วิธีละความโกรธตามนัยวิสุทธิมรรค


วิธีละความโกรธตามนัยวิสุทธิมรรค

  1. ท่านสอนให้พิจารณาเห็นโทษของความโกรธและคุณของขันติและเมตตาก่อน เพราะบุคคลจะสามารถไม่ละสิ่งที่ตนไม่เห็นโทษได้
  2. ให้แผ่เมตตาไปในตนและบุคคลอื่นว่า ขอให้ตนมีความสุขและสรรพสัตว์ทั่วโลกจงมีความสุข ที่แผ่ให้ตนนั้นเพื่อให้ตนเป็นพยานว่าตนรักสุขเกียรติทุกข์ฉันใด สัตว์อื่นก็ฉันนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น
  3. เพื่อบรรเทาความแค้นเคือง พึงแผ่เมตตาไปยังศัตรูคู่เวรบ่อย ๆ จนจิตใจผู้แผ่นั้นอ่อนโยนลง
  4. ถ้ายังไม่หายให้พึงระลึกถึงพุทธโอวาทในกกจูปมสูตรบ่อย ๆ ข้อความในกกจูปโมวาทนั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย...หากโจรใจเหี้ยมพึงเอาเลื่อยมาเลื่อยเธอให้ขาดเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ หากผู้ใดยังคิดประทุษร้ายโจรนั้นอยู่ ผู้นั้นยังหาชื่อว่าทำตามโอวาทของเราไม่ อนึ่งผู้ใดโกรธตอบผู้นั้นเลวกว่าผู้โกรธก่อน ผู้ไม่โกรธตอบชื่อว่าเป็นผู้ชนะสงครามที่ชนะได้โดยยาก  ผู้ที่รู้ว่าคนอื่นโกรธตัวแล้ว ในส่วนตนเป็นผู้มีสติสงบเสงี่ยมอยู่ชื่อว่าประพฤติตนให้มีประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น”
  5. ทรงเปรียบคนที่โกรธเหมือนฟืนเผาผีที่ไฟติดอยู่ทั้งสองข้าง ตรงกลางเปื้อนคูต จะจับตรงข้างทั้งสองก็ร้อนจะจับตรงกลางก็เหม็น
  6. ถ้ายังไม่หายโกรธก็พึงระลึกถึงความดีของเขาบ้าง คือโดยปกติคน ๆ หนึ่งย่อมมีอะไรดีอยู่บ้างแม้ไม่มากก็อย่างหนึ่ง พึงระลึกถึงส่วนดีของเขาแล้วบรรเทาความโกรธเสีย
  7. ก็พึงโอวาทตนบ่อย ๆ (ถ้าเป็นพระก็พึงโอวาทว่า สู้อุตส่าห์ละโลกีย์สุขทั้งปวงซึ่งไปสิ่งที่ละได้โดยยากมาแล้วไฉนจึงยอมตนให้ตกอยู่ในอำนาจของความโกรธเล่า ฯลฯ) คนเป็นเวรกรรทำทุกข์ให้ท่านที่กาย เหตุไฉนท่านจึงลงโทษตนเองที่ใจเล่า ความโกรธทำให้ใจของท่านเป็นทุกข์ไม่ใช่หรือ
  8. ถ้ายังไม่หายโกรธ ท่านสอนให้พิจารณาถึงกรรมสักขตา คือ  ความที่คิดว่าสัตว์ทั้งปวงมีกรรมเป็นของ ๆ ตน ใครทำกรรมชิ้นไหนย่อมได้รับผลแห่งกรรมเช่นนั้นเอง คือจะปรากฏด้วยกรรมของตนเอง เราเป็นผู้โกรธก็จะต้องได้รับผลแห่งความโกรธนี้เอง
  9. ถ้ายังไม่หายโกรธก็พึงอนุสรณ์ถึงจริยาของพระศาสดาที่เคยลำบากมา เคยทรงทุกข์ทรมานเพราะการกระทำของผู้อื่นมากมายหลายชาติหลายประการ แต่หาได้ทรงผู้โกรธหรือผูกเวรต่อผู้ใดไม่ เช่นในสมัยที่ทรงเป็นช้างรักษาศีล ทรงยอมให้พรานตัดงาถึงสามครั้งแต่หาได้มีใจประทุษร้ายนายพรานนั้นไม่
  10. ถ้ายังไม่หายโกรธให้พิจารณาถึงความยาวของสังสารวัฏ ในสังสารวัฏอันยาวนานนี้คนที่ไม่เคยเป็นมารดาบิดา บุตรธิดา พี่น้อง พี่หญิง น้องชาย น้องหญิง และญาติสายโลหิตมิตรสหายเป็นไม่มี เขาเป็นศัตรูคู่เวรของเราในชาตินี้ แต่ชาติก่อน ๆ เขาอาจเคยเป็นมารดาบิดาเป็นต้น ผู้เคยมีอุปการะช่วยเหลือเกื้อกูลเรา บางทีอาจเคยยอมสละชีวิตช่วยเหลือเราก็ได้
  11. ถ้ายังไม่หายโกรธ ก็ให้พึงอานิสงส์ของเมตตาที่พระทศพลทรงแสดงไว้ 11 ประการคือ 1) หลับเป็นสุข (2) ตื่นเป็นสุข (3) ไม่ฝันลามกหรือฝันร้าย (4) เป็นที่รักของทุกคน (5) เป็นที่รักของอมนุษย์ มีสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น (6) เป็นที่รักของเทวดา (7) ศัตราวุธใดๆ ก็ทำร้ายไม่ได้ (8) จิตตั้งมั่นในสมาธิได้เร็ว (9) สีหน้าผ่องใส (10) ไม่หลงตาย คือ มีสติเวลาตาย ไม่ทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย (11) เมื่อละจากโลกนี้ก็ไปเกิดเป็นพรหมในพรหมโลก
  12. ถ้ายังไม่หายโกรธท่านทรงสอนให้แยกธาตุ คือพิจารณาว่าสิ่งทั้งปวงเป็นเพียงธาตุไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขามันเพียงสักว่าธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จะโกรธอะไรเล่า
  13. ถ้ายังไม่หายโกรธ ท่านสอนให้เผื่อแผ่ แบ่งปัน ให้ของแก่ผู้ที่เราโกรธ หรือรับของที่เขาให้ หากทำได้ดังนี้ความโกรธเกลียดยอมรำงับไปได้แน่นอน ท่านแสดงของอานุภาพของทานไว้ว่า “ทานเป็นเครื่องฝึกตนของคนที่ยังไม่ได้รับการฝึก ยังประโยชน์ทุกอย่างให้สำเร็จ ทายกย่อมบันเทิงด้วยการให้”

ถอดความจากสื่อบันทึกเสียง "ธรรมบท" เรื่องพึงละความโกรธ โดย อ.วศิน อินทสระ

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ความโกรธ#ธรรมบท
หมายเลขบันทึก: 190631เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2008 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ปัญหาเกิดเมื่อ พฤติกรรมลบ ได้ถูกแสดงออกไปก่อนแล้ว เช่น พูดจากันด้วยการต่อว่า โมโห มีสายตาท่าทางที่โมโหออกไป

คือมิสามารถใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหวได้

กิเลส(ความโกรธ)มันไวมาก

แต่พยายามต่อไปก็คงดีขึ้นอย่างน้อยก็มีความมุ่งมั่นปรารถนาดีแล้ว

สาธุ ขอบพระคุณมากคะ

ตามมาอ่านไปเรื่อยๆ ย้อนหลังจนครบแล้วค่ะ

สาธุ

ขอบพระคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท