกทางเลือกเพื่อการเรียนรู้


การแสวงหาความรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิต

ความเป็นมา

                                การจัดการศึกษาทางไกล  เป็นการศึกษาอีกลักษณะหนึ่งที่ถูกกำหนดไว้ในมาตรา  37  วรรค  2 (4)  แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542  ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2545  ซึ่งกำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการสามารถจัดการศึกษาในลักษณะนี้เพื่อเสริมการบริหารและการจัดการของเขตพื้นที่การศึกษา  ซึ่งในเรื่องนี้สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนหรือกรมการศึกษานอกโรงเรียนในขณะนั้นได้เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการปรับบทบาทของศูนย์การศึกษาทางไกลไทยคมเพื่อทำหน้าที่จัดและให้บริการการศึกษาทางไกล  ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ  ลงวันที่ 15  กันยายน  พ.ศ. 2546  ซึ่งต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนชื่อศูนย์การศึกษาทางไกลไทยคมเป็นสถาบันการศึกษาทางไกล  ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ  ลงวันที่  18  ตุลาคม  พ.ศ. 2549

                                สถาบันการศึกษาทางไกลมีสถานภาพเป็นสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน  ซึ่งในปัจจุบันให้บริการการศึกษาทางไกล  2  ประเภท  ประเภทแรกคือ  การศึกษาทางไกลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 ของกระทรวงศึกษาธิการใน2  ระดับ  คือ  ระมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย  ซึ่งเปิดรับสมัครผู้เรียนปีละ  2  ครั้ง  คือ  ในเดือนเมษายนและตุลาคม  ใช้เวลาเรียนระดับละ  2  ปี  หรือ  4  ภาคเรียนเท่า ๆ กับการเรียนโดยวิธีพบกลุ่มที่จัดโดยสถานศึกษาอื่นของ  กศน.  ส่วนการศึกษาประเภทที่สองเป็นการจัดการศึกษาประเภทต่อเนื่องที่มีลักษณะเป็นหลักสูตรระยะสั้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้เลือกเรียนตามความสนใจหรือความจำเป็นในการนำไปใช้ในการพัฒนาตนเองและอาชีพการงาน  ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อการเรียนรู้

 

แนวคิดการจัดการศึกษาต่อเนื่องทางไกล

                                ท่ามกลางสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงและกระแสโลกาภิวัตน์ได้ก่อให้เกิด
การเปลี่ยนแปลงในทุกมิติของสังคม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ความรู้ใหม่ที่เชื่อว่าเกิดขึ้นตลอดเวลา 
การดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมจำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้เท่ากันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม  การแสวงหาความรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิต  การส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสการเรียนรู้และเข้าถึงบริการทางการศึกษาจึงเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้จัดและให้บริการทางการศึกษา  การศึกษาต่อเนื่องทางไกลจึงเป็นอีกความพยายามของ  กศน. ในการจะเปิดโลกกว้างการเรียนรู้ให้กับประชาชนในสังคมที่เปลี่ยนแปลง  ภายใต้แนวคิดที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการศึกษาตลอดชีวิตที่ต้องการเปิดโอกาสให้บุคคลได้เรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง  การศึกษาเพื่ออาชีพที่ต้องการเปิดโอกาสให้บุคคลได้เรียนรู้ในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปพัฒนา/ปรับปรุงอาชีพการงาน  การศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ต้องการเปิดโอกาสให้บุคคลได้เรียนรู้ในเนื้อหาที่เกี่ยวกับสุขภาพ 
     นันทนาการหรือตอบสนองความสนใจส่วนตัวและการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมที่ต้องการเปิดโอกาสให้บุคคลได้เรียนรู้เพื่อนำความรู้สู่การพัฒนาสังคมหรือขับเคลื่อนกิจกรรมตามนโยบาย

                                แนวคิดการศึกษาเหล่านี้จะถูกสำรวจและประเมินความต้องการเพื่อนำไปสู่รูปแบบ
การวิเคราะห์เพื่อกำหนดความคิดรวบยอด  กรอบเนื้อหา  กระบวนการเรียนรู้และการประเมินผลในรูปแบบของหลักสูตรระยะสั้นภายใต้หลักการของการศึกษาทางไกล

 

จากแนวคิดสู่การจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย

                                การพัฒนาหลักสูตรเพื่อจัดการศึกษาต่อเนื่องทางไกล  สถาบันการศึกษาทางไกลได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นภายใต้กรอบ เนื้อหาที่เกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพ  การพัฒนาคุณภาพชีวิต    การพัฒนาชุมชนและสังคม  โดยดำเนินการร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหรือหน่วยงานและองค์กรที่เป็นเจ้าขององค์ความรู้นั้น ๆ   ซึ่งทุกหลักสูตรได้ออกแบบกระบวนการและกิจกรรมให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านชุดการเรียนทางไกลที่มีลักษณะเป็นสื่อประสม (Multimedia)  ภายใต้หลักการและกระบวนการของการจัดการเรียนการสอนทางไกล  โดยมีกระบวนการและกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ตามความเหมาะสมเพื่อให้ผู้เรียนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้  เช่น  การสอนเสริม  การสัมมนา  การฝึกปฏิบัติจริง  เป็นต้น

                                สำหรับการวัดผลและประผลนั้นมีวิธีการวัดผลและประเมินผลที่หลากหลายเพื่อให้สามารถประเมินผลได้ตามจุดมุ่งหมาย  ทั้งในส่วนที่เป็นองค์ความรู้และทักษะหรืออื่น ๆ เช่น  การประเมินด้วยข้อทดสอบ  การประเมินจากผลงานหรือแฟ้มสะสมงาม (Portfolio)  การประเมินจากปฏิบัติจริง  เป็นต้น

 

จุดเริ่มต้นกับการศึกษาปฐมวัย

                                ด้วยความตระหนักว่าช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่มีความสำคัญที่สุดเพราะเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้และพัฒนาในทุกด้านของร่างกาย  จิตใจ  อารมณ์และสังคม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการทางสมอง  ดังนั้น  หลักสูตรการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยจึงเป็นหลักสูตรแรกที่สถาบันการศึกษาทางไกลได้พัฒนาและจัดให้บริการสำหรับการศึกษาประเภทนั้น ๆ  โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรประจำการที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยและอนุบาลศึกษาให้มีความรู้  ความเข้าใจและทักษะพื้นฐานในการจัดกิจกรรมและประสบการณ์เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นไปตามพัฒนาการเรียนรู้  ซึ่งหลักสูตรนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาปฐมวัยและอนุบาลศึกษา  และเพื่อให้สามารถพัฒนาบุคลากรเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่องสถาบันการศึกษาทางไกลได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องอีก 3  หลักสูตรเพื่อเป็นการส่งเสริมวามรู้เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยในเชิงที่ลึกขึ้นกว่าเดิม  เพื่อให้บุคลากรกลุ่มนี้ได้พัฒนาตนเองให้สามารถจัด                                                                                   

ประสบการณ์การพัฒนาเด็กปฐมวัยได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  คือ  หลักสูตรการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมองเด็กปฐมวัย  หลักสูตรเพลงและกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยและหลักสูตรการบริหารเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย

 

หลักสูตรที่พัฒนาจากกรอบเชิงนโยบาย

                                หลักสูตรบางหลักสูตรที่ดำเนินการเกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของภาครัฐ  ซึ่งมีหลายหลักสูตรที่ได้รับความสนใจจากผู้เรียน  เช่น  ภาษาจีนเพื่อการสื่อสาร  ที่มุ่งตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งส่งเสริมและขยายโอกาสการเรียนรู้ภาษาจีนให้กว้างขว้างและเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย - จีน   โดยเน้นการพัฒนาทักษะการอ่าน  ฟังและสนทนา  ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรนี้มีเครือข่ายที่เป็นโรงเรียนเอกชนสอนภาษาจีนร่วมเป็นศูนย์การเรียนและหน่วยทดสอบประเมินผลทั่วประเทศกว่า  50  สถานศึกษา  สำหรับอีกหลักสูตรที่เกิดจากกรอบความคิดเชิงนโยบาย   ก็คือหลักสูตรการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้  ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้ครูสามารถทำวิจัยในชั้นเรียนตามนโยบายของการปฏิรูปการศึกษาที่ต้องการให้ครูสามารถนำกระบวนการวิจัยไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการเรียนการสอนและพัฒนาคุณภาพผู้เรียน  ซึ่งในการบริหารและจัดการเรียนการสอนทางไกลในหลักสูตรนี้ได้มีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา  โดยหลักสูตรนี้ได้รับการรับรองจากสำนักเลขาธิการคุรุสภา  โดยผู้เรียนที่จบหลักสูตรนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการต่อใบประกอบวิชาชีพครูได้ด้วย

 

หลายหลักสูตรที่โดนใจ

                                นอกเหนือจากเนื้อหาดังที่กล่าวมา  ในบางเนื้อหาที่นำมาพัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสอนหรือหาเรียนได้ยาก  เช่น  เรื่องของพระเครื่องซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก ๆ เพราะเชื่อว่าทุกบ้านต้องมีวัตถุมงคลชนิดนี้และหลายคนก็สนใจแต่ก็ไม่รู้จะไปศึกษาเล่าเรียนจากไหน  จะมีองค์ความรู้ให้ศึกษาอยู่บ้างก็ตามนิตยสารหรือวารสารที่เกี่ยวกับพระเครื่องแต่ก็ไม่เป็นระบบ  และก็ไม่มีที่ไหนจัดการเรียนการสอนในเชิงวิชาการ  ดังนั้น  การศึกษาพระเครื่องจึงถูกพัฒนาขึ้น    ภายใต้ความร่วมมือกับสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย  หลักสูตรการศึกษาพระเครื่องขั้นพื้นฐานนี้จะให้ความรู้ตั้งแต่เรื่องของประวัติความเป็นมา  มวลสารและกระบวนการสร้าง   พิมพ์ทรง  การใช้กล้องส่องพระและการเก็บรักษาพระเครื่องให้ถูกวิธี เพื่อส่งเสริมให้ผู้สนใจได้มีความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับพระเครื่องอย่างเป็นระบบ  เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์และสืบสานมรดกของแผ่นดินแห่งพระพุทธศาสนา    ส่วนอีกหลักสูตรที่คิดว่าน่าจะโดนใจคนหลาย ๆ คนเช่นกันก็คือ  หลักสูตรการร้องเพลงเบื้องต้น  ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ตอบสนองเรื่องของสุนทรีย์และความชอบส่วนบุคคล  จริงอยู่ในปัจจุบันมีสถาบันและโรงเรียนสอนขับร้องอยู่มากมาย   แต่ด้วยสนนราคาแล้วเชื่อว่าหลายๆคน

                                                                                                                                                                                                       

  คงไม่พร้อม  ขณะที่บางคนอาจไม่เกี่ยงเรื่องของราคาแต่ก็อาจจะไม่สะดวกในเรื่องเวลาและการเดินทาง  ดังนั้น  สถาบันการศึกษาทางไกลจึงได้ร่วมมือกับครูแอน (นันทนา  บุญหลง)  ในการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรการร้องเพลงเบื้องต้น  เพื่อให้ความรู้  หลักการและเทคนิคพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการร้องเพลงให้กับผู้สนใจมีโอกาสพัฒนาทักษะและเทคนิคการร้องเพลงอย่างมีหลักการ

 

ส่งท้าย

                                ที่กล่าวมาทั้งหมดคือความเป็นมา  แนวคิดและหลักในการพัฒนาหลักสูตรในการจัดการเรียนการสอนสำหรับการศึกษาทางไกล  ประเภทการศึกษาต่อเนื่องที่ดำเนินการโดยสถาบันการศึกษาทางไกล  ซึ่งนอกจากการดำเนินการของสถาบันการศึกษาทางไกลแล้วยังมีศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคอีก  5  แห่งที่ได้รับมอบหมายให้มีบทบาทในการจัดการศึกษาประเภทนี้  เพื่อเพิ่มความหลากหลายและทางเลือกในการเรียนรู้สำหรับประชาชน ซึ่งต้องถือ เป็นบริการทางเลือกหนึ่งของการจัดบริการการศึกษานอกโรงเรียน  ที่ต้องการลดข้อจำกัดและอุปสรรคในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้     อันเนื่องมาจากเวลาว่างที่ไม่แน่นอนและความไม่สะดวกในการเดินทาง  สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาหาความรู้เพื่อวัตถุประสงค์ใด ๆ ก็ตาม     โดยผู้เรียนสามารถเรียนตามเวลาว่างที่ตัวเองสะดวก  สำหรับในอนาคตแต่ละสถานศึกษาจะมีการพัฒนาหลักสูตรในเนื้อหาต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการเรียนรู้ในสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลง  ในส่วนของสถาบันการศึกษาทางไกลเองจะมุ่งเน้นการพัฒนาในเนื้อหาหลักสูตรที่ไม่มีหน่วยงานใดจัดและเน้นในเนื้อหาที่แปลกน่าสนใจในลักษณะที่เป็น  First   and   difference  และจัดให้บริการภายใต้ระบบการเรียนการสอนทางไกลเพื่อให้สามารถบริการกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างและสามารถเป็นการศึกษาทางเลือกในการเรียนรู้สำหรับประชาชน     สำหรับผู้ที่สนใจหลักสูตรประภทการศึกษาต่อเนื่องทางไกลของสถาบันการศึกษาทางไกลสามารถดูรายละเอียดได้จากwww.dei.ac.th  ในหัวข้อกิจกรรมและความรู้  หน้า การศึกษาต่อเนื่อง

 

 

 


หมายเลขบันทึก: 196391เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2008 08:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท