ชาครธมโม
นาย สมชาย ชาครธมโม ชินวานิชย์เจริญ

ถอดบทเรียนเวทีหมอพื้นบ้านพื้นที่ สอ.ปะโค เวทีแรก ปี 2551


“เมาข้อมูลแล้วหมอ”

                เวทีแรกของปะโค เป็นครั้งแรก เป็นวันแรกที่ลงไปทำคือวันที่ 20 มิถุนายน 51 สอ.ปะโค อยากจะสารภาพและบอกตามตรงว่าได้เรียนรู้ไปกับเวทีของปะโค ปะโคได้ให้บทเรียน หรือสิ่งที่ทำได้ไม่ดีกับผม คือการให้ข้อมูลนำเข้าที่มากเกินไป ให้ไปปรับกับพื้นที่อื่น ๆ เพราะการให้ข้อมูลนำเข้าที่มากเกินไป ข้อมูลบางเรื่องที่ยังไม่จำเป็นในเวลานั้น ผมได้ให้ไปก่อน จนพ่อสมเด็จ บอกว่า เมาข้อมูลแล้วหมอ ก็เลยเป็นบทเรียนให้ผมต้องปรับในครั้งต่อ ๆ มา และอยากให้ปะโคในเวทีที่สอง น่าจะเป็นพื้นที่หลัง ๆ บ้าง เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกนำร่องอยู่เรื่อย ๆ  โดยลำดับของการจัดเวทีคือ

  • ให้ข้อมูลนำเข้าที่คิดว่าเกี่ยวข้อง (ซึ่งตอนหลังพบว่าบางเรื่องมากเกินไป ยังไม่เหมาะสมกับเวลา หรือคนฟังยังไม่พร้อม)
  • แนะนำตัวเพื่อให้รู้จักกันในเบื้องต้น
  • ลองสัมภาษณ์เชิงลึกหรือการส่อคั้ก ๆ
  • จากนั้นลองวางแผนร่วมกัน

ซึ่งก่อนหน้านี้ หลังจากประชุมเปิดโครงการแล้ว พี่กุหลาบ เจ้าหน้าที่ของสถานีอนามัยปะโค ได้ชวนกลุ่มมาคุยกันก่อนแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งได้มีการวางตัวทีมงานโดยใช้โครงสร้างของชมรมหมอพื้นบ้านสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น บ้านดุง มีประธาน รองประธาน ฝ่ายต่าง ๆ  ซึ่งเวทีโสเหล่ในวันที่ 20 มิถุนายน 51 นั้น หลังจากผู้จัดการโครงการได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการว่าต้องการเห็นลคือการก่อเกิดชมรมหมอพื้นบ้านในตำบล และมีการมองหาหมอพื้นบ้านต้นแบบ ซึ่งดูเหมือนเป็นธงชัยของโครงการ ผ่านการจัดเวที 3 รอบ โดยในรอบแรกนั้นที่ปะโค ได้มีกิจกรรมซึ่งตามที่ผมได้ลองทบทวนในมุมมองของผม ดังนี้

  • เปิดเวทีโดยผมได้ให้ข้อมูลนำเข้าที่คิดว่าเกี่ยวข้อง (ซึ่งตอนหลังพบว่าบางเรื่องมากเกินไป ยังไม่เหมาะสมกับเวลา หรือคนฟังยังไม่พร้อม ให้รอจนกว่าจะมีการตั้งคำถามขึ้นมาจากชาวบ้านหรือเครือข่าย เราในฐานะภาครัฐที่มีข้อมูลจึงค่อย ๆ ให้ข้อมูล จะดีกว่าให้ครั้งเดียวแล้วก็ เมาข้อมูลกัน)
    • ม.65 รัฐธรรมนูญ พูดถึงเรื่องการให้ชุมชนสามารถรวมตัวกันเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ประเพณี วัฒนธรรมดั้งเดิมได้ ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ ถ้าทำเพื่อยังชีพแบบพื้นบ้าน หรือยาขอหมอวาน กับ พรบ.ประกอบโรคศิลปะ
    • ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่มีใครทำอะไรอยู่บ้าง เช่นชมรมที่บ้านดุง , จอมศรี โดยพ่อบุญไทย , ทับกุง โดยพ่อมา หรือทุ่งฝนโดยพ่อสมญา
    • คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคือพ่อเมฆ พละแสน ซึ่งถึงแม้จะอยู่ที่กุมภวาปี ( แต่ในขณะนี้ที่ปะโค ยังไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้อมูลน้ำเข้า)
    • ข้อมูลเกี่ยวกับระบบสุขภาพท้องถิ่น อันนี้ก็เหมือนกัน ยังไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้อมูลนำเข้า เพราะชาวบ้านยังไม่คิดถึงประเด็นนี้ การนำเข้าจะเป็นการครอบงำมากกว่า
    • ได้มีการบอกหลักการของการทำงาน คือ คึดนำ เฮ็ดนำ บ่ครอบงำ บ่ทำให้  ดูเหมือนจะดี พูดสนุก แต่ไม่ถูกเวลา ถูกที่ ซึ่งทำให้มีการใช้เวลาไปพูดมาก (สนุกพูดซะเปล่า ๆ) เพราะไม่จำเป็นต้องบอก สู้ให้เป็นหัวใจ และทำมันให้จริงจัง โดยเฉพาะในส่วนของเจ้าหน้าที่จะดีเสียกว่า
    • 4 – 5 ประเด็นดังกล่าวนี้ ก็ใช้เวลามากแล้ว ตรงนี้ชาวบ้านไม่ได้มาอบรม ไม่ได้มาเพื่อฟัง น่าจะให้ตรงนี้ให้น้อยลง แล้วไปใช้ทักษะ แหย่ให้พูด เพื่อให้เครือข่ายเป็นข้าวของความคิด และเวทีให้มากกว่าที่เคยเป็นมา  น่าจะเกิดพลังควาร่วมมือที่ดี และไม่ฝากภาระว่าเป็นเรื่องของคุณ คุณก็ทำเอาเองสิ (ซึ่งเวทีของตำบลหลัง ๆ ได้มีการปรับ และกระชับขึ้นมาก)
  • แนะนำตัวเพื่อให้รู้จักกันในเบื้องต้น
    • โดยก่อนแนะนำตัวก็จะแนะนำว่าหมอพื้นบ้านเป็นใคร ซึ่งใช้หลักคิดเกี่ยวกับ สมุนไพรบำบัด (กลุ่มหมอยา ยาต้ม ยาฝน ยาแช่) ซึ่งบางครั้งต้องมีค่าใช้จ่าย รวมทั้งเป็นกระบวนการที่ต้องมีเครื่องมือก็คือยาสมุนไพรในการรักษาโรค กลุ่มถัดมาคือกลุ่มกายบำบัด คือการนวดพื้นบ้าน การเหยียบเหล็กแดง ซึ่งกลุ่มนี้ใช้อุปกรณ์และแรงกายเป็นหลัก ส่วนกลุ่มที่ 3 กลุ่มจิตบำบัด เช่นหมอเป่า หมอจ้ำ ในเวทีบอกว่าจ้ำเกี่ยวข้องอย่างไร ซึ่งจ้ำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตของทั้งระบบ ของทั้งชุมชนนั่นเอง ก็เลยถึงบางอ๋อกัน
    • ผลจากการพูดคุยในการแนะนำตัวเบื้องต้นจะนำไปสู่การบ่งชี้แกนนำ หรือผู้นำได้บ้าง บางคนจะเริ่มแสดงออกทางกาย ทางคำพูด แต่ก็ยังอาจฟันธงไม่ได้ในเวทีแรก ๆ นี้ ซึ่งที่ปะโคนั้น พี่กุหลาบในฐานะของพี่เลี้ยงที่ใกล้ตัวเครือข่ายมากที่สุด ได้ชวนเครือข่ายมาคุยกันก่อน 2 รอบ มีการจัดโครงสร้างองค์กรเครือข่ายหมอพื้นบ้านเบื้องต้น โดยนำโครงสร้างของชมรมหมอพื้นบ้านที่บ้านดุงมีเป็นต้นแบบ วันนั้นในเวทีเราได้ให้แต่ละคนแนะนำตัว 18 คน ได้แก่ พ่อทองมี ชัยพล เขาว่าให้มาเป็นประธาน  เป็นกำนันตำบลปะโค เป็นหมอเป่า , แม่เสถียร ศรีบรรพต คนนี้เป็นหมอนวดแผนไทย ดูท่าทางจะช่วยนำทีมได้ , พี่พรรนิภา เป็นหมอนวดแผนไทย เป็นกึ่ง ๆ เลขาของเครือข่าย ดูเอาการเอางาน และเข้าใจเวทีมากเป็นพิเศษ , แม่พิกุล เป็นหมอนวดแผนโบราณ , พ่อเจน เป็นหมอเป่า , พี่สมเด็จ เป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นหมอเป่าวัด และในเครือข่าย เขาให้เป็นคนดูแลเกี่ยวกับศูนย์เรียนรู้หมอพื้นบ้าน คนนี้พิเศษ มีการส่งสัญญาณตลอด ว่าง่าย ๆ คือมีความเป็นตัวของตัวเอง คนนี้ต้องชวนให้เป็นแกนนำเครือข่าย  , คนถัดมาคือ พ่อคาน คนนี้ผมแซวว่ามีพ่อคานเป็นหมอพื้นบ้านเหยียบเหล็กแดงที่อุบล ปะโคเราก็มีพ่อคานเป็นหมอแต่งแก้ เป่าคอไข่ มียาแม่ลูกอ่อนกินผิด , คนถัดมาหมอนวดจดชื่อไม่ทัน (เวทีหลัง ๆ ผมใช้วิธีถ่ายกล้องดิจิตอลของฟลิปชาร์ท แล้วเอามาปริ้นท์ มองว่าฟลิปชาร์ท มีประโยชน์มากในการจัดเวทีชุมชน ประมาณว่าลงทุนไม่มาก แต่มากประโยชน์นัก) , คนถัดมาคือพ่อพุดทา เป็นเฒ่าจ้ำประจำบ้าน มีผญาด้วย , แม่เคน ศรีบรรพต (เอ๊ะนามสกุลซ้ำนะนี่) เป็นหมอย่าง เกี่ยวกับอุบัติเหตุ , แม่เรียน พาดี เป็นหมอตำแย หมอจ้ำด้วย , แม่สาด โคจร หมอลำทรง , พ่อ จดไม่ทัน หมอยาฝน ยาซุม , พ่คอนสี หมอเป่าวัด เป่ากลาง , พี่นิยม สู่ขวัย สะเดาะห์เคราะห์ แต่งแก้ , พ่อใหญ่ชู เป่าฝี เป่าเจ็บอก เป่าตาแดง เป่ากำเริด , ยายแหลมทอง หมอยาแก้โรคบุรุษ สตรี และคนสุดท้าย พี่ประสิทธิ์ หมอเป่าน้ำมันจอดกระดูก
    • ตรงนี้จะเริ่มมองเห็นภาพ และลองวางพื้นที่ดูว่าหมอกลุ่มต่าง ๆ ยังมีอีกหรือไม่ ซึ่งเวทีบอกว่ายังมีอีกหลายเลย คราวนี้ก็จะได้ลงลึกในการส่อคั้ก ๆ กับหมอ โดยมีเครื่องมือคือ ประเด็นสัมภาษณ์
  • ลองสัมภาษณ์เชิงลึกหรือการส่อคั้ก ๆ  ประเด็นสัมภาษณ์เกี่ยวกับตัวหมอ ความเป็นมา , เกี่ยวกับองค์ความรู้ กระบวนการบำบัดรักษา ปัวคน ปัวโรค และตัวคนไข้ ค่าครู คาย สมนาคุณ ถมบุญถมคุณ ซึ่งเวทีนี้ใหม่สดทุกคน ยังไม่เคยผ่านประสบการณ์การซัก การสัมภาษณ์ แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเราผ่านการอบรมมามากแล้ว มันคือประสบการณ์ฝังลึกที่พร้อมจะดึงออกมาใช้ พอเอาประเด็นสัมภาษณ์ให้แบ่งหมอพื้นบ้าน เข้าหาพี่เลี้ยง เจ้าหน้าที่ รวมทั้งมีบางคนในเครือข่ายเช่น พี่พรรนิภา ก็สามารถทำได้ ในลักษณะตัวต่อตัว แต่ถ้าเป็นลักษณะคนถามหนึ่งคน คนถูกสัมภาษณืหลายคน ผมอาศัยประสบการณ์คือให้เล่าเป็นประเด็นสั้น ๆ หมุนเวียนกันไปแต่ละคนจะได้ไม่รอนาน ไม่เบื่อ เพราะถ้าเราถามคนนึงเสร็จแล้วจะเกิดการเดิน (เดินเสิ่น) เพราะต้องรอให้เพื่อนถูกถามจนเสร็จ (ตรงนี้อาจสร้างความเบื่อหน่ายได้)
    • พอเราสัมภาษณ์กันเสร็จแล้ว ก็ได้จังหวะกินอาหารเที่ยงพอดี ตรงนี้เป็นจุดที่เริ่มเกิดความสงสัยว่าทำใมยังไม่เลิกกลับบ้านเสียที เพราะทุกครั้งที่ผ่านมา มีการกินเที่ยงแล้วก็แยกย้าย
  • ครั้งนี้กินข้าวเที่ยงแล้ว เข้ามานั่งคุยกันต่อ เพราะมันยังมีเรื่องที่ต้องปรึกษาหารือกันต่อไป โดยเริ่มมีการพูดคุยกันว่า เห็นอะไรจากการสัมภาษณ์  หลาย ๆ คนเริ่มมองเห็นว่า อยากให้เพื่อนที่ไม่ได้มาอีกหลาย ๆ คนได้เข้ามาสัมผัส  ซึ่งมีประเด็นสงสัยหลายประเด็น เช่น
    • ได้ข้อมูลเชิงลึกของแต่ละคนแล้วจะเอาไปทำอะไร และยังมีอีกหลาย ๆ คนไม่ได้เข้ามาตรงนี้ ก็เลยวางแผนต่อว่าหลังจากเวทีแรกของปะโคนี้  แต่ละคนจะแบ่งทีมกันลงไปลองสัมภาษณ์เพื่อนหมอพื้นบ้าน
    • ก็เกิดคำถามอีกว่าถ้าจะทำอย่างนั้น อาจจะมีคนถามว่า เจ้าได้เงินเดือน ค่าจ้างทอใด๋ เป็นคำถามที่มีแรงเสียดทานสูงนะ สรุปก็คือทีมเครือข่ายจะกระจายกันออกเล่าให้เพื่อนฟังก่อน แล้วหมอกุหลาบจะลงพื้นที่สัมภาษณ์ต่อ
    • แผนที่จะทำกันต่อ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดอ่อนของเวที และผู้นำการประชุม คือตัวผมเองชี้นำมากเกินไป บอกว่าน่าจะอย่างนั้น อย่างนี้ (รู้สึกได้ในภายหลังว่า เราน่าจะกระตุ้นให้เครือข่ายแสดงความคิดเห็น มากกว่าการที่นำความคิดเห็นของเราไปชี้นำ) แต่เวทีก็ได้ยัดเยียดกิจกรรมคือ
      • การลงสัมภาษณ์เชิงลึกเพิ่มเติม และนำมาลงข้อมูลในระบบฐานข้อมูล โดยพี่สมเด็จและพี่พรรณิภาเป็นแกนหลักก่อน แต่ถ้าทำไม่ได้ ติดขัดก็จะกลับมาหาหมอกุหลาบ
      • อาจจะต้องเตรียมการสำรวจทั่วภูมิปัญญาในตัวคน , ตำราใบลาน แต่ตรงนี้ยังไม่เกิดความคิดใด ๆ ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์แรกของผมเหมือนกัน
  • บทเรียนจากเวทีแรกของปะโค
    • ปะโคก็ถือได้ว่ามีความก้าวหน้าในเวทีแรกนี้เหมือนกัน เพราระมีข้อมูลที่ต้องเอาไปลงและจัดพิมพ์เป็นฐานข้อมูลเบื้องต้น เป็นทำเนียบของหมอพื้นบ้านของพื้นที่  โดยผมเสนอว่าช่วงแรกนี้หลาย ๆ คนยังไม่ถนัดการลงระบบฐานข้อมูลเครือข่ายหมอพื้นบ้าน จะให้พิมพ์ลงในโปรแกรมเวอร์ดก่อน แล้วเดี๋ยวตัดแปะให้
    • ในส่วนของผู้จัดการโครงการ (สสอ.) ยังอาจมองไม่เห็นผลลัพธ์ของแต่ละเวที ครั้งที่ 1 2 3 จะเกิดอะไร ซึ่งผมเองก็ยังคาดเดาไม่ออกสำหรับในเวทีของปะโค ตรงนี้ภายหลังได้กลับมานั่งทบทวน และลองวางอนาคตคร่าว ๆ ซึ่งในเวทีแรกของตำบลหลัง ๆ พบว่าการตั้งตุ๊กตาเบื้องต้นให้เครือข่ายมีทางเลือก จะดีกว่าว่างเปล่ามากเกินไป แต่ต้องระวังการตั้งตุ๊กตาที่เป็นปัญหาของเจ้าหน้าที่ มากกว่าปัญหาของเครือข่าย
    • การวางบทบาทของเจ้าหน้าที่ สอ. พี่กุหลาบ ในฐานะพี่เลี้ยงเครือข่าย ซึ่งในช่วงแรกนี้มองว่าจุดยืนของพี่กุหลาบก็พอไปได้ และไปได้ดีเสียด้วย แต่ในระยะต่อ ๆ ไปอาจจะค่อย ๆปรับบทบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเครือข่ายให้ดีขึ้นได้
    • นอกจากนี้การตามติด และเห็นทิศทาง ความก้าวหน้าของแต่ละเวทีนั้น อาจยังไม่ชัดเจน เนื่องจากใหม่หมอ ไล่ไปตั้งแต่ตัวผมเอง ผู้จัดการโครงการ เจ้าหน้าที่ สอ. และเครือข่าย รู้แต่ว่ามีเงินให้เจอกัน 3 ครั้ง
หมายเลขบันทึก: 192367เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2008 17:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท