หมอจิ๋ว
นาย ธวัชชัย หมอจิ๋ว แสงจันทร์

โครงการ “ มาเป็นจิตอาสากันเถอะ เพียงปีละ ๑ วัน”(หรือมากกว่า)


โครงการ “ มาเป็นจิตอาสากันเถอะ เพียงปีละ ๑ วัน”(หรือมากกว่า)

โครงการ “ มาเป็นจิตอาสากันเถอะ เพียงปีละ ๑ วัน”(หรือมากกว่า)

หลักการและเหตุผล:
             ปัญหาที่ซับซ้อนของสังคม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม ความเสื่อมทางวัฒนธรรม เป็นปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบกับจิตใจของคน ทำให้คนมีปัญหาเรื่องเป้าหมายชีวิตเน้นด้านวัตถุมากเกินไป มีการใช้เวลาส่วนมากไปในทางที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจ เหลือเวลาน้อยมากในการประกอบคุณงามความดีซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของทุกศาสนา ความซับซ้อนของปัญหาทำให้เกิดการแตกแยกเป็นปัจเจกบุคคล ต่างคนต่างอยู่ ขาดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อทำความดีที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน แต่ความมีน้ำใจของคนในสังคมไทยไม่เคยเหือดแห้ง จางหายไป และคนไทยก็มีความรู้ความสามารถมาแพ้ชาวต่างประเทศในทุกๆด้าน อีกทั้งทรัพยากรในประเทศก็มีมากมายเป็นที่ได้เปรียบกว่าชาติอื่น เช่นเรามีพระมหากษัตริย์ที่เป็นผู้นำด้านจิตอาสาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มีผู้นำในการทำสาธารณประโยชน์มากมายทุกพื้นที่ เงินงบประมาณแผ่นดินจากการจัดเก็บภาษีก็มีมาก เพียงแต่ยังขาดการประสานเรียงร้อยการทำงานให้มีพลังมากพอที่จะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างในสังคมไทย
              คนส่วนใหญ่อยากทำความดี แต่คนๆหนึ่งจะลงมือทำความดีเป็นเรื่องที่ยาก ถ้ามีปัญหาอุปสรรคมากก็เกิดความท้อใจเลิกทำความดีได้ง่าย และความดีเป็นเรื่องที่สัมผัสได้เฉพาะตน ทำแทนกันไม่ได้

            
ดังนั้นถ้ามีการเปิดเวทีในการทำความดีที่ทำได้ง่ายก่อนและอาศัยความต่อเนื่องของการทำความดีจากหลายๆคนเชื่อมเรียงร้อยกันก็จะเป็นกระแสของความดีที่ยิ่งใหญ่ขึ้น ก็จะดึงดูดให้คนอื่นมาร่วมกันทำความดีได้มากขึ้นไปอีก


วัตถุประสงค์:

  1. ต้องการเปิดเวทีให้คนเป็นจิตอาสา ทำความดีเพื่อผู้อื่นที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน
  2. ปรับปรุงสังคมให้น่าอยู่ มีน้ำใจต่อกัน เห็นใจกัน ลดความอิจฉาริษยากัน
  3. ยกระดับจิตใจของคนในสังคมให้สูงขึ้นด้วยการบริการผู้อื่นโดยไม่มีสิ่งตอบแทน
  4. ใช้หลักธรรมในการสื่อความหมาย

รูปแบบการปฏิบัติ:

  1. เปิดอโรคยศาลวัดคำประมง สถานที่บำบัดผู้ป่วยโรคมะเร็ง ด้วยสมาธิ ธรรมชาติบำบัด และแพทย์ทุกแผน ให้ประชาชนทุกคนทุกสายอาชีพทั่วโลก มาเป็นอาสาสมัครในการช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งทุกๆด้าน ตามแต่ที่ตนถนัดและช่วยเหลือได้ เพียงคนละ ๑ วัน ต่อปี หรืออาจจะมามากกว่านั้นก็ได้ เช่น ท่านที่จะมาเที่ยวสกลนคร นครพนมมีโปรแกรมเที่ยว ๗ วันก็มาแวะที่ อโรคยศาล ๑ วันเพื่อเป็นจิตอาสา แพทย์ พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ตามโรงพยาบาลต่างๆ โดยถือว่ามาออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ๑ วัน,ในการทำบุญวันเกิดให้ตัวเอง,หรือในวันสำคัญต่างๆตามแต่กรณี
  2. ผู้ต้องการเป็นอาสาสมัครแจ้งความจำนงล่วงหน้ามาที่อโรคยศาล ผ่านทาง
    2.1 website ; www.khampramong.org
    หัวข้อ ติดต่อวัดคำประมงตรงมุมซ้ายล่าง

    2.2 e-mail
    มาที่
    [email protected]
    2.3
    โทรศัพท์หรือโทรสาร มาที่วัดคำประมง เบอร์โทรศัพท์-โทรสาร ๐๔๒- ๗๗๙-๒๗๖ มือถือ ๐๘๑-๖๐๑-๖๙๖๐,๐๘๑-๑๑๑-๗๑๐๗

    2.4
    ส่งจดหมายหรือไปรษณียบัตรมาที่ หลวงตาปพนพัชร์ ฯ อโรคยศาล วัดคำ ประมง เลขที่ ๒๐ ม.๔ ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ๔๗๑๓๐ หรือเดินทาง มาที่อโรคยศาลโดยตรง (ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าก็ได้)
  3. หน้าที่ซึ่งต้องการความช่วยเหลือพอเป็นสังเขป ของ จิตอาสา
    1. แพทย์ แผนไทย-ตะวันตก-จีนที่ศรัทธาในการแพทย์แบบองค์รวมหรือการแพทย์ทางเลือก
    2. ผู้ช่วยพยาบาล ช่วยการพยาบาลทั่วไป ทำแผล เปลี่ยนสายสวน ฉีดยา แนะนำผู้ป่วย
      ทางด้านจิตเวช ทำกลุ่มบำบัด
    3. แพทย์หรือเทคนิคการแพทย์ ช่วยดูกล้องจุลทรรศน์ Dark field
    4. แพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก ช่วยปรับปรุงการดูแลสมดุลร่างกาย
    5. อาหารบำบัด ต้องการผู้มีประสบการณ์อาหารบำบัดตามแนว Gerson หรือ Macrobiotics
    6. งานวิจัยผลการรักษา อายุขัยผู้ป่วย ทำสถิติ ติดตามผลการรักษาทางโทรศัพท์และลงพื้นที่ถ้าจำเป็น
    7. การผลิตสมุนไพร ผู้มีความรู้เรื่องการเกษตรไร้สารพิษ ไม่จำกัดเวลา แต่ต่อเนื่อง จนพัฒนาเป็นพื้นที่
      ปลูกสมุนไพร ผลิตออกมาใช้ได้
    8. เภสัชกร ช่วยจ่ายยา จ่ายสมุนไพร มาช่วยจ่ายยา แนะนำยา จัดหมวดหมู่ยา
    9. การอบสมุนไพร
    10. การล้างพิษ ช่วยแนะนำ และช่วยทำ detoxfication
    11. ผู้ป่วยมะเร็งเก่า ผู้มีประสบการณ์ในการช่วยดูแลผู้ป่วย
    12. การให้ความรู้การปฏิบัติตัวผู้ป่วย
    13. การฝังเข็ม แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในการฝังเข็ม
    14. งานเอกสาร จัดบอร์ด ทำแผ่นพับ ประชาสัมพันธ์
    15. ด้านพิธีกรรมต้มสมุนไพร สวดมนต์ สมาธิบำบัด ตามฤกษ์ที่เหมาะสม
    16. การออกกำลังกาย ลมปราณบำบัด (ชี่ไดนามิกส์ ชี่กง) หารเดินจงกรม
    17. การหัวเราะบำบัด ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด

สำหรับบุคคลทั่วไป:

  1.  
    1. การเยี่ยมให้กำลังใจผู้ป่วย
    2. .การทำความสะอาดอาคารสถานที่
    3. การจัดหนังสือ ห้องสมุด
    4. การลงทะเบียนผู้เป็นอาสาสมัคร
    5. การปลูกผักไร้สารพิษ ทำแปลงผัก รดน้ำต้นไม้
    6. รับโทรศัพท์ ,การช่วยงานวิจัยในการโทรศัพท์ติดตามผู้ป่วย
    7. ช่วยโรงครัวทำอาหาร
    8. ช่วยกิจกรรม เช่น บริจาคโลหิต ตามเทศกาล
    9. งานเอกสาร ธุรการ และงานอื่นๆ

การปฏิบัติตัว:

  1. ปฏิบัติงานด้วยความสบายใจ ไม่เคร่งเครียด ไม่ทะเลาะกับใคร ช่วยเหลือและให้อภัยกันถ้ามีเรื่องกระทบ สำรวมกาย วาจา ใจ ปฏิบัติแบบสุภาพชน ใช้หลัก สัปปุริสธรรม 7 คือรู้จักเหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บุคคล ชุมชน
  2. รบกวนผู้อื่นน้อยที่สุด การกินอยู่อย่างง่าย ช่วยเหลือตัวเองมากที่สุด
  3. ไม่มีการให้ค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางต้องออกเอง
  4. มีปัญหาปรึกษาหลวงตา หรือ ปรึกษาในหมู่คณะ
  5. สิ่งใดทำแล้วไม่มีโทษ มีประโยชน์ต่อคนไข้ และไม่รบกวนต่อโครงสร้างอโรคยศาลโดยรวมสามารถทำได้เลย

การเดินทางมาอโรคยศาล:

  1. ทางรถยนต์ มาตามทางหลวงสาย 22 ถึง กม.ที่23 บ้านสามแยกสูงเนิน(สกล-อากาศ) เลี้ยวไปทางอำเภออากาศอำนวยเส้นทางหมายเลข 2355 ประมาณ 12 กม.ถึงบ้านบัว(น้อย) แล้วเลี้ยวขวาเดินทางไปอีก 5 กม.มีป้ายบอกทุกระยะ
  2. นั่งรถทัวร์จากหมอชิตมาลงสกลนคร มีรถออกตอนกลางคืน 19.00 ,20.00, 20.30, และ 21.00น. ถึงสกลนครตั้งแต่ 05.00 ถึง 06.00 น.เช่ารถโดยสารมาที่วัดคำประมง ระยะทางประมาณ 40 กม.
  3. ขึ้นเครื่องบิน PB Air มาลงสนามบินสกลนคร เช่ารถโดยสารมาที่วัดคำประมง ระยะทางประมาณ 37 กม. ขึ้นเครื่องบินมาลงสนามบินนครพนม เช่ารถโดยสารมาที่วัดคำประมง ระยะทางประมาณ 120 กม ขึ้นเครื่องบินมาลงสนามบินอุดรธานี เช่ารถโดยสารมาที่วัดคำประมง ระยะทางประมาณ 160 กม งบประมาณ ;- -

หมายเหตุ:
การเป็นจิตอาสา ไม่ติดที่รูปแบบ อาศัยเห็นเป้าหมายร่วมกัน นำความรู้ความสามารถมาลงมือปฏิบัติเลย ประเมินผลที่ความสุขของผู้เป็นจิตอาสา ความสุขของผู้ป่วย

น.พ.ศิริโรจน์ กิตติสารพงษ์ ผู้ร่างโครงการ

--------------------------------------------------------------------------

รายละเอียด คลิกที่นี่

http://www.khampramong.org

สาเหตุที่ชักชวนไปร่วมกิจกรรมจิตอาสา เพราะผมศรัทธา ใน หลวงตา ครับ

- ผมได้พาพ่อเข้าไปรักษาที่วัดคำประมง เมื่อประมาณ ปี 2549 หลังจากที่พบว่า พ่อ ป่วยด้วยโรคมะเร็งตับ ได้ร่วมกิจกรรมในฐานะเด็กวัด ได้ทำการดูแลรักษาพ่อ ซึ่งกิจกรรมในแต่ละวัน ตอนนั้น อาจจะมีไม่มากเหมือนกับตอนนี้

- เวลาที่เริ่มสำหรับผู้ป่วยเก่า

- ตอนเช้าเวลา ตี  5  ก็จะตื่นมาหุงหาอาหาร อุ่นยาสมุนไพร

- ประมาณ 6 โมง ครึ่ง ก็จะพาพ่อและผู้ป่วยทั้งหมด ที่สามารถเดินทางไปได้หรือคนที่ไปไม่ได้ก็จะฝากของไปใส่บาตรกับหลวงตา โดยหลวงตาจะไปโปรดที่ หน้าศาลา 1 ไร่ - หลังจากใส่บาตรแล้วหลวงตาก็จะให้พร

- หลังจากนั้นผู้ป่วยและญาติก็จะมารับประทานอาหารกัน

- เวลาประมาณ 9 โมงเช้า หลวงตาจะให้ไปรับยาที่อโรคยาศาล ห่างจากที่พักผู้ป่วยประมาณ 100-200  ม. 

- หลังจากรับประทานยาแล้ว จะให้ผู้ป่วยเดินทางกลับไปพักผ่อนที่เตียงหรือห้องพักตนเอง ช่วงนี้จะมีญาติๆ เดินทางมาเยี่ยม  หรือผู้ที่มีอาการดีขึ้น ไม่เหนื่อยมาก ก็จะช่วยกันปัดกวาดล้างห้องน้ำ ทำความสะอาดบริเวณวัด หรือไปให้อาหารปลาที่เขื่อน ซึ่งจะมีปลาตัวโตๆ   ส่วนญาติ ก็จะนั่งคุยกัน ให้กำลังใจกัน หรือ ไปหาฟืนมาเตรียมรอทำอาหาร หรือ ไปตลาด บางทีก็อาศัยพี่ๆ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลคนไข้ในอโรคยาศาล ช่วยเหลือโดยการฝากซื้อของใช้ อาหาร ที่จำเป็น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ให้บริการเป็นอย่างดี 

-  ในระหว่างนี้ก็จะมีดนตรีเป็นเสียงตามสายต่อลำโพง เล็กๆ  มาที่หอผู้ป่วย เปิดดนตรีเบาๆ บำบัด  บางวันก็เปิดเทศนาของหลวงปู่สิม หรือพระเกจิอาจารย์ต่างๆ 

-  ในส่วนที่ยาหมด หลวงตาก็จะจัดยาสมุนไพรให้และให้ญาติมาต้มเอง ซึ่งรายเก่า ไม่ต้องทำพิธี แต่ผู้มาใหม่ต้องทำพิธี

-  ในช่วงนี้ หลวงตาเอง ก็ต้องรอรับแขกและญาติธรรม / ผู้ป่วย บางครั้ง จะมีผู้ป่วยมาวันละ  5-6  รายก็มี แต่ละราย อาการเพียบมาทั้งนั้น

-  ตอนกลางวัน  12.00  น. ก็รับประทานอาหารกัน

-  เวลาประมาณบ่าย 14.00  น. ผู้ป่วยก็จะเดินทางไปวัดความดัน วัดไข้ ที่ตึกผู้ป่วยหนัก / บางท่านก็อาศัยอบสมุนไพร โดยเฉพาะผมซึ่งเป็นญาติผู้ป่วย ช่วงนี้ชอบตรงที่ได้อบสมุนไพร

-  เวลา 16.00  น. ผู้ป่วยรับประทานอาหาร

-  เวลา  18.00 น.  เดินทางไปสวดมนต์ ที่อโรยาศาล บทสวด เป็นบททำวัตร บทพุทธคุณธรรมคุณ สังฆคุณ ต่อด้วยพระคาถาชินบัญชร บทแปลพระคาถาชินบัญชร สวดพาหุงมหากา สวดธัมมจักรกัปวัฒนสูตร แผ่เมตตา ประมาณ  1  ชั่วโมง นั่งสมาธิ ประมาณ 9 นาที ตอนนี้เสียงจะแหบไปตามๆ  กัน ส่วนผู้นำสวด คือ แม่ชี 

- ต่อมา หลวงตาก็จะเทศนาให้ฟังทุกวัน  หลวงตาจะเทศน์ ประมาณ 10-15  นาที แล้วจะสอบถามผู้ป่วยแต่ละราย โดยดูข้อมูลในชาร์ทประกอบด้วย เพื่อประกอบการจ่ายยา ตอนนี้เป็นเวลาที่หลวงตาให้สอบถามได้อย่างเต็มที่ แต่ไม่ค่อยมีใครสอบถามหรอกครับ บางทีผมสงสัยในใจจะสอบถาม แต่ไม่ทันได้ถาม หลวงตาก็ตอบโจทย์ที่เราคิดไว้รอแล้ว บางวัน หลวงตาก็ทักท้วงญาติเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทำให้ญาติผู้ป่วยอย่างผมงงไปเลยว่า หลวงตาทราบได้ยังไง

- เสร็จประมาณ 3 ทุ่มครับ ก็กลับไปนอนที่พัก

- ช่วงนั้น ผมไปทุกสัปดาห์ประมาณวันศุกร์ (อิอิ หนีงาน) จริงๆ ไม่ได้หนีหรอกครับ ก็บอกหัวหน้าว่าผมจะไปเฝ้าพ่อ ไปวันศุกร์ เปลี่ยนกับน้องๆ ไปเอาบุญ พอตอนเช้าวันจันทร์ก็กลับมาทำงานต่อ ตอนนั้นก็คุยโทรศัพท์กับพ่อทุกวัน

- พ่อรักษาตัวที่นั่น ประมาณ  1  เดือน ผมคิดว่าพ่อได้อะไรเยอะมากจากที่นั่น พ่อน่าจะเห็น ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พ่อเห็นธรรมะ ที่หลวงตาได้ให้ /พ่อได้สร้างศรัทธา ขึ้นในใจของตัวเอง  พร้อมส่งต่อศรัทธาไปสู่ลูกหลาน

- พ่อผมเสียชีวิตอย่างสงบที่บ้าน   เวลาประมาณ 18 นาฬิกา ก่อนเสียชีวิต ผมนิมนต์พระมาให้พ่อได้ ถวายสังฆทาน/ชำระหนี้สงฆ์ รับศีล 5  พ่อบอกให้ผมดูแลน้องๆ หลังจากนั้นลมหายใจค่อยแผ่วเบาลงเรื่อยๆ  จนหายใจเฮือกสุดท้าย หลับตาสนิท จากพวกเราไปชั่วนิรันดร์ ลูกหลานนั่งนิ่งๆ ไม่มีใครร้องให้ เพราะเห็นการตายที่สงบ ปราศจากความทุรนทุรายไม่เหมือนกับที่เห็นหลายๆ คน สักครู่ผมก็โทรศัพท์ ไปบอกหลวงตาๆ  ก็เล่าให้ผู้ป่วยที่ไปสวดมนต์นั่งสมาธิ และให้ทุกคนแผ่เมตตาให้ 

- 6  เดือนต่อมา ผมได้พา อสม. ไปศึกษาดูงานและถวายวัสดุการแพทย์ / เงินบางส่วนเพื่อช่วยหลวงตาทำงานสร้างบารมีของพระโพธิ์สัตย์ ต่อไป

- เป็นไงบ้างครับ  จิตใจอยากเป็น "อาสาสมัคร"  หรือยัง

-  หลวงตายังรออยู่ครับ  /  สิ่งดีดี ยังรออยู่ / รอหลายๆ  มือ  หลายๆ  หัวใจ ไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน 

คำสำคัญ (Tags): #วัดคำประมง
หมายเลขบันทึก: 190135เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2008 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท