วิธีการถ่ายโอนบุคลากรไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


กลุ่มที่สมัครใจถ่ายโอน กลุ่มที่ไม่สมัครใจถ่ายโอน และกลุ่มที่รอการตัดสินใจ

วิธีการถ่ายโอนบุคลากรไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

           

 

            ในปีการศึกษา 2551  นี้ มีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต 1 ได้รับการถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 14  แห่ง คือถ่ายโอนไปสังกัดเทศบาลตำบลปลายบาง  จำนวน 2 แห่ง และถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี  จำนวน 12 แห่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมมีผลกระทบต่อบุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ที่โรงเรียนทั้ง 14 แห่งนี้อย่างแน่นอน  เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในโอกาสนี้จึงขอนำเสนอวิธีการถ่ายโอนบุคลากรของโรงเรียนที่ได้รับการถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังต่อไปนี้

            บุคลากรของโรงเรียน หมายถึง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  ลูกจ้างประจำ  พนักงานราชการ และลูกจ้างชั่วคราวที่จ้างโดยใช้งบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะอธิบายทีละประเภทดังนี้

1.      ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่สมัครใจถ่ายโอน  กลุ่มที่ไม่สมัครใจถ่ายโอน  และกลุ่มที่รอการตัดสินใจ

1.1        กลุ่มที่สมัครใจถ่ายโอน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้องดำเนินการดังนี้

1.1.1        นำเสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา  เพื่อขออนุมัติการตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

1.1.2         เมื่อ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามีมติอนุมัติแล้ว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดทำบัญชีรายละเอียดส่งไปสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีคำสั่งรับโอนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้วให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีคำสั่งให้โอนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยมีผลในวันเดียวกัน

1.1.3         จัดทำบัญชีรายละเอียดเพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในการตัดโอนเงินงบประมาณไปตั้งจ่ายที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 1.2        กลุ่มที่ไม่สมัครใจถ่ายโอนและกลุ่มที่รอการตัดสินใจ ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขออนุมัติ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนตามตัวไปกำหนดในโรงเรียนอื่น แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ที่ไม่สมัครใจจะต้องอยู่ช่วยราชการที่โรงเรียนเดิมอีก 1 ปี ส่วนผู้ที่รอการตัดสินใจให้ช่วยราชการระหว่างการตัดสินใจได้ไม่เกิน 5 ปี

2.      ลูกจ้างประจำ ที่สมัครใจถ่ายโอน ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการดังนี้

2.1        จัดทำบัญชีรายละเอียดส่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อขออนุมัติ ก.พ. และคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) และทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในการขอตัดโอนวงเงินงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

2.2        สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานแจ้งผลตามข้อ 2.1 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีคำสั่งรับโอนลูกจ้างประจำและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีคำสั่งให้พ้นโดยมีผลในวันเดียวกัน 

                   สำหรับลูกจ้างชั่วคราวที่จ้างด้วยเงินงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดทำบัญชีรายชื่อพร้อมสัญญาจ้างส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพิจารณาจ้างต่อไป

2.3        สำหรับลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราวที่ไม่สมัครใจถ่ายโอนให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาตัดโอนไปโรงเรียนอื่นที่ขาดแคลน           

      จากที่ได้อธิบายมาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านจะเข้าใจในเรื่องการถ่ายโอนบุคลากรไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดีขึ้นและเป็นการเข้าใจที่ถูกต้องและตรงกัน

หมายเลขบันทึก: 195984เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2008 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท