ถอดบทเรียนการอบรมเชิงปฏิบัติ “การจัดการความรู้และประเมินผลแบบเสริมพลัง” ตอน ๑


เป็นกระกระบวนการที่มิใช่เกิดจาก ฉันทะใฝ่เรียนรู้ และความเมตตา กรุณา ที่มีต่อกัน เห็นคุณค่าของกันและกัน อันเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ร่วมกัน

การพัฒนาตนเอง งาน และองค์กร โดยใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ นับเป็นกระแสที่ตื่นตัวอยู่มาก ประกอบกับ กพร. ก็ได้กำหนดไว้ในหลักการบริหารจัดการที่ดี และนำมาซึ่งหมวดหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ทำให้มีคำถามมากมายว่า KM คือ อะไร ? ทำไม ? และอย่างไร ? KM ภาครัฐอาจเริ่มต้นได้ยาก ด้วยเหตุวัฒนธรรมของคุณอำนาจ และการติดกรอบของระบบ ระเบียบที่แข็งตัวเกินไป ทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Share and Learn) อันเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการความรู้เกิดขึ้นน้อย และเป็นกระกระบวนการที่มิใช่เกิดจาก ฉันทะใฝ่เรียนรู้ และความเมตตา กรุณา ที่มีต่อกัน เห็นคุณค่าของกันและกัน อันเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ร่วมกัน

ทีมเรียนรู้ (กลุ่มคนเล็กๆ) ในสสจ.น่าน จึงได้ร่วมกันคิดที่จะนำเรื่อง KM มาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ร่วมกัน ด้วยความความมุ่งหวัง เพื่อที่จะร่วมกันพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง KM และนำมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเองและงานด้านการสร้างสุขภาพและป้องกันโรค โดยหวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้

. พัฒนาสร้างกลุ่มแกนขับเคลื่อนงานจัดการความรู้ในระดับจังหวัดและอำเภอ (หมายถึงคนและกลุ่มที่นำ KM มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง งาน และองค์กร) เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างหลากหลาย เกิดสังฆะแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน (Share and Learn)

. มีชุดความรู้ด้านการสร้างสุขภาพและป้องกันโรคของจังหวัด

. มีคลังความรู้ และ Best Practice ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

เรียนรู้จักและรักที่จะใช้ KM & EE

คุณศุภวรรณ นันทวาส ผู้รอบรู้งาน NCD ซึ่งได้มีโอกาสเข้าไปอบรมเชิงปฏิบัติการ การประเมินผลแบบเสริมพลัง – Empowerment Evaluation” ซึ่งจัดโดย สสส.ที่เชียงใหม่ มีอาจารย์ รศ.ดร.เนาวรัตน์  พลายน้อย และคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นทีมวิทยากร ได้กลับว่าเล่าด้วยความชื่นชมว่า ดี๊ดี อยากให้เชิญทีมอาจารย์มาอบรมให้กับพวกเราทีมน่านบ้าง ด้วยพื้นฐานเดิมเคยเจออาจารย์มาบ้างในงานภาคประชาสังคม และงานยุติธรรมชุมชน ก็เลยเห็นชอบด้วย จึงขอให้คุณศุภวรรณ ได้ติดต่อประสานงานอาจารย์ ตอนแรกอาจารย์บอกว่าไม่ค่อยว่าง และแนะนำท่านอาจารย์ทรงพล  เจตวณิชย์ มาให้ (อาจารย์เคยมา Training ให้กับทีม Node สสส.น่าน อยู่ ๒-๓ ครั้ง เราก็ได้เรียนรู้จากอาจารย์อยู่มากโข) แต่เราก็ยืนยันว่าขอทีมอาจารย์ เอาเวลาที่อาจารย์สะดวกแล้วกัน สุดท้ายสงสัยอาจารย์ทนลูกตื้อของเราไม่ไหว ตอบตกลงที่จะมาเป็นวิทยากรอบรมให้ที่น่าน ช่วงวันที่ ๒-๓ มิถุนายน ๒๕๕๑

เริ่มจากทีมน่านได้ส่งกรอบความคิดและความต้องการของเราไปให้อาจารย์พิจารณาและให้อาจารย์จัดหลักสูตรการอบรมมาให้ ซึ่งก็ได้มีการปรับเพิ่มอีกหลายประเด็น เพราะความโลภวิชา (อยากเรียนรู้หลายๆ เรื่อง) จึงขอให้อาจารย์เพิ่มอีกหลายหัวข้อ จนอาจารย์มาแซวว่าขอของแถมเยอะจัง

สำหรับกลุ่มเป้าหมายการอบรมครั้งนี้เรามุ่งหวังคนที่สนใจเรียนรู้อย่างจริงจัง มิใช่มาเพราะว่า คุณอำนาจสั่งให้มา หรือมาเพียงแค่ผิวเผิน เซ็นชื่อ กินอาหารว่างแล้วก็ไป ให้ครบพิธีกรรมของการอบรม/ประชุมเท่านั้น นั่นเป็นการสูญเสียงบประมาณไปเปล่าๆ แต่เราอยากได้คนที่ คุณใจสั่งมา อยากเรียนรู้และนำไปปฏิบัติจริง โดยจะนำพื้นที่ โครงการชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง งานควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มาเป็นตัวเดินเรื่อง จึงได้กำหนดเป้าหมายและคุณสมบัติผู้เข้ารับการอบรมไว้ดังนี้

กลุ่มเป้าหมาย จำนวน ๘๐ คน

. กลุ่มแกนหลักขับเคลื่อน KM ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน ๑๖ คน (เป็นกลุ่มที่จะต้องพัฒนาตัวเอง พัฒนางาน และร่วมกันพัฒนาองค์กร)

. กลุ่มแกนหลักขับเคลื่อน KM ในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอและโรงพยาบาล แห่งละ ๑ คน รวม ๒๙ คน (เป็นบุคคลที่ต้องการเรียนรู้และขยายผลได้)

. กลุ่มผู้รับผิดชอบโครงการชุมชนป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในสถานีอนามัย/โรงพยาบาล จำนวน ๓๕ แห่ง (เป็นทีมที่นำความรู้และประสบการณ์การทำงานในพื้นที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้)

คุณสมบัติผู้เข้าอบรม

            เนื่องจากเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการที่ต่อเนื่อง และจะต้องนำเอาประสบการณ์ ความรู้ จากการปฏิบัติงานในพื้นที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกลับไปดำเนินการต่อในพื้นที่และกลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ ไป จึงได้กำหนดคุณสมบัติผู้เข้าอบรมดังนี้

            . เป็นผู้สนใจใฝ่รู้ และเปิดใจกว้างที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น

            . สามารถมาเข้ารับการอบรมได้ตรงเวลา และต่อเนื่องตลอดการอบรม

            . ไม่ยึดติดกรอบความคิดเดิมๆ สามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นได้

            . พร้อมที่จะนำความรู้ ประสบการณ์ ไปพัฒนางานและองค์กรได้ต่อเนื่องหลังการอบรม

            . ไม่จำเป็นต้องมีพื้นความรู้ และประสบการณ์เรื่อง KM มาก่อน

สำหรับโควต้าที่จัดสรรให้แต่ละพื้นที่ เราได้สำทับในจดหมายเชิญในการแจ้งรายชื่อภายในเวลาที่กำหนด หากเกินกำหนดถือว่าสละสิทธิ์ และจะจัดโควตาให้อำเภออื่นที่สนใจต่อไป เพื่อให้ได้คนที่สนใจอยากเรียนรู้จริงๆ

            และด้วยเหตุการอบรม/ประชุมที่มักมาสาย กว่าจะเริ่มได้ก็เก้าโมงสิบโมง เราจึงสำทับไปในจดหมายเชิญอบรมว่า ขอให้เข้าร่วมการอบรมตรงเวลา

            สำหรับสถานที่ตอนแรกคิดในใจว่าเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย จะจัดในสถานที่ราชการ เช่น ห้องประชุมเทศบาลเมืองน่าน, กศน. เป็นต้น แต่จากการพูดคุยกับทีมงาน เราพบว่าบทเรียนที่ผ่านมา เรามักพบความไม่พร้อมของสถานที่ เช่น เครื่องเสียง การจัดห้องประชุม การจัดอาหารและอาหารว่าง เป็นต้น ทำให้สถานที่กลายเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ไป และที่สำคัญบางครั้งเราพบว่าเจ้าของสถานที่ให้เราย้ายห้องประชุมแบบกะทันหัน เพราะจำเป็นต้องใช้ห้องประชุมอย่างปัจจุบันทันด่วน บทเรียนเหล่านี้ทำให้เราตัดสินใจเลือก ห้องประชุมโรงแรมเทวราช เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทั้งปวงออกไป

            นี่คือเบื้องหลัง การเตรียมการสำหรับการอบรมในครั้งนี้

คำสำคัญ (Tags): #ประเมินผล
หมายเลขบันทึก: 190226เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2008 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท