องค์การบริหารส่วนตำบลต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ในการทำแผน


แผนแม่บทชุมชนส่วนใหญ่ เป็นการคิดในฐานะที่ตำบลเป็นส่วนย่อยของ อำเภอ จังหวัด และประเทศ และเป็นความคิดที่มองออกไปในระยะสั้น มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เน้นการอิงอยู่กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหลัก

 

 

องค์การบริหารส่วนตำบลต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ในการทำแผน

 

          องค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งต่อไปจะเรียกสั้น ๆว่า  ตำบล

         ในบ้านเรา ตำบลเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดที่สามารถบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จได้ในตัวเอง  ดังนั้น  ถ้าตำบลจะมีจินตนาการว่าจะเนรมิตอะไรขึ้นในตำบล ก็มีความเป็นไปได้  ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันลม ๆ  แล้ง ๆ

         ตามปรกติ  ตำบลมีการทำแผนพัฒนาตำบลกันอยู่แล้ว 
         ปัจจุบันแผนพัฒนาตำบล  มีชื่อเรียกใหม่ว่า  แผนแม่บทชุมชน

          ทุกตำบลมีการทำแผนแม่บทชุมชน  จากที่เคยมีส่วนร่วมในการทำแผนแม่บทชุมชน  และติดตามอ่านจากแหล่งต่าง ๆ  เห็นว่าแผนแม่บทชุมชนส่วนใหญ่ เป็นการคิดในฐานะที่ตำบลเป็นส่วนย่อยของ  อำเภอ  จังหวัด  และประเทศ  และเป็นความคิดที่มองออกไปในระยะสั้น มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เน้นการอิงอยู่กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  เป็นหลัก

          ผมอยากเสนอให้มองว่า  ตำบลเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า  อำเภอ  จังหวัด  องค์การบริหารส่วนจังหวัด  เทศบาล  กรุงเทพมหานคร  เมืองพัทยา เป็นต้น โดยเฉพาะคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำแผนในตำบล ต้องมีสำนึกว่าตำบลมีฐานะ ตำแหน่ง ในความสัมพันธ์กับหน่วยอื่น ๆ ในระดับประเทศแบบนี้
          การมองตำบลแบบนี้  จะช่วยให้ตำบลสามารถ คิดเนรมิตตำบลตามสภาพจำเพาะของตนเองได้มากขึ้น  พูดง่าย ๆก็คือ  เราอยากให้ตำบลของเราเติบโตไปเป็นแบบใด  อย่างไร ก็คิดไป  แน่นอนว่า  ความเป็นอยู่  และความเป็นไปของตำบลต้องคำนึงถึง ความเป็นอยู่และความเป็นไปของ อำเภอ  จังหวัด  ประเทศ และอื่น ๆด้วย   แต่ท่าทีที่ตำบลมีต่อสภาพภายนอกเป็นแบบที่ตำบลเป็นผู้กำหนด  ไม่ใช่ตำบลถูกกำหนด  ตำบลอาจมุ่งพัฒนาตำบลของตนอย่างแปลกแยกไปจากแผนของประเทศก็ได้  แต่ไม่ได้หมายความว่า สวนทางกับระบอบการเมืองการปกครอง  หรือ นโยบายด้านความมั่นคงของประเทศ  สิ่งที่แปลกแยกออกไปหมายถึงด้านเศรษฐกิจ และสังคม  ที่ไม่ใช่ด้านการเมืองและการปกครอง

          แผนของตำบลควรมีแผนระยะยาวที่มองตำบลไปไกลขนาด  20-30 ปี  ตำบลน่าจะเป็นชุมชนที่มีความสามารถในการบริหารจัดการเพื่อคุณภาพชีวิตของสมาชิกในชุมชนอย่างเบ็ดเสร็จได้  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง  กิน  อยู่  หลับ  นอน  หรือเรื่องใด ๆในวิถีที่คนต้องอยู่ร่วมกัน สามารถที่จะดูแลแก้ไขกันได้ในระดับตำบล
          แผนตำบลที่ว่านี้เป็นภาพวาดที่คนในตำบลมองไปข้างหน้า  ทุกคนจะเห็นภาพของตำบลตนชัดเจนตรงกัน  หน้าที่ของผู้บริหารตำบลก็คือ การสร้างแรงบันดาลใจให้แก่สมาชิก เพื่อให้สมาชิกต่างทุ่มเทพลังของตนเพื่อบรรลุความฝันนั้น  เชื่อว่า  ถ้าตำบลทำได้แบบนี้ชีวิตในชุมชนจะมีความตื่นต้ว  คนในชุมชนจะมองเห็นคุณค่าของตนที่มีต่อชุมชนที่เขาอาศัยอยู่มากขึ้น  และนี่คือพลังสามัคคีที่มีเหตุมีผล  ไม่ใช่พลังสามัคคีแบบงมงาย  เมื่อไม่มีคนลากคนจูงก็หดหาย
          ในแต่ละปี  ในแต่ละ 
3  ปี  ในแต่ละ 5  ปี  ชุมชนก็พัฒนาแผนย่อย ๆขึ้นเพื่อสร้าง เสริม เติม  ต่อ  ให้ภาพรวมที่กำหนดไว้เป็นจริง  สิ่งต่าง ๆก็จะค่อย ๆเกิดขึ้นตามลำดับ  อย่างมีสติ  มีเหตุมีผล  อย่างเท่าทัน  ตำบลจะเป็นชุมชนที่น่าอยู่  คนส่วนใหญ่จะเกิด  เติบโต  เป็นผู้ใหญ่  แก่  และตายในชุมชน 

          เพียงเปลี่ยนความคิดเสียใหม่นิดเดียว  ก็สามารถสร้างชีวิตสุขให้แก่ญาติพี่น้อง ลูกหลานของเราในตำบลได้อย่างมโหฬาร

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 195242เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2008 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท