ย้อนรอยท่อก๊าซ ไทยมาเลเซีย


ท่อก็าซ ไทย มาเลเซีย ผศ.นพ.เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา

           ยามนี้ ประเทศไทยประสบปัญหาพลังงาน ก๊าซธรรมชาติก็เป็นพลังงานที่ใช้ทดแทนน้ำมันได้ดี ในขณะที่ราคาน้ำมันขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง แต่วันนี้ประเทศไทยเราเสียโอกาสที่ดีของเราในอดีตทางด้านพลังที่มีคุณค่าจากก๊าซ  วันนี้ผมขอนำเสนอบทความของ ผศ.นพ.เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา ดังนี้

4 ข้อน่าคิดฝากถึงคนไทย 63 ล้าน โรงแยกก๊าซ ท่อก๊าซไทยมาเลเซีย

บทความ 4 ข้อน่าคิด! ฝากถึงคนไทย 63 ล้านคน ทั้งผู้ที่คัดค้าน ผู้ที่สนับสนุน และผู้ที่ยังวางตัวเป็นกลางในโครงการโรงแยกก๊าซและท่อก๊าซไทย-มาเลเซียนี้ เขียนโดยผู้เขียนซึ่งได้คลุกคลีกับโครงการโรงแยกก๊าซ-ท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย มาตั้งแต่ต้น(ประมาณ 7 ปี) มิได้มีเจตนาที่จะเขียนเพื่อคัดค้านประโยชน์ของการใช้ก๊าซจากแหล่งขุดเจาะ JDA (Joint Development Area ระหว่างไทยกับมาเลเซีย) ตรงกันข้าม ผู้เขียนมีเจตนาที่จะสนับสนุนให้ได้ใช้ก๊าซดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ และประชาชนคนไทยอย่างคุ้มค่าที่สุด (Cost-Effecitveness)

ก๊าซจากแหล่ง JDA คิดว่าคนไทยทุกคน (63 ล้านคน) รวมทั้งกลุ่มผู้ที่คัดค้าน ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา คงไม่ปฏิเสธประโยชน์อันมหาศาลที่มีต่อประเทศไทย แต่ตัวโครงการโรงแยกก๊าซ-ท่อก๊าซนี้ หากพิจารณาไตร่ตรองดูดีๆ แล้ว ประเทศไทยและประชาชนคนไทยจะได้ประโยชน์จริงดั่งที่ว่าหรือเปล่า?

ขอให้คนไทยทุกคนที่เป็นเจ้าของร่วมแหล่งก๊าซนี้ช่วยกันพิจารณาด้วย เพราะ

1. เจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์ที่ประเทศไทยร่วมคิดทำโครงการนี้ ก็เพราะเราต้องการจะนำก๊าซจากแหล่ง JDA นี้ขึ้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ที่เรียกว่า เขตนิคมอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจปีนัง-สงขลา ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 12,800 ไร่ ขนาดน้องๆ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง (อ้างถึงเอกสาร : โครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจปีนัง-สงขลา ของ สนง.คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 16 มิถุนายน 2542)

แต่วันนี้ นายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ประกาศชัดเจนว่า นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวได้มีมติ ครม.ยกเลิกไปแล้ว คำถามก็คือ แล้วเราลงทุนสร้างโรงแยกก๊าซและเดินท่อก๊าซที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ขึ้นมาใช้ทำอะไร? ประเทศไหนได้ใช้ประโยชน์กันแน่! ถ้า อ้างว่านำมาผลิตไฟฟ้า ขณะนี้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองก็มีมากเกินพอแล้ว และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ ก็มีความเห็นว่า การผลิตไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ไม่เป็นการส่งเสริมให้เกิดการกระจายของแหล่งเชื้อเพลิง เพราะเนื่องจากมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงมีปริมาณมากพอ แล้ว

2.โครงการนี้มีมูลค่า 1,034 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 42,000 ล้านบาท ประเทศไทย (ปตท.) ออก 50% และมาเลเซีย (ปิโตรแนส) ออก 50% แบ่งโครงการเป็น 2 เฟส

เฟสที่ 1 เป็นการนำก๊าซจากแหล่ง JDA มาใช้ โดยวางท่อในทะเลอ่าวไทย ระยะทาง 255 ก.ม. ขึ้นบกที่ อ.จะนะ จ.สงขลา แล้วทำการแยกก๊าซ ณ บริเวณดังกล่าว จากนั้นส่งไปตามท่อที่วางบนบกในประเทศไทย 85 ก.ม. และท่อในประเทศมาเลเซียเพียง 8 ก.ม.เท่านั้น มูลค่าเฟสนี้ประมาณ 33,000 ล้านบาท

หลังโครงการเสร็จ มาเลเซียจะเป็นผู้ใช้ก๊าซก่อน 5 ปีแรก (ตามสัญญาที่ร่วมลงนามไว้เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2542 ที่เมืองอลอร์สตาร์ รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย)
ส่วนไทยจะใช้ทำอะไรบ้างยังไม่มีแผน เพราะแผนใช้ก๊าซป้อนโรงงานนิคมอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจปีนัง-สงขลา ถูก ครม.ยกเลิกโครงการไปแล้ว

ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้ใช้จากแหล่งก๊าซ JDA จริงๆ อยู่ที่ตัวโครงการเฟสที่ 2 คือ เป็นการวางท่อเชื่อมจากแหล่งก๊าซ JDA ไปต่อกับท่อก๊าซสายประธานของ ปตท.ในทะเลอ่าวไทย ซึ่งมีระยะความยาวเพียง 50 ก.ม.เท่านั้น (ดูภาพประกอบของ ปตท. คือแนวเส้น AB) มูลค่าการลงทุนประมาณ 9,000 ล้านบาท จากนั้นก็สามารถนำก๊าซไปแยกที่โรงแยกก๊าซมาบตาพุด จ.ระยอง ก็ได้ หรือโรงแยกก๊าซขนอม จ.นครศรีธรรมราช ก็ได้

คำถามก็คือ ถ้าประเทศไทยมีความจำเป็นต้องใช้ก๊าซจากแหล่ง JDA นี้จริง เราก็ทำได้เพียงการลงทุนวางท่อในทะเลระยะทาง 50 ก.ม. มูลค่า 9,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่ถ้าทำโครงการโรงแยกก๊าซ-ท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เราต้องลงทุนร่วม 21,000 ล้านบาท (50% ของ 42,000 บาท)

คำถามก็คือ ทำไมต้องจ่ายแพงกว่า 21,000-9,000 = 12,000 ล้านบาท

3.การที่นำก๊าซมาแยกที่ฝั่งประเทศไทย (อ.จะนะ จ.สงขลา) ซึ่งจะมีการแยกก๊าซที่ไม่ต้องการทิ้งมากมายหลายชนิด เช่น CO2 (คาร์บอนไดออกไซด์), SO2 (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์), NO2 (ไนโตรเจนไดออกไซด์) ฯลฯ และสารเคมีอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ประเทศไทยต้องเป็นผู้แบกภาระในการแก้ไขปัญหามลภาวะดังกล่าวที่เกิดขึ้น ในประเทศไทย (แม้นว่ามาเลเซียจะร่วมออกเงิน 50% แต่มลภาวะทั้งหลาย ประเทศมาเลเซียไม่ต้องแบกรับเลยสักนิดเดียว!)

โดยเฉพาะก๊าซ CO2 จะมีปริมาณที่แยกทิ้งสู่ชั้นบรรยากาศวันละ 4,900 ตัน/วัน/โรงแยก (มี 2 โรงแยกก๊าซ) รวมทั้งสิ้น 9,800 ตัน/วัน ก๊าซดังกล่าวเมื่อปล่อยทิ้งไปสู่ชั้นบรรยากาศจะเกิดปัญหาภาวะเรือนกระจก (Green House Effect) ซึ่งจะกลายเป็นภาระหนักที่ประเทศไทยต้องรับผิดชอบตามสนธิสัญญาเกียวโต 1997 ที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามไว้ นั่นหมายความว่า ถ้าหากเราปล่อยก๊าซ CO2 มากเกินขนาดที่ได้ตกลงกันไว้ เราจะต้องไปลดก๊าซ CO2 ที่ปล่อยออกจากโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ผลก็คือ เราต้องลดกำลังผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ไปด้วย

คำถามที่น่าสนใจก็คือ หากเราใช้ก๊าซจาก JDA เพียง 50% (ตามกรรมสิทธิ์ของประเทศไทย) แต่ต้องเป็นผู้แบกรับภาระมลภาวะทางอากาศ 100% โดยที่ประเทศมาเลเซียก็ได้ใช้ก๊าซ 50% (ตามกรรมสิทธิ์) แต่มาเลเซียไม่ต้องแบกรับภาระมลภาวะทางอากาศแม้แต่ 1% น่าคิดไหม?


4.ทั้งการวางท่อและโรงแยกก๊าซ เกือบ 99% ตั้งอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด การก่อสร้างโครงการย่อมมีผลกระทบต่อประเทศไทย ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ วิถีชีวิตคนท้องถิ่น รวมทั้งความแตกแยกในสังคมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น

ส่วนมาเลเซียออกค่าใช้จ่าย 50% เช่นกัน แต่ใช้ประโยชน์จากก๊าซอย่างสบายโดยไม่ต้องถูกกระทบหรือสูญเสียสิ่งต่างๆ ดังกล่าวเหมือนที่เกิดกับประเทศไทย

โดยสรุป ผู้เขียนเห็นด้วยกับคุณประโยชน์ของก๊าซจากแหล่ง JDA ที่มีต่อประเทศไทย และคนไทยอย่างมหาศาล ผู้เขียนไม่คัดค้านการใช้ประโยชน์ของก๊าซจากแหล่งดังกล่าว แต่ยังขอสนับสนุนการนำก๊าซดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย ในฐานะที่ผู้เขียนเป็น 1 ใน 63 ล้านคนไทย ที่เป็นเจ้าของร่วมก๊าซจากแหล่ง JDA ขอสนับสนุนให้นายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตัดสินใจนำก๊าซจากแหล่ง JDA มาใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด (เท่าที่จำเป็น เพื่อเหลือให้รุ่นหลังได้ใช้ด้วย)

โดยการลงทุนเพียงวางท่อก๊าซในทะเลอ่าวไทยจากแหล่ง JDA ไปเชื่อมกับท่อสายประธานของ ปตท. ซึ่งใช้ระยะทางเพียง 50 ก.ม. (ตามรูปภาพประกอบ คือเส้น AB) และใช้เงินลงทุนเพียง 9,000 ล้านบาทเท่านั้น จากนั้นก็สามารถนำก๊าซดังกล่าวไปแยกได้ทั้งที่โรงแยกก๊าซขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อป้อนให้กับคนภาคใต้ทั้งภาค หรือนำไปแยกที่โรงแยกมาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อป้อนให้กับคนไทยภาคอื่นๆ ได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วทั้งประเทศ

ส่วนประเทศมาเลเซียหากต้องการใช้ก๊าซจากแหล่ง JDA ก็สามารถวางท่อในทะเลจาก JDA ไปเชื่อมต่อกับระบบท่อก๊าซของ Petronas ในทะเลภาคตะวันออกของประเทศมาเลเซีย ก็สามารถทำก๊าซไปใช้ประโยชน์ได้ทันที เช่นเดียวกับประเทศไทย ต่างคนต่างต่อท่อก๊าซจาก JDA ไปเชื่อมกับท่อระบบของแต่ละประเทศ

หากสามารถจบลงด้วยหลักการนี้ ทั้งคนไทยและคนมาเลย์ต่างก็ได้รับประโยชน์อย่างถ้วนหน้า เป็นผู้ชนะทั้งคู่ (Win-Win) โดยไม่ต้องมีความขัดแย้งเกิดขึ้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ประเทศไทย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทยเลย

ผศ.นพ.เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา
ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มติชนรายวัน หน้า6 วันที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9251

อ้างอิง

http://www.thaingo.org/story/book_045.htm

http://www.dmf.go.th/bid19/annaul/images/MTJDA_2004.jpg

ที่มา www.dmf.go.th/bid19/annaul/images/MTJDA_2004.jpg

หมายเลขบันทึก: 189873เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2008 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท