บันทึกดูงานบ้านสามขา ชุมชนแห่งการเรียนรู้ โดย ด.ร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์


P สร้าง: พฤ. 02 พ.ย. 2549 @ 21:43

บันทึกดูงานบ้านสามขา ชุมชนแห่งการเรียนรู้                                วันนี้ยามเช้าที่สดใสไม่หนาวไม่ร้อนด้วยความรู้สึกที่ผ่อนคลายกระหายจะไปเรียนรู้มุ่งสู่บ้านสามขา อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง คณะของเราประกอบด้วย ดร.สุชิน จากศนน. ดร.ฮาคีม จาก UNESCO PROAP และคณะภาคีพันธมิตรรวม ๙ คนรวมทั้งผมด้วย ออกเดินทางจากโรงแรมพิณ ประมาณแปดโมงครึ่ง ถึงบ้านสามขาเวลาประมาณเก้าโมงครึ่ง จอดป้ายที่โรงเรียนบ้านสามขาที่เป็นที่ตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ชุมชนบ้านสามขา ที่มีกลุ่มเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่นักเรียนในเวลากลางวันและบริการแก่ชุมชนในตอนเย็นและตอนกลางคืน โดยเบื้องหลังศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือได้จัดอบรมการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การซ่อมบำรุงรักษาในเบื้องต้น การทำเว็บไซต์ของหมู่บ้าน   ศูนย์คอมพิวเตอร์แห่งนี้มาพร้อมกับพันธมิตร เริ่มจาก ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ ศูนย์กศน.ภาคเหนือได้จัดค่ายคอมพิวเตอร์ให้กับเด็กและเยาวชนซึ่งผู้ปกครองได้มารับการฝึกอบรมด้วย เมื่อสิ้นสุดการอบรมมีการติดตามผลเป็นระยะและพบว่าชุมชนมีความสนใจที่จะใช้วิธีการเรียนรู้แบบการสร้างสรรค์ด้วยปัญญา มาพัฒนาเยาวชนและชาวบ้านให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มูลนิธิศึกษาพัฒน์จึงได้บริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์และมูลนิธิไทยคมได้ติดตั้งอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมให้ แต่ในช่วงแรกชุมชนไม่เอาคอมพิวเตอร์เพราะต้องรับภาระค่าสาธารณูปโภคและยังไม่เห็นความจำเป็น แต่ในที่สุดหลังจากมีการจัดเวทีชาวบ้านถึง ๓ ครั้ง มีชาวบ้านที่อดรนทนไม่ไหวกับปัญหาเด็กในชุมชนไปโรงเรียนในเมืองแล้วไม่ค่อยกลับบ้านตามเวลา ไปหาเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์อย่างหมกมุ่นในเมือง ชาวบ้านจึงเห็นพ้องให้นำคอมพิวเตอร์มาไว้ในชุมชน  ในช่วงแรกให้เด็กเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ในหมู่บ้านซะเลย  จากจุดเริ่มต้นของไอซีทีที่เข้ามามีความหมายต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านได้รับการสานต่อ ถักทอกับพันธมิตรมากหน้าหลายตา นำพาจากวันนั้นถึงวันนี้ด้วยวิถีกระบวนการคิดของคนในชุมชนเป็นจุดแตกหักให้เกิดการบริหารจัดการสู่ความสำเร็จ ไอซีทีเป็นเครื่องมือที่รังสรรค์ให้เกิดมูลค่าเพิ่มในชุมชน เวลาที่ผ่านปนความเหน็ดเหนื่อยบนรอยยิ้มที่มีความสุข กว่าจะถึงวันนี้วันที่มีชื่อบ้านสามขา ชุมชนแห่งการเรียนรู้  ที่หน่วยงานต่างๆมาดูกัน เห็นร่องรอยความสำเร็จหลายเรื่องเช่นการจัดการการเงินการธนาคารของชุมชน  การเรียนรู้ด้านการจัดการแหล่งน้ำ การเรียนรู้การจัดการข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนผ่านโครงการพัฒนาวิทยุชุมชนระดับหมู่บ้านโดยมีเยาวชนเป็นผู้ดำเนินการ เป็นต้น ยังมีแง่มุมอื่นๆอีกมากมายที่น่าเรียนรู้ซึ่งมีหน่วยงานและบุคคลทั้งนักศึกษาปริญญาโทถึงเอกหลายมหาวิทยาลัยก็เหยียบย่ำเข้ามาศึกษากัน ที่สำคัญก็คือ คำตอบอยู่ในหมู่บ้าน

หมายเลขบันทึก: 195993เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2008 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท