นักวิชาการแนะ "จัดการความรู้"ราชการไทย


นักวิชาการแนะ “จัดการความรู้”ราชการไทย
ผู้นำห่วย พาองค์กรชวดผ่านเกณฑ์บริหารบ้านเมืองที่ดี

  ในการเสวนาเรื่อง “การจัดการความรู้ในวงราชการ : ประสบการณ์แห่งความสำเร็จ” ที่โรงแรมเอเชีย เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากส่วนราชการกว่า 100 คนเข้าร่วมเพื่อฟังตัวอย่างหน่วยงานภาครัฐ 6 แห่งที่มีการนำเรื่องการจัดการความรู้ไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนางานประจำ  


 ทั้งนี้ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) กล่าวว่า เรื่องการจัดการความรู้นั้นมีการนำไปใช้ในหลายองค์กร โดยเฉพาะเอกชน ซึ่งระยะหลังเราจะเห็นกลุ่ม หรือองค์กรชาวบ้านก็ทำเรื่องการจัดการความรู้เช่นกัน แต่สำหรับในส่วนราชการนั้น ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ทั้งนี้ ในรัฐบาลนายกทักษิณ ได้ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ในหมวด 3 มาตรา 11 ไว้ชัดเจนว่าส่วนราชการต้องพัฒนาความรู้เพื่อให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ และต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ ความสามารถสร้างวิสัยทัศน์ และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการให้เป็นบุคคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการให้สอดคล้องกับการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์


  แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีข้าราชการอีกจำนวนไม่น้อยซึ่งยังไม่เข้าใจหลักการเรื่อง “การจัดการความรู้” ที่แท้จริง มีบางหน่วยงานที่ทำการจัดการความรู้ปลอมๆ ขึ้นมาหวังเพียงให้ผ่านการประเมินจากองค์กรควบคุมโดยไม่รู้จริงทำให้ผลที่ออกมาไม่เป็นจริง ในการเสวนาในครั้งนี้ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) จึงได้เชิญตัวแทนจากภาครัฐจำนวน 6 แห่งซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการเรื่องการจัดการความรู้ในองค์กรจริงๆ มาเล่าถึงประสบการณ์และปัจจัยแห่งความสำเร็จแก่ส่วนราชการที่สนใจ และอาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องการจัดการความรู้ฟัง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาองค์กรด้วยการจัดการความรู้ต่อไป


  สำหรับหน่วยงานที่ทำเรื่องการจัดการความรู้ซึ่งเป็นของจริงมาเล่าประสบการณ์ในครั้งนี้ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมอนามัย ซึ่งเพิ่งเริ่มนำเรื่องการจัดการความรู้ไปใช้ไม่นานแต่ก็เข้าใจในเนื้อหาหลัก เช่น สาธารณะสุขจังหวัด (สสจ.)พระนครศรีอยุธยา ที่ทำการจัดการความรู้เพื่อพัฒนากระบวนงานหลักของโรงพยาบาลใน 16 อำเภอ โดยใช้เครือข่ายที่เป็นวงการเรียนรู้ร่วมกันที่ใหญ่ ถึง 2 ระดับ คือ เครือข่ายผู้ปฏิบัติการเพื่อคุณภาพโรงพยาบาล และเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานเพื่อเมืองไทยแข็งแรง  โดยใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการจัดเวทีเพื่อการให้ความรู้กับผู้นำ และผู้ประสานงานพร้อมทั้งพี่เลี้ยงของทีมทั้งระดับ สสจ.เครือข่ายระดับอำเภอ และโรงพยาบาล
 

สำหรับกรมอนามัย เป็นการพยายามทำการจัดการความรู้ทั้งองค์กรซึ่งมีหน่วยงานอยู่ทั่วประเทศ มีพันธกิจเพื่อให้เกิดมาตรฐานเรื่องอาหารและโรงพยาบาลในการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี กับชาวบ้าน โดยที่ผ่านมากรมอนามัยได้ทดลองใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้เรื่องมะเร็งเต้านมเพื่อลดปัญหาการเกิดมะเร็งเต้านม ,การตรวจเต้านมด้วยตนเอง และการเยี่ยมบ้านดูแลผู้ป่วยวัยชราที่จำหน่ายออกจากโรงพยาบาลแล้ว
  

นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มภาครัฐที่เพิ่งนำการจัดการความรู้ไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง เช่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กรมส่งเสริมการเกษตร โดย แผนกพยาธิวิทยาของคณะแพทยศาสตร์มอ.ที่นำการจัดการความรู้ไปใช้ได้เร็วมาก ซึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จนี้อยู่ที่การทำงานเป็นทีม จากที่ต่างคนต่างทำหน้าที่อยู่ที่หน้างาน โดยไม่มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กัน เมื่อนำเรื่องการจัดการความรู้เข้ามาใช้ก็ทำให้มีการพูดคุยกันมากขึ้นทั้งในแผนกและนอกแผนก จึงทำให้ปัจจุบันมีการพัฒนางานทุกกระบวนการพร้อมๆกัน และพนักงานมีความกระตือรือร้นมากขึ้น ให้ความสำคัญกับงานมากขึ้น
 

 ส่วนกรมส่งเสริมการเกษตรก็ใช้ยุทธศาสตร์นำร่อง ก่อนจะทำไปทั่วประเทศ เพราะกรมส่งเสริมการเกษตรต้องการให้เกษตรกรเป็นผู้ทำเอง ต้องการให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้ และมีอาชีพอย่างยั่งยืน  โดยที่กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเพียงพี่เลี้ยง และที่สำคัญ ใน 9 จังหวัดนำร่องนั้น ก็มีความเป็นอิสระในการกำหนดเป้าหมายเองซึ่งพบว่าใน 9 จังหวัดก็จับประเด็นแตกต่างกันไป เช่นทำเรื่องโรงเรียนเกษตรกร หรือเรื่องการปลูกผักปลอดสารพิษ และศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับตำบล เป็นต้น โดยการทำการจัดการความรู้ของกรมส่งเสริมการเกษตรมีปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่ความตั้งใจของเจ้าหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการมีกลไกลที่เป็นระบบในการส่งเสริมการเกษตร
 

 และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มภาครัฐที่นำการจัดการความรู้ไปใช้ด้วยความเข้าใจมานานกระทั่งผ่านการประเมินของสำนักงานพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) คือ โรงพยาบาลบ้านตาก และโรงพยาบาลศิริราช  โดยโรงพยาบาลบ้านตาก ทำเรื่องการจัดการความรู้ พร้อมๆ กับการ ทำ ซีคิวไอ และเรื่องการจัดการความรู้มานานเพียงแต่ไม่เต็มรูปเท่านั้นเมื่อมารับรู้การรจัดการความรู้จริงๆ ก็นำกลับไปใช้อย่างเต็มแนวจริงๆ กระทั่งผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล
  

ในขณะที่โรงพยาบาลศิริราช ก็เป็นพี่ใหญ่ ที่ทำเรื่องการจัดการความรู้มาก่อน และผ่านการประเมินจาก พรพ.เรียบร้อยแล้ว ก็มีความโดดเด่นเรื่องชุมชนนักปฏิบัติ ที่เป็นการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม และมีการจัดระบบของการจัดการที่ดี มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทั้งระดับแผนก นอกแผนก และแลกเปลี่ยนกันทั้งโรงพยาบาล อย่างเอาจริงเอาจัง
 

ทั้งนี้ ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช ผอ.สคส. กล่าวว่า ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อรัฐบาลประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาให้ภาครัฐทำเรื่องการจัดการความรู้ไปแล้ว ก็มักจะตื่นกลัวการประเมินผล และเกรงว่าจะเป็นภาระให้งานหนักขึ้น และพยายามจะทำการจัดการความรู้แบบปลอมๆ คือเชิญผู้รู้ ไปเป็นวิทยาการ บรรยายในเรื่องการจัดการความรู้ให้ฟัง โดยไม่ลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งความจริงแล้วเรื่องการจัดการความรู้ เป็นเรื่องของการปฏิบัติ หากไม่ปฏิบัติมีแต่การเข้าฟังบรรยาย ก็ไม่เข้าใจ และไม่ทำให้เกิดการจัดการความรู้ที่แท้จริงได้ นอกจากนี้ปัจจัยที่สำคัญในเอื้อให้เกิดการจัดการความรู้ในภาครัฐที่ดีก็คือ ผู้บังคับบัญชา หรือผู้นำ รองลงมาคือ ระบบหรือโครงสร้างการบริหารงาน และสุดท้ายคือผู้ปฏิบัติงาน หากส่วนใดส่วนหนึ่งไม่เห็นความสำคัญหรือไม่เข้าใจเรื่องการจัดการความรู้อย่างแท้จริง ก็ส่งผลถึงเป้าใหญ่ของงานภาครัฐที่ตั้งไว้
     ***************************

ประชาสัมพันธ์สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) 02-6199701
 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1917เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2005 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท