เมื่อไม่ได้นอน (3) : ความธรรมดา และความสบายของช่องท้อง


 

คืนและวันที่หก...

คืนและวันที่ผ่านมาก็ไม่มีอะไรที่แปลกแตกต่างอย่างน่าตื่นเต้น ทุก ๆ อย่างก็ดู “ธรรมดา ๆ”

แต่เมื่อหวนคิดไปดี ๆ แล้ว เอ่... ไอ้เจ้าธรรมดา ๆ นี่มันเกิดขึ้นได้อย่างไร...?

มันไม่น่าจะธรรมดานะ ก็เพราะหลังไม่ได้ติดพื้นมาเกือบหนึ่งสัปดาห์แล้ว ร่ายกายส่วนบนเราตั้งฉากฝืนแรงโน้มถ่วงมาตั้งร้อยกว่าชั่วโมงแล้ว นี่เราไม่ได้เป็นอะไรเลยหรือ
อื่ม... ใช่ เราไม่ได้เป็นอะไร “ธรรมดา ๆ”

ที่จริงเราไม่ได้นอนก็ได้นี่หน่า...!

เพราะเมื่อก่อนเรานอนเราก็เป็นแบบนี้ ตอนนี้เราไม่ได้นอนเราก็เป็นแบบนี้ แบบ “ธรรมดา ๆ”

ธรรมดาจนบางครั้งแทบลืมไปว่าเรา “ไม่ได้นอน...”

ชีวิตทุกอย่างก็ดำเนินไปอย่างปกติ เรื่องอยู่เรื่องกิน เราก็กินได้เป็นปกติ ระบบขับถ่ายก็ปกติ ปวดเมื่อยก็ปกติ ไม่มีอะไรมากไปหรือน้อยไป...

อื่ม... ที่น้อยไปก็น่าจะมีอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งพยายามสังเกตุมาแล้วสองวันก็คือ “ความอึดอัดในช่องท้องลดน้อยลง”
เมื่อวานเมื่อรู้สึกตัวก็สังเกตุว่า "ท้องโล่ง ๆ ผิดปกติ" ที่ว่าผิดปกติก็คือ หายใจโล่งอย่างที่ไม่เคยเป็นมา (ในรอบหลาย ๆ ปีหรืออาจจะเป็นตลอดทั้งชีวิตที่จำความได้)
เมื่อวานนี้ก็ยังไม่ค่อยปักใจเชื่อว่าจะเป็นผลจากการที่ไม่ได้นอน แต่เช้าวันนี้ก็รู้สึกโล่งและสบายช่องท้องแบบนั้นอีก ก็เลยต้องได้ฉุกคิดกับเรื่องนี้อย่างละเอียดมากขึ้น

เมื่อไม่ได้นอน หรือการนั่งให้ร่างกายส่วนบนตั้งอยู่ในท่าตรงเป็นเวลาติดต่อกันเป็นเวลาประมาณ 144 ชั่วโมง (6 วัน) อาจจะเป็นไปได้ว่าของเหลวหรืออาหารที่แต่เดิมนั้นเมื่อเรานอนปกติจะสามารถถ่ายเท ตีกลับ หรือย้อนขึ้นมาบริเวณหน้าอกหรือลิ้นปี่ทำให้เราหายใจไม่สะดวก


ดังนั้นการตั้งตัวให้ตรงเป็นเวลานาน ๆ จึงทำให้ของเหลวบางอย่างที่ขวางหรือคาอยู่ในระบบทางเดินหายไปนั้นหลุด ร่วง สลาย ละลาย ออกไปทำให้ลมหายใจนั้นรู้สึกสบายไปทั่วทั้งช่องท้อง
ถ้าจะเอาให้แน่ ๆ คงจะต้องพึ่งพาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจว่าในหลอดลมตั้งแต่ช่วงล่างของจมูกลงไปถึงท้องนั้นจะมีสิ่งใดมาขวางกั้นทำให้หายใจไม่สะดวกได้บ้างหรือเปล่า...? (สมมติฐานที่ 1)

อาการโล่งของช่องท้องนี้ เป็นอาการโล่งเหมือนช่วงท้องไม่มีอะไรเลย เย็น ๆ สบาย ๆ ไม่อึดอัด
จะว่าเพราะไม่ได้กินข้าวเย็นก็ไม่น่าจะใช่เพราะเราก็ไม่ได้กินอะไรตอนเย็นมาปีครึ่งแล้ว อยู่ดี ๆ ทำไมเพิ่งมาจะสบายเอาตอนนี้ หรือจะมาประจวบเหมาะพอดีกับช่วงเวลาที่เราตั้งใจไม่ได้นอน (อะไรจะบังเอิญปานนั้น...?)

เรื่องนี้คงต้องหมั่นสังเกตตนเองอย่างละเอียดให้มากขึ้น เพราะถ้าเรารู้สึกสบายท้องตอนตื่นได้แบบนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับชีวิต
ตื่นมาแล้วรู้สึกสบายมาก ได้น้ำสะอาดสักแก้วหนึ่งก็ทำให้ชีวิตนั้นอยู่ได้อย่างสบาย

อาจจะเป็นไปได้ในอีกกรณีหนึ่งคืออาหารในกระเพาะอาหารที่ถูกย่อยแล้วนั้นถูกถ่ายเทไปยังลำไส้เล็กได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และอาหารจากลำไส้เล็กก็เดินทางไปสู่ลำไส้ใหญ่ได้สะดวกกว่าเดิมเพราะร่างกายตั้งฉากอยู่ตลอด แรงโน้มถ่วงของโลกอาจจะมีส่วนช่วยระบบย่อยอาหารของเราให้ทำงานได้อย่างดียิ่งขึ้น (สมมติฐานที่ 2 และสมมติฐานนี้มีความเป็นไปได้มากกว่าเมื่อวิเคราะห์จากสภาวะของร่างกายและองค์ประกอบในการดำเนินชีวิต เช่น อาหาร และการเดินทางของอาหารเก่า)


อาหารในกระเพาะของเราน่าจะถูกย่อยหมดได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง เพราะเราไม่ได้บริโภคเนื้อสัตว์ เราพิจารณาอาหารมังสวิรัติมาปีกว่า ดังนั้นเมื่ออาหารถูกย่อยหมดก็สามารถเดินทางไปสู่ลำไส้ได้เลยเพราะร่างกายตั้งตรงอยู่แล้ว

แต่เดิมเมื่อเรานอนอาหารอาจจะลงไปสู่ลำไส้ได้ยากเพราะร่างกายอยู่ในลักษณะขนาน ทำให้ตอนตื่นเช้ามาเมื่อก่อนเราจึงรู้สึกอึดอัดซึ่งทำให้แตกต่างจากปัจจุบันที่อาหารเก่าสามารถเดินทางลงไปสู่ลำไส้ได้ทุกในทุกเวลาอันเหมาะสมและร่างกายนั้นต้องการจะให้ไป

ส่วนในเรื่องความห่วง ความเพลียในตอนกลางวันนั้น แทบไม่รู้สึกเลย
ตอนนี้ต้องใช้คำว่า “แทบไม่รู้สึก”
เพราะวันนี้ยังรู้สึกง่วงอยู่บ้างตอนนี้ระลึกรู้ขึ้นมาได้ว่า “เราไม่ได้นอน” พอนึกขึ้นมาได้เท่านั้นก็ง่วงทันทีเลย
แต่นอกจากนั้น ทำงานเพลิน ๆ ไป ทำโน่นทำนี่ ก็ทำไปได้เรื่อยไม่ได้ง่วงหรือเพลียอะไร ถ้าจิตใจไม่กังวล ไม่ได้นึกถึง ร่างกายเขาก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร เขาก็อยู่ได้แบบสบาย ๆ อย่าง “ธรรมดา...”

เรื่องอาการเหนื่อยที่เกิดจากจิตที่คิดวิตกกังวลหรือเกิดจากอุปทานนั้นสามารถแก้ได้สองวิธีด้วยกัน คือ ประการแรกแก้ได้โดยการไม่ดำริหรือคำนึงถึง ประการที่สองเกิดจากความมั่นใจแบบสุด ๆ หรือที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า "ปัญญารู้แจ้ง"

แต่สำหรับอาการเหนื่อยจากสาเหตุอื่น ๆ นั้นคงต้องหมั่นสังเกตไปเรื่อย ๆ และต้องวิเคราะห์ถึงปัจจัยผันแปรที่มากระทบให้ละเอียดเช่น การเดินทาง ปริมาณอาหาร ลักษณะของงานในวันนั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อารมณ์” ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน แต่ละช่วงเวลา


โดยเฉพาะ “อารมณ์โกรธ” ต้องวิเคราะห์ให้ดี เพราะเมื่อก่อนถ้าวันไหนอารมณ์ไม่ดี มีเหตุให้โกรธใคร ไม่พอใจใคร โดยไร้สติยั้งคิดหรือควบคุมได้ทันแล้ว เราจะเหนื่อยและล้าเร็วกว่าปกติ

เรื่องนี้ต้องลองสังเกตดูตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเลยนะ เพราะหกวันที่ผ่านมานี้จิตใจเราเข้มแข็งขึ้นเยอะ สังเกตได้ว่าบางอารมณ์ บางจังหวะที่น่าหงุดหงิด (เมื่อก่อนเคยหงุดหงิด) แต่เราดันเฉย ๆ เมื่อเจอเรื่องเดิม คนเดิม แต่คราวนี้เราไม่หงุดหงิดเหมือนเมื่อก่อน เฉยได้อย่างน่าแปลก อดทนได้อย่างไม่เคยเป็นมา

นอกจากความอดทน สู้ ต่อความเหนื่อยและความเพลียที่เกิดขึ้น เราจักต้องตัดไฟเสียแต่ต้นลม คือ ไม่นำเหตุให้ร่างกายล้า ระบบร่างกายทำงานผิดปกติด้วยอารมณ์โกรธ หรือไม่พอใจ เพราะอารมณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นอารมณ์ที่ทำร้ายตนเอง


สัจจะบารมีนี้มีส่วนทำให้จิตใจเราเข้มแข็งขึ้น มีความตั้งมั่นเมื่อเจอสิ่งกระทบมากขึ้น เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องวิเคราะห์ให้ละเอียด นอกจากเรื่องร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป เรื่อง “จิต” เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องวิเคราะห์เป็นอันดับหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 196114เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2008 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2014 17:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท