มองการศึกษาไทย ผ่านสายตา "ดร.การดี เลียวไพโรจน์"


ดร.การดี เลียวไพโรจน์ การศึกษา
มองการศึกษาไทย ผ่านสายตา "ดร.การดี เลียวไพโรจน์"







     "อาจารย์มองว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ แต่ผู้ใหญ่บางคนยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ทำให้การพัฒนาเด็กของเราประสบปัญหาล่าช้า" คำกล่าวนี้มาจากผู้หญิงเก่งอีกคนหนึ่งของวงการการศึกษาไทย ดร.การดี เลียวไพโรจน์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

      หากความหมายของความก้าวหน้าทางการศึกษาไทยวัดจากปัญหาที่บุคลากรในวงการการ ศึกษาพบเจอแล้วล่ะก็ ระบบการศึกษาไทยในยุคอินเทอร์เน็ตครองโลกจะอยู่ในระดับใด คงต้องฟังจากปากผู้คร่ำหวอดในวงการเสียแล้ว

      "ทุกวันนี้ เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นก็จริง แต่เด็กของเรายังทำงานออกมาได้ไม่ดีพอ อาจกล่าวได้ว่า แม้จะมีอินเทอร์เน็ตเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ให้เลือกใช้ได้แล้วก็ตาม แต่เด็กก็ยังไม่สามารถสร้างสรรค์งานที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองออกมาได้ ซึ่งในจุดนี้ อาจจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่การเรียนในชั้นประถม - มัธยม เรามีค่านิยมสำหรับเด็ก ว่าไม่ควรคิดต่างหรือเห็นแย้งจากครูผู้สอน ถ้าต่างถือว่าผิด เมื่อเด็กโตขึ้น ก็เลยคิดต่างไม่เป็น

      นอกจากนั้น อีกส่วนหนึ่งที่พบได้บ่อยคือเด็กจะเขินอาย ไม่กล้าแสดงออก และชินกับการรับรู้ทางเดียวผ่านครูผู้สอน ไม่ค่อยเพิ่มเติมความรู้ด้วยการค้นคว้าจากทางอื่น ๆ หน้าที่ของอาจารย์ก็คือต้องกระตุ้นให้เขาคิดได้ด้วยตนเอง สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง พยายามสนับสนุนให้เด็กคิดต่าง สามารถแสดงความคิดเห็นในห้องเรียนได้ ซึ่งคนเป็นครูต้องเปิดโอกาส ถ้าหวังจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็ก ๆ นะคะ"


      นอกเหนือจากความคิดสร้างสรรค์ที่การศึกษาไทยไม่สามารถเติมเต็มให้เด็กได้ แล้ว การสร้างความตระหนักในกิจกรรมส่วนรวมก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข ด้วยเช่นกัน

      "การทำกิจกรรมของเด็กยุคใหม่จะเห็นว่าคนเก่ง ๆ ส่วนมากไม่ค่อยร่วมกิจกรรม เห็นได้ชัดในช่วงกีฬามหาวิทยาลัยโลก นักศึกษาที่เรียนเก่งจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ซึ่งไม่ค่อยดีนะคะ เพราะเขาจะขาดการพัฒนากระบวนการทางความคิด และการตัดสินใจ เวลาเขาออกไปทำงาน อาจจะพบปัญหาที่ต่างจากในห้องเรียนก็ได้ แล้วถ้าเขาเคยชินแต่สูตรสำเร็จ 1 + 1 = 2 เขาก็อาจจะไม่มีความสุขในการทำงานมากนัก ตรงข้ามกับเด็กที่ชอบทำกิจกรรมนะคะ อาจารย์เห็นความแตกต่างค่อนข้างมาก เด็กกลุ่มหลังนี้จะมีระบบการคิดที่เป็นขั้นตอนมากกว่า และสามารถตัดสินใจได้ดีกว่าค่ะ"

      นอกเหนือจากวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาแล้ว จากประสบการณ์ที่ได้พบเห็นการศึกษาทั้งของไทยและต่างประเทศ (ดร.การดีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท และเอก ในสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ จาก University of Wisconsin - Madison ประเทศสหรัฐอเมริกา) ทำให้อาจารย์นำประสบการณ์มาปรับการเรียนการสอนให้ทันสมัยขึ้นกว่าเดิม และนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาความคิดของนักศึกษาได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัย



      "จากประสบการณ์ จะเห็นได้ว่า นักศึกษาระดับปริญญาตรีของไทยกับต่างชาติมีความต่างกันอย่างเห็นได้ชัด นักศึกษาของเราจะมีความเป็นเด็กสูง ตรงข้ามกับในต่างประเทศที่เขาจะมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่า อาจจะเกิดจากโอกาสในการแสดงความคิดเห็น หรือความรับผิดชอบของเด็กที่ไม่เท่าเทียมกัน อาจารย์คิดว่าถ้าเราสร้างทักษะให้เขาสามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาได้เอง จะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด และทำให้นักศึกษาของเรามีคุณภาพมากขึ้น"

      "จะแก้ปัญหาให้กับเด็กคงต้องแก้ที่ผู้ใหญ่ค่ะ ถ้าหากผู้มีอำนาจของไทยยังเน้นที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจมากกว่าการพัฒนาคนก็เป็น เรื่องที่น่าเสียดาย เพราะเศรษฐกิจที่มีแต่ตัวเลข แต่แก่นสำคัญซึ่งก็คือทรัพยากรมนุษย์ยังกลวงอยู่ ก็มักจะประสบปัญหาได้ง่าย แต่ถ้าคนมีคุณภาพ แม้จะมีปัญหา แต่เศรษฐกิจก็จะไม่ล่มง่าย ๆ แน่นอน"

      ปัจจุบัน ดร.การดี ยังรับตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ และอาจารย์ประจำหลักสูตร International Master of Business Administration Program (IMBA) ในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีด้วย และกับบทบาทล่าสุดในฐานะผู้ดำเนินรายการข่าวข้นคนข่าว (ทุกวันศุกร์) อาจารย์กล่าวสั้น ๆ กับหน้าที่ใหม่นี้ว่า

"ไม่กระทบกับงานค่ะ แถมยังมีประโยชน์ต่อการทำงานด้วย"
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2007-09-24 14:37:07

หมายเลขบันทึก: 190458เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2008 20:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท