เทคโนโลยีกับการเรียนการสอน


เทคโนโลยี
เทคโนโลยีกับการเรียนการสอน เทคโนโลยีการศึกษา ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษา มีอยู่หลายทัศนะ ดังต่อไปนี้ องค์กรร่วมสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา ประเทศอังกฤษ (Council for Educational Technology for the United Kingdom - CET) อธิบายว่า "เทคโนโลยีทางการศึกษาหมายถึงการพัฒนาการนำไปใช้และการประเมินระบบ วิธีการดำเนินงาน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อทำให้การเรียนรู้ของคนเราให้ดีขึ้น" ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีทางการศึกษา เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยวิธีการทางการศึกษา ครอบคลุมระบบการนำวิธีการ มาปรับปรุงประสิทธิภาพของการศึกษาให้สูงขึ้น โดยครอบคลุมองค์ประกอบ 3 ประการ คือ วัสดุ อุปกรณ์หรือเครื่องมือ วิธีการ ดร. เปรื่อง กุมุท ได้กล่าวถึงทางการศึกษา ไม่ใช่เครื่องมือ แต่เป็นแผนการหรือวิธีการทำงานอย่างเป็นระบบ ให้บรรลุผลตามแผนการ ครรซิต มาลัยวงษ์ กล่าวว่า "การใช้เทคโนโลยีสำหรับผู้ที่อยู่ในวงการศึกษา ก็คงจะเรียกว่า เทคโนโลยีทางการศึกษา ส่วนผู้ที่อยู่ในวงการธุรกิจและอุตสาหกรรม อาจเรียกว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมองว่า เทคโนโลยีทางการศึกษา และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นการใช้เทคโนโลยีลักษณะเดียวกัน แต่มีจุดมุ่งหมายแตกต่างกัน" ชัยยงค์ (2523) อธิบายถึง เทคโนโลยีทางการศึกษาไว้อย่างละเอียดว่า "เทคโนโลยีเป็นระบบการประยุกต์ผลิตกรรมทางวิทยาศาสตร์ (วัสดุ) และผลิตกรรมของวิศวกรรม (อุปกรณ์) โดยยึดหลักทางพฤติกรรมศาสตร์ (วิธีการ) มาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษาทั้งในด้านบริหารด้านวิชาการ และด้านบริการ" หรืออีกนัยหนึ่ง เทคโนโลยีทางการศึกษา เป็นระบบการนำวัสดุ อุปกรณ์และวิธีการมาใช้ในการปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น วัสดุ (Material) หมายถึงผลิตกรรมทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่มีการผุผังสิ้นเปลืองได้ง่าย เช่น ชอร์ค ดินสอ ฟิล์ม กระดาษ ส่วนอุปกรณ์ (Equipment) หมายถึงผลิตกรรมทางวิศวกรรมที่เป็นเครื่องมือค่าง ๆ เช่น โต๊ะกระดานดำ เก้าอี้ เครื่องฉาย เครื่องเสียง เครื่องรับโทรทัศน์ ฯลฯ และวิธีการ (Technique) หมายถึงระบบ กระบวนการ กิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องคำนึงถึงหลักจิตวิทยา หลักสังคมวิทยา ภาษา ฯลฯ ที่นำมาใช้ในการศึกษา เช่น การสาธิต ทดลอง กลุ่มสัมพันธ์ เป็นต้น จากความหมายของเทคโนโลยีทางการศึกษาตามที่กล่าวมานั้น ต่างเน้นให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า บทบาทและหน้าที่หลักของเทคโนโลยีทางการศึกษาคือ การพัฒนาประสิทธิผลของกระบวนการของการเรียนรู้ เทคโนโลยีการสอน (Instructional Technology) เทคโนโลยีการสอน หมายถึงการออกแบบ การพัฒนาการใช้ และการประเมินผลการเรียนการสอนอย่างมีระบบ โดยยึดจุดประสงค์เฉพาะ การวิจัยเกี่ยวกับ การเรียนรู้และการสื่อสารของมนุษย์เป็นพื้นฐาน รวมทั้งการใช้แหล่ง ทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลเป็นการสอนที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ จากความ หมายดังกล่าว เราจะเห็นว่าเทคโนโลยีทางการสอนนั้น เป็นการจัดการเกี่ยวกับการสอนที่มี ระบบ ซึ่งจะต้องพิจารณาส่วนต่างๆ ที่ประกอบกันเข้าหลายส่วน เริ่มตั้งแต่จุดประสงค์ และส่วน อื่นๆ ซึ่งมีทั้ง เป็นเรื่องของคน และมิใช่คน การพิจารณาการออกแบบและการปฏิบัติ เช่นนี้จะต้องอาศัย ผลของการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ และการสื่อสารของมนุษย์ จะถือว่า การกระทำทุกขั้นตอน และทุกส่วนนั้นเป็นระบบเดียวกัน ทุกส่วนมีผลเกี่ยวเนื่องกัน การเปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่ง ย่อมมีผลทำให้เปลี่ยนแปลงส่วนอื่นๆ ไปด้วย ที่ว่าการออกแบบ การพัฒนา การใช้ และ การประเมินผลการเรียนการสอนอย่างมีระบบนั้น คำว่า ระบบ (System) นั้น มีผู้ให้ คำจำกัดความไว้หลายแห่ง เช่น Webster's Seventh New Collegiate Dictionary ได้ให้ความหมายของระบบไว้ว่า เป็นกลุ่มของสิ่งต่างๆ ซึ่งต่างก็พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน หรือมีปฏิพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดส่วนรวม ที่เป็นเอกภาพ บางคนกล่าวว่า เป็นโครงสร้างหรือองค์การของส่วนรวม ที่มีความเป็นระเบียบ และให้เห็นความสัมพันธ์ ของส่วนต่างๆ และความสัมพันธ์ของแต่ละส่วนกับส่วนรวมทั้งหมด อย่างชัดเจน ดังนั้น เทคโนโลยีย่อมจะต้องมีส่วนต่างๆ มากมาย และแต่ละส่วนมีผล ต่อกันและกัน และต่างก็มุ่งเพื่อให้มุ่งหมายร่วมกัน การใช้เทคโนโลยีในกิจกรรมต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่จะต้อง พิจารณาถึงผลรวมของส่วนต่างๆ ที่จะมีต่อกันและกัน ตลอดจนการที่ ส่วนต่างๆ จะมีผลต่อ ความสำเร็จของหน่วยงานอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ เทคโนโลยีกับการเรียนการสอนปกติเทคโนโลยีจะเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน 3 ลักษณะ คือ 1. การเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี (Learning about Technology) ได้แก่เรียนรู้ระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ เรียนรู้จนสามารถใช้ระบบคอมพิวเตอร์ได้ ทำระบบข้อมูลสารสนเทศเป็น สื่อสารข้อมูลทางไกลผ่าน Email และ Internet ได้ เป็นต้น 2. การเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยี (Learning by Technology) ได้แก่การเรียนรู้ความรู้ใหม่ ๆ และฝึกความสามารถ ทักษะ บางประการโดยใช้สื่อเทคโนโลยี เช่น ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ทางโทรทัศน์ที่ส่งผ่านดาวเทียม การค้นคว้าเรื่องที่สนใจผ่าน Internet เป็นต้น 3. การเรียนรู้กับเทคโนโลยี (Learning with Technology) ได้แก่การเรียนรู้ด้วยระบบการสื่อสาร 2 ทาง (interactive) กับเทคโนโลยี เช่น การฝึกทักษะภาษากับโปรแกรมที่ให้ข้อมูลย้อนกลับถึงความถูกต้อง (Feedback) การฝึกการแก้ปัญหากับสถานการณ์จำลอง (Simulation) เป็นต้น การเรียนรู้ในลักษณะที่ 2 และ 3 เป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของมนุษย์ที่มีคุณค่ามหาศาล ถ้าครูไม่หลงทางเสียก่อน แนวคิดในการเพิ่มคุณค่าของเทคโนโลยีช่วยการเรียนรู้ 1. การใช้เทคโนโลยีพัฒนากระบวนการทางปัญญา กระบวนการทางปัญญา (Intellectual Skills) คือกระบวนการที่มีองค์ประกอบสำคัญ คือ (1) การรับรู้สิ่งเร้า (Stimulus) (2) การจำแนกสิ่งเร้าจัดกลุ่มเป็นความคิดรวบยอด (Concept) (3) การเชื่อมโยงความคิดรวบยอดเป็นกฎเกณฑ์ หลักการ (Rule)ด้วยวิธีอุปนัย (Inductive) (4) การนำกฎเกณฑ์ หลักการไปประยุกต์ใช้ด้วยวิธีนิรนัย (Deductive) (5) การสรุปเป็นองค์ความรู้ใหม่ ๆ (Generalization) ระบบคอมพิวเตอร์มีสมรรถนะสูงที่จะช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีความฉลาดในกระบวนการทางปัญญานี้ โดยครูอาจจัดข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ ในวิชาที่สอน ให้ผู้เรียนฝึกรับรู้ แสวงหาข้อมูล นำมาวิเคราะห์กำหนดเป็นความคิดรวบยอดและใช้คอมพิวเตอร์ช่วยแสดงแผนผังความคิดรวบยอด (Concept Map) โยงเป็นกฎเกณฑ์ หลักการ ซึ่งผู้สอนสามารถจัดสถานการณ์ให้ผู้เรียนฝึกการนำกฎเกณฑ์ หลักการไปประยุกต์ จนสรุปเป็นองค์ความรู้อย่างมีเหตุผล บันทึกสะสมไว้เป็นคลังความรู้ของผู้เรียนต่อไป 2. การใช้เทคโนโลยีพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางหรือถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุดนั้น เราสามารถออกแบบแผนการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีโอกาสทำโครงงานแสวงหาความรู้ตามหลักสูตร หาความรู้ในเรื่องที่ผู้เรียนสนใจ หรือเพื่อแก้ปัญหา (Problem-Based Learning) การเรียนรู้ลักษณะนี้จะเริ่มต้นด้วยการกำหนดประเด็นเรื่อง (Theme) ตามมาด้วยการวางแผนกำหนดข้อมูลหรือสาระที่ต้องการ ผู้สอนอาจจัดบัญชีแสดงแหล่งข้อมูล (Sources) ทั้งจากเอกสารสิ่งพิมพ์และจาก Electronic Sources เช่น ชื่อของ Web ต่าง ๆ ให้ผู้เรียนแสวงหาข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ เป็นคำตอบ สร้างเป็นองค์ความรู้ต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่อง มือช่วย และครูช่วยกำกับผลการเรียนรู้ให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพที่ต้องการ ทั้งนี้ครูจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยชี้แนะทิศทางของการแสวงหาความรู้หรือ แนะนำผู้เรียนให้พัฒนาความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับมาตรฐานคุณภาพผลการเรียนรู้ที่ควรจะเป็น ที่มา “แนวคิดการใช้เทคโนโลยีช่วยในการเรียนรู้ ” ( ออนไลน์ ) เข้าถึงได้จาก http://classroom.hu.ac.th/knowledge4.asp ที่มา “เทคโนโลยีการศึกษา ” ( ออนไลน์ ) เข้าถึงได้จาก http://www.edu.nu.ac.th/wbi/355201/web_techno/technology_2.htm ที่มา “ เทคโนโลยีการสอน ” ( ออนไลน์ ) เข้าถึงได้จาก http://learners.in.th/blog/varaporn/9033 ที่มา “ แนวคิดเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี ” ( ออนไลน์ ) เข้าถึงได้จาก http://area.obec.go.th/pathumthani1/nikhom/page1.html ที่มา “ แนวคิดเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี ” ( ออนไลน์ ) เข้าถึงได้จาก http://schoolnet.nectec.or.th/library/create-web/10000/technology/10000-13144.html
คำสำคัญ (Tags): #เทคโนโลยี
หมายเลขบันทึก: 194626เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2008 19:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท