การศึกษาชุมชนเพื่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับชุมชน


ความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับชุมชน

การศึกษาชุมชนตำบลบางกะจะ

เพื่อการพัฒนาความสัมพันธ์

ระหว่างเยาวชนกับชุมชนตำบลบางกะจะ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี

 

มัณฑนา เหมชะญาติ และคณะ*

 

บทคัดย่อ

 

โครงการศึกษาชุมชนตำบลบางกะจะเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับชุมชนตำบลบางกะจะ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรีนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อรวบรวมข้อมูลของชุมชนด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของคน และสถานการณ์ในปัจจุบันของตำบลบางกะจะ 2) เพื่อศึกษาการรับรู้และความเข้าใจของเยาวชนต่อเรื่องราวต่างๆ ในชุมชน 3) เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ของเยาวชนกับชุมชน และ 4) เพื่อหาแนวทางการจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ของเยาวชนที่มีต่อชุมชน  โดยศึกษาที่ชุมชนบางกะจะ   อำเภอเมือง  จังหวัดจันทบุรี  กลุ่มเยาวชนเป้าหมาย คือ กลุ่มยุวมัคคุเทศก์ของโรงเรียนบางกะจะ จำนวน 20 คน ในปีการศึกษา 2548  ขั้นตอนการดำเนินงานหลักๆ มีดังนี้ 1) ติดต่อประสานงานและชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการกับผู้บริหารและอาจารย์ของโรงเรียนบางกะจะ  2) พูดคุยและสัมภาษณ์กลุ่มยุวมัคคุเทศก์ของโรงเรียนบางกะจะ 3) วางแผนการศึกษาชุมชนร่วมกับกลุ่มเยาวชน  4) ร่วมกับเยาวชนศึกษาชุมชนจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั้งที่เป็นสถานที่และบุคคลโดยการสนับสนุนช่วยเหลือจากผู้บริหารและอาจารย์ของโรงเรียนบางกะจะ 5) ผู้วิจัยและเยาวชนร่วมกันสรุปผลการเก็บข้อมูล  6) จัดนิทรรศการเผยแพร่ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาชุมชน 7) สรุปผลการศึกษาและสาระการเรียนรู้ที่ได้รับและจัดทำรายงานการศึกษา

จากการศึกษาในครั้งนี้ พบว่า ชุมชนบางกะจะเป็นชุมชนที่มีทุนทางสังคมมากและหลากหลาย ทั้งทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ประเพณี และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ผลการดำเนินงานในภาพรวม สรุปได้ว่าโครงการนี้ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกลุ่มเป้าหมายและชุมชนได้ โดยความรู้สึกรักและภาคภูมิใจในชุมชนของเยาวชนเกิดจากการที่เยาวชนได้ศึกษาชุมชนอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งบางสิ่ง เยาวชนไม่ได้ให้ความสนใจมาก่อน และเมื่อมีผู้คนภายนอกมาเยี่ยมชม ให้ความสนใจในสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในชุมชน เยาวชนได้เป็นผู้เผยแพร่หรือนำชม ก็ยิ่งส่งผลให้เยาวชนต้องการศึกษารายละเอียดต่างๆ ของชุมชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องทำให้เยาวชนเห็นคุณค่า รัก และหวงแหนสิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้ในชุมชนมากขึ้น  ผลการศึกษาครั้งนี้ บ่งชี้ว่าการเรียนรู้ และความรู้สึกผูกพันกับชุมชน เกิดจากการที่ เยาวชนได้เรียนรู้จากสภาพการณ์จริง   ดังนั้น  การจัดการศึกษาควรมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกมิติ   และมีความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของชุมชน ซึ่งเป็นการยึดเหนี่ยวคนไว้กับชุมชน และนำไปสู่การเกิดองค์กรชุมชนที่มีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 191388เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2008 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท