ทบทวน...ครึ่งทาง


ยอมรับว่าโรงเรียน(ดัง)ในระบบ ก็ยึดการเรียนการสอนแบบ"เน้นผู้ปกครองเป็นสำคัญ"

 

บล็อกนี้ค่อนข้างยาว เพราะไม่ได้มาเขียนนานค่ะ 

ขออภัยหากความยาวทำให้ท่านผู้อ่านรู้สึกเมื่อยล้าสายตา :)

 

ชีวิตว่าที่ครูคนนี้ก็ยังสุขดีอยู่  แม้จะมีเรื่องราวหลากหลายให้เหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจ

ไม่อยากบ่นมาก  เดี๋ยวจะหาว่าแก่  เพราะหนูยังไม่แก่นะคะ (อิอิ)

 

ผ่านพ้นการประเมินการสอนครั้งที่ ๑ เรียบร้อย  ผ่านไปได้ด้วยดี  มีจุดที่ควรรักษา พัฒนา  และควรแก้ไขปะปนกันไปค่ะ

การสอนที่อาจารย์นิเทศก์คณะมาประเมินนั้น  ตรงกับการสอนเรื่องสำนวนไทยพอดิบพอดี  การเตรียมการของเราเป็นไปตามปกติ  เพราะไม่อยากให้ตนเองตื่นเต้นเกินไปจนประหม่าต่อหน้าครู  แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากเตรียมอะไรให้อลังการเกินธรรมชาติ  พูดง่ายๆคือFake นั่นเอง (หรือ "ผักชีโรยหน้า")เคยเตรียมสื่อเพื่อเด็กอย่างไรก็เตรียมไป  ตามจริตของเด็กๆห้องนี้ที่ชอบอะไร "แนวๆ" "โดนๆ"  ก็ "จัดให้"

คาบนั้นในขั้นนำก็เตรียมรูปภาพละครต่างๆ  พวก"ขมิ้นกับปูน"  "ดาวเปื้อนดิน" (อารมณ์ได้ดูใบปิดหนังนั่นแหละค่ะ)  เดชะบุญที่โรงเรียนนี้มีห้องสื่อภาษาไทยโดยเฉพาะ  สามารถใช้คอมพิวเตอร์  เครื่องฉาย ฯลฯ ได้  ไหนๆก็ไหนๆ  เราได้เรียนมา  เด็กก็จะได้ตื่นตาตื่นใจ  เลยพยายามให้เด็กได้มาเรียนห้องนี้ สัปดาห์ละ ๑ คาบ (จาก ๓ คาบ)  คาบที่เหลืออิชั้นก็สอนในห้องเรียนธรรมดา  สื่อทั่วไปที่ไม่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ค่ะ 

หลังจากนั้น  เราค่อยเชื่อมโยงชีวิตให้เห็นว่าสำนวนมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันอย่างไร  ตอนสอนก็มีกิจกรรมเกมสนุกๆให้เด็กทำท่าเป็นกลุ่ม  จากหัวแถวไปหางแถว  แล้วทายว่าเพื่อนทำท่าสำนวนอะไร(คล้ายเกมโชว์ในอดีต)

สรุปจบตบตีแต่ละกลุ่มด้วยการเฉลย  พร้อมความหมาย  ตบท้ายด้วยใบความรู้  แล้วก็ให้ใบงานกลับไป

อาจารย์นิเทศก์ท่านชอบที่สร้างสรรค์ดี  แต่เกมที่ให้เด็กๆทำอาจจะทำให้สับสนกับการสอนเรื่อง "การสื่อสาร" ได้ (เพราะถ้านำไปใช้สอนเรื่องการสื่อสารน่าจะดีกว่า  เกี่ยวกับการสื่อสารจากผู้ส่งถึงผู้รับ  มีอุปสรรคอย่างไร ฯลฯ)  ทำให้เด็กเรียนรู้สำนวนได้น้อยลง  ใบความรู้ก็มีสำนวนน้อยไป

....รับทราบ และจะนำไปแก้ไขในการสอนต่อไปค่ะ  อาจารย์.... : )

 

 

 

 

 

การสอนต่อๆมาก็ดำเนินต่อไป  พบว่าตัวเองนั้นไม่ใช่ครูภาษาไทยตามขนบเท่าใด  คือไม่สามารถยืนบรรยาย  อธิบาย  พรรณนาถึงเนื้อหาล้วนๆได้ตลอดชั่วโมง  ต้องหาสื่อ หาเกม  หรือสอดแทรกกรณีศึกษา(โดยเฉพาะตัวเอง) หรือความรู้รอบตัว  เช่นโยงกับวิทยาศาสตร์  พุทธศาสนา(เรื่อง เช้าฮาเย็นเฮ  ที่ว่าด้วยโทษของสุรา)   บางทีก็แนะแนวการศึกษาต่อ (ก็เอาตัวเองหรือเพื่อนๆที่เรียนสมัยมัธยมและมหาวิทยาลัยจากหลากหลายที่มาเป็นตัวอย่าง)

พฤติกรรมเด็กยังคล้ายหรือเกือบเท่าเดิม คือสนใจกันเพียงไม่กี่คน  นอกนั้นจะคุยและเล่น  ซึ่งช่วงนั้นอาจารย์วิชาอื่นๆก็มาแลกเปลี่ยนข้อมูล  และบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า  "เด็กก็เป็นแบบนี้แหละน้อง"

เราเองใช้หลากมาตรการ  หลายกลวิธี  ทั้งปราม ดุ  เตือน  ฯลฯ (ด้วยหลักจิตวิทยาปนศาสนานิดๆ)

 แม้กระทั่งการเตือนสติเด็กด้วยการนำรูปที่ตนเองไปออกค่ายอาสาฯ  สอนเด็กในชนบท  และตอนที่ฝึกสอนของเอกการศึกษาพิเศษให้นักเรียนดู แล้วถามว่า

"พวกเธอคิดว่าพวกเธอต่างกับเด็กเหล่านี้...ตรงไหน"

"พวกเธอคิดว่าโชคดีมากกว่าเด็กเหล่านี้แค่ไหน"

 แต่ก็มีเด็กไม่กี่คนที่เข้าใจ....เพราะพฤติกรรมเด็กตอนนั้นก็จะเปลี่ยนและปรับได้เพียงสั้นๆ  แล้วกลับไปเหมือนเดิม เด็กที่ตั้งใจก็ตั้งใจ  เด็กที่ไม่ตั้งใจก็ยังไม่ตั้งใจ

การประเมินก่อนกลางภาค  ปรับวิธีเป็นการส่งใบงาน (ที่เราทำขึ้น)  และชีท(ที่ครูพี่เลี้ยงหามาจากตำราต่างๆ) หรือตรวจสมุดจากงานที่ทำอยู่แล้วแทนการสอบ  เพราะเข้าใจว่าเด็กๆไม่ชอบการสอบ  ซึ่งพ้องกันกับความต้องการของเด็ก  คะแนนจะได้ดีๆ และเป็นไปตามสภาพจริงของเด็ก   

ช่วงนี้เองเริ่มมีผู้ปกครองโทรหาครูพี่เลี้ยงเพื่อทราบคะแนนก่อนกลางภาค  ส่วนใหญ่แจ็กพอต  เป็นเด็กที่ไม่สนใจเรียน  เราก็อึดอัดที่จะบอกว่าลูกของคุณไม่สนใจเรียนในห้องเลย  แต่ความเชื่อมั่นของผู้ปกครองสวนทางกัน  เพราะเข้าใจว่าลูกเป็นเด็กดี...ครูนั่นแหละสอนไม่ดี  ห้องอื่นเค้าทำชีท ทำโจทย์ข้อสอบไปหลายชุดแล้ว

....เราเริ่มหวั่นใจว่า  ที่ผ่านมา  เราสอนไม่ดีใช่ไหม  เราไม่ได้สอนข้อสอบให้เด็กแล้วจะทำให้เด็กพลาดอะไรไปหรือเปล่า.....

อิชั้นมิใช่ผู้ออกข้อสอบ  ไม่มีอำนาจและสิทธิในการออก ด้วยวัยวุฒิ และคุณวุฒิ  รวมถึงประสบการณ์การสอน

จนกระทั่งสอบกลางภาค วันที่ ๑๐ และ ๑๕ ก.ค. ที่เพิ่งผ่านไป

ผลคะแนนของเด็กๆจากเต็ม ๕  ส่วนใหญ่ได้ ๓ ๒ ๑  มีได้ ๔ เพียงคนเดียว

ปรากฏว่าผู้ปกครองบางคนไม่พอใจคะแนนลูก  แล้วมีปัญหาเกิดขึ้น 

จนกระทั่งครูพี่เลี้ยงคุยกับหัวหน้ากลุ่มสาระ และจะปรับคาบสอนให้เรา  โดยลดเหลือเพียง ๒ จาก ๓ คาบในแต่ละห้อง  (๒ ห้อง)  สรุปคือลดเหลือ ๔ จาก ๖ นั่นเอง อีก ๒ คาบ  ครูพี่เลี้ยงจะสอนให้เอง  โดยสอนแบบเข้มข้น  ให้ทำข้อสอบหรือแบบฝึกหัดไป

เราก็น่าจะดีใจ...ที่ได้เหนื่อยน้อยลง ๒ คาบ

แต่ความรู้สึกของเรากลับไม่เป็นเช่นนั้น....

วูบแรกคือ "เสียความรู้สึก" แม้ครูพี่เลี้ยงจะช่วยบอกหรืออธิบายอย่างไรกับผู้ปกครอง(ตามที่ครูบอกกับเรา)ไปก่อนแล้วว่าเราสอนดี(ซึ่งเราก็ไม่ต้องการให้มาชมอะไร) บางทีดีกว่าครูประจำเสียอีก(อันนี้ดิฉันก็ไม่ต้องการให้เปรียบนัก 

 เพราะเราเองก็เป็นแค่ "นิสิตฝึกสอนตัวเล็กๆรู้น้อยๆคนหนึ่ง"

...แต่การที่เราไม่เน้นสอน "ข้อสอบ"  เหมือนครูอื่นๆ  คงทำให้ผู้ปกครองรู้สึกว่าลูกของตนเอง "เสียเปรียบ"  โดยเฉพาะ ม.ประโยคที่ต้องไปสอบแข่งขัน

...การที่เราเน้นสอนแต่ "การเชื่อมโยงเนื้อหาไปใช้ในชีวิต" กับ "สอนการใช้ชีวิต" ไปพร้อมกับเนื้อหาภาษาไทย  ซึ่งผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูก "สอบเข้าเตรียมฯ" หรือ "ต่อม.๔" อาจไม่ปลื้มกับวิธีการสอนของเรา

..เพราะ ๒ ห้องที่เราสอนนั้น เด็กหลายคนยังมีข้อจำกัดมากมาย  ส่วนใหญ่ยังมีพฤติกรรมเหมือนเด็ก  และยิ่งกว่าเด็กด้วยซ้ำ  ยังติดการ "ป้อนข้อมูล"  การ"ด่าว่าแรงๆ"  ซึ่งเราไม่ชอบ จึงไม่ทำเช่นนั้นกับเด็ก (ตามพื้นฐานครอบครัวชนชั้นและฐานะปานกลางถึงฐานะดีมาก  การเลี้ยงดู  การเผชิญปัญหาของเด็กก็ต่างไป)

 

คงทำให้ผู้ปกครองบางท่านที่คาดหวังให้ลูกเข้าสู่

"ตลาดวิชา"

"ตลาดงาน"

และ"ชีวิตการแข่งขัน" 

รู้สึกว่า "เสียเปรียบอย่างมาก"

"ลูกดิฉันต้องได้เกรด ๔ เพื่อสอบเข้าเตรียมฯให้ได้"

"ลูกดิฉันต้องได้เกิน ๓.๕๐ เพื่อต่อม.๔ ที่นี่ได้"

"ลุกผมต้องไม่ตก  เพราะลูกผมตกมา ๗ ตัวแล้ว"

ฯลฯ

 

ดิฉันยอมรับว่าตัวเองคงไม่ใช่ครูที่เพียบพร้อม  เก่งกาจแต่อย่างใด  เพราะยังรู้สึกว่าตัวเองรู้น้อยอยู่ และก็ยังให้อะไรเด็กได้น้อยกว่าที่คาดและที่ควรเป็น

พิมพ์มาถึงตอนนี้  ดิฉันก็ไม่โทษผู้ปกครอง ม.๓ จำนวน ๒ ห้องที่ดิฉันรับผิดชอบการสอนแต่อย่างใด  เพราะดิฉันยังศรัทธา  และความสำคัญของผู้ปกครองต่อการเรียนของบุตรหลาน(ยิ่งถ้าเป็นครูการศึกษาพิเศษ...ผู้ปกครองก็มีบทบาทไม่แพ้ครูเลยทีเดียว)  และดิฉันยังเข้าใจเข้าใจว่า 

-  สภาพการแข่งกันในปัจจุบันมีสูงเพียงใด  ความคาดหวังที่มีต่อลูกมีมากเพียงใด  จึงทำให้ความคาดหวังต่อครูมีมากตามไปด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  โรงเรียนที่ดิฉันฝึกประสบการณ์วิชาชีพอยู่นี้  เป็นโรงเรียนชื่อดัง  สถิติการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของที่นี่ก็ได้ ๑๐๐%  ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ๘๐.๓๔(...โรงเรียนที่ดิฉันฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู) 

-  โรงเรียนนี้ไม่ใช่โรงเรียนที่มีครู ๓- ๔ คน  หรือบางโรงเรียนครูใหญ่ต้องลงมาสอนเอง  แต่ละชั้นเรียนก็สอน ๒ ระดับ  อาคารเรียนก็ได้มาเพราะมีนิสิต นักศึกษาออกค่าย  เด็กๆก็มาเรียนด้วยชุดเก่า  ชุดบริจาค ผู้ปกครองไม่ทราบเพราะต้องไปรับจ้างที่เมืองหลวง (.....โรงเรียนที่ดิฉันออกค่ายอาสาฯ)

สุดท้ายแล้ว  ดิฉันยังยืนยัน  และศรัทธาใน "ความเป็นครู"

เพราะครู  โดยเฉพาะครูที่ดิฉันเรียกท่านว่า "แม่"

เป็นแบบอย่างของผู้มีจิตวิญญาณครู 

เสียสละความสุข  เพื่อสอนให้ลูกศิษย์ทั้งหลายเข้าใจชีวิต

และใช้ชีวิตได้ด้วยคุณธรรม

ด้วย "สติ" และ "ปัญญา"

ดิฉันยังศรัทธา...ว่า.....

 "การศึกษาปลูกปั้น  เสร็จแล้วแสนงาม..."

แม้ว่าจะออกดอกช้าสักเพียงใดก็ตาม

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 195541เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2008 20:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 07:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท